การย้ายราชสำนักโปรตุเกสไปบราซิล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพการเสด็จลงเรือพระที่นั่งของเจ้าชายโจเอาและพระราชวงศ์เพื่อเสด็จไปยังบราซิล วาดโดยฟรันซิสโก บาร์โตลอซซี ในปี พ.ศ. 2358

การย้ายราชสำนักโปรตุเกสไปที่บราซิล หมายถึง การลี้ภัยของพระราชวงศ์บราแกนซาและข้าราชบริพารเกือบ 15,000 คน ออกจากกรุงลิสบอนในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2350 พระราชวงศ์บราแกนซาเสด็จไปยังบราซิลไม่กี่วันก่อนที่กองทัพนโปเลียนจะยึดกรุงลิสบอนในวันที่ 1 ธันวาคม พระมหากษัตริย์บราแกนซายังประทับอยู่ที่บราซิลตั้งแต่ พ.ศ. 2351 กระทั่งเกิดการปฏิวัติเสรีนิยม พ.ศ. 2363 ทำให้เจ้าชายฌูเอา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งโปรตุเกสเสด็จนิวัติเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2364[1] เป็นเวลา 13 ปีที่กรุงรีโอเดจาเนโรของบราซิลมีสถานะเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรโปรตุเกส ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางคนเรียกว่า "มหานครผกผัน" (metropolitan reversal) (คือ เป็นอาณานิคมที่ปกครองจักรวรรดิโปรตุเกสทั้งหมด)

ประวัติศาสตร์[แก้]

สมเด็จพระราชินีนาถมาเรียที่ 1 แห่งสหราชอาณาจักรโปรตุเกส บราซิล และแอลการ์ฟ

ในปี พ.ศ. 2350 สงครามคาบสมุทรระยะแรก กองทัพนโปเลียนบุกครองโปรตุเกส เนื่องจากเป็นพันธมิตรกับสหราชอาณาจักร เจ้าชายฌูเอาแห่งบรากังซา ผู้สำเร็จราชการ ในขณะนั้น ปกครองโปรตุเกสแทนพระราชมารดา สมเด็จพระราชินีนาถมาเรียที่ 1 แห่งโปรตุเกส ตั้งแต่ พ.ศ. 2342 เจ้าชายฌูเอาที่ 6 ทรงคาดล่วงหน้าว่ากองทัพฝรั่งเศสจะบุกครอง จึงมีรับสั่งให้ย้ายราชสำนักโปรตุเกสไปยังบราซิลก่อนที่พระองค์จะถูกถอดจากราชบัลลังก์ กำหนดวันออกเดินทางไปบราซิล คือ วันที่ 29 พฤศจิกายน การเสด็จของเจ้าชายโจเอาอยู่ภายใต้การคุ้มครองของราชนาวีอังกฤษ ภายใต้การบัญชาการของพลเรือเอก เซอร์ซิดนีย์ สมิธ ในวันที่ 5 ธันวาคม เกือบครึ่งทางระหว่างลิสบอนและมาเดรา ซิดนีย์ สมิธพร้อมกับเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำลิสบอน ลอร์ดสแตรงก์ฟอร์ดได้กลับมายังยุโรปด้วยกองเรือรบเล็กส่วนหนึ่ง เกรแฮม มัวร์ ลูกเรืออังกฤษและนายทหารราชนาวี พาเสด็จพระราชวงศ์โปรตุเกสไปยังบราซิลต่อด้วยเรือหลวงมาร์ลบะระห์, เรือหลวงลอนดอน, เรือหลวงเบ็ดฟอร์ดและเรือหลวงโมนาร์ก[2]

ในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2351 เจ้าชายฌูเอาและราชสำนักเสด็จถึงซัลวาดอร์ บราซิล เจ้าชายฌูเอาทรงลงพระนามกฎหมายซึ่งเปิดการค้าระหว่างบราซิลกับชาติที่เป็นมิตร (คือ สหราชอาณาจักรเป็นหลัก อย่างไรก็ดี กฎหมายฉบับใหม่นี้ฝ่าฝืนสนธิสัญญาอาณานิคม ซึ่งจนถึงขณะนั้น อนุญาตให้บราซิลรักษาความสัมพันธ์พาณิชย์โดยตรงกับโปรตุเกสเท่านั้น ในการเจรจาลับในกรุงลอนดอนเมื่อ พ.ศ. 2350 โดยราชทูตโปรตุเกส โดมิงโกส อันโตนิโอ เดอ เซาซา โคทินโฮ ประกันการคุ้มครองทางทหารของอังกฤษ แลกกับการให้อังกฤษเข้าถึงท่าของบราซิลและตั้งฐานทัพเรือที่มาเดรา การเจรจาลับของโคทินโฮปูทางให้กฎหมายของเจ้าชายฌูเอาบรรลุผลในปี พ.ศ. 2351[3]

ในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2351 ราชสำนักเสด็จถึงรีโอเดจาเนโร วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2358 เจ้าชายฌูเอาทรงสถาปนาสหราชอาณาจักรโปรตุเกส บราซิล และแอลการ์ฟ (Reino Unido de Portugal, Brasil e Algarves) เป็นการยกระดับบราซิลขึ้นมามีสถานะเท่าเทียมกับโปรตุเกสและเพิ่มอิสระในการปกครองตนเองแก่บราซิล ผู้แทนชาวบราซิลได้รับเลือกเข้าสู่สภารัฐธรรมนูญโปรตุเกส (Cortes Constitucionais Portuguesas) ใน พ.ศ. 2359 หลังสมเด็จพระราชินีนาถมาเรียที่ 1 เสด็จสวรรคต เจ้าชายฌูเอาเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าฌูเอาที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักรโปรตุเกส บราซิล และแอลการ์ฟ หลังความล่าช้าหลายครั้ง พิธีการเปล่งเสียงสนับสนุนจัดขึ้นในรีโอเดจาเนโรเมื่อ พ.ศ. 2361

เนื่องจากโปรตุเกสว่างเว้นพระมหากษัตริย์และอิสระทางเศรษฐกิจของบราซิล โปรตุเกสจึงเข้าสู่วิกฤตการณ์การเมืองรุนแรงซึ่งบีบให้พระเจ้าฌูเอาที่ 6 และพระราชวงศ์เสด็จนิวัติโปรตุเกสใน พ.ศ. 2364 รัชทายาท เจ้าชายเปโดร ยังประทับอยู่ในบราซิล สภาโปรตุเกสเรียกร้องให้บราซิลกลับคืนสู่สถานะอาณานิคมดังเดิมและให้รัชทายาทเสด็จนิวัติโปรตุเกส เจ้าชายเปโดร ซึ่งได้รับอิทธิพลจากวุฒิสภาเทศบาลริโอเดจาเนโร ทรงปฏิเสธจะเสด็จนิวัติโปรตุเกสระหว่างเหตุการณ์ดีอาโดฟิโกอันขึ้นชื่อ (9 มกราคม พ.ศ. 2365) บราซิลมีอิสรภาพทางการเมืองเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2365 และเจ้าชายปราบดาภิเษกเป็นจักรพรรดิในริโอเดจาเนโร เฉลิมพระนามว่า จักรพรรดิดอม เปดรูที่ 1 ยุติการครอบงำบราซิลเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสนาน 322 ปี

เชิงอรรถ[แก้]

  1. Gomes, p. 321
  2. Gomes, p. 97
  3. Gomes, p. 117

อ้างอิง[แก้]

  • Gomes, Laurentino (2007), 1808, Editora Planeta do Brasil Ltda., ISBN 85-7665-320-6
  • (โปรตุเกส) Gomes, Laurentino (2007). 1808 — How a mad queen, a coward prince and a corrupt court fooled Napoleon and changed the History of Portugal and Brazil. Planeta.