ข้ามไปเนื้อหา

การยิงมิกซ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การยิงมิกซ์เป็นองค์ประกอบสำคัญของการเชียร์ไอดอลญี่ปุ่น

การยิงมิกซ์ (ญี่ปุ่น: チキパMIX,โรมาจิディアステMIX) เป็นการเชียร์ไอดอลญี่ปุ่นรูปแบบหนึ่ง ประกอบด้วยการส่งเสียงร้องตามจังหวะเพลงโดยเฉพาะในช่วงต้นเพลง ท่อนส่ง และช่วงจบวรรคของแต่ละห้องดนตรี[1] มักทำร่วมกับผู้คนเป็นกลุ่มและใช้กับเพลงที่มีจังหวะเร็ว แต่ไม่นิยมยิงมิกซ์ทับเสียงคนร้องหรือยิงใส่เพลงที่มีความหมายเศร้า[2] นอกจากนี้ยังนิยมใช้แท่งไฟเป็นอุปกรณ์ในการช่วยเชียร์[3]

วัฒนธรรมการเชียร์นี้ถือกำเนิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2540[1] แต่ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าจุดเริ่มต้นที่แท้จริงมาจากที่ใด เชื่อกันว่าการยิงมิกซ์กำเนิดขึ้นมาเพื่อให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับคอนเสิร์ตของไอดอลญี่ปุ่นมากขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดจากคอนเสิร์ตของไอดอลสังกัด เฮลโล! พรอเจกต์ ในช่วงแรก อย่างไรก็ตามการยิงมิกซ์เป็นการเชียร์ที่ใช้ได้สำหรับทุกวง[4] และยังถือเป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญของศิลปะการเชียร์แบบโอตาเก[1]

ประเภท

[แก้]

การยิงมิกซ์มีหลายประเภท แต่ท่อนที่นิยมใช้มีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ มิกซ์มาตรฐาน (Standard Mix), มิกซ์ญี่ปุ่น (Japanese Mix), และมิกซ์ไอนุ (Ainu Mix)[5] โดยปกติแล้วเพลงส่วนใหญ่จะเริ่มด้วยการยิงมิกซ์มาตรฐาน ตามด้วยมิกซ์ญี่ปุ่นและมิกซ์ไอนุตามลำดับ แต่ทั้งนี้อาจสับเปลี่ยนกันได้เพื่อให้เข้ากับจังหวะเพลงนั้น ๆ[6]

มิกซ์มาตรฐาน

[แก้]

มิกซ์มาตรฐานเป็นท่อนมิกซ์ที่นิยมใช้บ่อยที่สุด และเป็นท่อนแรกในการยิงมิกซ์ ร้องว่า "ไทกะ ไฟยะ ไซบะ ไฟบะ ไดบะ ไบบะ จาจา" (タイガー、ファイヤー、サイバー、ファイバー、ダイバー、バイバー、ジャージャー Tiger, Fire, Cyber, Fiber, Diver, Viber, Jya Jya!)[7]

ในการเชียร์บางที่อาจมีการเพิ่มคำว่า "อา... ยชชะ อิกุโซะ!" (あ~ よっしゃいくぞー! แปลว่า "ไปกันเถอะ!") เป็นประโยคแรกที่ใช้ส่งสัญญาณก่อนจะเข้าสู่ช่วงยิงมิกซ์จริง หลังจากนั้นจะตามด้วยคำศัพท์ภาษาอังกฤษสำเนียงญี่ปุ่น ไทกะ (Tiger), ไฟยะ (Fire), ไซบะ (Cyber), ไฟบะ (Fiber), ไดบะ (Diver), ไบบะ (Viber) แล้วตามด้วย "จาจา" ส่วนเหตุผลในการเลือกใช้คำเหล่านี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดนัก[8]

มิกซ์ญี่ปุ่น

[แก้]

ท่อนมิกซ์ญี่ปุ่นมีความหมายเหมือนกับมิกซ์มาตรฐาน เพียงแต่คำศัพท์จะเป็นภาษาญี่ปุ่น และมีการเปลี่ยนคำร้องช่วงต้นประโยคจาก "อา... ยชชะ อิกุโซะ!" เป็น "อา... โม อิตโชะ อิกุโซ" (あ ~~ もういっちょいくぞー แปลว่า "เริ่มอีกครั้งกันเถอะ")[9] ตามด้วย "โทระ ฮิ จินโซ เซ็งอิ อามะ ชินโด คาเซ็นโทบิโจเกียว" (虎, 火, 人造, 繊維, 海女, 振動, 化繊飛除去 Tora, Hi, Jinzou, Sen'i, Ama, Shindou, Kasentobijokyo)[5]

มิกซ์ไอนุ

[แก้]

เช่นเดียวกับมิกซ์มาตรฐานแและมิกซ์ญี่ปุ่น คำศัพท์ที่ใช้ร้องจะมีความหมายเหมือนกัน แต่จะแปลเป็นภาษาไอนุแทน ท่อนแรกของมิกซ์นี้เหมือนกับมิกซ์ญี่ปุ่น นั่นคือ "อา... โม อิตโชะ อิกุโซ" ตามด้วย "ชาเปะ อาเปะ คาระ คินะ ราระ ทุซึเกะ เมียวฮนทุซึเกะ" (チャペ, アペ, カラ, キナ, ララ, トゥスケ, ミョーホントゥスケ Chape, Ape, Kara, Kina, Rara, Tusuke, Myoohontusuke)[1]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Sho (2011-05-25). "Mix: Part one of a basic guide to concerts". Supermerlion. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-03. สืบค้นเมื่อ 2012-02-09.
  2. HamP (2016-10-03). "MIX 101 – มาเรียนรู้จักวิธีการยิงมิกซ์กันเถอะ !". ham-san. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-02-05. สืบค้นเมื่อ 2016-10-03.
  3. 「ホームでサイリウム振らないで」 JR東が『オタ芸の画像』で注意 - withnews 2015年6月29日
  4. "秋葉原の吸引力(6)". NetIB News. 2012-7-31. สืบค้นเมื่อ 2013-08-04. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  5. 5.0 5.1 "Wotagei Guide for AKB48 Concerts [2.0]". Melos no Michi. 2012-01-18. สืบค้นเมื่อ 2012-02-09.
  6. "รวมศัพท์ที่ใช้กับ BNK48 และวงไอดอล รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์". it24hrs. 2018-01-29. สืบค้นเมื่อ 2018-01-29.
  7. "用語辞典". yosino.sakura.ne.jp. สืบค้นเมื่อ 2015-02-11.
  8. "AKB48ライブ@YYG". Music Japan. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-08. สืบค้นเมื่อ 2012-02-09.
  9. "初心者の為のAKB48全国握手会を楽しむ12の方法". AKB握手会への道. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-08. สืบค้นเมื่อ 2013-08-04.