การยิงข่ม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พลประจำยานลำน้ำสงครามพิเศษกองทัพเรือสหรัฐใช้ปืนกระบอกหมุนมินิกันบนเรือเร็วตรวจการณ์ลำน้ำ (SOC-R) ยิงข่มระหว่างการฝึกถอนตัวฉุกเฉินบนชายหาด

การยิงข่ม[1] (อังกฤษ: suppressive fire) ในวิทยาการทหารคือ "การยิงที่ลดประสิทธิภาพของกองกำลังข้าศึกให้ต่ำกว่าประสิทธิภาพในการดำเนินภารกิจ" เมื่อใช้ในการปกป้องกองกำลังฝ่ายเดียวกันในการรุกคืบในสนามรบจะถูกเรียกว่า การยิงคุ้มครอง (covering fire) การข่มมักจะเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงเวลาที่ทำการยิงเท่านั้น[2] โดยเป็นอีกประเภทของการยิงสนับสนุน (fire support) ซึ่งเนโทกำหนดให้เป็น "การยิงประสานกันพร้อมกับการดำเนินกลยุทธ์ของกำลังรบ เพื่อทำลาย ต่อต้าน หรือปราบปรามข้าศึก"

ก่อนที่เนโตจะกำหนดนิยามคำนี้ กองทัพบกของสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพได้ใช้คำว่า "การยิงตัดรอนกำลัง" (neutralization) ซึ่งมีคำจำกัดความเช่นเดียวกับการยิงข่ม ในขณะที่สหรัฐได้ให้คำนิยามการยิงตัดรอนกำลังไว้ว่า "การยิงเพื่อทำให้เป้าหมายขาดประสิทธิภาพหรือใช้งานไม่ได้ชั่วคราว"[3]

การใช้งาน[แก้]

หัวหน้าลูกเรือกองทัพเรือสหรัฐ 2 นาย มองไปเหนือขอบฟ้าพร้อมกับปืนกล .50-cal และปืนมินิกัน พลยิงประตูใช้ปืนกลเพื่อยิงข่มเมื่อเฮลิคอปเตอร์ต้องลงจอดในพื้นที่ที่ไม่เป็นมิตร
ปืนกระบอกหมุนมินิกันถูกยิงจากอากาศยานโจมตีติดอาวุธในระหว่างสงครามเวียดนาม

การยิงข่มจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตต่อเป้าหมายที่เปิดเผยตนเองออกมาในการยิงแต่ละครั้ง บีบให้เป้าหมายต้องอยู่นิ่งและไม่สามารถตอบโต้ได้เนื่องจากถูกบังคับให้ต้องก้มหน้าหรือเบือนหน้าหลบ "มิฉะนั้นก็ต้องถูกกระสุนปืน" การเปิดเผยตัวเองจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาพขวัญกำลังใจ แรงจูงใจ และการนำของผู้นำกองกำลังเป้าหมาย การยิงข่มมักใช้ในการคุ้มครอง โดยเนโทกำหนดให้เป็น "การยิงเพื่อปกป้องกองทหารเมื่ออยู่ในระยะของปืนเล็กของข้าศึก" บางครั้งเรียกว่า "วินนิ่งเดอะไฟร์ไฟท์" (winning the firefight) ซึ่งใช้งานในการปฏิบัติการของทหารราบเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การยิงข่มอาจจะใช้การต่อต้านการยิงเล็งจำลอง (indirect fire) การป้องกันภัยทางอากาศของข้าศึก หรือกิจกรรมทางทหารอื่น ๆ เช่น การก่อสร้างหรือการส่งกำลังบำรุง หรือการปฏิเสธการเข้าถึงพื้นที่ของข้าศึกในระยะเวลาสั้น ๆ (ไม่เหมาะกับการปฏิบัติการในเวลานานเนื่องจากข้อจำกัดในการส่งกำลังบำรุงเครื่องกระสุน) การใช้ควันเพื่อ "กำบัง" การตรจจการณ์ของข้าศึก เป็นอีกรูปแบบของการข่มแบบไม่ถึงชีวิต และในเวลากลางคืนการใช้พลุส่งสว่างอาจถูกใช้เพื่อข่มความเคลื่อนไหวกิจกรรมของข้าศึกด้วยการทำลายความมืดที่ปกคลุมอยู่

การข่มสามารถทำได้ด้วยอาวุธหรือกลุ่มของอาวุธใดก็ตามที่สามารถยิงได้อย่างต่อเนื่องหนาแน่นตามระยะเวลาการข่มที่กำหนด การยิงข่มนั้นมีขีดความสามารถที่แตกต่างกันอย่างมากเนื่องจากพื้นที่ที่ทำการข่มมีความแตกต่างกัน เช่น กระสุนปืนเล็กยาวหรือปืนกลอาจมีอนุภาพทำลายล้างจากวิถีกระสุนเพียงประมาณหนึ่งเมตรเท่านั้น ในขณะที่กระสุนปืนใหญ่เพียงนัดเดียวอาจจะข่มพื้นที่ไม่กี่พันตารางเมตรรอบ ๆ การแตกระเบิด นอกจากนี้การยิงข่มอย่างต่อเนื่องจากปืนเล็กนานกว่าไม่กี่นาทีอาจจะทำได้ยากเนื่องจากข้อจำกัดด้านการส่งกำลังบำรุง การส่งการข่มทางอากาศก็เช่นกัน เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องของน้ำหนักในการบุรรทุก ตรงข้ามกับปืนใหญ่ที่สามารถยิงข่มไปยังพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่องและกินเวลายาวนานได้

วัตถุประสงค์ของการข่มคือการหยุดยั้นหรือป้องกันไม่ให้ข้าศึกสามารถตรวจการณ์ ยิง เคลื่อนย้าย หรือปฏิบัติภารกิจทางการทหารอื่น ๆ ที่จะเป็นการขัดขวาง (หรือแทรกซึม) กำลังของฝ่ายเราหรือพันธมิตรเราได้ ลักษณะที่สำคัญของการยิงข่มคือจะเกิดขึ้นเมื่อมีอำนาจการยิงที่มีความรุนแรงเพียงพอเท่านั้น

การยิงข่มเป็นยุทธวิธีในการลดการบาดเจ็บและสูญเสียของกำลังฝ่ายเดียวกัน และช่วยให้กำลังฝ่ายเราสามารถปฏิบัติการได้ในขณะนั้นเลย เช่น เป้าหมายที่ถูกข่มจะไม่สามารถปะทะกับกองกำลังที่เคลื่อนที่โดยปราศจากที่กำบัง ช่วยให้กองกำลังฝ่ายเราสามารถเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งใหม่หรือเข้าใกล้ข้าศึกมากขึ้น เช่น ในบทความของนาวิกโยธินสหรัฐ ได้บันทึกไว้ว่า "การสื่อสารและการยิงข่มคือสิ่งที่ทำให้เคลื่อนไหวในสนามรบได้ ช่วยทำให้นาวิกโยธินได้เปรียบ"[4] การยิงข่มอาจใช้เพื่อช่วยเปิดทางให้เฮลิคอปเตอร์หรือเรือสามารถจอดหรือถอนทหารออกจากเขตการสู้รบ (อย่างหลักเรียกว่า "hot extraction")

โดยปกติการยิงข่มจะใช้เพื่อการปกปิดการยิวใส่ข้าศึกในเขตการรบระยะประชิด อย่างไรก็ตาม การยิงข่มที่ยิงโดยปืนใหญ่และการยิงเล็งจำลอง (indirect fire) สามารถใช้เพื่อข่มเป้าหมายได้ทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยิงต่อต้านของกองร้อยปืนใหญ่ไปยังหน่วยยิงเล็งจำลองของข้าศึก เนโทได้ให้คำนิยาม "การข่มอาวุธป้องกันภัยทางอากาศของฝ่ายข้าศึก" (suppression of enemy air defenses: SEAD) ซึ่งเป็นการให้คำจำกัดความที่กว้างและรวมไปถึงการทำให้ยุทโธปกรณ์เกิดความเสียหายด้วย อีกข้อที่สำคัญของการใช้การยิงข่มจากระบบการยิงเล็งจำลอง (เช่น ปืนครก ปืนใหญ่ และปืนเรือ) และอากาศยานคือการคำนึงถึงความปลอดภัยของกองทหารที่เข้าโจมตี การยิงไปยังพื้นที่หนึ่ง ๆ นั้นกระสุนจะสร้างความเสียหายถึงชีวิตโดยไม่เลือกฝ่ายในพื้นที่ที่เกิดการกระจายระเบิดรอบทิศทาง แม้ว่ารูปแบบและพื้นที่สังหารจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย และบางครั้งเกิดขึ้นในสถานการณ์เฉพาะ

ผลกระทบจากการยิงข่มคือผลทางจิตวิทยา แทนที่จะพยายามสังหารข้าศึกโดยตรง การยิงข่มกลับทำให้ทหารข้าศึกรู้สคกว่าตนไม่สามารถทำการใด ๆ ได้อย่างปลอดภัยนอกจากการหาที่กำบัง ซึ่งถูกเรียกง่าย ๆ ว่า "ทำให้พวกเขาก้มหัวลง" (it makes them keep their heads down) หรือ "ทำให้พวกเขาถูกตรึงไว้" (it keeps them pinned down) อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ รวมไปถึงประเภทของกระสุนและการป้องกันของเป้าหมาย การยิงข่มอาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต หรือความเสียหายต่อยุทโธปกรณ์ของข้าศึก

การยิงข่มต้องมีความรุนแรงมากพอเกิดขึ้นเหนือพื้นที่เป้าหมาย ความรุนแรงส่งผลต่อหน่วยในพื้นที่เป้าหมายในช่วงเวลาที่ทำการข่ม โดยใช้อาวุธแต่ละประเภทส่งผลแตกต่างกันอย่างมากสำหรับขีดความสามารถในการข่ม อย่างการใช้สัญญาณเสียงที่เกิดจากการยิงวิถีโค้งบนอากาศและเมื่อกระสุนกระทบเป้าหมาย

ในการสงครามยุคใหม่ การเฝ้าตรวจเป็นกลยุทธในการป้องกันกำลังรบ: ในหน่วยขนาดเล็กหรือหน่วยยานยนต์สนับสนุนทางทหารอีกหน่วย พวกเขาจะใช้กลยุทธ์การยิงประกอบการเคลื่อนที่ (fire and movement tactic) หน่วยเฝ้าตรวจ หรือหน่วยสนับสนุนสามารถเข้ายึดพื้นที่ที่สามารถตรวจการร์ภูมิประเทศข้างหน้าได้ โดยเฉพาะตำแหน่งที่น่าจะเป็นที่ตั้งของข้าศึก ซึ่งช่วยให้สามารถยิงคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพให้กับหน่วยของฝ่ายเราหรือพันธมิตรที่จะรุกคืบต่อไปข้างหน้า ตำแหน่งเฝ้าตรวจที่เหมาะสมที่สุดจะต้องเป็นตำแหน่งที่มีที่กำบังของหน่วย และมีแนวยิง (lines of fire) ที่ปราศจากสิ่งกีดขวาง อาจจะอยู่บนเส้นความสูงขอนพื้นดินหรือสันเขา ซึ่งมีตำแหน่งให้ยานภาหนะสามารถมีที่มั่นกำบังตัวรถ (hull-down) หากหน่วยที่เฝ้าตรวจอยู่ในตำแหน่งยิงเหนือหน่วยของฝ่ายเดียวกันที่กำลังรุกขึ้นไป จะต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้เกิดการยิงพลาด โดยที่หน่วยของฝ่ายเดียวกันควรจะอยู่ในระยะหมดแสงของการส่องวิถี (ระยะที่มองเห็นกระสุนส่องวิถี)

ประวัติ[แก้]

ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เนื่องจากการพัฒนาเทคนิคปืนใหญ่และการป้องกันจากสนามเพลาะ ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2458 กองกำลังรบนอกประเทศบริติชตระหนักว่าผลจากการยิงปืนใหญ่ไม่สามารถเปิดช่องในแนวสนามเพลาะของเยอรมันหรือทำลายปืนใหญ่ของข้าศึกได้ในช่วงเวลาวิกฤต พวกเขาจึงพัฒนาเทคนิคปืนใหญ่สำหรับยิงข่มข้าศึกในสนามเพลาะสำหรับเปิดทางให้ทหารราบข่มปืนใหญ่ของข้าศึกในระยะวิกฤตเพื่อปกป้องทหารราบที่กำลังทำการโจมตี[5] หลังจากนั้น การข่มกลายเป็นกลยุทธ์ในการกำหนดเป้าหมายปืนใหญ่ของสหราชอาณาจักร แม้ว่ามันจะถูกนำมาใช้ครั้งแรกในสงครามบูร์ครั้งที่สองก็ตาม การเปิดฉากยิงปืนใหญ่และเคลื่อนที่สามารถช่วยข่มแนวหน้าด้วยการยิงคุ้มครองในรัศมีหลายไมล์ ลูกกระสุนแตกอากาศ (shrapnel shell) ถูกใช้งานโดยกองทัพบกสหราชอาณาจักรในฉากการยิงปืนใหญ่ในการโจมตี การยิงข่มถูกนำมาใช้กับปืนใหญ่ของข้าศึกที่โจมตีกองทหารด้วยการยิงเล็งจำลอง (indirect fire)

ส่วนของยุทธวิธีทหารราบก็มีการพัฒนาเช่นเดียวกันและการข่มก็กลายมาเป็นส่วนประกอบหลักในการ "วินนิ่งเดอะไฟร์ไฟท์" (winning the firefight) ซึ่งแนวคิดนี้สะดวกขึ้นเมื่อใช้ปืนกลที่มีการใช้งานตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง อย่างไรก็ตาม การยิงข่มด้วยอาวุธยิงเล็งตรงของทหารราบมีประโยชน์อย่างมากในการกับเป้าหมาย แต่ถ้าไม่ได้รับการยิงสนับสนุนจากหน่วยใกล้เคียงและใช้เพียงกระสุนที่พกพามา การยิงข่มอย่างต่อเนื่องอาจจะทำการข่มได้เพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น

ในการโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เรือรบจะเปิดฉากยิงด้วยปืนหลักไปยังตำแหน่งของปืนใหญ่ ปืนครก หรือปืนกลของข้าศึกที่ทราบบนฝั่งหรือหลังหากที่กำลังยกพลขึ้นเพื่อข่มการยิงของข้าศึกจากตำแหน่งที่อาจจะทำการยิงไปยังกองกำลังที่ยกพลขึ้นบก[6] การใช้อากาศยานและการโจมตีทางอากาศที่มีการใช้งานมากขึ้นยังทำให้เกิดการทิ้งระเบิดและการยิงโจมตีเส้นทางวิ่งของอากาศยาน ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้บ่อยในการข่มกำลังทางอากาศ ขัดขวางแนว และสร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับข้าศึก และยังมีการใช้การรวมกำลังการยิงจากปืนกลหรือวัตถุระเบิดที่ถูกทิ้งลงไปยังแนวของข้าศึก นอกจากนี้ยังมีการใช้ระเบิดเพลิงในการข่ม การปฏิเสธการเข้าถึงพื้นที่ และการสร้างผลทางจิตวิทยาที่กว้างขวาง ซึ่งแนวคิดนี้ถูกนำไปใช้ในสงครามเวียดนามจากการนำเนปาล์มมาใช้งานตามแนวคิดดังกล่าว

การใช้อาวุธ[แก้]

นาวิกโยธินสหรัฐ 2 นายกำลังยิงคุ้มครองด้วยปืนเอ็ม 4 คาร์บิน และเครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 203 ขนาด 40 มม. ขณะที่นาวิกโยธินจากกองร้อยนายทหารติดต่อปืนเรือและกำลังทางอากาศ กำลังชี้เป้าหมายในเมืองรามาดี ประเทศอิรัก พ.ศ. 2549
แผนที่การโจมตีด้วยปืนใหญ่ระหว่างการรบที่พาสเชนดาเลอครั้งที่สอง (พ.ศ. 2460) แสดงการยิงและเคลื่อนรุกเพื่อป้องกันแนวรุกคืบ

การยิงข่มสามารถยิงได้ด้วยอาวุธหรือกลุ่มขนองอาวุธใดก็ตามที่สามารถยิงได้อย่างสม่ำเสมอตามระยะการข่มที่ถูกกำหนด การยิงข่มอาจจะเป็นการยิงเล็งตรงหรือยิงเล็งจำลองก็ได้ อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการยิงข่มขึ้นอยู่กับความแตกต่างของอาวุธที่ใช้งานและขนาดพื้นที่ที่ถูกยิงข่ม

อาวุธยิงเล็งจำลอง[แก้]

มีวิธีการหลายรูปแบบในการใช้ปืนใหญ่[7] (และปืนครก, ปืนเรือ) สำหรับการยิงข่ม ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การเปิดฉากการยิงปืนใหญ่และเคลื่อนที่ไปด้วยถือเป็นวิธีการปกติในขณะนั้น ลูกกระสุนแตกอากาศ (shrapnel shell) ถูกยิงเพื่อสร้างกรวยกระสุนไว้หน้าทหารราบที่กำลังรุกคืบเข้ามาด้วยวิธีการเล็งยิงไปข้างหน้า 100 หลาทุก ๆ สองสามนาที ไปยังพื้นที่ส่วนหน้าหลายกิโลเมตรเพื่อสนับสนุนการโจมตีของกองพลหรือกองทัพน้อย กระสุนระเบิดแรงสูง (High Explosive: HE) ยังถูกนำมาใช้งานในสงครามโลกครั้งที่สอง รวมไปถึงการคุ้มครองการรุกคืบของรถถังด้วยการยิงข่มด้วยพลปืนต่อต้านรถถัง

อย่างไรก็ตาม การรวมอำนาจกำลังรบด้วยการใช้กระสุนระเบิดแรงสูง (HE) ต่อเป้าหมายเฉพาะพื้นที่เริ่มกลายเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันแพร่หลายมากขึ้น และค่อย ๆ เข้ามาแทนการเปิดฉากยิงด้วยปืนใหญ่ ซึ่งการรวมกำลังยิงจะเริ่มเมื่อกองกำลังโจมตีตกอยู่ในสถานะที่เสี่ยงต่อการถูกตีโต้และเคลื่อนที่ออกจากตำแหน่งนั้นจนถึงระยะที่ห่างพอจากเป้าหมายและทำการยิงข่ม ผลจากการยิงข่มจะอยู่ประมาณ 2 นาทีหลังจากปืนใหญ่หยุดยิง

การรวมกำลังการยิงข่มด้วยกองร้อยทหารปืนใหญ่ 1 กองร้อยสามารถกินพื้นที่ประมาณ 250x250 เมตร และสามารถใช้สนับสนุนหมวดหรือกองร้อยโจมตีในการข่มครั้งเดียวหรือการยิงข่มแบบต่อเนื่องกัน สำหรับการปฏิบัติการขนาดใหญ่ กองร้อยปืนใหญ่หลายกองร้อยอาจจะมีเป้าหมายจำนวนมาก และเคลื่อนการยิงไปยังเป้าหมายที่แตกต่างกันไประหว่างการปฏิบัติการยังคงดำเนินอยู่

แม้ว่ากระสุนระเบิดแรงสูง (HE) จะถูกใช้ในการยิงข่มมากที่สุด แต่กระสุนม่านควันก็สามารถใช้ในการยิงข่มได้ด้วยการบดบังการตรวจการณ์ของข้าศึก ส่งผลอย่างมากต่อการใช้อาวุธยิงเล็งตรง ในการปฏิบัติการสมัยใหม่การใช้ควันไม่สามรถบดบังกล้องส่องภาพจากความร้อนสมัยใหม่ได้ นอกจากนี้ในปฏิบัติการสนับสนุนสันติภาพ การส่องสว่างด้วยพลุร่มชูชีพถูกนำมาใช้งานเพื่อขัดขวางการปฏิบัติการของฝ่ายที่ทำสงคราม

สำหรับกองร้อยปืนใหญ่ ภารกิจท้ายสุด (last-ditch mission) ที่ผู้ตรวจการณ์หน้าสามารถร้องขอได้คือ "ยิงข่มฉับพลัน" (immediate suppression) คำสั่งนี้จะสั่งให้ปืนใหญ่ทุกกระบอกในกองร้อยที่เกี่ยวข้องยิงกระสุนและฟิวส์ที่บรรจุอยู่ทันที ซึ่งอาจจะมาจากภารกิจของอีกหน่วยหรือสัญญาณเรียกขานอื่น ๆ ของภารกิจนั้น ผู้ตรวจการหน้าอาจจะได้รับการยิงแสงจากฟอสฟอรัสขาว หรือการยิงจากกระสุนระเบิดทวิประสงค์ (DPICM) หรือ VT-HE ไปยังเป้าหมายในลักษณะเดียวกัน

อาวุธยิงเล็งตรง[แก้]

พลประจำยานลำน้ำสงครามพิเศษ (SWCC) ชุดเรือพิเศษที่ 22 กองทัพเรือสหรัฐระหว่างการฝึก

กระสุนปืนเล็กยาวหรือปืนกลมีวิถีกระสุนในการยับยั้งได้ในระยะเพียงหนึ่งเมตรเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ทั้งสองแบบสามารถใช้สำหรับยิงข่มข้าศึกได้ภายในพื้นที่เล็ก ๆ ซึ่งเรียกว่า "วินนิ่งเดอะไฟร์ไฟท์" (winning the firefight)

การยิงปืนกลยังสามารถยิงได้จากยานรบหุ้มเกราะ (AFV) ยานยนต์[8] และอากาศยาน โดยเฉพาะจากเฮลิคอปเตอร์และบางครั้งจากอากาศยานปีกตรึง เช่น ล็อกฮีด เอซี-130 หรือปืนใหญ่อัตโนมัติ (ขนาด 20–40 มิลลิเมตร) หรือเครื่องยิงลูกระเบิดที่สามารถยิงเล็งตรงจากรถถัง อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดในการบรรทุกกระสุนทำให้ระบบดังกล่าวเหมาสำหรับการยิงทำลายเป้าหมายที่ถูกระบุตำแหน่งอย่างแม่นยำ เว้นแต่ต้องการที่จะยิงข่มในช่วงเวลาสั้น ๆ

ในอัฟกานิสถาน มูจาฮิดีนดัดแปลงเครื่องยิงจรวดอาร์พีจี-7 สำหรับใช้งานกับเฮลิคอปเตอร์ของรัสเซียด้วยการเพิ่มท่อโค้งบริเวณปลายท่อจุดระเบิด ทำให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางระเบิดกลับ ทำให้สามารถที่จะยิงอาร์พีจีไปยังอากาศยานได้จากท่านอนคว่ำได้ ซึ่งเวลานั้นโซเวียตได้ใช้เฮลิคอปเตอร์ในการตอบโต้ภัยคุกคามจากอาร์พีจีบริเวณพื้นที่ลงจอดด้วยการยิงข่มต่อต้านบุคคลจากปืนกล

กองกำลังรัสเซียใช้ปืนซุ่มยิงดรากูนอฟในระดับหมวดเพื่อระยะในการยิงที่ไกลเป็นพิเศษสำหรับขัดขวางและยิงข่มในสนามรบ รวมไปถึงในสถานการณ์การเผชิญหน้าอย่างกระทันหันกับกองทหารของข้าศึก

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. คู่มือศัพท์ และคำย่อทางทหาร (PDF). มณฑลทหารบกที่ 16.[ลิงก์เสีย]
  2. "AAP-6 NATO Glossary of Terms and Definitions, Edition 2014" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-05-01. สืบค้นเมื่อ 2015-11-14.
  3. Army Doctrine Publication ADP 1-02. Terms and Military Symbols (PDF). Headquarters, Department of the army.
  4. "3/7 rushes to perfect fire, manoeuvre tactics. 7/31/2009. By Lance Cpl. M. C. Nerl, Marine Corps Air Ground Combat Center Twentynine Palms". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-06. สืบค้นเมื่อ 2023-12-19.
  5. GHQ Artillery Notes No 4, Artillery in Offensive Operations, April 1916
  6. "Suppressive Fire". The Titi Tudorancea Library. 2017.
  7. คู่มือนักศึกษาวิชาทหารชาย ชั้นปีที่ 4 (เหล่าทหารปืนใหญ่) (PDF). หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน.[ลิงก์เสีย]
  8. การซุ่มโจมตีและการต่อต้านการซุ่มโจมตี (PDF). ส่วนวิชาทหาร โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า.