ล็อกฮีด เอซี-130
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
เอซี-130 (AC-130 Gunship) or The angel of death | |
---|---|
ข้อมูลทั่วไป | |
บทบาท | ยิงสนับสนุนภาคพื้นและทำลายที่อยู่ข้าศึก |
ชาติกำเนิด | สหรัฐ |
บริษัทผู้ผลิต | ล็อกฮีดและโบอิง |
สถานะ | อยู่ในประจำการ |
ผู้ใช้งานหลัก | กองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา |
จำนวนที่ผลิต | 43 ลำ |
ประวัติ | |
เริ่มใช้งาน | เอซี-130เอ พ.ศ. 2511 เอซี-130ยู พ.ศ. 2538 |
เที่ยวบินแรก | เอซี-130เอ พ.ศ. 2509 เอซี-130ยู พ.ศ. 2533 |
พัฒนาจาก | ซี-130 เฮอร์คิวลิส |
ล็อกฮีด เอซี-130 (อังกฤษ: Lockheed AC-130) เป็นเครื่องบินติดอาวุธขนาดหนัก โครงสร้างพื้นฐานถูกสร้างขึ้นโดยล็อกฮีดและโบอิงเป็นผู้รับผิดชอบในการเปลี่ยนให้มันกลายมาเป็นเครื่องบินติดอาวุธและเครื่องบินสนับสนุน[1] มันเป็นแบบหนึ่งของเครื่องบินขนส่งซี-130 เฮอร์คิวลิส เอซี-130เอเข้ามาแทนที่เอซี-47 สปูคกี้ในสงครามเวียดนาม
ผู้ใช้งานเพียงผู้เดียวของเครื่องบินติดอาวุธคือกองทัพอากาศสหรัฐฯ ซึ่งใช้เอซี-130เอช สเปกเตอร์และเอซี-130ยู สปูคกี้[2] เอซี-130 มีขุมกำลังเป็นเครื่องยนต์สี่ใบพัดจำนวนสี่เครื่อง ติดตั้งอาวุธปืน ได้แก่ ปืนกลหลายลำกล้องจีเอยู-12/ยูขนาด 25 ม.ม. จำนวน 2 กระบอก ปืนใหญ่โบฟอร์ส แอล/60 ขนาด 40 มม. จำนวน 1 กระบอก และปืนใหญ่เอ็ม102 ฮาวไอเซอร์ขนาด 105 มม. จำนวน 1 กระบอก มีลูกเรือสิบสองถึงสิบสามคนที่รวมทั้งนายทหารห้านาย (นักบินสองนาย คนนำร่อง ผู้ดูแลสงครามอิเลคทรอนิก และผู้ควบคุมการยิง) นอกจากนั้นยังมีวิศวกร ผู้ใช้อุปกรณ์อิเลคทรอนิก และพลปืน
กองทัพอากาศสหรัฐฯ ใช้เอซี-130 ทำหน้าที่สนับสนุนทางอากาศระยะใกล้ ควบคุมพื้นที่จากอากาศ และป้องกันกองกำลัง การสนับสนุนทางอากาศระยะใกล้นั้นรวมทั้งการให้การสนับสนุนทหารราบ คุ้มกันขบวนรถ และบินเหนือพื้นที่ปฏิบัติการในเมือง ในภารกิจควบคุมพื้นที่ทางอากาศจะเป็นการทำตามเป้าหมายที่วางแผนเอาไว้หรือคาดว่าจะเจอ สำหรับภารกิจป้องกันกองกำลังจะมีทั้งการป้องกันฐานบินและสถานที่สำคัญต่างๆ ฝูงบินนี้ประจำสถานีอยู่ที่เฮิร์ลเบิร์ตฟีลด์ในทางเหนือของฟลอริดา ฝูงบินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกองบัญชาการปฏิบัติการพิเศษทางอากาศของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองบัญชาการปฏิบัติการพิเศษของสหรัฐฯ
การพัฒนา
[แก้]ซี-130 เฮอร์คิวลิสถูกเลือกให้เข้ามาแทนที่เอซี-47 สปูคกี้ที่ถูกใช้ในสงครามเวียดนามเพื่อพัฒนาเครื่องบินติดอาวุธให้มีความคงทนและเพิ่มความจุของยุทธภัณฑ์[3]
ในปีพ.ศ. 2510 เจซี-130เอของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ถูกเลือกเพื่อทำการดัดแปลงให้กลายเป็นต้นแบบของเอซี-130 การดัดแปลงเสร็จสิ้นในปีนั้นที่ฐานทัพอากาศไรท์-แพทเทอร์สัน กล้องมองกลางคืนถูกติดตั้งในประตูด้านหน้า อินฟราเรดถูกติดตั้งในส่วนหน้าของล้อทางด้านซ้ายเช่นกัน และปืนแกทลิ่งถูกติดตั้งโดยหันหน้าลงตามส่วนด้านซ้ายของท้ายเครื่องบิน ต้นแบบของคอมพิวเตอร์ควบคุมการยิงแบบอานาล็อกถูกสร้างขึ้นโดยผู้บัญชาการทอม พินเคอร์ตันที่ฐานทัพอากาศเดียวกัน การบินทดสอบของต้นแบบเกิดขึ้นที่ฐานทัพอากาศเอกลิน ตามาด้วยการทดสอบและการดัดแปลงเพิ่มเติม เมื่อถึงเดือนกันยายนพ.ศ. 2510 เครื่องบินถูกรับรองว่าพร้อมสำหรับทำการทดสอบการต่อสู้และได้ทำการบินที่ฐานทัพอากาศนาตรังในเวียดนามใต้เป็นเวลา 90 วัน[3] ต่อมาเอซี-130 ได้ทำงานร่วมกับเอซี-116 ชาโดว์
เครื่องบินอีกเจ็ดลำถูกเปลี่ยนเป็นเหมือนกับต้นแบบของเอซี-130 ในปีพ.ศ. 2511[4] และหนึ่งลำได้รับอุปกรณ์พิเศษในปีต่อมา[5] ในปีพ.ศ. 2513 เอซี-130เออีก 10 ลำถูกส่งเข้าโครงการ"เพฟ พรอนโต" (Pave Pronto)[6] การเปลี่ยนแปลงซี-130อีให้เป็นเอซี-130เอสำหรับโครงการเพฟ พรอนโตได้เกิดขึ้นในเวลาต่อมา[7][8]
หากไม่นับเรื่องชื่อของโครงการแล้วเครื่องบินมักถูกเรียกว่าสเปกเตอร์มากกว่า
การพัฒนาล่าสุดและแผนในการพัฒนา
[แก้]ในปีพ.ศ. 2550 กองบัญชาการปฏิบัติการพิเศษทางอากาศของสหรัฐฯ ได้เริ่มโครงการเพื่อทำการพัฒนาอาวุธของเอซี-130 ที่ยังอยู่ในประจำการ โครงการการทดสอบมีไว้สำหรับปืนใหญ่จีเอยู-12/ยูขนาด 25 ม.ม.และโบฟอร์สขนาด 40 ม.ม.ของเอซี-130ยูเพื่อเข้าแทนที่ด้วยปืนใหญ่บุชมาสเตอร์ 2 มาร์ค 44 ขนาด 30 ม.ม.[9] ในปีพ.ศ. 2550 กองทัพอากาศได้ทำการดัดแปลงเอซี-130ยูเพื่อทำการทดสอบกับปืนบุชมาสเตอร์ อย่างไรก็ตามกองบัญชาการปฏิบัติการพิเศษทางอากาศของสหรัฐฯ ได้ทำการยกเลิกแผนเพื่อติดตั้งปืนใหญ่ใหม่เข้าไป มันถูกติดตั้งด้วยปืนใหญ่ขนาด 40 ม.ม.แบบเดิมก่อนถูกส่งเข้าทำหน้าที่ต่อไป[10] นายพลแบรดลีย์ เอ ไฮธโฮลด์ผู้กำกับแผนของกองบัญชาการปฏิบัติการพิเศษทางอากาศของสหรัฐฯ ได้กล่าวเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมม พ.ศ. 2551 ว่ามีการยกเลิกเนื่องจากปัญหาในความแม่นยำของบุชมาสเตอร์ในระดับความสูงที่เราต้องการจะใช้มัน[11]
นอกจากนั้นยังมีแผนที่หาสิ่งมาแทนที่เอ็ม102 ฮาวไอเซอร์ด้วยปืนครกบรรจุกระสุนทางด้านท้ายขนาด 120 ม.ม.และเพื่อเพิ่มขีปนาวุธเอจีเอ็ม-114 เฮลไฟร์ให้กับเอซี-130 ระบบอาวุธที่แม่นยำ (มีพื้นฐานมาจากจรวดไฮดรา 70) หรือระเบิดร่อนแบบไวเปอร์สไตรค์[12]
การออกแบบ
[แก้]เครื่องบินติดอาวุธหนักลำนี้ทำงานร่วมกับอาวุธทที่ทำการยิงจากด้านข้างพร้อมกับเซ็นเซอร์ การนำร่อง และระบบควบคุมการยิงชั้นยอดที่สร้างความแม่นยำให้กับอาวุธที่มีอยู่อย่างหลากหลายของมัน เอซี-130 สามารถทำการบินได้เป็นระยะเวลานานเหนือบริเวณเป้าหมายในตอนกลางคืนและทุกสภาพอากาศ อุปกรณ์เซ็นเซอร์จะประกอบด้วยโทรทัศน์ อินฟราเรด และเรดาร์ เซ็นเซอร์เหล่านี้ทำให้เครื่องบินระบุกองกำลังที่อยู่บนพื้นได้ว่าเป็นมิตรหรือศัตรู
เอซี-130ยู ติดตั้งเครื่องหาเป้าพิสัยไกลรุ่นเอเอ็น/เอพีคิว-180 อุปกรณ์นำร่องยังรวมทั้งระบบนำร่องความเฉื่อยและจีพีเอส เอซี-130ยูใช้เทคโนโลยีที่สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2533 และสามารถโจมตีสองเป้าหมายได้ภายในเวลาเดียวกัน มันยังมีความจุยุทธภัณฑ์เป็นสองเท่าของเครื่องเอซี-130เอช[1]
ในช่วงยุคเวียดนามเอซี-130 หลายแบบที่ทำตามการดัดแปลงในโครงการ"เพฟ พรอนโต" ถูกติดตั้งด้วยเครื่องตรวจจับความผิดปกติของแม่เหล็ก (magnetic anomaly detector) ซึ่งเรียกว่า"แบล็คโครว์" (เอเอ็น/เอเอสดี-5) มันเป็นอุปกรณ์ที่ไวต่อความรู้สึกซึ่งติดอยู่ที่ส่วนที่คล้ายโดมตรงจมูกด้านซ้ายของเครื่องบิน ซึ่งมันสามารถหาความเบี่ยงเบนของสนามแม่เหล็กโลกและมักใช้เพื่อค้นหาเรือดำน้ำ ระบบแบล็คโครว์บนเครื่องเอซี-130เอ/อี/เอชสามารถตรวจหาความร้อนในเครื่องยนต์ของรถบรรทุกที่พรางตัวของเวียดนามเหนือได้อย่างแม่นยำ มันยังสามารถตรวจจับสัญญาณจากเครื่องส่งวิทยุแบบพกพาซึ่งใช้โดยผู้ควบคุมอากาศบนพื้นดินเพื่อระบุตำแหน่งและชนิดของเป้าหมาย ระบบนั้นต้องพึ่งพาคอมพิวเตอร์จับเป้า
ประวัติการใช้งาน
[แก้]เอซี-130 ปรากฏตัวครั้งแรกในเวียดนามเหนือเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2510 ภายใต้โครงการกันชิป 2 และเริ่มทำการรบเหนือประเทศลาวและเวียดนามใต้ในปีเดียวกัน เมื่อถึงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2511 เอซี-130 ก็มีจำนวนมากพอที่จะตั้งเป็นฝูงบิน นั่นก็คือฝูงบินปฏิบัติการพิเศษที่ 16 จากกองบินขับไล่ทางยุทธวิธีที่ 8 ซึ่งตั้งฐานที่มั่นอยู่ที่ฐานทัพอากาศอุดรธานีในประเทศไทย
ในเดือนธันวาคมพ.ศ. 2511 เอซี-130 ส่วนมากบินโดยมีเอฟ-4 แฟนทอม 2 จากฝูงบินขับไล่ทางยุทธวิธีที่ 479 โดยปกติแล้วจะมีแฟนทอมสามลำต่อเอซี-130 หนึ่งลำ ในปลายปีพ.ศ. 2512 ภายใต้รหัสว่า"เซอร์ไพรซ์ แพ็คเกจ" (Surprise Package) เครื่องบินหมายเลข 56-0490 มาถึงพร้อมกับระบบเลเซอร์ อินฟราเรด เครื่องอัดวิดีโอ ระบบนำร่องความเฉื่อย และต้นแบบของคอมพิวเตอร์ควบคุมการยิงแบบดิจิตอล เครื่องบินลำดังกล่าวติดตั้งปืนแกตลิ่งขนาด 20 มม.และปืนใหญ่โบฟอร์สขนาด 40 มม.เป็นอาวุธหลัก แต่ไม่มีปืนกลขนาด 7.62 มม.ไว้สำหรับการสนับสนุนระยะใกล้ เครื่องบินลำนี้ถูกติดตั้งด้วยอุปกรณ์ใหม่ในฤดูร้อนปีพ.ศ. 2513 และจากนั้นก็ถูกใช้ที่ฐานทัพอากาศอุดรธานี เครื่องบินถูกทดสอบระบบอิเล็กทรอนิกส์อากาศและอาวุธที่จะนำไปใช้กับเอซี-130อี ในฤดูร้อนปีพ.ศ. 2514 เซอร์ไพรซ์ แพ็คเกจถูกเปลี่ยนให้เป็นแบบ"เพฟ พรอนโต"และได้ชื่อใหม่ว่าธอร์ (Thor)
ในเวียดนามเครื่องบินติดอาวุธได้ทำลายรถบรรทุกไปกว่า 10,000 คันและได้มีส่วนร่วมในภารกิจให้การสนับสนุนทางอากาศระยะใกล้มากมาย ในการรุกรานเกรนาดา (ปฏิการเออร์เจนฟิวรี่) ในปีพ.ศ. 2526 เอซี-130 ได้ยิงกดดันการป้องกันทางอากาศของฝ่ายศัตรูและได้โจมตีกองกำลังภาคพื้นดิน ลูกเรือของเอซี-130ได้รับรางวัลจากการทำภารกิจครั้งนี้
เอซี-130 ยังมีบทบาทสำคัญในการบุกปานามาของสหรัฐฯ เมื่อปีพ.ศ. 2532 เมื่อพวกมันได้ทำลายศูนย์บัญชาการของกองกำลังป้องกันและสถานที่ต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก เหล่าลูกเรือได้รับรางวัลสำหรับการบินที่น่ายกย่องที่สุดแห่งปี
ในปฏิบัติการพายุทะเลทราย เอซี-130 ได้ให้การสนับสนุนทางอากาศระยะใกล้และให้การปกป้องกับกองกำลังภาคพื้นดิน เป้าหมายหลักของมันคือตำแหน่งควบคุมการเข้าสกัดกั้นที่มีอยู่ตลอดแนวชายแดนทางใต้ของอิรัก กันชิปลำแรกได้เข้าร่วมในยุทธการคาฟจิเพื่อช่วยในการหยุดขบวนยานเกราะของอิรักที่มุ่งไปทางใต้เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2534 เพียงหนึ่งวันต่อมากันชิปอีกสามลำได้เข้าช่วยเหลือนาวิกโยธินสหรัฐฯ ขณะปฏิบัติการ เครื่องบินติดอาวุธได้โจมตีที่มั่นและขบวนของอิรักที่กำลังเคลื่อนที่ไปทางใต้เพื่อไปเสริมกำลังของพวกเขาในทางเหนือของเมือง ถึงแม้ว่าจะมีภัยคุกคามจากขีปนาวุธพื้นสู่อากาศและการที่มันถูกมองเห็นได้ง่ายในช่วงเช้าของวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2534 เอซี-130เอชหนึ่งลำเลือกที่จะอยู่เพื่อทำการคุ้มกันนาวิกโยธิน ไม่นานมันก็ถูกยิงตกโดยขีปนาวุธและลูกเรือทั้งสิบสี่นายเสียชีวิต[13]
กองทัพได้ใช้เอซี-130 ในปฏิบัติการรีสโตร์โฮปและยูไนเต็ดชีลด์ในโซมาเลีย ในภารกิจของนาโต้ในบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา และในการอพยพชาวอเมริกันออกจากแอลบาเนียเมื่อปีพ.ศ. 2540
เอซี-130 ได้รับการบันทึกว่าทำการบินยาวนานที่สุดต่อจากซี-130 ตั้งแต่วันที่ 22-24 ตุลาคม พ.ศ. 2510 เอซี-130ยูสองลำทำการบิน 36 ชั่วโมงจากเฮิลร์ลเบิร์ตฟีลด์ในฟลอริดาจนถึงฐานบินเทกูในเกาหลีใต้ ในขณะที่ทำการเติมเชื้อเพลิงเจ็ดครั้งกลางอากาศโดยเคซี-135 สตราโตแทงค์เกอร์ สถิตินี้ได้ทำลายสถิติก่อนหน้าของเครื่องบินกันชิปที่ทำการบิน 10 ช.ม.โดยใช้เชื้อเพลิงไป 186,000 กิโลกรัม กันชิปยังได้เป็นส่วนหนึ่งของการเสริมกำลังกองกำลังของสหรัฐฯ ในปีพ.ศ. 2541 เพื่อเกลี่ยกล่อมให้อิรักทำตามข้อตกลงของยูเอ็น ต่อมาสหรัฐฯ ได้ใช้เครื่องบินติดอาวุธในสงครามอัฟกานิสถานและสงครามอิรัก ในปีพ.ศ. 2550 กองกำลังปฏิบัติการพิเศษสหรัฐฯ ได้ใช้เอซี-130 ในการเข้าโจมตีกลุ่มที่คาดว่าเป็นอัลกออิดะห์ในโซมาเลีย[14][15]
ปัจจุบัน
[แก้]เอซี-130เอชมีราคาลำละ 132.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเอซี-130ยูมีราคาลำละ 190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปัจจุบันมีเอซี-130เอชแปดลำและเอซี-130ยู 17 ลำในประจำการ[2]
รายละเอียดของเอซี-130
[แก้]- ประเทศผู้ผลิต สหรัฐอเมริกา
- บริษัทผู้ผลิต ล็อกฮีด/โบอิง
- บทบาท เครื่องบินปีกนิ่งติดอาวุธ
- ลูกเรือ 13 นาย
- กำลังพล(สัญญาบัตร) 5 นาย (นักบิน นักบินผู้ช่วย คนนำร่อง ผู้ควบคุมการยิง ผู้ควบคุมสงครามอิเลคทรอนิก)
- กำลังพล(ประทวน หรือพลทหาร) 8 นาย (วิศวกร ผู้ดูแลโทรทัศน์ ผู้ดูแลอุปกรณ์อินฟราเรด ผู้ดูแลน้ำหนักของเครื่องบิน พลปืนสี่นาย)
- ความยาว 29.8 เมตร
- ระยะระหว่างปลายปีกสองข้าง 40.4 เมตร
- ความสูง 11.7 เมตร
- พื้นที่ปีก 162.2 ตารางเมตร
- น้ำหนักพร้อมอาวุธ 55,520 กิโลกรัม
- น้ำหนักสูงสุดตอนนำเครื่องขึ้น 69,750 กิโลกรัม
- ขุมกำลัง เครื่องยนต์ใบพัดแอลลิสัน ที56-เอ-15 สี่เครื่องยนต์ ให้แรงขับเครื่องละ 4,910 แรงม้า
- ความเร็วสูงสุด 480 กิโลเมตร/ชั่วโมง
- พิสัย 4,070 กิโลเมตร
- เพดานบินทำการ 30,000 ฟุต
- อาวุธ
- เอซี-130เอ
- ปืนมินิกันจีเอยู-2/เอขนาด 7.62 ม.ม. 4 กระบอก
- ปืนใหญ่อัตโนมัติเอ็ม61 วัลแคนขนาด 20 ม.ม. 4 กระบอก
- เอซี-130เอ เซอร์ไพรซ์แพ็คเกจ, เพฟ พรอนโต, เอซี-130อี เพฟสเปกเตอร์
- ปืนมินิกันจีเอยู-2/เอขนาด 7.62 ม.ม. 4 กระบอก
- ปืนใหญ่เอ็ม61 วัลแคนขนาด 20 ม.ม. 2 กระบอก
- ปืนใหญ่แอล/60 โบฟอร์สขนาด 40 ม.ม. 2 กระบอก
- เอซี-130อี เพฟเอจิส
- ปืนใหญ่เอ็ม61 วัลแคนขนาด 20 ม.ม. 2 กระบอก
- ปืนใหญ่แอล60 โบฟอร์สขนาด 40 ม.ม. 1 กระบอก
- ปืนใหญ่เอ็ม102 ฮาวไอเซอร์ขนาด 105 ม.ม. 1 กระบอก
- เอซี-130เอช เพฟสเปกเตอร์ 2
- ปืนใหญ่แอล60 โบฟอร์สขนาด 40 ม.ม. 1 กระบอก
- ปืนใหญ่เอ็ม102 ฮาวไอเซอร์ขนาด 105 ม.ม. 1 กระบอก
- เอซี-130ยู สปูคกี้
- ปืนแกทลิ่งจีเอยู-12 อีควอลไลเซอร์ห้าลำกล้องขนาด 25 ม.ม. 1 กระบอก
- ปืนใหญ่แอล60 โบฟอร์สขนาด 40 ม.ม. 1 กระบอก
- ปืนใหญ่เอ็ม102 ฮาวไอเซอร์ขนาด 105 ม.ม. 1 กระบอก
- เอซี-130เอ
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 โบอิง เอซี-130ยู
- ↑ 2.0 2.1 เอซี-130เอช/ยู เก็บถาวร 2008-10-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, กองทัพอากาศสหรัฐฯ, ตุลาคม พ.ศ. 2550
- ↑ 3.0 3.1 เอซี-130เอ
- ↑ Lockheed AC-130A "Plain Jane", พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศแห่งสหรัฐฯ, Accessed on 5 April 2009
- ↑ อุปกณณ์พิเศษสำหรับเอซี-130เอ, พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศแห่งสหรัฐฯ, Accessed on 5 April 2009.
- ↑ เอซี-130เอ "เพฟ พรอนโต", พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศแห่งสหรัฐฯ, Accessed on 5 April 2009.
- ↑ เอซี-130อี "เพฟ สเปกเตอร์", พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศแห่งสหรัฐฯ, Accessed on 5 April 2009.
- ↑ เอซี-130อี "เพฟ เอจิส", พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศแห่งสหรัฐฯ, Accessed on 5 April 2009.
- ↑ "30 mm Everywhere - Strategy Page". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-02. สืบค้นเมื่อ 2009-04-09.
- ↑ "AIR FORCE CANCELS 30 MM CANNON PROGRAM FOR AC-130U GUNSHIPS - Inside the Air Force, 11 July 2008". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-28. สืบค้นเมื่อ 2009-04-09.
- ↑ "ปืนของสปูคกี้ถูกยกเลิก", นิตยสารกองทัพอากาศ, ตุลาคมพ.ศ. 2551, เล่มที่ 91, หมายเลข 10, หน้า 24
- ↑ "Future AC-130 Gunship Integrated Weapons Systems (PDF)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-02-21. สืบค้นเมื่อ 2009-04-09.
- ↑ "Spirit 03 and the Battle for Khafji". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-25. สืบค้นเมื่อ 2009-04-10.
- ↑ ""เพนทากอน: สหรัฐฯ โจมตีกลุ่มอัลกออิดะห์ในโซมาเลีย"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-01-10. สืบค้นเมื่อ 2009-04-10.
- ↑ "เครื่องบินสหรัฐฯ บดขยี้เป้าหมายในโซมาเลีย"
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ใบแสดงความคิดเห็นของซี-130เอช/ยู, กองทัพอากาศสหรัฐฯ, ตุลาคมพ.ศ. 2550 เก็บถาวร 2008-10-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- "ประวัติศาสตร์ของเครื่องบินกันชิป" เก็บถาวร 2007-01-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- รายชื่อของเอซี-130 ใน Gunships.org
- เอซี-130 ใน GlobalSecurity.org
- กันชิปที่ทรงพลังบินในอิรัก ใน NPR.org จาก ออล ธิงส์ คอนซิเดอร์เรด (All Things Considered)