การพิจารณาคดีแม่มดในประเทศฝรั่งเศส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพแสดง Louisa Mabree หมอตำแยชาวฝรั่งเศส ถูกเผาในกรงพร้อมกับแมวดำ เนื่องจากการเป็นแม่มด

การพิจารณาคดีแม่มดในประเทศฝรั่งเศส มีบันทึกไว้ไม่สมบูรณ์นัก เหตุผลหลัก คือ เอกสารจำนวนมากเกี่ยวกับการพิจารณาคดีแม่มดแต่ดั้งเดิมนั้นไม่ได้รับการเก็บรักษาไว้ เพราะฉะนั้น ปริมาณเหตุการณ์จึงไม่อาจระบุแน่ชัดได้[1] ถึงแม้จะมีข้อมูลทุติยภูมิมากมายเกี่ยวกับเหตุการณ์ในประเทศฝรั่งเศส แต่ความที่มีบันทึกไม่สมบูรณ์นั้นทำให้ยืนยันข้อมูลเหล่านี้ได้ยาก[1]

เนื่องจากไม่มีกฎหมายระดับชาติเกี่ยวกับการเป็นแม่มด คดีแม่มดจึงตกเป็นอำนาจของศาลท้องถิ่น และดำเนินไปแตกต่างกันตามพื้นที่ ในภาคเหนือของประเทศฝรั่งเศส คดีแม่มดเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ในปารีสที่เรียกว่า ปาร์เลอม็องเดอปารี (ฝรั่งเศส: Parlement de Paris; อังกฤษ: Parliament of Paris) ซึ่งได้ออกกฎห้ามดำเนินคดีเกินจริง แต่ศาลท้องถิ่นอื่น ๆ มิได้ยึดถือตามเสมอไป[1] นี้เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กะปริมาณการล่าแม่มดในประเทศฝรั่งเศสได้ยาก พื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นภาคเหนือของประเทศฝรั่งเศสนั้น เป็นที่รับรู้กันว่า เกิดการล่าแม่มดอย่างรุนแรงมาแล้ว โดยเฉพาะจุดที่ใกล้กับชายแดนของอาณาเขตเจ้าชายมุขนายกแห่งคาทอลิก (Catholic prince-bishop) แต่ในเวลาที่เกิดเหตุการณ์นั้น พื้นที่ดังกล่าวมิได้เป็นประเทศฝรั่งเศส หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

ประวัติศาสตร์[แก้]

ช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 16 มีคดีแม่มดจำนวนหนึ่งที่ได้รับการบันทึกไว้ว่า เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศส ใน ค.ศ. 1539 มีคดีหนึ่งซึ่งนำไปสู่การประหารคนสี่คนในโบฌอเล (Beaujolais) ครั้นใน ค.ศ. 1553 มี "นักวิทยากลลัทธิเฟาสต์" (Faustian magician) คนหนึ่งถูกประหารในปัวตีเย (Poitiers) ต่อมาใน ค.ศ. 1558 และ 1562 มีการพิจารณาคดีในเนอแวร์ (Nevers) และตูลูซ (Toulouse) ตามลำดับ คดีทั้งสองทำให้มีผู้ถูกประหารสามคน[1]

ประเทศฝรั่งเศสไม่มีกฎหมายระดับชาติเกี่ยวกับการเป็นแม่มด และวิธีพิจารณาคดีแม่มดมักขึ้นอยู่กับการตัดสินของศาลและตุลาการในแต่ละท้องถิ่น หนังสือ Demonomanie ของฌ็อง โบแดง (Jean Bodin) ซึ่งเผยแพร่ใน ค.ศ. 1578 มีผลกระทบอันสำคัญต่อการพิจารณาคดีแม่มดในประเทศฝรั่งเศส

ภาคเหนือ[แก้]

ภาคเหนือของประเทศฝรั่งเศสเป็นเขตอำนาจของศาลอุทธรณ์ปาร์เลอม็องเดอปารี และคำตัดสินของศาลท้องถิ่นในภาคเหนือต้องอุธรณ์ไปยังศาลนี้ โดยช่วงเวลาราว 57 ปี ระหว่าง ค.ศ. 1568–1625 ปาร์เลอม็องเดอปารีพิพากษายืนคำตัดสินประหารแม่มดเพียง 100 คดี ซึ่งนับเป็นร้อยละ 5 ของคดีที่อุธรณ์ขึ้นมา[1]

ปาร์เลอม็องเดอปารีไม่ตามรอยประเทศอื่น ๆ แต่จัดคดีแม่มดเป็น "ความผิดพิเศษ" (exceptional crime) โดยใน ค.ศ. 1588 ศาลนี้ออกกฎห้ามดำเนินคดีแม่มดในลักษณะที่ "ออกนอกหน้าเกินไป" (excessive zeal) และ "เกินจริง" (exaggeration)[1] แต่ก็รับรู้กันว่า ศาลท้องถิ่นไม่แยแสกฎนี้[1] กับทั้งคำตัดสินแม่มดของศาลท้องถิ่นที่ไม่เคยอุทธรณ์ขึ้นไปยังปาร์เลอม็องเดอปารีนั้นก็ไม่มีจำนวนบันทึกหรือยืนยันไว้[1]

ใน ค.ศ. 1624 มีการออกกฎหมายใหม่ให้คำตัดสินทั้งหมดของศาลท้องถิ่นในภาคเหนือต้องได้รับการยืนยันจากปาร์เลอม็องเดอปารีเสียก่อนที่จะบังคับคดีตามนั้นได้[1] แต่คดีแม่มดที่ศาลท้องถิ่นไม่ส่งให้ปาร์เลอม็องเดอปารียืนยันจะมีมากน้อยเท่าไร ก็ไม่อาจสืบชัดได้[1]

ภาคใต้[แก้]

ภาคใต้ของประเทศฝรั่งเศสไม่ใช่เขตอำนาจของปาร์เลอม็องเดอปารี และมีคดีแม่มดจำนวนมหาศาลเกิดขึ้นในช่วงแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในจำนวนนี้มีคดีอันเลื่องชื่อ คือ การล่าแม่มดที่ลาบูร์ (Labourd witchhunt) ใน ค.ศ. 1609 และกรณีผีสิงที่แอ็กซ็องพรอว็องส์ (Aix-en-Provence possessions) ใน ค.ศ. 1611

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[แก้]

พื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศฝรั่งเศส โดยเฉพาะลอแรน (Lorraine) และฟร็องช์-กงเต (Franche-Comté) ซึ่งสมัยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการล่าแม่มด ในช่วง ค.ศ. 1603–1614 และ 1627–1632 มีคดีแม่มดราว 800 คดีเกิดขึ้นในบริเวณนี้ ซึ่งมีผู้คนมากมายถูกประหาร ต่อมาในช่วง ค.ศ. 1658–1661 มีการประหารแม่มด 100 คนในฟร็องช์-กงเต[2]

การสิ้นสุด[แก้]

Peronne Goguillon ได้รับการเอ่ยอ้างถึงว่า เป็นหญิงคนสุดท้ายที่ถูกประหารด้วยข้อหาเป็นแม่มดในประเทศฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1678 แต่ก็มีความเห็นว่า ควรนับกรณีปัวซง (Affair of the Poisons) ในช่วง ค.ศ. 1679–1682 เป็นการพิจารณาคดีแม่มดด้วยหรือไม่ เพราะถึงแม้จำเลยในกรณีปัวซงจะตั้งตนเป็นแม่มดอย่างเป็นจริงเป็นจัง แต่ข้อหาที่บุคคลเหล่านั้นถูกประหาร คือ การวางยาพิษและการฆ่าคน มากกว่าข้อหาการเป็นแม่มด นอกจากนี้ ถึงแม้เหล่านี้จะเป็นกรณีที่ถูกประหาร แต่ใน ค.ศ. 1768 ก็ยังมีหญิงคนหนึ่งถูกพิพากษาว่าเป็นแม่มดในประเทศฝรั่งเศส เพียงแต่ถูกปรับเท่านั้น

พระราชกฤษฎีกาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อ ค.ศ. 1682 ระบุว่า การเป็นแม่มดเป็นวิทยากลฉ้อฉล จึงไม่ห้ามการพิจารณาคดีแม่มด แต่กำหนดให้การพิพากษาบุคคลว่าเป็นแม่มดนั้นเป็นไปได้ยากขึ้น[3]

ในประเทศฝรั่งเศสช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 มีคดีแม่มดเกิดขึ้นน้อยราย บางคดีทำให้ผู้ชายจำนวนหนึ่งถูกประหาร และในทางประเพณีแล้ว นิยมถือกันว่า ชายผู้หนึ่งที่ถูกประหารในบอร์โด (Bordeaux) เมื่อ ค.ศ. 1718 ด้วยข้อหาเป็นพ่อมดนั้น เป็นบุคคลสุดท้ายที่ถูกประหารด้วยข้อหาเช่นนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีชายจำนวนหนึ่ง เป็นคนขับลา และขุนนางจาก Chauffours ถูกประหารด้วยข้อหานี้ในปารีสเมื่อ ค.ศ. 1724 และ 1726 ตามลำดับ

ส่วน Louis Debaraz ที่ถูกประหารในลียง (Lyon) เมื่อ ค.ศ. 1745 ดูจะเป็นชายคนสุดท้ายถูกประหารเพราะการพิจารณาคดีแม่มด การพิจารณาคดีนี้มีขึ้นในช่วง ค.ศ. 1743–1745 และมีชายหลายคนถูกซัดทอดมาจากคดีของ Bertrand Guilladot แล้วถูกฟ้องเป็นคดีนี้ว่า ทำสัญญากับปิศาจเพื่อขอให้พบขุมทรัพย์

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 Stuart Clark & William Monter: Witchcraft and Magic in Europe, Volume 4: The Period of the Witch Trials
  2. Bengt Ankerloo, Stuart Clark & William Monter: Witchcraft and Magic in Europe, Volume 4: The Period of the Witch Trials
  3. Ankarloo, Bengt & Henningsen, Gustav (red.), Skrifter. Bd 13, Häxornas Europa 1400-1700: historiska och antropologiska studier, Nerenius & Santérus, Stockholm, 1987