การปรับรูปแบบการเขียนอักษรไทยโดยรัชกาลที่ 6
การปรับรูปแบบการเขียนอักษรไทยโดยรัชกาลที่ 6 เป็นการปรับปรุงรูปแบบการเขียนอักษรไทยเพื่อลดความสับสนในการอ่านออกเสียง โดยใช้รูปแบบของอักษรอริยกะและอักษรไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นต้นแบบ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงประดิษฐ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2460 แต่หลังจากประทานพระบรมราชาธิบายในเรื่องดังกล่าวและตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว ไม่ได้รับการสนับสนุนโดยแพร่หลายจึงล้มเลิกไป ในปัจจุบันพบการใช้รูปแบบการเขียนนี้ในบางแห่งเท่านั้น
สาเหตุในการปรับปรุง[แก้]
- อักษรไทยวางสระไว้รอบพยัญชนะทำให้สับสน
- สระประสมของไทยเกิดจากการประสมรูปสระตามใจชอบโดยไม่ได้คำนึงถึงฐานของการเกิดเสียงจริง
- พยัญชนะที่ไม่มีสระกำกับออกเสียงได้ทั้งอะและออ
- การเขียนพยัญชนะสองตัวติดกันไม่สามารถแยกได้ว่าเมื่อใดจะอ่านแบบอักษรนำหรือแบบอักษรควบกล้ำ หรือไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างอักษรนำ-ตัวสะกด ตัวควบกล้ำหรือพยัญชนะต้นของอีกคำหนึ่ง
- การเขียนหนังสือไทยไม่มีการเว้นวรรคระหว่างคำ ทำให้อ่านได้ยาก
การเปลี่ยนแปลง[แก้]
กำหนดให้ใช้รูปสระใหม่ จำนวน 20 รูป โดยนำแบบอย่างจากอักษรอริยกะและอักษรไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช สระรูปใหม่ทั้งหมดนี้เขียนหลังพยัญชนะเท่านั้น พยัญชนะที่เขียนติดกันให้ออกเสียงควบกล้ำเท่านั้น ยกเลิกการใช้วิสรรชนีย์ (-ะ) แทนเสียงสระอะแต่ใช้กำกับสระเสียงสั้นเท่านั้น
พยัญชนะคงรูปเดิมแต่เพิ่มเครื่องหมายฆาฏประกาศ (.) ไว้ใต้อักษรนำและอักษรที่ไม่ออกเสียง พยัญชนะที่ไม่มีสระกำกับจะออกเสียงไม่ได้ ถ้าต้องออกเสียงตัวสะกด ต้องใส่เครื่องหมายเปย์ยาลย่อ (‘)ไว้หลังพยัญชนะต้น เช่น ช’น อ่านว่า ชะ-นะ พยัญชนะต้นที่ออกเสียงออให้ใส่เปย์ยาลย่อไว้ข้างหลัง ตัว ร เป็นตัวสะกดโดยไม่มีสระกำกับให้ออกเสียง ออน อักษรกล้ำของคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ ให้ใช้เครื่องหมาย อนุสวาร (◦) ในภาษาสันสกฤตมาใช้ โดยวางไว้เหนือพยัญชนะตัวแรกเมื่อกล้ำสองตัว หรือตัวที่สองเมื่อกล้ำสามตัว
การใช้งาน[แก้]
ทรงประดิษฐ์เสร็จสิ้นเมื่อ 6 เมษายน พ.ศ. 2460 ได้ประทานพระบรมราชาธิบายในเรื่องดังกล่าวต่อสมัคยาจารยสมาคม และได้ตีพิมพ์ในหนังสือวิทยาจารย์ เล่มที่ 17 ตอนที่ 11 วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2460 แต่การสนับสนุนในเรื่องนี้ไม่แพร่หลายเท่าที่ควรจึงต้องระงับไป โดยอักษรแบบใหม่นี้ มีที่ใช้จริง ได้แก่
- บัตรอวยพรวันวิสาขบูชาที่ประทานให้หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เมื่อ พ.ศ. 2463
- ชื่อปกหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิตทุกฉบับระหว่าง พ.ศ. 2460 – 2467
- พระธรรมคาถาว่าด้วยทศพิธราชธรรม 10 ประการ ในโดมพระที่นั่งบรมพิมานหลังการบูรณะใหม่เมื่อ พ.ศ. 2467
- ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ของรัชกาลที่ 6 ณ บริเวณหน้าสวนลุมพินี กรุงเทพฯ พระนามเดิมของพระองค์ วชิราวุธ จารึกด้วยอักขรวิธีของพระองค์ร่วมกับพระนามอื่นๆที่จารึกด้วยอักขรวิธีปัจจุบัน
- ตราสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย
อ้างอิง[แก้]
- ลักษณศิริ, จุไรรัตน์ (2551). จากลายสือไทยสู่อักษรไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ISBN 978-974-032-402-7.
{{cite book}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|year=
(help)