ข้ามไปเนื้อหา

การขนส่งระบบรางในนครวาติกัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทางรถไฟสายวาติกัน
Ferrovia Vaticana
สถานีรถไฟนครวาติกัน
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปิดให้บริการ
เจ้าของสันตะสำนัก
ที่ตั้งนครรัฐวาติกันและประเทศอิตาลี
ปลายทาง
จำนวนสถานี1
การดำเนินงาน
ระบบสายสันตะสำนัก
ผู้ดำเนินงานการรถไฟแห่งประเทศอิตาลี
ประวัติ
เปิดเมื่อ2 ตุลาคม ค.ศ. 1934
ข้อมูลทางเทคนิค
ระยะทาง1.27 กิโลเมตร (0.79 ไมล์)
จำนวนทางวิ่งทางเดี่ยว
รางกว้าง1,435 mm (4 ft 8 12 in) สแตนดาร์ดเกจ
ระบบจ่ายไฟไม่
แผนที่เส้นทาง

การขนส่งระบบรางในนครวาติกัน ประกอบด้วยทางรถไฟสายวาติกัน (อิตาลี: Ferrovia Vaticana) ที่มีความยาว 300 เมตร สำหรับขนส่งผู้โดยสารและสินค้าที่สถานีรถไฟนครวาติกัน (อิตาลี: Stazione Città del Vaticano) ซึ่งเป็นสถานีรถไฟเพียงแห่งเดียวในนครรัฐวาติกัน และถือเป็นชาติที่มีการขนส่งระบบรางที่สั้นที่สุดในโลก[1] เส้นทางสายนี้เชื่อมเข้ากับทางรถไฟของอิตาลีโดยได้รับการรับรองจากสนธิสัญญาลาเตรันเมื่อปี ค.ศ. 1929 ทางรถไฟและตัวสถานีถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 11 เพื่อความสะดวกในการขนส่งสินค้าและผู้คนจากอิตาลีเข้าสู่ภายในนครวาติกัน

ปัจจุบันทางรถไฟสายนี้จะบริการขนส่งสินค้าขาเข้าเป็นส่วนใหญ่ มีขนส่งผู้โดยสารเข้ามาเป็นครั้งคราว ซึ่งโดยมากมักจะมาในรูปแบบเชิงสัญลักษณ์หรือเชิงพิธีการเสียมากกว่า[2][3]

ประวัติ

[แก้]

แต่เดิมทางรถไฟไม่ได้รับการอนุญาตให้ก่อสร้างในเขตนครรัฐวาติกัน ปรากฏในรัชกาลสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 16 มีพระราชวินิจฉัยมิให้ก่อสร้างทางรถไฟ และทรงกล่าวว่า "รางรถไฟคือทางของนรกภูมิ" (ฝรั่งเศส: chemin de fer, chemin d'enfer)[4] หลังสิ้นรัชกาลเก่า สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 9 จึงดำรงตำแหน่งประมุขแห่งคริสตจักรสืบมา พระองค์เริ่มก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากโบโลญญาไปอังโกนา แต่ถูกกองทัพของราชอาณาจักรซาร์ดิเนียยึดครองในปี ค.ศ. 1861 ก่อนที่จะสร้างทางรถไฟสำเร็จ[5]

ในรัชสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 11 มีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟและสถานีรถไฟในเขตนครรัฐวาติกันเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟของประเทศอิตาลีตามสนธิสัญญาลาเตรันเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1929 โดยกระทรวงโยธาธิการของราชอาณาจักรอิตาลีเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1929 โดยยกมูนดินให้สูงขึ้น 38 เมตรจากระดับน้ำทะเลเท่ากับระดับความสูงของสถานีรถไฟโรมาซันปีเอโตรของประเทศอิตาลี[6] หลังจากนั้นจึงได้ก่อสร้างสะพานทอดไปยังเขตแดนของวาติกันโดยรัฐบาลอิตาลีออกใช้จ่ายให้ ส่วนเงินที่ใช้ในการก่อสร้างสถานีรถไฟนครวาติกันคือทุนที่ได้รับตามข้อตกลงในสนธิสัญญา จำนวน 750 ล้านลีราอิตาลี[7] โดยตัวสถานีสร้างตั้งแต่ปี ค.ศ. 1929–1933

มีรถจักรไอน้ำเข้าไปวาติกันครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1932 ก่อนจะมีพิธีเปิดสถานีรถไฟนครวาติกันอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1934[8] โดยการรถไฟแห่งประเทศอิตาลีได้ให้ประโยชน์ในกิจการรถไฟสายนี้ให้แก่สันตะสำนักสำหรับใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างสองประเทศเมื่อวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1934[6] กระทั่งเดือนตุลาคมปีเดียวกัน กระทรวงโยธาธิการจึงได้ส่งมอบเส้นทางรถไฟที่สมบูรณ์แก่การรถไฟแห่งประเทศอิตาลีและสันตะสำนัก[6]

สถานีรถไฟ

[แก้]

สถานีรถไฟนครวาติกัน (อิตาลี: Stazione Città del Vaticano) เป็นสถานีรถไฟเพียงแห่งเดียวในทางรถไฟสายวาติกัน ตั้งอยู่ห่างจากประตูข้ามพรมแดนวาติกัน-อิตาลีราว 20 เมตร ออกแบบโดยจูเซปเป โมโม[6] เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1929 ก่อนเปิดให้บริการในปี ค.ศ. 1933[6] ตัวอาคารมีขนาด 61 x 21.5 เมตร สร้างด้วยหินอ่อนสีขาว ตรงกลางมีความสูง 16.85 เมตร และด้านข้าง 5.95 เมตร[9] เฮนรี วอลลัม มอร์ตัน นักเขียนชาวอังกฤษ อธิบายลักษณะของตัวอาคารไว้ว่า "เหมือนธนาคารบาร์คลีส์สาขาลอนดอน"[1]

ปัจจุบันส่วนหนึ่งของอาคารยังใช้เป็นสถานีรับ-ส่งผู้โดยสารและสินค้า ส่วนหนึ่งถูกดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์กษาปณ์และตราไปรษณียากร และอีกส่วนถูกดัดแปลงเป็นห้างสรรพสินค้าปลอดภาษีเปิดบริการเฉพาะบุคคลที่มีสัญชาติวาติกันและนักการทูตเท่านั้น[10]

ระเบียงภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Korn, Frank J. 2000. A Catholic's Guide to Rome: Discovering the Soul of the Eternal City. Paulist Press. ISBN 0-8091-3926-X. p. 49.
  2. Walsh, Michael J. 2005. Roman Catholicism: The Basics. Routledge. ISBN 0-415-26380-8. p. 95.
  3. Garwood, Duncan. 2006. Rome. Lonely Planet. ISBN 1-74059-710-9. p. 141.
  4. Pollard, John. 2005. Money and the Rise of the Modern Papacy. ISBN 0-521-81204-6. p. 29.
  5. Prusak, Bernard P. 2004. The Church Unfinished: Ecclesiology Through the Centuries. Paulist Press. ISBN 0-8091-4286-4. p. 271.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 Holy See Press Office. 28 January 2001. Trans. Glyn Williams. "The Vatican City State Railway."
  7. Reese, Thomas J. 1996. Inside the Vatican: The Politics and Organization of the Catholic Church. Harvard University Press. ISBN 0-674-93261-7. p. 203.
  8. Infos about the station on www.vatican.va (อิตาลี)
  9. Infos about the building on www.vatican.va (อิตาลี)
  10. Vatican Tax-Free Department Store Busy This Season

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]