กลุ่มภาษาฟินโน-ยูกริก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กลุ่มภาษาฟินโน-ยูกริก
ภูมิภาค:ยุโรปตะวันออก, ยุโรปกลางและยุโรปเหนือ, เอเชียเหนือ
การจําแนก
ทางภาษาศาสตร์
:
ยูรัล
  • กลุ่มภาษาฟินโน-ยูกริก
กลุ่มย่อย:
ISO 639-2 / 5:fiu
กลอตโตลอก:None
{{{mapalt}}}
กลุ่มภาษาฟินโน-ยูกริก

กลุ่มภาษาฟินโน-ยูกริก (อังกฤษ: Finno-Ugric languages) เป็นกลุ่มของภาษาที่อยู่ในตระกูลภาษายูรัล ประกอบด้วยภาษาเอสโตเนีย ภาษาฟินแลนด์ ภาษาฮังการี และภาษาที่เกี่ยวข้อง แบ่งเป็นกลุ่มย่อยคือกลุ่มภาษาฟินโน-เปอร์มิกและกลุ่มภาษายูกริก

สถานะ[แก้]

คำว่าฟินโน-ยูกริกยังเป็นที่โต้แย้ง โดยนักภาษาศาสตร์เชิงประวัติศาสตร์เห็นว่ากลุ่มภาษาฟินโน-เปอร์มิกมีความห่างไกลจากกลุ่มภาษายูกริก เช่นเดียวกับที่แตกต่างจากกลุ่มภาษาซาโมเยดิกในไซบีเรีย ซึ่งในอดีตเคยคาดการณ์ว่ากลุ่มภาษาซาโมเยดิกได้แยกตัวออกไปก่อนด้วยการถูกกีดขวางทางภูมิศาสตร์ แล้วจึงแตกออกเป็นกลุ่มภาษาฟินโน-เปอร์มิกและกลุ่มภาษายูกริกในภายหลัง แต่ไม่มีหลักฐานทางภาษาศาสตร์สนับสนุน

ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่ากลุ่มภาษาฟินโน-ยูกริกต่างจากภาษาอื่นในยุโรปเพราะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน จึงเป็นเหตุผลแรก ๆ ที่รวมภาษาเหล่านี้เข้าด้วยกันเป็นกลุ่มภาษาฟินโน-ยูกริก

จุดกำเนิด[แก้]

ภาษาดั้งเดิมของกลุ่มภาษาฟินโน-ยูกริกคือภาษาฟินโน-ยูกริกดั้งเดิมซึ่งเป็นบรรพบุรุษของกลุ่มภาษาบอลติก-ฟิน เช่น ภาษาฟินแลนด์ ภาษาเอสโตเนีย ภาษากลุ่มยูกริก เช่น ภาษาฮังการี และภาษากลุ่มยูรัลอื่น ๆ ยกเว้นกลุ่มภาษาซาโมเยดิก บรรพบุรุษของภาษานี้คือภาษายูรัลดั้งเดิม ซึ่งได้แยกออกเป็นภาษาฟินโน-ยูกริกดั้งเดิม และภาษาซาโมเยดิกดั้งเดิม

ประวัติ[แก้]

กลุ่มชนที่พูดภาษาในตระกูลยูรัลกลุ่มแรกคือชาวเฟนนีในเจอร์มาเนีย และอีกสองเผ่าในสแกนดิเนเวีย ที่พูดภาษาในกลุ่มภาษาฟินโน-ยูกริก ในพุทธศตวรรษที่ 20 นักวิชาการชาวยุโรปได้กล่าวถึงความคล้ายคลึงกันของชื่อฮังกาเรีย และยูเกรียซึ่งเป็นชื่อของแหล่งที่อยู่ทางด้านตะวันออกของเทือกเขายูรัล ความเชื่อมโยงเหล่านี้ถูกสันนิษฐานแต่ไม่ได้มาจากหลักฐานทางภาษาศาสตร์ ใน พ.ศ. 2214 นักวิชาการชาวสวีเดน Georg Stiernhielm ได้ศึกษาความคล้ายคลึงของภาษาแลบบ์ ภาษาเอสโตเนีย และภาษาฟินแลนด์ และความคล้ายคลึงของคำระหว่างภาษาฟินแลนด์กับภาษาฮังการี ในขณะที่นักวิชาการเยอรมัน Martin Vogel ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาษาฟินแลนด์ ภาษาแลบบ์ และภาษาฮังการี กรอบการศึกษาของนักวิชาการทั้งสองคนนี้ได้เป็นกรอบสำหรับการจัดจำแนกกลุ่มภาษาฟินโน-ยูกริก ใน พ.ศ. 2260 นักวิชาการชาวสวีเดน Olof Rudbeck ได้เสนอความเชื่อมโยงระหว่างภาษาฟินแลนด์กับภาษาฮังการี และนักวิชาการชาวเยอรมัน Johann Georg von Eckhart ได้เสนอความสัมพันธ์ภายในกลุ่มภาษาซาโมเยดิกเป็นครั้งแรก

ต่อมา ใน พ.ศ. 2313 คำว่ากลุ่มภาษาฟินโน-ยูกริกเป็นที่รู้จัก แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางโดยที่นักวิชาการชาวฮังการีสนใจทฤษฎีนี้และพยายามหาความเชื่อมโยงกับชาวเติร์กและความสัมพันธ์ระหว่างภาษาฮังการีกับภาษาแลบบ์ ต่อมา ใน พ.ศ. 2342 นักวิชาการชาวฮังการี Sámuel Gyarmathi ได้เสนองานที่สมบูรณ์เกี่ยวกับกลุ่มภาษาฟินโน-ยูกริก การศึกษาเกี่ยวกับภาษาในกลุ่มนี้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 24 เป็นต้นมา มีการศึกษาในประเทศฮังการีเป็นหลัก

ลักษณะเชิงโครงสร้าง[แก้]

ภาษาในกลุ่มนี้ทั้งหมดมีลักษณะร่วมกันทางด้านคำศัพท์พื้นฐานที่คาดว่ามีจุดกำเนิดจากภาษาฟินโน-ยูกริกดั้งเดิม ส่วนใหญ่เป็นคำศัพท์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และร่างกาย การตกปลา การล่าสัตว์ การกินเนื้อสัตว์ พืชที่เป็นอาหาร เป็นต้น ภาษาในกลุ่มนี้เป็นรูปคำติดต่อ มีลักษณะของการผันคำโดยการเติมปัจจัย ไม่มีการกำหนดเพศทางไวยากรณ์ เช่น ไม่แยกสรรพนามบุรุษที่สามระหว่าง he กับ she แบ่งเป็น 7 การก ใช้สรรพนามแสดงความเป็นเจ้าของน้อย และพัฒนาขึ้นภายหลัง

ข้อโต้แย้ง[แก้]

ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มภาษาฟินโน-เปอร์มิกและกลุ่มภาษายูกริกยังมีการศึกษาน้อย และเชื่อว่าเป็นกลุ่มที่มีความห่างไกลกันมาก และมีนักวิชาการบางกลุ่มพยายามเพิ่มภาษาอื่น ๆ เข้ามาเพื่อให้จัดเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]