กระแจะ (พืช)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กระแจะ
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Tracheophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Sapindales
วงศ์: Rutaceae
สกุล: Naringi
สปีชีส์: N.  crenulata
ชื่อทวินาม
Naringi crenulata
(Roxb.) D.H. Nicolson
ชื่อพ้อง

กระแจะ พญายา หรือ ทานาคา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Naringi crenulata) เป็นพืชในวงศ์ส้ม ลักษณะเป็นไม้ต้นขนาดเล็กหรือกึ่งไม้พุ่ม ไม่ผลัดใบ สูง 2–15 เมตร ลำต้นและกิ่งมีหนามแข็ง เปลือกต้นสีน้ำตาลขรุขระ ใบแบบใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับกัน มีใบย่อยรูปรีแกมรูปไข่กลับ 4–13 ใบ ขนาด 1.5–3 x 2–7 เซนติเมตร โคนและปลายใบสอบแคบ ขอบใบหยักฟันเลื่อยตื้น ๆ ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวรวมเป็นกระจุกตามกิ่ง กลีบดอกมี 4 กลีบ สีขาวหรือสีขาวอมเหลือง กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ รังไข่มี 4 ช่อง เกสรตัวผู้มี 5 อัน ดอกมีกลิ่นหอมเย็น ผลเป็นผลสดกลม ขนาด 0.5–1 เซนติเมตร เมื่ออ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จัดมีสีม่วงคล้ำ มีรสเปรี้ยว ภายในมี 1–4 เมล็ด[1][2]

กระแจะมีถิ่นกำเนิดในอินเดีย ศรีลังกา และอินโดจีน[3] เนื้อไม้เมื่อตัดมาใหม่ ๆ จะมีสีขาว หากทิ้งไว้นานจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนเหลืองอ่อน ใช้ฝนเป็นผงละเอียดทาเพื่อประทินผิว นิยมใช้กันมากในประเทศพม่า[4] เปลือกต้นมีรสขม แก้ไข้ บำรุงดวงจิต แก่นมีรสจืดเย็น ดองเหล้าดื่มแก้กระษัย ดับพิษร้อน[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. คำอธิบาย ตำราพระโอสถพระนารายณ์, ชยันต์ พิเชียรสุนทร และคณะ, หน้า 373–374, พ.ศ. 2558, สำนักพิมพ์อมรินทร์ กรุงเทพฯ
  2. "กระแจะ (Naringi crenulata)". ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. สืบค้นเมื่อ March 6, 2020.
  3. "Naringi crenulata (Roxb.) Nicolson". Plants of the World Online - Kew Science. สืบค้นเมื่อ March 6, 2020.
  4. แพงเงิน, ไพบูลย์ (2556). สมุนไพร รู้ใช้ไกลโรค (สมุนไพรคู่บ้าน 2). กรุงเทพมหานคร, ไทย: สำนักพิมพ์มติชน. p. 86. ISBN 9789740211228.
  5. "กระแจะ - Naringi crenulata". ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. สืบค้นเมื่อ March 6, 2020.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ กระแจะ
  • ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Naringi crenulata ที่วิกิสปีชีส์