กรณีอัยน์อัลเราะมานะฮ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กรณีอัยน์อัลเราะมานะฮ์
เป็นส่วนหนึ่งของสงครามกลางเมืองเลบานอน
โบสถ์น็อทร์ดามในอัยน์อัลเราะมานะฮ์ จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์
สถานที่เบรุต ประเทศเลบานอน
วันที่13 เมษายน 1975
เป้าหมาย แนวร่วมปลดแอกอาหรับ
ชาวปาเลสไตน์
ตาย27
เจ็บ19
พรรคกะตาอิบ
เหตุจูงใจคติต่อต้านปาเลสไตน์

กรณีอัยน์อัลเราะมานะฮ์ (อาหรับ: مجزرة بوسطة عين الرمانة ,مجزرة عين الرمانة; Ain el-Rammaneh incident) หรือ การสังหารหมู่บนรถบัสในเบรุต ปี 1975 (1975 Beirut bus massacre) เป็นชื่อเรียกรวมเหตุการณ์การปะทะกันสั้น ๆ ระหว่างกองกำลังกะตาอิบ กับ แนวร่วมปาเลสไตน์ บนถนนในนครเบรุต ประเทศเลบานอน ซึ่งนิยมมองกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองเลบานอนที่กินระยะเวลาอีกนับสิบปีหลังจากนั้น[1]

ในเช้าวันที่ 13 เมษายน 1975 ด้านนอกโบสถ์นอทร์ดามเดอลาเดลีวร็องซ์ (Church of Notre Dame de la Delivrance) ในชุมชนชาวแมรอนไนต์ อัยน์อัลเราะมานะฮ์ ในเบรุตตะวันออก เมื่อสมาชิกกองโจรของกองกำลังปลดแอกปาเลสไตน์ (PLO) ราวยี่สิบคนแกว่งยิงปืนกลขึ้นฟ้ากันตามธรรมเนียม (อาหรับ: Baroud) จากบนรถ[2] ในขณะที่นักรบในเครื่องแบบของกองกำลังตรวจตรากะตาอิบ (KRF) ของพรรคกะตาอิบ[3] กำลังปิดถนนด้านหน้าโบสถ์ซึ่งในเวลานั้นกำลังประกอบพิธีศีลจุ่มครอบครัวอยู่ กลุ่มปาเลสไตน์ปฏิเสธที่จะขับรถออกไปทางอื่น กลุ่มกะตาอิบซึ่งกังวลใจจึงพยายามเข้าไปปรามโดยใช้กำลัง ซึ่งนำไปสู่การตะลุมบอนกันจนมีผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เป็นเรื่องประหลาดระหว่างสองกลุ่ม และดูไม่ได้เป็นประเด็นใด ๆ ในเวลานั้น กระนั้น ในราวชั่วโมงให้หลัง ที่เวลาประมาณสิบโมงครึ่ง กลุ่มชายพกอาวุธปืนกลุ่มหนึ่งลงจากรถที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ของแนวหน้าประชาชนเพื่อปลดแอกปาเลสไตน์ (PFLP) ซึ่งเป็นกองพันย่อยของ PLO และทำการกราดยิงภายในโบสถ์หลังดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตสี่ราย[4][5][6] ทั้งหมดเป็นทหารของกะตาอิบ โดยหนึ่งรายเป็นนายทหารระดับสูงและบิดาของเด็กที่กำลังประกอบพิธีศีลจุ่ม

หลังจากเหตุการณ์นี้ กองกำลัง KRF ร่วมกับ NLP กองพันพยัคฆ์ ทำการปิดกั้นถนนต่าง ๆ ตั้งจุดหยุดรถเพื่อตรวจเอกสารประจำตัวในย่านอัยน์อัลเราะมานะฮ์และย่านชาวคริสต์อื่น ๆ ในเบรุตตะวันออก[7] ส่วนในเบรุตอีกฟากหนึ่งซึ่งเป็นชุมชนมุสลิมเป็นหลักก็มีกองกำลังของปาเลสไตน์ทำเช่นเดียวกัน

ฝั่งกะตาอิบเชื่อว่าผู้ก่อเหตุที่โบสถ์เป็นกองโจรปาเลสไตน์ จึงทำการวางแผนตอบโต้ขึ้นทันที[8] ในช่วงบ่ายของวันเดียวกันนั้น รถบัสของ PLO ซึ่งบรรทุกสมาชิกของแนวหน้าปลดแอกอาหรับ (ALF) และพลเมืองชาวเลบานอนที่สนับสนุนปาเลสไตน์ซึ่งกำลังเดินทางกลับจากการเดินขบวนการเมืองที่เตลเอลซะอาอ์ตะร์[9] ขับผ่านถนนในย่านอัยน์อัลเราะมานะฮ์ มุ่งหน้าค่ายผู้ลี้ภัยซะบรา ขณะที่รถบัสกำลังขับผ่านซอยแคบ ๆ หน้าโบสถ์ ได้ถูกทหารของ KRF ซุ่มโจมตีกราดยิงเข้าใส่ เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต 27 ราย บาดเจ็บ 19 คน รวมคนขับ[10][11][12]

อ้างอิง[แก้]

  1. Jureidini, McLaurin, and Price, Military operations in selected Lebanese built-up areas (1979), Appendix B, B-2.
  2. O'Ballance, Civil War in Lebanon (1998), p. 1.
  3. Jureidini, McLaurin, and Price, Military operations in selected Lebanese built-up areas (1979), Appendix B, B-2.
  4. Jureidini, McLaurin, and Price, Military operations in selected Lebanese built-up areas (1979), Appendix B, B-2.
  5. Gordon, The Gemayels (1988), p. 48.
  6. Katz, Russel & Volstad, Armies in Lebanon (1985), p. 4.
  7. Katz, Russel & Volstad, Armies in Lebanon (1985), p. 5.
  8. Jureidini, McLaurin, and Price, Military operations in selected Lebanese built-up areas (1979), Appendix B, B-2.
  9. Hirst, Beware of small states: Lebanon, battleground of the Middle East (2011), p. 99.
  10. Jureidini, McLaurin, and Price, Military operations in selected Lebanese built-up areas (1979), Appendix B, B-2.
  11. Weinberger, Syrian Intervention in Lebanon: The 1975–76 Civil War (1986), p. 147.
  12. Kassir, La Guerre du Liban: De la dissension nationale au conflit régional (1994), p. 103.