กฎหมายอาญา มาตรา 175 (เยอรมนี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กฎหมายอาญา มาตรา 175 (เยอรมัน: § 175 Strafgesetzbuch) เป็นบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาเยอรมัน ซึ่งกำหนดให้ความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างชาย–ชายถือเป็นอาชญากรรม เริ่มบังคับใช้เมื่อ 15 พฤษภาคม 1871 ในสมัยสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ ซึ่งหลังจากนั้นเพียงหนึ่งปี ก็กลายเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ทั่วจักรวรรดิเยอรมัน และถูกบังคับใช้ต่อเนื่องยาวนาน (ยกเว้นในเยอรมนีตะวันออก) จนกระทั่งถูกยกเลิกอย่างสมบูรณ์เมื่อ 10 มีนาคม 1994 ซึ่งตลอดช่วงเวลาการบังคับใช้ดังกล่าว มีผู้ชายกว่า 140,000 คนที่ถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีในความผิดข้อนี้

บทบัญญัติที่ตราขึ้นในปี 1871 มีดังนี้: "มาตรา 175 การร่วมประเวณีผิดธรรมชาติซึ่งกระทำระหว่างบุคคลเพศชาย หรือระหว่างคนกับสัตว์ ต้องระวางโทษจำคุก พร้อมสามารถเพิ่มโทษให้เสียสิทธิพลเมือง"[1] ต่อมาในปี 1935 รัฐบาลนาซีเยอรมันแก้ไขให้เพิ่มโทษจากจำคุกไม่เกินหกเดือน เป็นจำคุกไม่เกินห้าปี

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เยอรมนีตะวันตกและเยอรมนีตะวันออกก็ยังคงใช้ประมวลกฎหมายอาญาที่มีอยู่เดิม ในปี 1950 ศาลอุทธรณ์เบอร์ลินตะวันออกตัดสินว่ากฎหมายอาญามาตรา 175 ที่จะบังคับใช้ในเยอรมนีตะวันออกจะเป็นฉบับก่อนการแก้ไขในปี 1935[2] ถึงแม้เยอรมนีตะวันออกยังคงการบังคับใช้มาตรานี้ แต่ในทางปฏิบัติก็แทบไม่มีการจับกุมและดำเนินคดี ด้วยเหตุนี้ในปี 1957 เมื่อมีการทบทวนประมวลกฎหมายอาญา จึงได้ข้อสรุปว่าความผิดตามมาตรา 175 ไม่เป็นภัยต่อลัทธิสังคมนิยม ส่งผลให้เยอรมนีตะวันออกทำการยกเลิกมาตราดังกล่าว และถึงขนาดยอมรับการเป็นเกย์อย่างเปิดเผยในกองทัพ

อีกด้านหนึ่งในประเทศเยอรมนีตะวันตก มีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในปี 1957 ขอให้ยกเลิกมาตรา 175 ฉบับปี 1935 แต่ก็ถูกยกคำร้อง ท้ายที่สุด มาตรา 175 ฉบับของนาซีก็ยังคงบังคับใช้ต่อไปในเยอรมนีตะวันตก (ส่งผลให้คู่เกย์จำนวนไม่น้อยตัดสินใจหนีไปเยอรมนีตะวันออก) มีผู้ชายกว่าหนึ่งแสนคนที่ถูกดำเนินคดีระหว่างปี 1945 ถึง 1969 และมีราวห้าหมื่นคนที่ถูกพิพากษาลงโทษ ผู้ต้องหาหลายคนตัดสินใจฆ่าตัวตาย

มาตรานี้ถูกยกเลิกอย่างสมบูรณ์ในปี 1994 เป็นเวลาสี่ปีภายหลังการรวมประเทศเยอรมนี ต่อมาในปี 2002 รัฐบาลเยอรมันออกแถลงการณ์ขอโทษกลุ่มรักร่วมเพศอย่างเป็นทางการ ศาลาศาลสหพันธ์พิพากษาให้กลับคำพิพากษาลงโทษในมาตรา 175 ส่งผลให้บรรดาอดีตนักโทษในความผิดนี้ได้รับค่าชดเชยจากรัฐบาลเยอรมัน

กราฟแสดงจำนวนผู้ต้องหา[แก้]

  1902-1918 (จักรวรรดิเยอรมัน)
  1919-1933 (สาธารณรัฐไวมาร์)
  1933-1941 (นาซีเยอรมนี)
  1950-1987 (เยอรมนีตะวันตก)

อ้างอิง[แก้]

  1. ข้อความต้นฉบับ: "§ 175 Die widernatürliche Unzucht, welche zwischen Personen männlichen Geschlechts oder von Menschen mit Thieren begangen wird ist mit Gefängniß zu bestrafen; auch kann auf Verlust der bürgerlichen Ehrenrechte erkannt werden."
  2. Andreas Pretzel (2002). NS-Opfer unter Vorbehalt: homosexuelle Männer in Berlin nach 1945 (ภาษาเยอรมัน). LIT Verlag Münster. p. 191. ISBN 3825863905.