ซุนวู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซุนวู
รูปปั้นซุนวู ที่เมืองยุริฮิมะ จังหวัดทตโตะริ ประเทศญี่ปุ่น
รูปปั้นซุนวู ที่เมืองยุริฮิมะ จังหวัดทตโตะริ ประเทศญี่ปุ่น
เกิดประมาณ 400 ปีก่อนคริสตกาล
เสียชีวิตประมาณ 320 ปีก่อนคริสตกาล
อาชีพผู้บัญชาการทหาร
ช่วงเวลา722–481 ก่อนคริสตกาล หรือ 403–221 ก่อนคริสตกาล (ยังเป็นที่ถกเถียง)
หัวข้อยุทธศาสตร์การทหาร
ผลงานที่สำคัญตำราพิชัยสงครามของซุนวู

ซุนวู (จีนตัวย่อ: 孙武; จีนตัวเต็ม: 孫武; พินอิน: Sūn Wǔ; ซุนอู่) หรือ ซุนจื่อ (จีนตัวย่อ: 孙子; จีนตัวเต็ม: 孫子; พินอิน: Sūn Zǐ; เวด-ไจลส์: Sun Tzu, แปลว่า "ปราชญ์แซ่ซุน") เป็นผู้เขียนตำราพิชัยสงครามซุนจื่อ (ซุนจื่อปิงฝ่า - 孙子兵法) ที่นับว่าเป็นตำรายุทธศาสตร์ทางทหาร ที่มีอิทธิพลมากของประเทศจีน ปัจจุบันยุทธศาสตร์ในตำรา รู้เขารู้เรา รบร้อย ก็มิอาจเป็นอัตรายได้

ประวัติ[แก้]

ข้อมูลที่มีหลงเหลืออยู่เกี่ยวกับชีวประวัติของซุนวูคือชีวประวัติที่เขียนขึ้นในช่วง 2 ศตวรรษก่อนคริสตกาล โดยซือหม่าเชียน นักเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ได้บรรยายถึงซุนวูว่าเป็นแม่ทัพที่อาศัยอยู่ในรัฐอู๋ ในช่วงประมาณ 600 ปี ก่อนคริสตกาล ซึ่งอยุ่ในยุคเดียวกันกับ ขงจื๊อ นักปรัชญาจีนผู้ยิ่งใหญ่ อย่างไรก็ตามชีวประวัตินี้ขัดแย้งกับหลักฐานอื่นๆ ของยุคนั้น รวมทั้งลักษณะการเขียนและเนื้อหาของ "ตำราพิชัยสงครามซุนจื่อ" ก็บ่งชี้ว่าไม่น่าจะเป็นงานที่เขียนขึ้นในช่วง 400-320 ปีก่อนคริสตกาล

"ตำราพิชัยสงครามซุนจื่อ" ได้ทิ้งเบาะแสเป็นนัยๆ ถึงชีวิตของซุนวู เช่น รถม้าใช้ในการสงครามที่อธิบายโดยซุนวูนั้น มีการใช้เพียงแค่เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ในช่วงยุค 400 ปีก่อนคริสตกาล ดังนั้นจึงถือว่าบางส่วนของงานเขียนนี้ก็อยู่ในช่วงเวลานั้น โดยคาดว่าซุนวูมีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล ตำราพิชัยสงครามของซุนวูได้มีการกล่าวถึงหลายคราในนิยายเรื่อง สามก๊ก

ในเลียดก๊ก ซุนวูเป็นสหายกับอู๋จื่อซี อู๋จื่อซีได้ชักชวนซุนวูให้มารับราชการในแคว้นอู๋ โดยทำหน้าที่ฝึกทหารให้แก่อู๋อ๋องเหอหลี อ๋องแห่งแคว้นอู๋ ซุนวูได้เสนอแผนพิชัยสงคราม 13 บรรพ แต่อู๋อ๋องเหอหลียังไม่เชื่อ ซุนวูจึงขอฝึกนางสนมของอู๋อ๋องเหอหลี อู๋อ๋องเหอหลีก็อนุญาต ในการฝึกมีนางสนม 2 นางได้หัวเราะอย่างสนุกสนานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของซุนวู ซุนวูจึงสั่งประหารสนม 2 นางนี้ทันที เพื่อให้เห็นถึงความเอาจริง ท้ายที่สุด อู๋อ๋องเหอหลีจึงได้เชื่อมั่นในตัวซุนวูและตำราพิชัยสงครามอย่างเต็มที่ ในก่อนคริสต์ศักราช 507 ปี อู๋อ๋องเหอหลีแต่งตั้งให้ซุนวูเป็นแม่ทัพ อู๋จื่อซีและป๋อผีเป็นรองแม่ทัพ ยกพลหนึ่งแสนไปตีแคว้นฉู่ สามารถตีแคว้นฉู่ที่ใหญ่กว่าเข้มแข็งกว่าได้สำเร็จ แต่ต่อมาสถานการณ์พลิกผลัน เพราะฉู่เจาอ๋อง อ๋องแคว้นฉู่ได้หลบหนีไปเสียก่อน เย่วอ๋องยุ่นฉาง อ๋องแห่งแคว้นเยว่ ฉวยโอกาสที่แคว้นอู๋ว่างเปล่ายกทัพมาตีแคว้นอู๋ อู๋อ๋องเหอหลีจึงรีบยกทัพกลับทันที เย่วอ๋องยุ่นฉางจึงหนีไป ทำให้อู๋อ๋องเหอหลีผูกใจเจ็บคิดจะล้างแค้นเย่วอ๋องยุ่นฉางตลอดไป

ต่อมาในก่อนคริสต์ศักราช 497 ปี เย่วอ๋องยุ่นฉางถึงแก่กรรม โกวเจี้ยนผู้บุตรได้ขึ้นครองแคว้นแทน จึงคิดฉวยโอกาสไปตีตอนนี้ ซุนวูและอู๋จื่อซีคัดค้าน แต่อู๋อ๋องเหอหลีไม่ฟัง ยกทัพสามหมื่นไปตีแคว้นเยว่ ผลคือทั้งคู่ปะทะกันที่จุ้ยหลี่ ในที่สุดอู๋อ๋องเหอหลีกลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และตนเองก็ถูกอาวุธจนบาดเจ็บสาหัส และถึงแก่กรรมระหว่างการเดินทางกลับแคว้นอู๋ อู๋อ๋องฟูซาจึงได้ขึ้นครองแคว้นสืบต่อจากอู๋อ๋องเหอหลีผู้บิดา อู๋อ๋องฟูซาแรกทีเดียวดำเนินการอย่างเข้มแข็งหมายจะล้างแค้นให้บิดาให้ได้ รบชนะแคว้นเย่วถึงขั้นจับเย่วอ๋องโกวเจี้ยนได้ แต่ต่อมาความประพฤติกลับเหลวไหล หลงแต่สุราและนารีจากแผนนางงามไซซี ของเย่วอ๋อง จนในที่สุดต้องฆ่าตัวตาย อู๋จื่อซือได้ฆ่าตัวตายเมื่อก่อนคริสต์ศักราช 485 ปี ส่วนซุนวูเมื่อได้รู้ถึงนิสัยที่แท้จริงของอู๋อ๋องฟูซา คิดว่าต่อไปภายภาคหน้าแคว้นอู๋ต้องล่มสลายแน่ จึงลาออกจากราชการในก่อนคริสต์ศักราช 495 ปี

รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง[แก้]

คนส่วนใหญ่อาจเคยได้ยินคำนี้แล้วก็จะรู้เลยว่านี่เป็นคำสอนของซุนวู แต่เป็นเพียงการรวมคำพูดทั้งสองประโยคที่ซุนวูพูดไว้เท่านั้น คือ"การชนะร้อยทั้งร้อยมิใช่วิธีการอันประเสริฐแท้ แต่ชนะโดยไม่ต้องรบเลย จึ่งถือว่าเป็นวิธีอันวิเศษยิ่ง" กับ"หากรู้เขารู้เรา แม้นรบกันตั้งร้อยครั้งก็ไม่มีอันตรายอันใด ถ้าไม่รู้เขาแต่รู้เพียงตัวเรา แพ้ชนะย่อมก้ำกึ่งอยู่ หากไม่รู้ในตัวเขาตัวเราเสียเลย ก็ต้องปราชัยทุกครั้งที่มีการยุทธนั้นแล" ฉะนั้นคำสอน"รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง"จึงไม่มีปรากฏในตำราพิชัยสงครามแต่อย่างใด

วัฒนธรรมร่วมสมัย[แก้]

ปี 1997 ซุนเยวี่ยนจวิน ผู้ซึ่งเคยรับบทเป็นเล่าปี่ ในเรื่อง สามก๊ก ในปี 1994 รับบทเป็นซุนวู ในภาพยนตร์ซีรีส์ชุด ซุนหวู่ ตำราพิชัยสงคราม

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  • หนังสือ เถาจูกง เทพเจ้าแห่งการค้าขายของจีน โดย พีรยุทธ สุเทพคีรี ISBN.974-8437-87-6