หลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี)
เสียชีวิต23 พฤษภาคม พ.ศ. 2434
สัญชาติไทย
ชื่ออื่นฟรานซิศจิตร
ยุคสมัยพ.ศ. 2373 - พ.ศ. 2434
ผลงานเด่นช่างถ่ายภาพอาชีพคนแรกของไทย
ตำแหน่งช่างถ่ายภาพ
บิดามารดา
  • นายตึง (บิดา)
  • ไม่ทราบชื่อ (มารดา)
[

หลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร) หรือ นายจิตร หรือ ฟรานซิส. จิตร (พ.ศ. 2373 - 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2434 [1]) เป็นช่างภาพอาชีพคนแรกชาวไทย เป็นผู้เปิดร้านถ่ายรูปขึ้นเป็นแห่งแรก ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2406 บริเวณเรือนแพหน้าวัดกุฎีจีน ฝั่งธนบุรี (ปัจจุบันคือ วัดซางตาครู้ส) ร่วมกับนายทองดี บุตรชาย ชื่อ ร้านฟรานซิศจิตรแอนด์ซัน [1]

นายจิตรเป็นบุตรของนายตึงซึ่งเป็นทหารแม่นปืนฝ่ายพระราชวังบวร[2] แต่ไม่ทราบชื่อมารดา[3] นายจิตรเรียนรู้วิชาการถ่ายรูปจาก บาทหลวงหลุยส์ ลาร์นอดี (L' abbe Larnaudie) [4] และนายจอห์น ทอมสัน [5] ช่างภาพชาวอังกฤษที่เดินทางเข้ามาถ่ายพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ขณะทรงพระเยาว์ และพระฉายาลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์

ภาพถ่ายฝีมือนายจิตร มีลักษณะเด่นเป็นเอกลักษณ์ คือ ภาพมีสีเหลืองหรือน้ำตาล ดูไม่คมชัด เนื่องจากน้ำยาอัดรูป ต่างจากภาพของช่างภาพร่วมสมัย เช่นภาพของนายจอห์น ทอมสัน ซึ่งมีลักษณะสีเข้ม คมชัด ผลงานถ่ายภาพของนายจิตร มีทั้งพระบรมฉายาลักษณ์ พระฉายาลักษณ์ ภาพถ่ายของขุนนาง ข้าราชการ วัด วัง บ้านเรือน และภาพเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ห้องบุรฉัตร ชั้น 2 กองจดหมายเหตุแห่งชาติ [6]

ในช่วงต้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ห้องภาพฟรานซิศจิตรแอนด์ซัน เป็นร้านถ่ายรูปหลวงประจำราชสำนัก ได้รับพระราชทานตราตั้ง และลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอเดอ จดหมายเหตุสยามไสมย บางกอกไตมส์ และเดอะสยามเมอร์แคนไตล์กาเซท์ [1]

ด้านการรับราชการ นายจิตรเริ่มรับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงอยู่เวรชิตภูบาลในพระราชวังบวรสถานมงคลสมัยรัชกาลที่ 4 ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 5 ตำลึง ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต จึงสมทบลงมารับราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวัง[2] ในรัชกาลที่ 5 ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนสุนทรสาทิศลักษณ์ [7] ตำแหน่งช่างถ่ายรูปขึ้นกรมแสง รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 1 ชั่ง 5 ตำลึง และได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์และตำแหน่งเป็น หลวงอัคนีนฤมิตร เจ้ากรมหุงลมประทีป ในปี พ.ศ. 2423 รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 1 ชั่ง 10 ตำลึง[2]

หลวงอัคนีนฤมิตร ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2434 ด้วยอหิวาตกโรค รวมอายุได้ 61 ปี[2][3] เป็นต้นสกุล "จิตราคนี" บุตรชายของหลวงอัคนีนฤมิตรคนหนึ่งชื่อนายทองดี ได้รับราชการเป็นช่างถ่ายรูปอยู่ในกรมพระแสงหอกดาบ มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงฉายาสาทิศกร[8]

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 ฟรานซิส. จิตร ช่างภาพผู้ยิ่งใหญ่ เอนก นาวิกมูล, สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๔ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 ราชกิจจานุเบกษา. ข่าวตาย. เล่ม ๘, ตอน ๙, วันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๔, หน้า ๗๒.
  3. 3.0 3.1 เอนก นาวิกมูล. ภาพเก่าเล่าตำนาน:หลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี)ช่างถ่ายรูปอาชีพคนแรกของไทย. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 17 เล่ม 5 มีนาคม 2539. หน้า 128
  4. เอนก นาวิกมูลลิ้นชักภาพเก่า ประมวลภาพ จากคอลัมน์เปิดกรุภาพเก่าในนิตยสารแพรวรายปักษ์ และคอลัมน์ลิ้นชักภาพเก่าในวิทยาจารย์. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์วิญญูชน, พ.ศ. 2550. 392 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 978-974-94365-2-3
  5. เอนก นาวิกมูลฝรั่งในเมืองสยาม. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2549. 288 หน้า. ISBN 974-9818-46-6
  6. กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร. ๑๐๐ ปีภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานพระพุทธชินราชประจำปี วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม รัตนโกสินทรศก ๑๒๓. กรุงเทพฯ : ดำรงวิทยา, 2548. 132 หน้า. ISBN 974-93740-5-3
  7. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกใน จดหมายเหตุแลนิราศลอนดอน ว่า "ขุนฉายาทิศลักษณ"
  8. ราชกิจจานุเบกษา. ประวัติ [หม่อมเจ้าหญิงประไพ ในพระเจ้าบวรวงษเธอ กรมขุนธิเบศร์บวร, ขุนฉายาสาทิศกร (ทองดี) ช่างถ่ายรูป ในกรมพระแสงหอกดาบ.] เล่ม ๑๒, ตอน ๓๗, วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๘, หน้า ๓๔๗.