เพริคลีส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Pericles)
เพริคลีส
เพริคลีสกำลังกล่าวสุนทรพจน์ไว้อาลัย (Perikles hält die Leichenrede) โดย ฟิลลิปส์ โฟล์ทซ.
เกิดc. 495 BC
นครรัฐเอเธนส์
เสียชีวิต429 BC
นครรัฐเอเธนส์
รับใช้นครรัฐเอเธนส์
ชั้นยศสตราทีโกส (Strategos) (ประมุขสันนิบาตโดยตำแหน่ง)
การยุทธ์ยุทธการที่ซิเชียน และ อาคาร์นาเนีย (454 BC)
สงครามศักดิ์สิทธิ์ครั้งที่ 2 (448 BC)
สงครามซาเมียน (440 BC)
การปิดล้อมไบแซนไทน์ (438 BC)
สงครามเพโลพอนนีเซียน (431–429 BC)

เพริคลีส (อังกฤษ: Pericles; กรีกโบราณ: Περικλῆς "เป-ริ-ขลีส" ; ราว 495–429 ก่อนคริสตกาล)เป็นรัฐบุรุษ นักปราศัย และนายพล ที่มีชื่อเสียงและทรงอิทธิพลอย่างสูง แห่งนครรัฐเอเธนส์ ในช่วงยุครุ่งเรืองของนครรัฐเอเธนส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่กรีกทำสงครามสู้รบกับเปอร์เซีย (ดู สงครามกรีก-เปอร์เซีย) และ ในช่วงมหาสงครามเพโลพอนนีเซียน

เพริคลีสสืบเชื้อสายทางฝ่ายแม่มาจากตระกูลแอลคมีโอนิดีที่มีอิทธิพลและทรงอำนาจ โดยเป็นหลานตาของ ไคลสธีนีส รัฐบุรุษผู้สถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้กับชาวเอเธนส์ เพริคลีสเป็นนักการเมืองที่อิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อนครเอเธนส์ มีส่วนอย่างมากในการสร้างอัตลักษณ์และความเจริญให้กับเอธนส์ใช่วงยุครุ่งเรือง ทิวซิดิดีสนักประวัติที่มีชีวิตอยู่ร่วมสมัย ขนานนามเพริคลีสว่าเป็น "พลเมืองหมายเลขหนึ่งของเอเธนส์"[1] เพริคลีสเปลี่ยนสันนิบาตดีเลียน (League of Delian) ให้กลายเป็นจักรวรรดิทางทะเลที่มีศูนย์กลางที่เอเธนส์ และเป็นผู้นำของชาวเอเธนส์จนถึงช่วงสองปีแรกของมหาสงครามเพโลพอนนีเซียน ในช่วงระหว่างปี 461 ถึง 429 ก่อนคริสตกาล เพริคลีสนำนครเอเธนส์รุ่งเรืองจนสู่ขีดสูงสุด ส่งเสริมการพัฒนางานศิลปะ วรรณกรรม และวิทยาการความรู้สาขาต่าง ๆ จนผลักดันให้เอเธนส์กลายเป็นที่รู้จักในฐานะศูนย์กลางแห่งวัฒนธรรมและการศึกษาของโลกกรีซโบราณ เพริคลีสริเริ่มโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่มากมายจนเปลี่ยนเอเธนส์ให้กลายเป็นนครที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมหินอ่อนที่อลังการ รวมไปถึงวิหารพาร์เธนอน ซึ่งยังปรากฏให้เห็นบนอัครปุระของเอเธนส์มาจนปัจจุบัน โครงการก่อสร้างเหล่านี้ไม่เพียงแต่สร้างความสวยงามยิ่งใหญ่อลังการและช่วยปกป้องตัวเมืองจากศัตรู แต่ยังสร้างงานให้กับประชากรเอเธนส์ ยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "ยุคสมัยของเพริคลีส"

เพริคลีสเป็นนักพูดที่มีทักษะและไหวพริบมาก นอกจากนี้ยังเป็นรัฐบุรุษที่มีเสน่ห์และมีบารมีน่ายำเกรง เพราะมาจากตระกูลชนชั้นสูง เพริคลีสมักใช้ทักษะการพูด กล่าวตักเตือนให้ประชาชนของเอเธนส์มีความภาคภูมิใจในชาติ และมีความสามัคคีกัน ซึ่งจะเห็นได้จากเนื้อหาของสุนทรพจน์ไว้อาลัยของเพริคลีส (Pericles' Funeral Oration) ที่ให้ไว้ต่อชาวเอเธนส์เพื่อไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตในปีแรกของมหาสงครามเพโลพอนนีเซียน กล่าวกันว่านครเอเธนส์เป็นประชาธิปไตยอยู่ได้อย่างมั่นคงก็เพราะมีนักการเมืองอย่างเพริคลีสเป็นผู้ชี้นำ เพริคลีสจึงไม่ได้เป็นเพียงนักการเมืองประชานิยมที่เก่งกาจ แต่ยังเป็นผู้นำทางจิตใจและทางศีลธรรมของชาวเอเธนส์ด้วย

ประวัติ[แก้]

การเมืองของเราไม่ได้ลอกแบบมาจากจารีตของประเทศอื่น หากแต่เราเป็นแบบอย่างให้กับชนชาติอื่น สิ่งนี้เราเรียกว่า ประชาธิปไตย เพราะเราปกครองเพื่อคนส่วนมาก ไม่ใช่เพื่อคนส่วนน้อย กฎหมายของเราให้ความยุติธรรมอย่างเสมอภาคกับทุกคน ไม่ว่าใครจะมีที่มาที่ไปของตนอย่างไร สำหรับเกียรติยศและโอกาสในการรับใช้ประเทศ สิ่งเหล่านี้เราถือว่าขึ้นอยู่กับชื่อเสียงในเรื่องความสามารถ หาใช่เพราะโชคหรือชาติกำเนิด ยิ่งไปกว่านี้ความยากจนก็หาเป็นอุปสรรคในบ้านเมืองของเราไม่ หากใครเป็นผู้มีสามารถอาจทำการให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองได้ ผู้นั้นย่อมไม่ถูกขัดขวางเพราะความต่ำต้อยของฐานะตน

ทิวซิดิดีส, สุนทรพจน์ไว้อาลัยของเพริคลีส (Pericles' Funeral Oration)[2]

เพริคลีสเกิดเมื่อราวปี 495 ก่อนคริสต์ศักราชในนครรัฐเอเธนส์ ท่านเกิดมาในตระกูล แอลค์มีออนิดี (Alkmaeonidae) ซึ่งเป็นตระกูลผู้ดีเก่าของเอเธนส์ โดยสืบขึ้นไปทางฝ่ายแม่ มารดาท่านชื่อ แอกะริสตี (Agariste) เป็นบุตรีของฮิปปอคราตีส แอกะริสตียังเป็นหลานลุงของ ไคลสธีนีส รัฐบุรุษผู้ก่อตั้งประชาธิปไตยขึ้นในเอเธนส์[3] เมื่อแอกะริสตีตั้งครรภ์ เธอฝันว่ามีพญาราชสีห์เข้ามาจุติในท้อง[4] เมื่อคลอดได้บุตรชายเธอกับ ซานธิปปัส (Xanthippus) สามีจึงตั้งชื่อให้ว่า เพริคลีส โดยขณะที่เพริคลีสเกิดนั้นเอเธนส์เพิ่งจะมีประชาธิปไตยได้ประมาณแค่สิบปี ในวัยเด็กเพริคลีสเป็นคนเก็บตัว ในสังคมกรีกโบราณ การเล่นและแข่งกีฬาเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะวัฒนธรรมกรีกให้ความสำคัญกับการแข่งขัน หรือ อากอน (ἀγών; agon [en]) บุคคลที่ชนะการแข่งขันกีฬาใหญ่ ๆ แบบโอลิมปิกเกมส์ อาจอาศัยความสำเร็จนั้นเป็นบันไดไปสู่ความก้าวหน้าทางการเมือง แต่เพริคลีสกลับชอบอ่านตำราและเรียนหนังสือมากกว่า และด้วยความที่ครอบครัวร่ำรวย เพริคลีสจึงได้ร่ำเรียนวิชาความรู้ต่าง ๆ กับอาจารย์ที่ดีที่สุดในสมัยนั้น

บุคคลิกและความสามารถ[แก้]

เพริคลีสกับประชาธิปไตยของสาธารณรัฐเอเธนส์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Thucydides, 2.65
  2. Thucydides, 2.37
  3. D. Kagan, Pericles of Athens, 11–12.
  4. Herodotus, The Histories, 6:131.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Crane, Gregory, Thucydides and the Ancient Simplicity: the Limits of Political Realism. Berkeley: University of California Press (1998).
  • Herodotus, The Histories, vol. VI. ดูเนื้อหาต้นฉบับที่ Perseus program
  • Kagan, Donald (1974). The Archidamian War. Ithaca: Cornell University Press. ISBN 0-8014-0889-X..
  • Kagan, Donald (1989). The Outbreak of the Peloponnesian War. Ithaca: Cornell University Press. ISBN 0-8014-9556-3..
  • Kagan, Donald (1991). Pericles of Athens and the Birth of Democracy. The Free Press. ISBN 0-0291-6825-2..
  • Kagan, Donald (1996). "Athenian Strategy in the Peloponnesian War". The Making of Strategy: Rules, States and Wars by Williamson Murray, Alvin Bernstein, MacGregor Knox. Cambridge University Press. ISBN 0-521-56627-4.
  • Kagan, Donald (2003). "War aims and resources (432–431)". The Peloponnesian War. Viking Penguin (Penguin Group). ISBN 0-670-03211-5.
  • Thucydides (1998). The Peloponnesian War, Norton Critical Edition. Walter Blanco(trans.). Norton & Company. ISBN 0-3939-7167-8.