จิตพิฆาตโลก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Inception (film))
จิตพิฆาตโลก
A man in a suit with is back turned and a gun in his right hand, against a cityscape with water coming up to his knees.
โปสเตอร์ภาพยนตร์
กำกับคริสโตเฟอร์ โนแลน
เขียนบทคริสโตเฟอร์ โนแลน
อำนวยการสร้างคริสโตเฟอร์ โนแลน
เอมมา โธมัส
นักแสดงนำลีโอนาโด ดิคาปริโอ
เคน วะตะนะเบะ
โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิตต์
มารียง กอตียาร์
เอลเลน เพจ
ทอม ฮาร์ดี
คิลเลียน เมอร์ฟี
ไดลีบ ราว
ทอม เบอร์เลนเจอร์
ไมเคิล เคน
กำกับภาพวอลลี ฟิสเตอร์
ตัดต่อลี สมิท
ดนตรีประกอบฮานส์ ซิมเมอร์
บริษัทผู้สร้าง
Legendary Pictures
Syncopy
ผู้จัดจำหน่ายวอร์เนอร์บราเธอร์ส
วันฉายปฐมทัศน์ในลอนดอน:
13 กรกฎาคม 2553
สหรัฐอเมริกา:
16 กรกฎาคม 2553
ความยาว148 นาที[1]
ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2]
ทำเงิน825.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[3]
ข้อมูลจาก IMDb
ข้อมูลจากสยามโซน

จิตพิฆาตโลก (อังกฤษ: Inception) เป็นภาพยนตร์อเมริกันปี 2010 แนวนวนิยายวิทยาศาสตร์-แอ็กชัน เขียนบท อำนวยการสร้างและกำกับโดยคริสโตเฟอร์ โนแลน นำแสดงโดยลีโอนาร์โด ดีคาปริโอ, เคน วะตะนะเบะ, โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิตต์, เอลเลน เพจ, มารียง กอตียาร์ และคิลเลียน เมอร์ฟี ภาพยนตร์ได้รับแรงบันดาลใจจากภาวะที่คนเราสามารถที่จะรู้สึกตัวและตระหนักได้ว่าตนเองนั้นอยู่ในความฝัน (lucid dream)[4] โดยมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการโจรกรรมของดอม คอบบ์ที่มีความสามารถในการเข้าไปในฝันของคนอื่นเพื่อขโมยข้อมูล[5] ความสามารถนี้ทำให้คอบบ์กลายเป็นอาชญากรและต้องหลบหนี รวมทั้งสูญสิ้นทุกสิ่ง แต่เขาก็ได้รับข้อเสนอในการที่จะกลับมาใช้ชีวิตแบบเดิม แลกกับการปฏิบัติภารกิจปลูกฝังความคิดของเป้าหมาย[6] กระบวนการในการปลูกฝังความคิดเรียกว่า "Inception"

ในการพัฒนาของภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นอย่างหยาบ ๆ เมื่อ 10 ปีก่อนที่หนังจะออกฉาย เมื่อโนแลนเขียนบทจำนวน 80 หน้าเกี่ยวกับการขโมยความฝัน หลังจากที่เขาเสนอความคิดนี้กับวอร์เนอร์บราเธอร์ส ในปี 2001 เขาก็ต้องการให้บทนี้พัฒนาไปสู่ภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่[7] เพราะเหตุนี้เขาจึงเลือกทำงานภาพยนตร์ แบทแมน บีกินส์ และ แบทแมน อัศวินรัตติกาล โดยเขาใช้เวลา 6 เดือนในการปรับปรุงบทภาพยนตร์ ก่อนที่วอร์เนอร์บราเธอร์สจะซื้อไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2009[7][8] การถ่ายทำเริ่มที่เมืองโตเกียวเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 2009 และถ่ายทำเสร็จที่แคนาดา ในปลายเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน

ภาพยนตร์มีทุนสร้าง 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับทุนจากวอร์เนอร์บราเธอร์สและลีเจนดารีพิกเจอส์[2] หลังจากที่โนแลนมีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จกับ แบทแมน อัศวินรัตติกาล ได้ช่วยให้หนังเรื่องนี้มีงบในการประชาสัมพันธ์ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2] ภาพยนตร์ออกฉายรอบปฐมทัศน์ที่ลอนดอน เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 2010 และออกฉายทั้งโรงธรรมดาและโรงไอแมกซ์ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 2010.[9][10] ทำรายได้มากกว่า 21 ล้านดอลลาร์สหรัฐในวันเปิดตัว และทำรายได้ 62.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์เปิดตัว[3] สำหรับเสียงวิจารณ์ ภาพยนตร์ได้รับเสียงด้านบวกเป็นส่วนใหญ่ โดยที่เว็บไซต์ภาพยนตร์อย่างเว็บ IMDB.com ให้คะแนนเฉลี่ย 9.2 เต็ม 10 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 3 ของภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากการลงคะแนนของผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ เป็นภาพยนตร์รองภาพยนตร์เรื่อง The Shawshank Redemption และ The Godfather เท่านั้น[11]

เนื้อเรื่อง[แก้]

ดอม คอบบ์ (ลีโอนาร์โด ดีคาปริโอ) คือชายผู้ก่อตั้งทีมจารกรรมความคิด เขาและทีมงานจะเจาะเข้าไปในจิตใจของเป้าหมายผ่านทางการแชร์ความฝัน เพื่อดึงเอาข้อมูลลับที่เป้าหมายเก็บงำไว้ในจิตใต้สำนึกออกมาตามคำสั่งของผู้ว่าจ้าง ซึ่งโดยมากแล้วจะเป็นการล้วงความลับทางธุรกิจ เป้าหมายรายล่าสุดของคอบบ์และทีมงานคือ ไซโตะ (เคน วะตะนะเบะ) นักธุรกิจชาวญี่ปุ่น คอบบ์ทำการล้วงข้อมูลของไซโตะผ่านทางความฝันซ้อนฝัน ซึ่งจบลงด้วยความล้มเหลว แต่ไซโตะกลับยื่นข้อเสนอว่าจ้างทีมของคอบบ์ให้ทำการ "อินเซพชั่น" ข้อมูลลงในจิตของเป้าหมายแทน อินเซพชั่นคือกระบวนการที่ตรงข้ามกับการล้วงข้อมูล โดยแทนที่จะล้วงลึกไปถึงข้อมูลที่เป้าหมายเก็บซ่อนไว้ กลับกลายเป็นการนำเอาข้อมูลที่ต้องการลงไปเก็บไว้ในที่ซ่อนของเป้าหมายแทน เริ่มแรกคอบบ์ปฏิเสธเนื่องจากเป็นกระบวนการที่ยากมาก แต่ไซโตะก็ข้อตอบแทนเป็นการล้มล้างความผิดที่คอบบ์เคยฆาตกรรมภรรยาตนเองในอดีต และจะได้สิทธิ์กลับเข้าสู่สหรัฐอเมริกา คอบบ์จึงตกลงและเริ่มต้นวางแผนการทำงานทันที

ปฏิบัติการอินเซพชั่นครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อปลูกฝังความคิดให้กับโรเบิร์ต ฟิชเชอร์ (คิลเลียน เมอร์ฟี) ทายาทกิจการด้านพลังงานของมอริส ฟิชเชอร์ (พีท โพสเทิลเวท) ซึ่งกำลังจะเสียชีวิตจากโรคร้าย หากโรเบิร์ตได้ขึ้นครองกิจการต่อไปจะทำให้ธุรกิจของไซโตะต้องสั่นคลอน คอบบ์จึงวางแผนว่าจะปลูกฝังความคิดที่ว่า "พ่อของฉัน (โรเบิร์ต) ไม่ต้องการให้ฉันอาศัยรอยเท้าของเขาในแวดวงธุรกิจ" ลงไป ในปฏิบัติการนี้ต้องการทีมงานตำแหน่งต่าง ๆ เริ่มจาก อาร์เธอร์ (โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิตต์) ในตำแหน่งคนชี้เป้า ผู้ประสานงานระหว่างสมาชิกแต่ละคน, อีมส์ (ทอม ฮาร์ดี้) ในตำแหน่งนักปลอมแปลง ผู้สามารถแปลงโฉมตัวเองเป็นใครก็ได้ในความฝัน เพื่อหลอกล่อเป้าหมายมาสู่แผนที่วางไว้, ยูซุฟ (ดิลีพ ราโอ) ในตำแหน่งนักเคมี ผู้ปรุงยาที่จะทำให้หลับลึกลงไปในระยะเวลาตามที่ต้องการ และสุดท้ายคือ แอเรียดเน่ (เอลเลน เพจ) ในตำแหน่งสถาปนิก ผู้ออกแบบเส้นทางสภาพแวดล้อมในความฝัน

ในขั้นตอนการวางแผนนี้คอบบ์ได้สอนให้แอเรียดเน่รู้จักกับโครงสร้างของความฝัน และคุณสมบัติของฝัน เช่น ผู้ฝันจะไม่ทราบจุดเริ่มต้นของฝัน แต่จะปรากฏขึ้นกลางทางในทันที หรือการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมรอบกายได้ดังใจนึก คอบบ์ยังได้สอนให้แอเรียดเน่รู้จักการใช้ "โทเทม" ซึ่งเป็นวัตถุชิ้นเล็ก ๆ ตามแต่ละบุคคลจะเลือกมา โดยต้องรู้คุณสมบัติของมันอย่างถี่ถ้วน หากไม่แน่ใจว่าฝันอยู่หรือไม่ ให้สังเกตโทเทมประจำตัว หากมีคุณสมบัติผิดแปลกไปจากที่เคยเป็น ก็หมายถึงบุคคลนั้นกำลังอยู่ในฝันของคนอื่น

ระหว่างนี้เองแอเรียดเน่ได้ค้นพบความลับในอดีตของคอบบ์ ว่าเขาเคยกระทำการอินเซพชั่นมาก่อน โดยกระทำกับมอล (มารียง กอตียาร์) ภรรยาของเขา เป็นเหตุให้มอลฆ่าตัวตาย แต่ด้วยเหตุผลบางประการ กลับกลายเป็นว่าคอบบ์ถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมภรรยาตนเอง และต้องหลบหนีออกนอกประเทศ ไม่ได้เจอหน้าลูก ๆ ทั้งสองอีกต่อไป ความรู้สึกผิดที่คอบบ์มีต่อมอล ทำให้จิตใต้สำนึกของเขาสร้างตัวตนของมอลขึ้นมาทุกครั้งที่เขาหวนระลึกถึงเธอในความฝัน ในจิตใต้สำนึกนี้ มอลจะคอยขัดขวางทุกการกระทำของคอบบ์

เมื่อวางแผนเสร็จสิ้น ไซโตะขอร่วมทางไปด้วยในฐานะนักท่องเที่ยว เพื่อรับชมปฏิบัติการนี้ด้วยตนเอง เขาใช้อำนาจเงินตราของตนเหมาซื้อเที่ยวบินที่ฟิชเชอร์มีแผนจะใช้เดินทางมาให้กับคอบบ์ เพื่อลงมือปฏิบัติการระหว่างเที่ยวบิน คอบบ์จึงตกลงให้ไซโตะเข้าร่วมเป็นสมาชิกคนที่หก

ปฏิบัติการเริ่มต้นเมื่อทุกคนอยู่ในเที่ยวบิน คอบบ์วางยาฟิชเชอร์ให้หลับไป และเข้าร่วมฝันชั้นแรกซึ่งเป็นฝันของยูซุฟ นักเคมี ฝันชั้นนี้มีฝนตกตลอดเวลา ทำให้ฟิชเชอร์ต้องเรียกรถแท็กซี่ และจะถูกทีมของคอบบ์ลักพาตัวไปเรียกค่าไถ่ โดยอีมส์ (นักปลอมแปลง) จะแปลงโฉมเป็นปีเตอร์ บราวนิ่ง (ทอม เบเรนเจอร์) ลุงของฟิชเชอร์ ซึ่งจะถูกจับตัวมาพร้อมกัน และจะเป็นคนบอกให้ฟิชเชอร์ตระหนักถึงความต้องการจริง ๆ ของฟิชเชอร์ผู้พ่อ ซึ่งซ่อนอยู่ในตู้เซฟ และฟิชเชอร์คนลูกจะต้องนึกรหัสตู้เซฟให้ออกให้ได้

แต่ปรากฏว่าฟิชเชอร์เคยรับการฝึกป้องกันจิตใจตนเองจากการจารกรรม ซึ่งจะทำให้จิตใต้สำนึกสร้างทหารขึ้นมาจู่โจมผู้ที่บุกเข้ามาในจิตใจของเขา ระหว่างการปะทะกันนี้เอง ไซโตะถูกยิงเข้าที่หน้าอกและกำลังจะตาย ปกติแล้วผู้ที่ตายในความฝันจะตื่นขึ้นทันที แต่หากอยู่ในสภาพหลับลึก (เช่นทีมงานของคอบบ์ที่ใช้สารเคมีช่วย) ก็จะตกไปสู่ "ลิมโบ" เศษซากความฝันที่อยู่ลึกที่สุด และจะไม่ตื่นขึ้นอีกหลายปีในฝัน (ซึ่งเวลาของฝันชั้นที่อยู่ลึกลงไปจะทวีคูณขึ้นจากฝันชั้นก่อนหน้า) ผลคือแม้เวลาในโลกจริง ๆ จะผ่านไปแค่ห้านาที แต่กับผู้ที่อยู่ในลิมโบ มันคือช่วงเวลาหลายสิบปี เมื่อตื่นขึ้นมาก็จะจำอะไรไม่ได้อีกต่อไป

เมื่อฟิชเชอร์นึกเลขรหัสไม่ออก ทีมงานจึงให้ฟิชเชอร์หลับเข้าสู่ฝันชั้นที่ลึกเข้าไปอีก ซึ่งจะนำพาจิตของเขาเข้าใกล้จิตใต้สำนึกมากขึ้น ในฝันชั้นที่สองนี้เป็นฝันในโรงแรมของอาร์เธอร์ (คนชี้เป้า) ซึ่งเวลาจะเดินไปช้ากว่าฝันชั้นก่อนหน้า บาดแผลของไซโตะจะทรุดลงช้ากว่า ในฝันชั้นนี้ ทีมงานจะหลอกให้ฟิชเชอร์คิดว่าปีเตอร์วางแผนจับตัวเรียกค่าไถ่เอง เพื่อจะยึดอาณาจักรธุรกิจพันล้านมาจากฟิชเชอร์ แต่ปีเตอร์ปฏิเสธว่าจริง ๆ แล้วเขาอยากให้ฟิชเชอร์คิดให้ออกว่าแท้จริงแล้ว พ่อเขาฟิชเชอร์ต้องการอะไรแน่จากประโยคสุดท้ายก่อนตายที่บอกว่า "ฉันผิดหวังในตัวแก (โรเบิร์ต) จริงๆ" วิธีจะคิดให้ออกก็คือต้องลงไปในฝันชั้นลึกกว่านี้อีก ทีมงานหลอกฟิชเชอร์ว่าฝันชั้นต่อไปเป็นของปีเตอร์ แล้วทำให้ฟิชเชอร์หลับไปก่อน แต่ความจริงแล้วฝันชั้นที่สามเป็นของเขาเอง

ในฝันชั้นที่สาม เป็นโลกหิมะของอีมส์ ในฝันชั้นนี้ ทหารป้องกันจิตของฟิชเชอร์จะร้ายกาจขึ้น โดยออกมาไล่ตามทีมงานของคอบบ์ตั้งแต่เริ่ม สมาชิกทุกคนบุกทะลวงเข้าไปในฐานทัพกลางหิมะ ที่ซึ่งตู้เซฟเก็บความลับของฟิชเชอร์ตั้งอยู่ เมื่อฟิชเชอร์บุกเข้าไปได้แล้ว จิตสำนึกของมอลได้ปรากฏตัวขึ้นและสังหารฟิชเชอร์ ทำให้เขาตกลงไปอยู่ระหว่างชั้นลิมโบ หากไม่ช่วยเหลือออกมาจะต้องติดอยู่ในนั้นตลอดไป ระหว่างนี้เองบาดแผลของไซโตะก็ลามเข้ามาถึงฝันชั้นนี้ ทำให้ไซโตะเสียชีวิตไปอยู่ที่ลิมโบแล้ว คอบบ์และแอเรียดเน่จึงตัดสินใจลงไปตามตัวฟิชเชอร์ในฝันชั้นลึกขึ้นไปอีกของคอบบ์ และได้ทราบอดีตที่แท้จริงของคอบบ์ ว่าเขาแอบเข้าไปหมุนโทเทมของมอล ได้แก่ลูกข่างอันเล็ก ๆ ให้หมุนไปเรื่อย ๆ โดยไม่ล้ม ทำให้มอลตระหนักว่าตนฝันอยู่ เป็นการอินเซพชั่นให้คิดว่าโลกที่อยู่นั้นจริง ๆ เป็นความฝัน เมื่อมอลตื่นขึ้น ความคิดที่ว่าโลกที่อยู่ไม่ใช่โลกจริงทำให้มอลฆ่าตัวตายและป้ายความผิดให้คอบบ์ เพื่อให้คอบบ์ตายตามไปด้วยกัน

คอบบ์พบตัวฟิชเชอร์ และบอกให้แอเรียดเน่พากลับออกมา โดยการ "ปลุก" นั่นคือตกจากที่สูงเพื่อให้ตื่นขึ้น โดยเขาจะอยู่กับมอลเพื่อให้ความรู้สึกผิดที่ผ่านมาหายไป และเพื่อเข้าไปลิมโบเพื่อตามหาตัวไซโตะ แอเรียดเน่พาฟิชเชอร์กลับออกมาได้ และพาเข้าไปในตู้เซฟเพื่อตระหนักว่า พ่อของฟิชเชอร์รักเขามาตลอด และไม่ต้องการให้เขาใช้รอยเท้าของพ่อในการดำเนินธุรกิจอีกต่อไป ปฏิบัติการอินเซพชั่นประสบความสำเร็จ ทีมงานทำการ "ปลุก" ต่อเนื่องในฝันแต่ละชั้น และตื่นขึ้นมาในที่สุด ทิ้งคอบบ์ให้ตามหาไซโตะในความฝันชั้นลิมโบต่อไป

เวลาในฝันผ่านไปหลายสิบปี ไซโตะกลายเป็นคนแก่ผู้หลงลืมทุกสิ่ง จนกระทั่งคอบบ์ตามหาตัวจนเจอ และพากลับออกมาได้ ทุกคนตื่นขึ้นบนเครื่องบินอย่างปลอดภัย ฟิชเชอร์ประกาศลงจากธุรกิจพันล้านของตัวเอง และคอบบ์ก็ได้กลับบ้านที่สหรัฐอเมริกาอีกครั้ง เมื่อกลับถึงบ้าน เขาลองหมุนลูกข่างโทเทมของตนดูเพื่อทดสอบว่าเป็นโลกฝันหรือโลกจริง แต่ก็ผละไปหาลูก ๆ ของตนเองโดยไม่สนใจว่ามันจะหยุดหมุนหรือไม่

นักแสดง[แก้]

บทบาท นักแสดงเดิม โลก พากย์ไทย ไทย
ดอม คอบบ์ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ กริน อักษรดี
ไซโตะ เคน วะตะนะเบะ รอง เค้ามูลคดี
อาร์เธอร์ โจเซฟ กอร์ดอน เลวิตต์ อิทธิพล มามีเกตุ
มอล คอบบ์ มารีออง คอทียารด์ กรรณิการ์ อยู่ยงสินธ์
แอเรียดเน่ เอลเลน เพจ อังคณา พานประทีป
อีมส์ ทอม ฮาร์ดี บัญชา เหมะบุตร
โรเบิร์ต ฟิชเชอร์ คิลเลียน เมอร์ฟีย์ จิราวัฒน์ วชิรศรัณย์ภัทร
ยูซุฟ ดิลีป ราโอ อภินันท์ ธีระนันทกุล
ศาสตราจารย์ ไมลส์ ไมเคิล เคน เอกชัย พงศ์สมัย
ปีเตอร์ บราวนิ่ง ทอม เบเรนเจอร์
แนช ลูคัส ฮาสส์ อภินันท์ ธีระนันทกุล

การผลิต[แก้]

ขั้นเตรียมการ[แก้]

ฉากและสถานที่ถ่ายทำ[แก้]

การถ่ายภาพ[แก้]

เทคนิกภาพพิเศษ[แก้]

ในการถ่ายทำฉากความฝันในภาพยนตร์เรื่องนี้ โนแลนใช้การสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกน้อยมาก โดยเขาเลือกที่จะใช้เทคนิกพิเศษที่เป็นของจริงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เขากล่าวว่า "สำหรับผมแล้วมันสำคัญมากที่จะพยายามทำทุกอย่างให้ปรากฏขึ้นจริงๆ ต่อหน้ากล้องถ่ายภาพยนตร์ หลังจากนั้นหากมีความจำเป็นจริงๆ ก็จะใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกเข้าช่วย ซึ่งจะมีประโยชน์มากในการสร้างหรือเสริมสิ่งที่ถ่ายทำได้ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก" ซึ่งสุดท้ายแล้ว หัวหน้างานสร้างฝ่ายเทคนิกภาพพิเศษ Paul Franklin ได้สร้างฉากจำลองขนาดเล็กของฉากป้อมปราการบนภูเขาขึ้น และระเบิดมันทิ้งเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทำ ฉากการต่อสู้ในสภาวะไร้น้ำหนักมีการใช้เทคนิกพิเศษทางคอมพิวเตอร์กราฟิกเพื่อช่วย "ดัดแปลงองค์ประกอบทางฟิสิกส์ พื้นที่ และเวลา เพียงเล็กน้อย"

ดนตรี[แก้]

เพลงทั้งหมดประพันธ์โดยฮานส์ ซิมเมอร์[12]

Inception: Music from the Motion Picture
ลำดับชื่อเพลงยาว
1."Half Remembered Dream"1:12
2."We Built Our Own World"1:55
3."Dream Is Collapsing"2:28
4."Radical Notion"3:43
5."Old Souls"7:44
6."528491"2:23
7."Mombasa"4:54
8."One Simple Idea"2:28
9."Dream Within a Dream"5:04
10."Waiting for a Train"9:30
11."Paradox"3:25
12."Time"4:35

เพลงประกอบที่ใช้ในทีเซอร์เทรลเลอร์ของภาพยนตร์ประพันธ์โดยไมค์ แซริน และแสดงโดยเซนซิต มิวสิก ส่วนเพลงประกอบในเทรลเลอร์สุดท้ายประพันธ์และแสดงโดยแซ็ก เฮมเซย์

อ้างอิง[แก้]

  1. "Inception (Nft)". IMAX Melbourne. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-23. สืบค้นเมื่อ 2010-07-18.
  2. 2.0 2.1 2.2 Fritz, Ben (July 15, 2010). "Movie projector: 'Inception' headed for No. 1, 'Sorcerer's Apprentice' to open in third". Los Angeles Times. Tribune Company. สืบค้นเมื่อ 2010-07-27. It's also one of the most expensive, at $160 million, a cost that was split by วอร์เนอร์บราเธอร์ส and ลีเจนดารีพิกเจอส์.
  3. 3.0 3.1 "Inception (2010)". Box Office Mojo. Internet Movie Database. สืบค้นเมื่อ July 24, 2010.
  4. Inside 'Inception': Could Christopher Nolan's Dream World Exist in Real Life? Dream Experts Say 'Inception's' Conception of the Subconscious Isn't Far From ScienceABCNEWS, SHEILA MARIKAR, July 16, 2010
  5. "Inception Synopsis". Fandango.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-16. สืบค้นเมื่อ 2013-05-11.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  6. "Updated 'Inception' Synopsis Reveals More". Screen Rant. 2010-05-05. สืบค้นเมื่อ 2010-07-18.
  7. 7.0 7.1 Itzkoff, Dave (2010-06-30). "A Man and His Dream: Christopher Nolan and 'Inception'". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2010-07-01.
  8. Michael Fleming (2009-02-11). "Nolan tackles Inception for WB". Variety. สืบค้นเมื่อ 2009-02-25.
  9. "Weekend Briefing: 'Inception' Breaks In, 'Apprentice' Lacks Magic". Box Office Mojo. Internet Movie Database. สืบค้นเมื่อ 2010-07-18.
  10. Jenny Peters (July 14, 2010). "Partying for a Cause at the "Inception" Premiere". Fashion Wire Daily. Yahoo!. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-19. สืบค้นเมื่อ 2010-07-29.
  11. IMDb Charts: IMDb Top 250
  12. Monger, James Christopher. "Inception – Overview". Allmusic. สืบค้นเมื่อ July 18, 2010.

หนังสืออ่านเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]