เอลวิส เพรสลีย์
เอลวิส เพรสลีย์ | |
---|---|
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง Jailhouse Rock (1957) | |
ข้อมูลพื้นฐาน | |
ชื่อเกิด | เอลวิส อารอน เพรสลีย์ |
เกิด | 8 มกราคม ค.ศ. 1935 เมมฟิส รัฐเทนเนสซี สหรัฐ |
เสียชีวิต | สิงหาคม 16, 1977 เมมฟิส รัฐเทนเนสซี สหรัฐ | (42 ปี)
แนวเพลง | ร็อกแอนด์โรล ป็อป ร็อกอะบิลลี คันทรี บลูส์ กอสเปล ริทึมแอนด์บลูส์ อคุสติก เซาเทอร์นโซล |
อาชีพ | นักร้อง , นักแต่งเพลง นักแสดง |
เครื่องดนตรี | กีตาร์ เปียโน |
ช่วงปี | ค.ศ. 1954 – 1977 |
ค่ายเพลง | ซัน อาร์ซีเอวิกเตอร์ |
คู่สมรส | Priscilla Presley (1967–1973) |
เว็บไซต์ | www.elvis.com |
เอลวิส เพรสลีย์ (อังกฤษ: Elvis Presley) มีชื่อจริงว่า เอลวิส แอรอน เพรสลีย์ (อังกฤษ: Elvis Aaron Presley) (8 มกราคม ค.ศ. 1935 - 16 สิงหาคม ค.ศ. 1977) เป็นนักร้องและนักแสดงชาวอเมริกัน เขาถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม เขามักได้รู้จักในฉายา “ราชาแห่งร็อกแอนด์โรลล์” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "เดอะคิง"
เขาเกิดที่เมืองทูเพอโล รัฐมิสซิสซิปปี ต่อมาย้ายไปทีเมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี กับครอบครัวของเขาเมื่ออายุได้ 13 ปี เขาเริ่มอาชีพนักร้องที่นี่เมื่อปี 1954 เมื่อเจ้าของค่ายซันเรเคิดส์ ที่ชื่อ แซม ฟิลลิปส์อยากที่จะนำดนตรีของชาวแอฟริกันอเมริกันไปสู่ฐานคนฟังให้กว้างขึ้น และเห็นเพรสลีย์มีความมุ่งมั่นดี ได้ร่วมกับนักกีตาร์ที่ชื่อสก็อตตี มัวร์และมือเบส บิล แบล็ก
เพรสลีย์ถือเป็น 1 ในคนที่ให้กำเนิดแนวเพลงร็อกอะบิลลี แนวเพลงผสมผสานจังหวะอัปเทมโป แบ็กบีตผสมเพลงคันทรีกับริทึมแอนด์บลูส์ เขาได้เซ็นสัญญากับอาร์ซีเอวิกเตอร์ โดยมีผู้จัดการคือโคโลเนล ทอม พาร์กเกอร์ ที่เป็นผู้จัดการให้เขาร่วม 2 ทศวรรษ ซิงเกิลแรกของเพรสลีย์กับอาร์ซีเอคือซิงเกิล "Heartbreak Hotel" ออกขายในเดือนมกราคม ค.ศ. 1956 ติดอันดับ 1 เขาถือเป็นผู้นำภาพลักษณ์ของดนตรีป็อปแบบใหม่ในแบบร็อกแอนด์โรล โดยได้ปรากฏตัวบนเครือข่ายสถานีโทรทัศน์หลายครั้ง รวมถึงมีเพลงอันดับ 1 หลายเพลง เพลงของเขาเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง โดยมีหลายส่วนนำมาจากเพลงชาวแอฟริกันอเมริกันและรูปแบบการแสดงซึ่งไม่สามารถยับยั้งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จอย่างมากรวมถึงเกิดข้อพิพาทด้วยเช่นกัน ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1956 เขาปรากฏตัวครั้งแรกในภาพยนตร์เรื่อง Love Me Tender
เขาเกณฑ์ทหารเมื่อปี 1958 โดยเพรสลีย์ออกผลงานเพลงหลังนั้น 2 ปีต่อมา กับงานที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เขาขึ้นเวทีคอนเสิร์ตอยู่หลายครั้ง อย่างไรก็ตามในการจัดการของพารกเกอร์ เขาก็ยังมีผลงานภาพยนตร์ฮอลลีวูดอีกหลายเรื่องในคริสต์ทศวรรษ 1960 รวมถึงผลงานอัลบั้มประกอบภาพยนตร์ด้วย ที่ส่วนมากถูกวิจารณ์ในเชิงดูถูกผลงานเหล่านั้น ในปี 1968 หลายจากห่างหายไปบนเวทีคอนเสิร์ตไป 7 ปี เขากลับมาแสดงสดในรายการโทรทัศน์พิเศษในการกลับมาในลาสเวกัสและยังมีทัวร์คอสเสิร์ต ในปี 1973 เพรสลีย์แสดงคอนเสิร์ตครั้งแรกที่ถ่ายทอดผ่านดาวเทียมทั่วโลก ที่ชื่อ Aloha from Hawaii มีผู้ชมราว 1.5 พันล้านคน[1] และจากการที่เขาติดยาจากใบสั่งแพทย์ ทำให้มีผลต่อสุขภาพของเขา จนเขาเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ในปี ค.ศ. 1977 ด้วยวัยเพียง 42 ปี
เพรสลีย์เป็น 1 ในบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมากในวัฒนธรรมสมัยนิยมในศตวรรษที่ 20 กับน้ำเสียงที่ปรับได้หลายแบบและประสบความสำเร็จไม่ธรรมดาในหลากหลายแนวเพลง อย่างคันทรี, ป็อปบัลลาด, กอสเปล และบลูส์ เขาเป็นศิลปินเดี่ยวกับมียอดขายมากที่สุดในประวัติศาสตร์เพลงป็อป[2][3][4][5] ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่ 14 ครั้ง ซึ่งเขาได้รับ 3 ครั้ง และยังได้รับรางวัลแกรมมี่ประสบความสำเร็จเมื่ออายุ 36 ปี เขายังมีชื่ออยู่ในหอเกียรติยศ 4 ครั้ง
ประวัติ
[แก้]ชีวิตช่วงแรก (1935–53)
[แก้]ชีวิตวัยเด็กในทูเพอโล
[แก้]เอลวิส เพรสลีย์เกิดเมื่อวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1935 ณ เมืองทูเพอโล รัฐมิสซิสซิปปี เป็นบุตรของเวอร์นอน เอลวิสและแกลดีส์ เลิฟ เพรสลีย์ในบ้านเล็กแบบช็อตกัน จำนวน 2 ห้องนอนที่สร้างโดยพ่อของเขา เพื่อการเตรียมพร้อมสำหรับทารกที่จะเกิด เจสซี แกรอน เพรสลีย์ พี่ชายฝาแฝดที่เกิดก่อนเขา 35 นาที แต่ก็เสียชีวิตไป ทำให้เขาเป็นบุตรเพียงคนเดียว เพรสลีย์สนิทสนมกับทั้งพ่อและแม่และก่อให้เกิดความสนิทสนมเป็นแนบแน่นกับแม่ของเขา ครอบครัวของเขาไปที่โบสถ์คริสเตียนสัมพันธ์ ที่ที่เขาได้รับแรงบันดาลใจทางด้านดนตรีในขั้นต้น[6]
เพรสลีย์มีเชื่อสายผสมยุโรปตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ อย่างสกอตแลนด์-ไอร์แลนด์ และนอร์มันฝรั่งเศสบ้าง หนึ่งในทวดของแกรดีส์ เป็นชาวเชอโรคีและจากบันทึกทางครอบครัว หนึ่งในย่าของเธอเป็นชาวยิว[7] แกรดีส์เป็นที่นับถือในเหล่าบรรดาญาติและเพื่อน เป็นคนเด่นในครอบครัวเล็กนี้ เวอร์นอนย้ายจากงานหนึ่งสู่งานหนึ่ง เขามีความทะเยอทะยานอยู่บ้าง[8][9] ครอบครัวของเขามักอาศัยความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านและอาหารจากรัฐบาล ในปี 1938 พวกเขาได้สูญเสียบ้านไปหลังจากที่เวอร์นอนมีความผิดฐานปลอมแปลงเช็คที่เขียนโดยเจ้าของที่ เขาอยู่ในคุก 8 เดือน ส่วนแกลดีส์และเอลวิสย้ายไปอยู่กับญาติ[10]
ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1941 เพรสลีย์เรียนเกรด 1 ที่โรงเรียนอีสต์ทูเพอโล ที่ครูผู้สอนระบุการเรียนของเขาว่า "อยู่ในระดับปานกลาง"[11] เขาได้รับการชักชวนให้ร่วมประกวดร้องเพลงหลังจากที่ทำให้ครูประทับใจกับการนำเพลงคันทรีของเรด โฟเลย์ที่ชื่อ "Old Shep" มาร้องใหม่ช่วงสวดมนต์ตอนเช้า โดยการประกวดเขาเขาร่วมแข่งเป็นงานที่ชื่อมิสซิสซิปปี-แอละแบมา และไดอารีโชว์ ในวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1945 เป็นการแสดงต่อหน้าสาธารณะของเขาเป็นครั้งแรก เขาแต่งตัวเป็นคาวบอย โดยเด็กชายเพรสลีย์วัย 10 ปี ยืนอยู่บนเก้าอี้เพื่อยื่นร้องไมโครโฟนที่สูงกว่า ร้องเพลง "Old Shep" เขาได้ที่ 5[12] หลายเดือนต่อมา เพรสลีย์ได้รับของขวัญวันเกิดกับกีตาร์ตัวแรก แต่เขาหวังว่าจะได้สิ่งอื่น ไม่จักรยานก็ปืนไรเฟิล[13][14] หลายปีถัดมา เขาได้เรียนกีตาร์พื้นฐานจากลุง 2 คนและศาสนาจารย์คนใหม่ที่โบสถ์ครอบครัวเขา เพรสลีย์เอ่ยถึงเหตุการณ์นั้นว่า "ผมได้กีตาร์และผมก็ดูผู้คนและผมก็เรียนรู้การเล่นนิดหน่อย แต่ผมไม่เคยร้องในที่สาธารณะ ผมเป็นคนขี้อายมาก"[15]
เขาเข้าเรียนที่โรงเรียนใหม่ที่ชื่อมิลาม ในเกรด 6 เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1946 เพรสลีย์พูดว่าเขาสันโดษ หลายปีต่อมาเขาเริ่มนำกีตาร์ของเขา เรียนรู้พื้นฐานการเล่นทุก ๆ วัน เขาจะเล่นและร้องในช่วงอาหารกลางวัน และมักจะแกล้งทำเป็นเหมือนพวกเด็กเหลวไหลที่เล่นดนตรีคนบ้านนอก ครอบครัวของเขาตอนนั้นอยู่กับเพื่อนบ้านชาวแอฟริกันอเมริกันขนาดใหญ่[16] เขาเป็นสาวกรายการของมิสซิสซิปปี สลิมทางสถานีวิทยุทูเพอโลที่ชื่อ WELO น้องชายของสลิมที่เป็นเพื่อนร่วมชั้นพูดถึงเพรสลีย์ในช่วงนั้นว่า "เขาคลั่งไคล้ดนตรี" เขามักพาเพรสลีย์ไปที่สถานี สลิมได้สอนสาธิตเทคนิคการเล่นคอร์ดกีตาร์ให้กับเพรสลีย์[17] เมื่อเขาอายุได้ 12 ปี สลิมได้จัดผังรายการให้เขาเล่นออกอากาศ 2 ครั้ง เพรสลีย์เอาชนะความกลัวในการขึ้นเวทีครั้งแรกได้ และยังได้แสดงอีกหลายหลายอาทิตย์ถัดมา[18]
ชีวิตวัยรุ่นในเมมฟิส
[แก้]ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1948 ครอบครัวของเขาย้ายไปอยู่เมมฟิส หลังจากย้ายถิ่นฐานเกือบปีในบ้านเช่า พวกเขาได้เข้าอาศัยอพาร์ตเมนต์ 2 ห้องนอนในอาคารที่พักสาธารณะที่มีชื่อว่า คอร์ตส[19] เขาสมัครเรียนที่โรงเรียนมัธยมฮูมส์ เพรสลีย์เรียนได้เกรดซีในวิชาดนตรีเมื่อเรียนเกรด 8 และเมื่ออาจารย์สอนดนตรีบอกเขาว่าเขาไม่ถนัดด้านการร้องเพลง เขาก็นำกีตาร์ในวันรุ่งขึ้นและร้องเพลงฮิตล่าสุดที่ชื่อ "Keep Them Cold Icy Fingers Off Me" เพื่อพิสูจน์ว่าไม่ใช่เช่นนั้น เพื่อร่วมชั้นในเวลาต่อมากล่าวว่า "ครูเห็นด้วยกับเอลวิสว่าถูก เมื่อเขาพูดว่า เธอไม่พอใจการร้องของเขา"[20] โดยทั่วไปแล้วเขาจะรู้สึกอายในการแสดงต่อหน้าคนและมักถูกกเพื่อนร่วมชั้นระรานในแง่มุมว่า "เด็กติดแม่"[21] ในปี 1950 เขาเริ่มฝึกฝนกีตาร์ ในการสอนของ เจสซี ลี เดนสัน ที่เป็นเพื่อนบ้านแก่กว่าเขา 2 ปีครึ่ง พวกเขาและกับชายหนุ่ม 3 คน รวมถึงผู้บุกเบิกเพลงร็อกอะบิลลีในอนาคต สองพี่น้องดอร์ซีย์และจอห์นนี เบอร์เนตต์ ก่อตั้งวงเล่นดนตรีหลวม ๆ แสดงเป็นประจำบริเวณรอบ คอร์ตส[22] ในเดือนกันยายนปีนั้น เขาเริ่มทำงานเป็นเด็กเดินตั๋วที่ โรงภาพยนตร์เลียวส์สเตด[23] งานอื่นในช่วงระหว่างเรียนอย่างเช่นทำที่พรีซิชันทูล, เลียวส์อะเกน และมาร์ลเมทัลโพรดักส์[24]
ในช่วงที่เรียนอยู่ในปีจูเนียร์เยียร์ (เกรด 11) เพรสลีย์เริ่มมีความโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัดในบรรดาเพื่อนร่วมชั้น เป็นเพราะหน้าตาของเขา กับเคราข้างใบหูที่โดดเด่นและทรงผมที่ใส่น้ำมันกุหลาบและวาเซลีน ในช่วงเวลาส่วนตัวเขาจะมุ่งหน้าไปที่ถนนบีล ใจกลางของย่านเพลงบลูส์ของเมืองเมมฟิส และเพ่งมองไปยังเสื้อผ้าอันเปล่งประกายผ่านหน้าตาของแลนสกี บราเทอร์ส ในปีสุดท้ายของการเรียนมัธยม เขาก็ได้สวมชุดที่เขาเพ่งมองนั้น[25] เขาเอาชนะการเป็นคนไม่กล้าแสดงออกโดยแสดงนอกคอร์ตส เขาร่วมแข่งในรายการ "Annual Minstrel" ของฮูมส์เมื่อเดือนเมษายน 1953 เขาร้องและเล่นกีตาร์ โดยเปิดด้วยเพลงดังล่าสุดของเทเรซี บรูเวอรืที่ชื่อ "Till I Waltz Again With You" เพรสลีย์กล่าวว่าการแสดงครั้งนั้นทำให้เขามีชื่อเสียงอย่างมาก "ฉันไม่ได้โด่งดังที่โรงเรียน...ล้มเหลวในด้านดนตรี—เป็นสิ่งเดียวที่ผมเคยล้มเหลว และบัดนนี้ผมก้าวสู่รายการโชว์ความสามารถ...เมื่อผมเดินขึ้นเวทีผมได้ยินคนส่งเสียงดังและกระซิบ และท้ายสุด เพราะว่าไม่มีใครรู้จักผม ผมรู้สึกประหลาดใจที่ผมโด่งดังหลังจากนั้น"[26]
เพรสลีย์ผู้ไม่เคยได้รับการฝึกสอนอย่างเป็นทางการและการอ่านโน้ตดนตรี เขาเรียนและเล่นโดยใช้หูเขาเอง เขาไปร้านขายแผ่นเสียงอยู่บ่อย ๆ ไปฟังจู๊กบอกซ์และฟังที่บูธ เขารู้จักเพลงทั้งหมดของแฮงก์ สโนว์[27] และเขาชอบเพลงของนักร้องเพลงคันทรีอื่นอย่าง รอย อะคัฟฟ์, เออร์เนสต์ ทับบ์, เทด ดาฟแฟน, จิมมี ร็อดเจอร์ส, จิมมี เดวิส และบ็อบ วิลลิส[28] เขายังชื่นชอบนักร้องเพลกอสเปลชาวใต้ที่ชื่อ เจค เฮส ที่เป็นอิทธิพลในการร้องเพลงบัลลาดให้กับเขาอย่างมาก[29][30] เขายังเป็นผู้ชมทั่วไปที่ออล-ไนต์ซิงกิงส์ รายเดือน ที่มีกลุ่มนักร้องกอสเปลผิวขาวแสดง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากดนตรีโซลของชาวแอฟริกันอเมริกัน[31] เขาชื่นชอบดนตรีของนักร้องกอสเปลผิวดำที่ชื่อ ซิสเตอร์ โรเซตตา ทาร์ป[28] เช่นเดียวกับกลุ่มเพื่อนของเขา ในบางครั้งเขาอาจไปงานดนตรีบลูส์ ในคืนพิเศษเฉพาะกลุ่มคนฟังผิวขาว[32] เขายังฟังสถานีวิทยุท้องถิ่นที่เล่นเพลงค่ายเรซเรเคิดส์ ที่มีแนวเพลงโซล บลูส์และเพลงสมัยใหม่ กับดนตรีแบ็กบีตหนัก ๆ ของเพลงริทึมแอนด์บลูส์[33] มีหลายเพลงในอนาคตของเขาที่ได้รับแรงบันดาลใจจากนักดนตรีชาวแอฟริกันอเมริกัน อย่างเช่น อาร์เทอร์ ครูดัปและรูฟัส โทมัส[34][35] บี.บี. คิง พูดถึงเอลวิสว่า เขารู้จักเอลวิสก่อนที่เขาจะโด่งดัง เพราะทั้งคู่ชอบไปถนนบีล[36] เมื่อเขาเรียนจบระดับมัธยมในเดือนมิถุนายน 1953 เพรสลีย์ก็ได้เลือกอาชีพด้านดนตรีเป็นอาชีพในอนาคตของเขาแล้ว[37][38]
บันทึกเสียงเพลงแรก (1953–55)
[แก้]แซม ฟิลลิปส์และซันเรเคิดส์
[แก้]ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1953 เพรสลีย์เดินเข้าไปในสำนักงานของซันเรเคิดส์ เขาต้องการที่จะใช้สตูดิโอไม่กี่นาทีเพื่อบันทึกเสียงลงแผ่นสังเคราะห์สองหน้า ที่ชื่อเพลง "My Happiness" และ "That's When Your Heartaches Begin" ต่อมาเขาออกมากล่าวว่าเพลงเหล่านี้เขาต้องการให้เป็นของขวัญวันเกิดให้แม่เขา หรือแค่อยากลองว่าจะมีลักษณะอย่างไร กับการบันทึกเสียงแบบสมัครเล่นซึ่งใกล้กับร้านค้าทั่วไป แต่นักเขียนอัตชีวประวัติ ปีเตอร์ กูราลนิก เถียงว่าเขาเลือกซันเรเคิดส์เพราะหวังว่าจะมีใครมาค้นพบเขา เมื่อพนักงานต้อนรับ แมเรียน คีสเกอร์ถามเพรสลีย์ว่าเขาเป็นนักร้องประเภทไหน เพรสลีย์ตอบว่า "ผมร้องได้ทุกอย่าง" และเมื่อเธอย้ำถามว่าเขาร้องเหมือนใคร เขาก็ตอบซ้ำว่า "ผมไม่ได้ร้องเหมือนใคร" หลังจากที่เขาบันทึกเสียง หัวหน้าของซันเรเคิดส์ที่ชื่อ แซม ฟิลลิปส์ก็ให้คีสเกอร์เขียนบันทึกชื่อของชายหนุ่มนั้น ซึ่งเธอก็เขียนบรรยายไปว่า "นักร้องเพลงบัลลาดที่ดี"[39] เพรสลีย์ตัดแผ่นอีกครั้งในเดือนมกราคม 1954 ในเพลง "I'll Never Stand In Your Way" และ "It Wouldn't Be the Same Without You" แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น[40]
แต่หลังจากนั้นไม่นาน เขาไม่ผ่านการออดิชันในการกลุ่มร้อง 4 คนที่ชื่อ ซองเฟลโลส์ เขาบอกกับพ่อของเขาว่า "พวกเขาบอกผมว่า ผมร้องเพลงไม่ได้"[41] จิม ฮามิลล์แห่งซองเฟโลว์ ภายหลังออกมากล่าวว่า เขาปฏิเสธไปเพราะว่าเขาไม่สามารถแสดงการใช้หูฟังเสียงประสานได้ในเวลานั้น[42] ในเดือนเมษายน เพรสลีย์เริ่มทำงานที่บริษัทคราวน์อีเลกทริก ตำแหน่งคนขับรถบรรทุก[43] เพื่อนของเขา รอนนี สมิธ ที่ได้ร่วมแสดงเพลงกับเขาบางครั้ง ได้แนะนำให้รู้จักเอ็ดดี บอนด์ หัวหน้าของวงอาชีพของสมิธ ซึ่งกำลังเปิดหานักร้องนำอยู่ บอนด์ปฏิเสธเขาไปหลังจากทดสอบความสามารถ ยังแนะนำเพรสลีย์ให้ขับรถบรรทุกต่อไป "เพราะว่าคุณไม่สามารถเป็นนักร้องได้เลย"[44]
ฟิลลิปส์ในขณะนั้นที่กำลังหาคนขาวใครสักคนที่สามารถร้องเพลงสไตล์คนดำได้ เพราะต้องการที่จะขยายฐานคนฟังให้กว้างขึ้น และจากรายงานของคีสเกอร์ "หลายต่อหลายครั้ง ฉันจำที่แซมพูดได้ว่า ถ้าฉันสามารถหาคนขาวที่มีเสียงแบบนิโกรและความรู้สึกแบบนิโกร ฉันจะให้เขาพันล้านดอลลาร์เลย"[45] ในเดือนมิถุนายน เขาบันทึกเสียงเพลงบัลลาดที่ชื่อ "Without You" ที่เขาคิดว่าอาจเหมาะกับนักร้องวัยรุ่น เพรสลีย์เข้ามาในสตูดิโอ แต่ไม่สามารถทำให้เยี่ยมได้ ด้วยเหตุนี้เองฟิลลิปส์บอกเพรสลียให้ร้องหลายเพลงเท่าที่เขารู้ เขารู้สึกมีใจเมื่อได้ยินว่าให้เชิญนักดนตรีท้องถิ่นคือ นักกีตาร์ วิลฟิลด์ "สก็อตตี" มัวร์ และมือเบส บิล แบล็ก ให้ร่วมงานบันทึกเสียงกับเพรสลีย์[46]
การบันทึกเสียงมีขึ้นในเย็นวันที่ 5 กรกฎาคม ซึ่งก็ไม่ได้ผลนักจนถึงช่วงดึกของคืนนั้น พวกเขารู้สึกยอมแพ้และอยากกลับบ้าน เพรสลีย์หยิบกีตาร์มาและร้องเพลง "That's All Right" ของอาร์เธอร์ ครูดัป มัวร์กล่าวภายหลังว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เอลวิสเริ่มร้องเพลง กระโดดไปทั่วและทำเหมือนคนบ้า จากนั้นบิลก็เริ่มหยิบเบส และเราก็เริ่มบ้ากันด้วย จากนั้นก็เริ่มเล่นเพลง แซมที่อยู่ที่บูธควบคุม ก็ยื่นหัวออกมาแล้วบอกว่า 'พวกแกทำอะไรอยู่' และพวกเราก็ตอบ 'ไม่รู้เหมือนกัน' เขาพูดว่า 'โอเค ดี หาทีว่าจะเริ่มตรงไหนและเอาอีกครั้ง' ฟิลลิปส์ก็เริ่มบันทึกเทป เป็นดนตรีที่พวกเขากำลังหาอยู่นาน[47] 3 วันต่อมา ดีเจที่มีชื่อเสียงที่ชื่อ ดีเจ ดิววีย์ ฟิลลิปส์ เล่นเพลง "That's All Right" ในรายการเรด,ฮอต แอนด์บลู[48] คนฟังเริ่มจะโทรเข้ามา และสงสัยว่าใครเป็นคนร้อง จากนั้นเองฟิลลิปส์ก็เล่นเพลงซ้ำอีกครั้งใน 2 ชั่วโมงท้ายของรายการ และสัมภาษณ์เพรสลีย์ออกอากาศ ฟิลลิปส์ถามว่าเรียนโรงเรียนไหน และถามเรื่องสีผิวที่มีคนถามเข้ามาคิดว่าเขาคือคนดำ[49] หลายวันต่อมาวงทรีโอนี้ได้บันทึกเสียงเพลงบลูกราส ของบิล มอนโร ที่ชื่อ "Blue Moon of Kentucky" และอีกครั้งด้วยความโดดเด่นของแนวการเล่นและบวกกับเสียงสะท้อนของเรือ ที่แซม ฟิลลิปส์นำมาจาก "slapback" ออกเป็นซิงเกิลโดยมีเพลง "That's All Right" อยู่ในหน้าเอ และเพลง "Blue Moon of Kentucky" อยู่ในด้านตรงข้ามของแผ่นเสียง[50]
การแสดงสดช่วงแรกและเซ็นสัญญากับอาร์ซีเอ
[แก้]วงทรีโอได้เล่นต่อหน้าสาธารณชนครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ที่บอนแอร์คลับ เพรสลีย์ยังคงใช้กีตาร์ของเด็กเล่น[51] พอปลายเดือนพวกเขาก็ปรากฏตัวที่โอเวอร์ตันพาร์กเชลล์ ร่วมกับการนำของสลิม วิตแมน และด้วยการตอบรับในจังหวะและความความประหม่าในการแสดงต่อผู้ชมจำนวนมาก ทำให้เพรสลีย์เขย่าขาของเขาในการแสดง กับการเกงขาบานที่ใส่ยิ่งทำให้เน้นการเคลื่อนไหว ทำให้สาววัยรุ่นเริ่มที่จะส่งเสียงกรี๊ด[52] มัวร์พูดถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า "ในช่วงที่บรรเลงเพลง เขาจะถอยหลังไปและเริ่มเล่นและเขย่า จากนั้นผู้ชมก็เริ่มคลั่ง"[53] ส่วนแบล็กก็บรรเลงเบสของเขา โดยดับเบิลลิ๊กในเพลง เพรสลีย์รำลึกว่า "มันเป็นดนตรีที่บ้าจริง ๆ เหมือนกลองจังเกิลหรืออะไรสักอย่าง"[53]
หลังจากนั้น มัวร์และแบล็กก็ลาออกจากวง เพื่อเล่นให้กับเพรสลีย์ประจำ ส่วนดีเจและโปรโมเตอร์ บ็อบ นีล ก็กลายเป็นผู้จัดการวงทรีโอนี้ จากเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม พวกเขาเล่นอยู่บ่อยครั้งที่อีเกิลส์เนสต์คลับและกลับมาบันทึกเสียงที่ซันสตูดิโอ[54] เพรสลีย์ก็รู้สึกเพิ่มความมั่นใจอย่างรวดเร็วเมื่อขึ้นเวที มัวร์กล่าวว่า "การเคลื่อนไหวของเขาช่างดูเป็นธรรมชาติ แต่เขาก็ตั้งใจมากต่อปฏิกิริยา เขาจะทำมันครั้งหนึ่งจากนั้นก็จะทำต่อโดยทำมันให้เร็ว"[55] เพรสลีย์ได้ปรากฏตัวเพียงครั้งเดียวบนเวที แกรนด์โอเลโอพรี ที่แนชวิลล์ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม หลังจากผู้ชมตอบรับอย่างเบาบาง สุภาพ ผู้จัดการรายการที่ชื่อจิม เดนนี บอกกับฟิลลิปส์ว่า นักร้อง "ดูไม่เลว" แต่ไม่เหมาะกับรายการ[56] 2 อาทิตย์ต่อมา เพรสลีย์มีชื่ออยู่ในรายการ ลุยเซียนาเฮย์ไรด์ ซึ่งเป็นการแข่งขันที่น่าตื่นเต้น รายการของเมืองชีฟพอร์ต ที่ออกอากาศในสถานีวิทยุ 198 สถานีใน 28 รัฐ เพรสลีย์รู้สึกเครียดในการแสดงแรกที่ผู้ชมต่างเงียบในการแสดงของเขา แต่การแสดงที่มีอารมณ์สงบและมีพลังทำให้ได้รับเสียงตอบรับอย่างสนใจ[57] ดีเจ ฟอนทานา ที่เป็นมือกลอง ได้ใส่องค์ประกอบใหม่เพื่อส่งเสริมจังหวะเคลื่อนไหวของเพรสลีย์ด้วยการเน้นจังหวะที่เขาเคยเล่นที่คลับเปลือยกาย[58] หลังจากการแสดง เฮย์ไรด์ชวนเพรสลีย์ให้มาปรากฏตัวในคืนวันเสาร์เป็นเวลา 1 ปี เขาได้ขายกีตาร์เก่าได้เงิน 8 ดอลลาร์สหรัฐ เขาซื้อเครื่องดนตรีมาร์ติน เป็นเงิน 175 ดอลลาร์สหรัฐ และวงทรีโอก็เริ่มเล่นตามสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงในฮิวส์ตัน รัฐเท็กซัสและเท็กซาร์คานา รัฐอาร์คันซอ[59]
ในต้นปี 1955 เพรสลีย์ปรากฏตัวเป็นประจำที่ เฮย์ไรด์ ออกทัวร์ตลอดเวลาและได้รับเสียงตอบรับที่ดีในการออกแผ่นเสียงที่ทำให้เขาเป็นดาราดังในระดับท้องถิ่น ตั้งแต่ในเทนเนสซีไปจนถึงเวสต์เท็กซัส ในเดือนมกราคม นีลได้เซ็นสัญญาการจัดการอย่างเป็นทางการกับเพรสลีย์และนำนักร้องเข้าพบกับโคโรเนล ทอม พาร์กเกอร์ ที่ถือว่าเป็นโปรโมเตอร์ที่ดีที่สุดในธุรกิจดนตรี พาร์เกอร์ (เกิดเนเธอร์แลนด์แต่อ้างว่ามาจากเวสต์เวอร์จิเนีย) ได้รับตำแหน่งพันเอกจากคณะกรรมการของนักร้องเพลงคันทรี ที่ชื่อ จิมมี เดวิส ที่กลายมาเป็นผู้ว่าการรัฐลุยเซียนา พาร์เกอร์ประสบความสำเร็จในการจัดการดาราคันทรีแถวหน้าอย่าง เอ็ดดี อาร์โนลด์ ที่ได้ร่วมงานกับนักร้องคันทรีอันดับ 1 หน้าใหม่ขณะนั้น แฮงก์ สโนว์ โดยพาร์กเกอร์ได้จัดการให้เพรสลีย์ออกทัวร์ของสโนว์ในเดือนกุมภาพันธ์[60][61] เมื่อทัวร์ถึงเมืองโอเดสซา รัฐเท็กซัส รอย ออร์บิสันขณะอายุ 19 ปี ได้เห็นการแสดงของเพรสลีย์เป็นครั้งแรก ก็บอกว่า "พลังของเขาเป็นเรื่องเหลือเชื่อ ความโดดเด่นของเขา มันน่าอัศจรรย์ ... ผมไม่รู้ว่าทำได้ยังไง ไม่มีจุดอ้างอิงอื่นทางวัฒนธรรมที่จะเปรียบเทียบมันได้เลย"[27] เพรสลีย์ได้ปรากฏตัวครั้งแรกทางโทรทัศน์เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ทาง[เคเอสแอนเอ-ทีวี] ออกอกอากาศทาง ลุยเซียนาเฮย์ไรด์ หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ตกรอบการออดิชันในรายการแสดงความสามารถ อาร์เธอร์ก็อดฟรีย์สแทเลนต์สเกาตส์ ทางสถานีระดับชาติซีบีเอส ในเดือนสิงหาคม ค่ายซันเรเคิดส์ออกแผ่นในชื่อ "Elvis Presley, Scotty and Bill" เพลงบางเพลงอย่างเพลง "That's All Right" ที่นักเขียนจากเมมฟิสอธิบายไว้ว่า "เป็นสำนวนอาร์แอนด์บีของแจ๊ซนิโกร" เพลงอื่นอย่าง "Blue Moon of Kentucky" มีลักษณะ "แบบคันทรีมากกว่า" "แต่การการรวมที่แปลกในการนำสองแนวเพลงที่แตกต่าง รวมเข้ามาด้วยกัน"[62] การรวมแนวเพลงนี้ทำให้เป็นการยากที่สถานีวิทยุจะเล่นเพลงของเพรสลีย์ จากคำพูดของนีลเขากล่าวว่า ดีเจเพลงคันทรีจะไม่เล่นเพลงนี้เพราะว่ามักดูเป็นศิลปินคนดำเกินไป และไม่มีสถานีแนวริทึมแอนด์บลูส์ที่จะแตะพวกเขาเพราะว่า "มันดูเป็นฮิลล์บิลลีเกินไป"[63] การรวมเช่นนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ ร็อกอะบิลลี ในเวลานั้นเพรสลีย์มีฉายาว่า "ราชาแห่งเวสต์เทิร์นบ็อป" ,"ชายฮิลบิลลี" และ "แสงวาบจากเมมฟิส"[64]
เพรสลีย์เซ็นสัญญาใหม่กับนีลในเดือนสิงหาคม 1955 ในขณะเดียวกันพาร์กเกอร์เป็นที่ปรึกษาพิเศษ[65] วงยังคงออกทัวร์อย่างต่อเนื่องในช่วงหลังของปี[66] นีลยังพูดว่า ""มันเกือบเป็นเรื่องน่ากลัว ปฏิกิริยาต่าง ๆ ถึงเอลวิสจากวัยรุ่นผู้ชาย มีหลายคนค่อนข้างอิจฉาและเกลียดเขา ในบางครั้งอย่างบางเมืองในเท็กซัส เราต้องมั่นใจว่ามีตำรวจคุ้มกันอยู่เพราะจะมีใครบางคนจะชอบก้าวร้าวต่อเขา พวกเขามีแก๊งและพยายามจะดักโจมตีหรืออย่างอื่น"[67] วงทริโอกลายเป็นวงควอเตต (4 คน) เมื่อมือกลองจากเฮย์ไรด์ ที่ชื่อฟอนทานา ร่วมวงเต็มวง ในกลางเดือนตุลาคม พวกเขาเล่นในหลายรายการเพื่อสนับสนุนให้กับโชว์ของบิล ฮาลีย์ ที่มีเพลง "Rock Around the Clock" ติดอันดับ 1 เมื่อปีก่อน ฮาลียืสังเกตเพรสลีย์ว่าเขามีความเป็นธรรมชาติในส่วนของจังหวะ และแนะนำเขาให้ร้องเพลงบัลลาดให้น้อยลง[68]
ในงานชุดนุมดีเจคันทรี ในต้นเดือนพฤศจิกายน เพรสลีย์ได้รับการลงคะแนนเสียงเป็นศิลปินชายแห่งความหวังที่สุดแห่งปี[69] มีหลายข่ายเพลงสนใจที่จะจับเขาเซ็นสัญญา หลังจาก 3 ค่ายใหญ่เสนอเงินสูงถึง 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ พาร์กเกอร์และฟิลลิปส์สนใจในสัญญาของอาร์ซีเอวิกเตอร์ โดยเซ็นเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ให้สัญญาของเพรสลีย์ที่มีกับซันเรเคิดส์จบไปโดยเงิน 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ[70]b เพรสลีย์ซึ่งขณะนั้นอายุ 20 ปี ยังเป็นผู้เยาว์อยู่ ก็ให้บิดาเซ็นสัญญาแทน[71] พาร์กเกอร์ที่ได้เตรียมงานกับเจ้าของฮิลแอนด์เรนจ์พับบลิชชิง คือฌอง และจูเลียน เอเบอร์บาช ได้ร่วมสร้างชื่อ "เอลวิส เพรสลีย์ มิวสิก แอนด์ แกรลดีส์ มิวสิก" เพื่อจัดการวัตถุดิบใหม่ในการอัดเสียงให้กับเพรสลีย์ มีนักเขียนเพลงได้เข้ามาช่วยเหลืออยู่ก่อนเพื่อตอบแทนแลกเปลี่ยนกับการแสดงในผลงานพวกเขา[72]c ในเดือนธันวาคม อาร์ซีเอเริ่มที่จะประชาสัมพันธ์นักร้องคนใหม่อย่างหนัก และก่อนจะจบเดือนเขาได้ออกผลงานกับค่ายซันเคิดส์ใหม่อีกครั้ง[73]
แจ้งเกิดและข้อพิพาท (1956–58)
[แก้]การปรากฏตัวครั้งแรกทางสถานีโทรทัศน์ระดับชาติและอัลบั้มเปิดตัว
[แก้]วันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1956 เพรสลีย์ได้ทำการบันทึกเสียงครั้งแรกของค่ายอาร์ซีเอในเมืองแนชวิล[76] ได้เพิ่มทีมแบ็กอัปช่วยมัวร์, แบล็ก และฟอนทานา โดยอาร์ซีเอเพิ่มนักเปียโน ฟลอยด์ เครเมอร์, นักกีตาร์ เชต แอตคินส์ และนักร้องประสาน 3 คน คือกอร์ดอน สโตเกอร์ จากวงสี่คนที่มีชื่อเสียงที่ชื่อ จอร์แดนแนร์ส เพื่อที่เติมเต็มเสียงเข้าไป[77] เป็นการบันทึกเสียงเพลงขุ่นหมองที่ไม่ธรรมดา ที่ชื่อ "Heartbreak Hotel" ออกขายเป็นซิงเกิลเมื่อวันที่ 27 มกราคม[76] จนในที่สุดพาร์กเกอร์ก็ได้นำเพรสลีย์ออกโทรทัศน์ระดับชาติ โดยให้เขาแสดงบนเวทีของซีบีเอสถึง 6 ครั้งในรอบ 2 เดือน รายการผลิตที่นิวยอร์ก มีพิธีกรสลับกันไประหว่างพี่น้องผู้นำวงบิ๊กแบนด์ ทอมมีและจิมมี ดอร์เซย์ หลังจากการปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มกราคม เพรสลีย์ก็ได้อยู่ในเมืองเพื่อบันทึกเสียงที่สตูดิโอของอาร์ซีเอในนิวยอร์ก บันทึกเสียง 8 เพลง รวมถึงเพลงทำใหม่ของคาร์ล เพอร์กินส์ แนวร็อกอะบิลลีที่ชื่อ "Blue Suede Shoes" ในเดือนกุมภาพันธ์ เพลงของเพรสลีย์ "I Forgot to Remember to Forget" ที่บันทึกเสียงกับซันเรเคิดส์และเคยออกในเดือนสิงหาคมปีก่อน ได้ติดชาร์ตอันดับ 1 บนบิลบอร์ดคันทรีชาร์ต[78] สัญญากับนีลได้จบลงไปและในวันที่ 2 มีนาคม พาร์เกอร์กลายเป็นผู้จัดการคนใหม่ของเพรสลีย์[79]
อาร์ซีเอวิกเตอร์ ได้ออกผลงานอัลบั้มเปิดตัวของเพรสลีย์ในชื่อตัวเขาเอง เมื่อวันที่ 23 มีนาคม มีเพลงจากอัลบั้มที่บันทึกเสียงกับซันที่ไม่เคยออกมาก่อน 5 เพลง อีก 7 เพลงใหม่มีความหลากหลาย มีเพลงคันทรี 2 เพลงและเพลงป็อปกระฉับกระเฉง เพลงอื่นเน้นไปที่ดนตรีร็อกแอนด์โรลที่กำลังพัฒนา อย่าง "Blue Suede Shoes" ที่ "ปรับปรุงเวอร์ชันของเพอร์กินส์ในทุกทาง" จากคำพูดของนักวิจารณ์ โรเบิร์ต ฮิลเบิร์น และ 3 เพลงอาร์แอนด์บีที่เป็นรายการแสดงของเพรสลีย์บนเวทีหลายครั้ง เป็นการนำเพลงของลิตเทิล ริชาร์ด, เรย์ ชาร์ลส และเดอะดริฟเตอร์ส มาทำใหม่ และฮิลเบิร์ยังอธิบายว่า "เป็นเพลงที่เปิดเผยมากที่สุดทั้งหมด ไม่เหมือนกับศิลปินคนขาวอื่น ...ที่จะเจือจางความกล้าหาญของต้นฉบับอาร์แอนด์บีลงไป ในเพลงคริสต์ทศวรรษ 1950 แต่เพรสลีย์ได้เปลี่ยนรูปแบบใหม่ เขาไม่เพียงแต่ผลักดันให้มีทำนองเข้ากับเอกลักษณ์เสียงของเขา แต่ยังนำกีตาร์ (ไม่ใช่เปียโน) เป็นเครื่องดนตรีนำในทั้ง 3 กรณี"[80] ถือเป็นอัลบั้มร็อกแอนด์โรลอัลบั้มแรกที่ขึ้นอันดับ 1 บนชาร์ตบิลบอร์ด และอยู่นาน 10 สัปดาห์[76] ขณะที่เพรสลีย์ไม่ใช่นักปฏิรูปเครื่องดนตรีอย่างมัวร์ หรือร็อกเกอร์ชาวแอฟริกันอเมริกันร่วมสมัยอย่าง โบ ดิดดลีย์และชัค เบอร์รี นักประวัติศาสตร์วัฒนธรรมที่ชื่อ กิลเบิร์ต บี. ร็อดแมน โต้แย้งภาพปกอัลบั้มว่า "เอลวิสผู้ซึ่งใช้เวลาตลอดชีวิตเขาบนเวที กับกีตาร์ในเมืองที่เขาเล่นได้ดีมากในตำแหน่งที่มีกีตาร์...เป็นเครื่องดนตรีที่ดีที่สุกับเขา กับรูปแบบและจิตวิญญาณของดนตรีแบบใหม่"[81]
มิลตันเบอร์ลโชว์ และ "Hound Dog"
[แก้]เพรสลีย์ปรากฏตัวครั้งแรกใน 2 ครั้งที่ รายการ มิลตันเบอร์ลโชว์ ทางช่องเอ็นบีซี เมื่อวันที่ 3 เมษายน เขาแสดงบนดาดฟ้าเรือยูเอสเอสแฮนค็อก ที่แซนดีเอโก เขาได้รับเสียงเชียร์และเสียงกรี๊ดจากคนดูทั้งจากทหารเรือและคนที่มาพบเจอ[82] หลายวันต่อมา เที่ยวบินที่เพรสลีย์และวงที่จะไปแนชวิลเพื่อบันทึกเสียงเกิดเครื่องสั่นอย่างหนัก 3 ครั้งเมื่อเครื่องเสียและเครื่องบินเกือบตกลงที่รัฐอาร์คันซอ[83] 12 อาทิตย์ต่อมาหลังจากออกซิงเกิล "Heartbreak Hotel" ขึ้นอันดับ 1 บนชาร์ตป็อปเพลงแรกของเพรสลีย์ ในปลายเดือนเมษายน เพรสลีย์เริ่มพักอยู่ที่โรงแรมนิวฟรอนเทียร์และคาซิโน ที่ลาสเวกัสสตริป เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โชว์ไม่ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มหัวอนุรักษ์ สำหรับแขกวัยกลางคนของโรงแรม นิวส์วีกเขียนวิจารณ์ว่า "เหมือนเหยือกน้ำที่มีเหล้าข้าวโพดในปาร์ตี้แชมเปญ"[84] ในช่วงที่อยู่ที่ลาสเวกัส เพรสลีย์ที่มีความใฝ่ฝันอย่างมากในด้านแสดง ได้เซ็นสัญญา 7 ปีกับพาราเมาต์พิกเจอส์[85] เขาเริ่มออกทัวร์ในมิดเวสต์ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ใน 15 เมืองเป็นเวลาหลายวัน[86] เขาเข้าไปดูโชว์หลายโชว์ของเฟรดดีเบลล์แอนด์เดอะเบลล์บอยส์ ในลาสเวกัสและติดใจเพลงทำใหม่ที่ชื่อ "Hound Dog" เพลงฮิตในปี 1952 ของนักร้องเพลงบลูส์ที่ชื่อ บิ๊ก มามา ทอร์นตัน และเพลงนี้ได้ถือเป็นเพลงใหม่ในการแสดงของเขา[87] หลังจากแสดงในลาครอส ในรัฐวิสคอนซิน ก็มีข้อความเขียนบนหน้าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในเครือคาทอลิก ซึ่งก็ถูกส่งไปให้หัวหน้าเอฟบีที่ชื่อ เจ. เอดการ์ ฮูเวอร์ เขียนไว้ว่า "เพรสลีย์เป็นอันตรายอย่างยิ่งกับความปลอดภัยของสหรัฐอเมริกา...การแสดงของเขาเป็นการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศให้กับกลุ่มวัยรุ่น...หลังจากแสดงโชว์ มีวัยรุ่นกว่า 1,000 คนพยายามเข้าร่วมไปอยู่ในห้องของเพรสลีย์ที่โรงละคร...เป็นการบอกถึงความอันตรายของเพรสลีย์ แค่ในลาครอสก็มีหญิงสาวไฮสคูล 2 คน ที่ให้เพรสลีย์เซ็นลายเซ็นที่ท้องน้อยและต้นขา"[88]
การแสดงครั้งที่ 2 ที่ รายการ มิลตันเบอร์ลโชว์ เกิดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ที่สตูดิโอฮอลลีวูดของช่องเอ็นบีซี ในช่วงระหว่างความวุ่นวายในการออกทัวร์ เบอร์ลได้ชักชวนเขาให้ทิ้งกีตาร์หลังเวที แนะให้เขา "ให้พวกเขาพบคุณ, ลูกชาย"[89] ระหว่างการแสดงเพรสลีย์หยุดโชว์กะทันหันในช่วงเพลงมีจังหวะ "Hound Dog" โดยโบกแขนและเริ่มทำให้ช้าลง ทำดูเด่น เต็มไปด้วยพลัง กับการเคลื่อนไหวที่ดูเกินจริง[89] การแสดงการหมุนของเขาทำให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างหนัก[90] นักวิจารณ์โทรทัศน์ แจ็ก กูล์ดจาก นิวยอร์กไทม์ เขียนไว้ว่า "คุณเพรสลีย์ ผู้ซึ่งไม่มีความสามารถด้านการร้อง...การถ่ายทอดของเขา ถ้าสามารถเรียกได้ว่า ประกอบด้วยความหลากหลายทั่ว ๆ ไป ที่เริ่มท่วงทำนองแบบในอ่างน้ำ...ลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของเขาคือ การเคลื่อนไหวของร่างกายที่มีเอกลักษณ์...โดยมากจะเห็นถึงรายการการแสดงที่น่าตกใจแบบพวกล้อเลียนการแสดง"[91] ส่วนเบน กรอส จาก นิวยอร์กเดลีนิวส์ แสดงความเห็นดนตรีป็อปว่า "ได้ถึงจุดต่ำสุดของพฤติกรรมปลายขาหนีบ ของเอลวิส เพรสลีย์... เอลวิสคนที่เคลื่อนกระดูกเชิงกราน...ได้แสดงเป็นนัยยะเรื่องอนาจารและหยาบคาย ผสมด้วยรูปแบบของสัตว์ป่าที่อาจหมายถึงซ่องโสเภณี"[92] เอ็ด ซัลลิแวน เจ้าของรายการวาไรตี้โชว์อันโด่งดังระดับชาติ ประกาศว่าเขา "ไม่เหมาะสำหรับผู้ชมในครอบครัว"[93] เขาถูกเรียกว่า ""Elvis the Pelvis" (เอลวิส กระดูกเชิงกราน) ซึ่งสร้างความไม่พอใจกับเขา เขาตอบกลับไปว่า "เป็น 1 ในการแสดงออกที่ปัญญาอ่อนที่สุดเท่าที่เคยได้ยิน ที่มาจากผู้ใหญ่เอง"[94]
สตีฟอัลเลนโชว์ และการปรากฏตัวครั้งแรกในรายการซัลลิแวน
[แก้]รายการของเบิร์ลได้รับเรตติ้งสูงเมื่อครั้งเพรสลีย์ ปรากฏตัวเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ทางรายการ เดอะสตีฟอัลเลนโชว์ ในนิวยอร์ก อัลเลนซึ่งไม่ใช่แฟนเพลงร็อกแอนด์โร ได้แนะนำเอลวิสแบบใหม่ ในชุดผู้โบว์สีขาวและสุดดำมีท้าย เพรสลีย์ร้องเพลง "Hound Dog" ไม่ถึง 1 นาทีให้กับสุนัขพันธุ์บาสเซตฮาวด์ที่สวมหมวดและผูกไทด์ นักประวัติศาสตร์รายการโทรทัศน์ เจค ออสเตนกล่าวว่า "อัลเลนคงคิดว่าเพรสลีย์ไม่มีความสามารถและไร้สาระ จึงทำอย่างนั้นกับเพรสลีย์ที่จะทำให้เพรสลีย์ดูสำนักผิด"[95] ต่อมาอัลเลนเขียนว่า เขาพบว่าเพรสลีย์ "แปลก สูงและผอม เด็กหนุ่มคันทรีผู้มีพรสวรรค์ มีความเฉลียวฉลาดที่ยากจะอธิบาย มีเสน่ห์จนน่าแปลกใจ และเป็นนักร้องที่สร้างความตลกในรายการเขา"[96] ซึ่งต่อมาเพรสลีย์เองก็ตอบกลับว่าเป็นการแสดงที่พิลึกที่สุดที่เขาทำในอาชีพของเขา[97] ต่อมาในคืนเดียวกัน เขาปรากฏในรายการ ไฮการ์ดเนอร์คอลลิง รายการโทรทัศน์ท้องถิ่นยอดนิยม ตอบรับเกี่ยวกับสิ่งที่เขาเรียนรู้จากการวิจารณ์ที่เขาตกเป็นเป้าหมายอยู่ เพรสลีย์ตอบว่า "ไม่เลย ผมไม่เคยรู้สึกว่าผมทำอะไรผิด...ผมไม่เห็นว่าจะประเภทดนตรีจะทำให้เกิดอิทธิพลด้านร้ายกับคน เพราะมันก็เป็นแค่ดนตรี ผมหมายถึง ร็อกแอนด์โรลจะทำให้ใครต่อต้านพ่อแม่เขาได้"[92]
วันถัดมาเพรสลีย์บันทึกเสียงเพลง "Hound Dog" กับเพลง "Any Way You Want Me" และ "Don't Be Cruel" ขณะที่วงจอร์แดนแนร์สร้องประสาน เหมือนที่ทำในรายการ เดอะสตีฟอัลเลนโชว์ พวกเขาได้ร่วมงานกับเพรสลีย์จนถึงคริสต์ทศวรรษ 1960 ต่อมาหลายวันเขาแสดงในคอนเสิร์ตกลางแจ้งในเมมฟิส เขาประกาศว่า "รู้ไหม คนเหล่านี้ในนิวยอร์กจะไม่สามารถเปลี่ยนผมได้ ผมจะแสดงให้คุณเห็นว่าเอลวิสที่แท้จริงเป็นอย่างไร ในคืนนี้"[98] ในเดือนสิงหาคม ผู้พิพากาษในแจ็กสันวิล ในฟลอริดา สั่งให้เพรสลีย์สุขุมกว่าเดิมในการแสดง เป็นผลในการแสดงในครั้งต่อ ๆ มา ยกเว้นการแกว่งนิ้วไปมาในลักษณะล้อเลียนการสั่ง[99] เขานำเพลง "Don't Be Cruel" คู่กับ "Hound Dog" ติดอันดับ 1 บนชาร์ตนาน 11 สัปดาห์ เป็นสถิติเพลงอันดับ 1 ยาวนานที่สุดร่วม 36 ปี[100] เขาบันทึกเสียงในอัลบั้มชุดที่ 2 ในฮอลลีวูดในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน เจอร์รี ลีเบอร์และไมก์ สตอลเลอร์ ผู้เขียนเพลง "Hound Dog" ได้ช่วยเขียนในเพลง "Love Me"
รายการของอัลเลนที่มีเพรสลีย์ร่วมนั้น ได้ชนะเรื่องเรตติ้งครั้งแรก ในรายการ ดิเอ็ดซัลลิแวนโชว์ ทางช่องซีบีเอส แต่ต่อมาทางซัลลิแวนประกาศออกมาในเดือนมิถุนายนว่า เขาจะปรากฏตัวในรายการ 3 ครั้งกับค่าตัว 50,000 ดอลลาร์สหรัฐที่ไม่เคยมีมาก่อน[101] ครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1956 มีผู้ชมราว 60 ล้านคน ถือเป็นร้อยละ 82.6 ของผู้ชมรายการโทรทัศน์[102] นักแสดง ชาร์ล เลาจ์ตัน พิธีกรของรายการซึ่งมาทำหน้าที่แทนซัลลิแวนเนื่องจากพักฟื้นจากประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์[93] เพรสลีย์ปรากฏตัวใน 2 ส่วนของรายการในคืนนั้นจาก ซีบีเอสเทเลวิชันซิตี ในฮอลลีวูด ถ่ายทำเพรสลีย์จากเอวขึ้นไป ขณะที่ดูคลิปขอรายการอัลเลนและเบิร์ล กับโปรดิวเซอร์ของเขา ซัลลิแวนให้ความเห็นว่า "มีบางอุปกรณ์บางอย่างแขวนตรงบริเวณอวัยวะเพศเขา จากนั้นเขาแกว่งขาไปมา มันจึงทำให้เห็นส่วนเว้านูนของอวัยวะเพศเขา ...ผมคิดว่ามันคือขวดโค้ก... แต่ไม่ได้ มันจะเกิดขึ้นมาได้ในคืนวันอาทิตย์ นี่มันรายการสำหรับครอบครัว"[103] ซัลลิแวนบอกกับ ทีวีไกด์ ไว้ว่า "การหมุนตัวของเขาเราสามารถควบคุมได้ในกล้อง"[101] แต่แท้จริงแล้ว เพรสลีย์ปรากฏเต็มตัวในการแสดงครั้งแรกและครั้งที่สอง ถึงแม้จะระมัดระวังในการถ่ายภาพเมื่อเขาปรากฏตัว กับการไม่ขยายชัดตรงขา เมื่อเขาเต้น แต่ผู้ชมในสตูดิโอก็มีปฏิกิริยาด้วนเสียงกรี๊ด[104][105] เพรสลีย์ได้แสดงซิงเกิลที่กำลังจากออก เป็นเพลงบัลลาดที่ชื่อ "Love Me Tender" ซึ่งสร้างสถิติมีการสั่งล่วงหน้าร่วมล้าน[106] มากไปกว่าซิงเกิลใดที่เคยมีมา ถือเป็นการปรากฏตัวของเขาในรายการ ดิเอ็ดซัลลิแวนโชว์ ที่ทำให้เขาเป็นคนดังระดับประเทศ เทียบกับครั้งก่อนหน้า[93]
ประกอบกับความมีชื่อเสียงที่เพิ่มขึ้นของเพรสลีย์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม ที่เขาช่วยดลใจและทำให้กลายเป็นสัญลักษณ์ ก่อให้เกิด "ความบ้าคลั่งที่มากที่สุดของวงการป็อบ ตั้งแต่ครั้งเกล็น มิลเลอร์และแฟรงก์ ซินาตรา... เพรสลีย์ได้นำร็อกแอนด์โรลก้าวเข้าสู่กระแสหลักของวัฒนธรรมสมัยนิยม" เขียนโดยมาร์ตี จีเซอร์ "เพรสลีย์ได้นำฝีก้าวของศิลปะ ที่ศิลปินอื่นก้าวตาม... เพรสลีย์มีมากกว่าใครอื่น ได้สร้างความศรัทธากับคนรุ่นใหม่ให้พวกเขาโดดเด่นและในบางครั้งสร้างความเป็นหนึ่งให้กับคนรุ่นนั้น - เป็นครั้งแรกในอเมริกาที่รู้สึกเหมือนว่ามีพลังที่รวมวัฒนธรรมวัยรุ่นเข้าด้วยกัน"[107]
ฝูงชนที่บ้าคลั่งและก้าวสู่วงการภาพยนตร์
[แก้]ผู้ชมต่างตอบรับในการแสดงสดของเพรสลีย์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนคลั่งไคล้ มัวร์ระลึกความหลังว่า "เขาเริ่มร้องว่า 'You ain't nothin' but a Hound Dog' และพวกเขากลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย พวกเขาต่างแสดงปฏิกิริยาในลักษณะนี้เหมือนเดิม เหมือนมีการประท้วงตลอดเวลา"[108] ในการแสดงคอนเสิร์ต 2 ครั้งในเดือนกันยายน ที่งานมิสซิสซิปปี-แอละแบมาและไดแอรีโชว์ ได้มีการเพิ่มผู้รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ จำนวน 50 คน ให้กับตำรวจในการรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันปัญหาจากฝูงชน[109] อัลบั้มชุดที่ 2 ของเขาที่ชื่อ Elvis ออกจำหน่ายในเดือนตุลาคม และก้าวขึ้นสู่อันดับ 1 อย่างรวดเร็ว ได้มีการประเมินผลกระทบด้านดนตรีและวัฒนธรรมกับงานเพลง "That's All Right" นักวิจารณ์เพลงร็อกที่ชื่อ เดฟ มาร์ช เขียนไว้ว่า "เพลงนี้ เป็นมากกว่าเพลงอื่น มีเมล็ดผลที่เป็นร็อกแอนด์โรล"[110]
เพรสลีย์กลับสู่รายการ ซัลลิแวนโชว์ อีกครั้ง มีพิธีกรคือซัลลิแวนเอง เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม หลังจากการแสดง ฝูงชนในแนชวิลล์และเซนต์หลุยส์ที่ไม่พอใจเขาต่างเผาหุ่นจำลองรูปเขา[93] ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา Love Me Tender ออกฉายเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ซึ่งแต่เดิมจะใช้ชื่อว่า The Reno Brothers และถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้มีรายชื่ออยู่บนหัวสุด แต่ภาพยนตร์ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาใช้ตามชื่อเพลงอันดับ 1 ของเขาคือ "Love Me Tender" ซึ่งติดอันดับ 1 ก่อนหน้าในเดือนนั้น ยังถือโอกาสจากความโด่งดังของเพรสลีย์ โดยเพิ่มเพลง 4 เพลงเข้าไป ภาพยนตร์ได้เสียงตอบรับที่ดีจากนักวิจารณ์แต่ไม่ประสบความสำเร็จดีนักในตารางบ็อกซ์ออฟฟิส[85] ต่อมาเพรสลีย์ก็มีชื่ออยู่บนสุดทุกครั้งไป
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม มีผลงานของเพรสลีย์ออกภายใต้สังกัดซันเรเคิดส์ เมื่อครั้งที่บันทึกเสียงกับคาร์ล เพอร์กินส์และเจอร์รี ลี ลูอิส ถึงแม้ว่าฟิลิปจะไม่ได้ถือลิขสิทธิ์ในการออกเพลงต่าง ๆ ของเพรสลีย์แล้ว เขาก็ได้บันทึกเสียงการบันทึกเสียงในเทป ผลคือกลายเป็นการบันทึกเสียง ในนาม มิลเลียนดอลลาร์ควอร์เตต จบปลายปีกับการพาดหัวข่าวใน วอลล์สตรีตเจอร์นอล รายงานว่าของที่ระลึกของเพรสลีย์มีราคา 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับยอดขาย[111] และนิตยสารบิลบอร์ดประกาศว่าเขามีเพลงในท็อป 100 มากกว่าศิลปินใดที่เคยมีมา ตั้งแต่เริ่มมีชาร์ต[112] ในปีแรกเต็ม ๆ กับสังกัดอาร์ซีเอ ซึ่งถือเป็นบริษัทธุรกิจดนตรีที่ใหญ่ที่สุดบริษัทหนึ่ง ก็มียอดขายซิงเกิลของเพรสลีย์เป็นร้อยละ 50 ของรายได้บริษัท.[106]
การร่วมงานกับลีเบอร์และสตอลเลอร์ และหมายเกณฑ์ทหาร
[แก้]เพรสลีย์ปรากฏตัวครั้งที่ 3 และเป็นครั้งสุดท้ายในรายการ เอ็ดซัลลิแวนโชว์ เมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1957 ในครั้งนี้ถ่ายเพียงถึงเอว นักวิจารณ์บางคน กล่าวว่า พาร์กเกอร์ได้ประพันธ์ดนตรีให้เข้ากับการเซ็นเซอร์แก่สาธารณะ[105][113] นักวิจารณ์ที่ชื่อ กรีล มาร์คัส อธิบายว่า "เพรสลีย์ไม่ได้จำกัดเสรีภาพตัวเอง เขาปล่อยให้เสื้อผ้าไม่น่าสนใจทิ้งไป แต่เขาก้าวออกมาพร้อมเสื้อผ้าแปลกๆ อย่างขุนนาง แต่งหน้าทางตา ปล่อยผมมาที่หน้า การแสดงลักษณะทางเพศผ่านทางปาก เขาเล่นเป็น รูดอล์ฟ วาเลนติโน" อย่างในภาพยนตร์เรื่อง The Sheik[93] และในการปิดการแสดง เพรสลีย์ร้องเพลงแบบโซลในเพลง "Peace in the Valley" ตอนจบการแสดง ซัลลิแวนออกมาพูดกับเพรสลีย์ว่า "ช่างเป็นชายหนุ่มที่โดดเด่นดี"[114] 2 วันต่อมา เมมฟิสออกมาประกาศการเกณฑ์ทหาร ซึ่งเพรสลีย์จะจัดอยู่ใน 1 เอ และจะต้องเข้าเกณฑ์ทหารในปีนั้น[115]
ทั้ง 3 ซิงเกิลของเพรสลีย์ที่ออกในช่วงครึ่งปีแรกของปี ค.ศ. 1957 ติดอันดับ 1 ได้แก่ "Too Much", "All Shook Up", และ "(Let Me Be Your) Teddy Bear" เขาได้กลายเป็นดาราระดับนานาชาติ เขาได้รับความสนใจจากแฟนเพลง ถึงแม้ว่าเพลงเขาจะยังไม่ออกขาย ยังมีการพาดหัวข่าวว่า "เพรสลีย์สร้างความคลั่งไคล้ในโซเวียต" ใน เดอะนิวยอร์กไทมส์ รายงานว่าเพลงของเขาเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งในราคาสูง ที่เลนนินกราด[116] และในช่วงการถ่ายทำภาพยนตร์และบันทึกเสียง เขาซื้อแมนชัน 18 ห้อง ห่างจากดาวน์ทาวน์ของเมมฟิสไป 8 ไมล์ เขาซื้อให้ตัวเขาและพ่อแม่เขา ในเกรซแลนด์[117] Loving You เพลงประกอบภาพยนตร์ เรื่องที่สองของเขา ก็กลายเป็นอัลบั้มอันดับ 1 อัลบั้มที่ 3 ของเขา เพลงไตเติลแทร็กเขียนโดยลีเบอร์และสตอลเลอร์ที่ยังคงเขียน 4 ใน 6 เพลงในการบันทึกเสียงให้กับภาพยนตร์เรื่องถัดมา Jailhouse Rock ทีมนักเขียนเพลงได้ร่วมกันทำงานในเซสชัน และพวกเขาเริ่มใกล้ชิดกับเพรสลีย์ ซึ่งเคยพูดถึงว่า "เป็นสิ่งนำโชค"[118] เพลง "Jailhouse Rock" ก็เป็นเพลงฮิตอันดับ 1 ในอีพีชุด Jailhouse Rock
เพรสลีย์ออกทัวร์สั้น ๆ 3 ทัวร์ระหว่างปี ยังสร้างกระแสตอบรับที่บ้าคลั่งจากผู้ชม[119] หนังสือพิมพ์ดีทรอยต์ แนะนำว่า "ปัญหาหากคุณไปดูเอลวิส เพรสลีย์ คือคุณอาจถูกฆ่าตายได้"[120] นักศึกษามหาวิทยาลัยวิลลาโนวาปาไข่ใส่เขาในฟิลาเดเฟีย[120] และในแวนคูเวอร์ ฝูงชนประท้วงหลังจบโชว์ โดยการทำลายเวที[121] แฟรงก์ ซินาตรา ซึ่งเคยทำให้วัยรุ่นสาวเป็นลมมาแล้วในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1940 ตำหนิเรื่องปรากฏการณ์ใหม่ทางดนตรีนี้ โดยในบทความในนิตยสาร เขาประณามร็อกแอนด์โรลว่า "หยาบคาย น่าเกลียด เสื่อม เลวทราม ... มันส่งเสริมให้เกิดด้านลบและการทำลายล้างในหมู่วัยรุ่น ดูเหมือนเสแสร้งและผิด เขียนและเล่นโดยคนโง่และผิดปกติ ...คือกลิ่นเหม็นเน่าของการกระตุ้นทางเพศ ที่ผมไม่เห็นด้วย"[122] และหลังจากเพรสลัย์ก็ตอบรับว่า "ผมเคารพในตัวเขา เขามีสิทธิ์ที่จะพูดในสิ่งที่เขาอยากจะพูด เขามีความประสบความสำเร็จอย่างมากและเป็นนักแสดงที่ดี แต่ผมคิดว่าเขาไม่ควรพูดอย่างนั้น... มันคือกระแส ก็เหมือนกับที่เขาเจอเมื่อเขาเริ่มมันเมื่อหลายปีก่อน"[123]
ลีเบอร์และสตอลเลอร์ กลับมาในสตูดิโออีกครั้งเพื่อบันทึกเสียงให้กับเพรสลีย์ในอัลบั้มชุด Elvis' Christmas Album จนเกือบจบการบันทึกเสียง เขาเขียนเพลงตามที่เพรสลีย์เรียนกร้องในเพลง "Santa Claus Is Back In Town" ในเพลงบลูส์เหน็บแนม[124] อัลบั้มออกในช่วงวันหยุด และทำให้อันดับติดอันดับ 1 เป็นชุดที่ 4 และต่อมาถือว่าเป็นอัลบั้มคริสต์มาสที่ขายดีที่สุดตลอดกาล[125][126] ในวันที่ 20 ธันวาคม เพรสลีย์ได้รับหมายเกณฑ์ เขาได้รับการเลื่อนการเกณฑ์ทหาร จนกว่าจะจบการทำภาพยนตร์เรื่องต่อมาที่ชื่อ King Creole ที่ได้รับทุนมาแล้วจำนวน 350,000 ดอลลาร์สหรัฐ ได้รับทุนจากพาราเมาต์และโปรดิวเซอร์ที่ชื่อ ฮอล แวลลิส ก่อนปีใหม่ 1-2 สัปดาห์ เพลงที่แต่งโดยลีเบอร์และสตอลเลอร์ที่ชื่อเพลง "Don't" ก็กลายเป็นซิงเกิลขายดีอันดับ 1 เพลงที่ 10 และเพียง 21 เดือนหลังจากที่เขานำ "Heartbreak Hotel" ขึ้นอันดับ 1 เป็นครั้งแรก สำหรับการบันทึกเสียงเพลงประกอบภาพยนตร์ King Creole เกิดขึ้นในฮอลลีวูด กลางเดือนมกราคม ลีเวอร์และสตอลเลอร์ทำเพลง 3 เพลง แต่เป็นครั้งสุดท้ายที่พวกเขาทำงานอย่างใกล้ชิดกับเพรสลีย์[127]
รับราชการทหารและการเสียชีวิตของมารดา (1958–60)
[แก้]เมื่อวันที่ 24 มีนาคม เพรสลีย์ถูกเกณฑ์ทหารในกองทัพสหรัฐฯ เป็นพลทหารที่พอร์ตแชฟฟี ใกล้เมืองฟอร์ตสมิท รัฐอาร์คันซอ ร้อยเอกอาร์ลี เมเทนี ผู้บังคับการหน่วยสารสนเทศไม่ได้เตรียมพร้อมกับการมาของสื่อมวลชน เมื่อเพรสลีย์มาถึง มีคนกว่า 100 คนมารอดู เมื่อเขาก้าวเท้าลงมาจากรถบัส ช่างภาพมากมายก็เข้ามารุมที่ตัวเขา[128] เพรสลีย์ประกาศว่าเขาตั้งตาคอยในการเป็นทหาร และยังกล่าวว่า เขาไม่ต้องการให้รับการปฏิบัติแตกต่างจากผู้อื่น "กองทัพจะทำอะไรก็ได้กับผมตามที่ต้องการ"[129] ต่อมาที่ฟอร์ตฮูด รัฐเท็กซัส พันโทมาร์โจรี ชูลเทน ได้ให้สื่อเข้าถึงเขาเต็ม ๆ 1 วัน หลังจากที่เธอประกาศห้ามสื่อเข้ามา[130]
ไม่นานเพรสลีย์ก็เข้าร่วมฝึกเบื้องต้นที่ฟอร์ตฮูด มีนักธุรกิจที่ชื่อเอ็ดดี้ ฟาดาล ที่เคยพบเขาในทัวร์ที่เท็กซัส เข้าเยี่ยมเขา ฟาดาลกล่าวว่า เพรสลีย์เชื่อว่าอาชีพเขาได้จบลงแล้ว— "เขาเชื่อเช่นนั้นอย่างมาก"[131] ใน 2 สัปดาห์ของต้นเดือนมิถุนายน เพรสลีย์ไถศีรษะขาว 5 ด้านที่แนชวิลล์ เขากลับไปฝึกต่อแต่พอต้นเดือนสิงหาคม แม่ของเขาซึ่งป่วยเป็นโรคตับอักเสบ และอาการของเธอก็แย่ลง เพรสลีย์ได้เร่งกลับมาเยี่ยมเธอโดยด่วน ถึงเมมฟิสเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม หลังจากนั้น 2 วันเธอก็เสียชีวิตจากภาวะหัวใจวาย อายุได้ 46 ปี ทำให้เกิดความเสียใจกับเพรสลีย์อย่างมาก[132]
หลังจากฝึกที่ฟอร์ตฮูด เพรสลีย์ได้ประจำการในหน่วยยานเกราะ หน่วยที่ 3 ในฟรีดเบิร์ก ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม[133] เขาได้เสพแอมเฟตามีนที่ได้จากเพื่อนทหาร ขณะซ้อมรบ มีผลไม่เพียงให้กำลัง ความแข็งแรง และทำให้เขาน้ำหนักลด และมีเพื่อนเขาหลายคนร่วมด้วย[134] เพรสลีย์ได้เรียนรู้คาราเต้เป็นครั้งแรก เขาศึกษาอย่างจริงจัง ต่อมาเขาก็รวมเข้ากับการแสดงของเขา[135] เพื่อนทหารเป็นสิ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงความหลักแหลม ความเป็นทหารธรรมดาคนหนึ่ง แต่เนื่องจากชื่อเสียงของเขาและความใจกว้างขณะรับใช้ชาติ เขายังได้บริจาคเงินการกุศลให้กองทัพ ได้ซื้อชุดโทรทัศน์ให้กับฐาน และซื้อชุดทหารชุดพิเศษให้กับทุกคนได้ใส่กัน[136]
ขณะที่อยู่ฟรีดเบิร์ก เพรสลีย์พบกับหญิงสาวอายุ 14 ปีที่ชื่อพริสซิลลา โบลิยอ ทั้งคู่แต่งงานกันในอีก 7 ปีที่คบหากัน[137] ในหนังสืออัตชีวประวัติของเธอ พริสซิลลาพูดว่า เนื่องจากเขากังวลเรื่องถูกทำลายอาชีพการงานของเขา พาร์กเกอร์แนะนำเพรสลีย์ให้เพิ่มความน่านับถือ จากการรับใช้ประเทศชาติกับกองทัพทั่วไป ไม่ใช่หน่วยพิเศษ จะทำให้เขาสามารถแสดงดนตรีและสามารถเข้าถึงมหาชนได้[138] สื่อมวลชนตระหนักถึงอาชีพของเขาโดยการรายงานข่าว แต่โปรดิวเซอร์ค่ายอาร์ซีเอ สตีฟ โชลส์และเฟรดดี้ บีนสต็อก ได้เตรียมงานสำหรับการหายไป 2 ปีของเขา รวมถึงผลงานที่ไม่เคยออกที่ไหนมาก่อน และยังได้กระแสตอบรับ ประสบความสำเร็จอย่างดี[139] โดยปล่อยซิงเกิลติดชาร์ตท็อป 40 อย่าง "Wear My Ring Around Your Neck", เพลงขายดีอย่าง "Hard Headed Woman", และ "One Night" ในปี ค.ศ. 1958, และเพลง "(Now and Then There's) A Fool Such as I" รวมถึงเพลงอันดับ 1 "A Big Hunk o' Love" ในปี ค.ศ. 1959[140] อาร์ซีเอยังได้จัดการออกอัลบั้มรวมเพลงเก่า 4 อัลบั้มในช่วงนี้ ชุดที่ประสบความสำเร็จที่สุดคือ Elvis' Golden Records (1958) ที่ติดอันดับ 3 บนชาร์ตอัลบั้ม
มุ่งด้านภาพยนตร์ (1960–67)
[แก้]Elvis Is Back
[แก้]เพรสลีย์กลับสู่สหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1960 และได้รับยศสิบเอก เมื่อวันที่ 5 มีนาคม[141] เขาขึ้นขบวนรถไฟจากนิวเจอร์ซีย์ไปเทนเนสซี ซึ่งตลอดทางมีฝูงชนล้อมอย่างมากมาย และเพรสลีย์ได้ปรากฏตัวเพื่อหาแฟนคลับที่ปลายทาง.[142] เมื่อกลับถึงเมมฟิส เขาไม่ใช้เวลาให้เปล่าประโยชน์ กลับเข้าสตูดิโอโดยทันที บันทึกเสียงในเดือนมีนาคมและเมษายน กับซิงเกิลฮิตขายดี กับเพลงบัลลาด "It's Now or Never" และ "Are You Lonesome Tonight?", และอัลบั้ม Elvis Is Back! ที่มีหลาย ๆ เพลงที่กรีล มาร์คัส ได้อธิบายไว้ว่า "ภยันตราย ที่ขับผ่านอคูสติกกีตาร์ เล่นโดยสก็อตตี มัวร์ และแซกโซโฟนปีศาจของบูตส์ แรนดอล์ฟ และเอลวิสไม่ได้ร้องแบบเซ็กซี่ แต่มันโป๊เลย"[143] และการภาพรวมอัลบั้ม "ได้ร่ายมนต์ภาพของคนร้องให้สามารถเป็นทุกสิ่งทุกอย่างได้" ในคำพูดของนักประวัติศาสตร์ดนตรี จอห์น โรเบิร์ตสัน "ไอดอลวัยรุ่นเจ้าชู้คนนี้ กับชายที่เอาใจใส่ โผงผาง คนรักอันตราย นักร้องบลูส์-กัตบักเกต ผู้สร้างความบันเทิงในสถานกลางคืนมาช่ำชอง กับเสียงร้องห้าว ๆ"[144] อัลบั้มออกขายเพียง 1 วันหลังจากที่เสร็จสิ้นการบันทึกเสียง ติดอันดับ 2 บนชาร์ตอัลบั้ม
เพรสลีย์กลับมาในรายการโทรทัศน์เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม เป็นแขกในรายการ The Frank Sinatra Timex Special ยังออกรายการ Welcome Home Elvis บันทึกเทปเมื่อปลายเดือนมีนาคม เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่เพรสลีย์แสดงต่อหน้าผู้ชม พาร์กเกอร์ได้จ่ายค่าตัว $125,000 กับการร้องเพลงความยาว 8 นาที ที่ยังไม่เคยมีใครได้ยิน การออกอากาศครั้งนี้มีผู้ชมมากมายมหาศาล[145]
G.I. Blues อัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องแรกหลังจากที่เขากลับมา ติดอันดับ 1 ในเดือนตุลาคม และอัลบั้มเกี่ยวกับศาสนาอัลบั้มแรกของเขาที่ชื่อ His Hand in Mine ก็ออกใน 2 เดือนถัดมา ติดอันดับ 3 บนยูเอสป็อปชาร์ต และอันดับ 3 ในสหราชอาณาจักร เป็นอัลบั้มในแนวกอสเปล ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1961 เพรสลีย์แสดง 2 ครั้งในงานหารายได้ในเมมฟิส กับงานการกุศลท้องถิ่น 24 งาน ในช่วงงานเลี้ยงอาหารกลางวันก่อนงาน อาร์ซีเอได้มองแผ่นเพื่อแสดงยอดขายมากกว่า 75 ล้านชุดทั่วโลกให้กับเขา[146] เขาได้บันทึกเสียงนานกว่า 12 ชั่วโมงในแนชวิล ในช่วงกลางเดือนมีนาคม กับผลงานอัลบั้มถัดไปของเขา ชุด Something for Everybody[147] จอห์น โรเบิร์ตสัน บรรยายว่า เป็นตัวอย่างของดนตรีแนชวิล กับแนวที่กลั่นกรองและขัดเกลา ที่จำกัดความถึงดนตรีคันทรี ในคริสต์ทศวรรษ 1960 และเป็นการทำนายถึงสิ่งที่จะออกมาจากเพรสลีย์ ในครึ่งทศวรรษถัดไป อัลบั้มนี้ "มีดนตรีที่เป็นงานผสมผสานทางศิลปะที่น่ายินดี และเป็นหนึ่งในสิ่งที่เอลวิสได้มาแต่เกิด"[148] เป็นอัลบั้มอันดับ 1 ชุดที่ 6 ของเขา เขายังได้ร่วมงานคอนเสิร์ตหารายได้ให้กับการรำลึกถึงเพิร์ลฮาร์เบอร์ ขึ้นแสดงบนเวทีเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ในฮาวาย และเป็นการแสดงต่อสาธารณะครั้งสุดท้ายและจะไม่มีอีกนาน 7 ปี[149]
กับงานในฮอลลีวูด
[แก้]พาร์กเกอร์ ได้ผลักดันให้เพรสลีย์มีตารางงานในด้านแสดงภาพยนตร์อย่างหนัก มุ่งหนังตลาด และหนังเพลง-ตลก มีทุนสร้างโดยพอประมาณ เดิมทีเพรสลีย์ยืนยันว่าจะแสดงในบทหนัก ๆ แต่เมื่อหนัง 2 เรื่องที่เน้นแนวดราม่า อย่างเรื่อง Flaming Star (1960) และ Wild in the Country (1961) ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เขาจึงกลับมาแสดงในหนังตลาด ในหนัง 27 เรื่องที่เขาแสดงในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 มีบางเรื่องที่เป็นแนวอื่นบ้าง[150] ผลงานแสดงภาพยนตร์ของเขา มีนักวิจารณ์วิจารณ์โดยรวมไว้ว่า "ปูชนียสถานที่มีรสนิยมแย่"[151] อย่างไรก็ตาม ก็มีคุณค่าสรรเสริญ ฮอล แวลลิส ที่สร้างหนังของเขา 9 เรื่อง ก็ประกาศไว้ว่า "ภาพของเพรสลีย์เป็นสิ่งเดียวที่แน่นอนในฮอลลีวูด"[152]
ผลงานภาพยนตร์ของเพรสลีย์ในคริสต์ทศวรรษ 1960 นั้นมี 15 เรื่องที่มีอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ และอีก 5 ชุดเป็นอีพีเพลงประกอบภาพยนตร์ โดยมีภาคผลิตภาพยนตร์และออกฉายอย่างรวดเร็ว เขาแสดงภาพยนตร์ 3 เรื่องใน 1 ปี ซึ่งมีผลต่อการทำงานดนตรีกับเขา จากข้อมูลของเจอร์รี ลีเบอร์ สูตรในการทำอัลบั้มประกอบภาพยนตร์นั้นเกิดขึ้นก่อนที่เพรสลีย์จะออกจากกองทัพเสียอีก คือสูตร "3 เพลง บัลลาด ,1 เพลง มีเดียม-เท็มโป, 1 เพลง อัปเท็มโป" และ 1 เพลง เบรกบลูส์บูกี"[153] คุณภาพของเพลงประกอบภาพยนตร์นั้นค่อย ๆ แย่ลงไปเรื่อย ๆ[154] จูลี แพร์ริช ที่แสดงใน Paradise, Hawaiian Style (1966) พูดว่า "เขาเกลียดหลายเพลงที่เลือกในภาพยนตร์ของเขา"[155] กอร์ดอน สโตเกอร์ จากเดอะจอร์แดนแนร์ส อธิบายว่า จะวางไมค์ลง "วัตถุดิบมันช่างแย่ เขารู้สึกว่าเขาไม่สามารถร้องเพลงได้"[156] อัลบั้มประกอบหนังส่วนมากของเขาจะมีเพลง 1-2 เพลงจากนักเขียนเพลงที่น่าเคารพอย่างทีมของ ด็อก โพมัส และ พอร์ต ชูแมน แต่ส่วนใหญ่แล้ว เจอร์รี ฮอปกินส์ ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติเขา กล่าวว่า "เพลงเขียนออกมาจากการได้รับคำสั่งจากคนที่ไม่เข้าใจเอลวิสหรือร็อกแอนด์โรลเลย"[157] เขาไม่นึกถึงคุณภาพของเพลง โดยอ้างว่าเขาสามารถร้องเพลงได้ดีอยู่แล้ว[158] นักวิจารณ์ เดฟ มาร์ช เห็นในทางที่ต่างกัน "เพรสลีย์ไม่ได้พยายาม อาจเป็นไปได้ว่าเป็นการทำงานอย่างรวดเร็วที่ดีที่สุด โดยใช้หน้าของเขา อย่างในเพลง 'No Room to Rumba in a Sports Car' และ 'Rock-a-Hula Baby'"[110]
ในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ มี 3 อัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ของเพรสลีย์ขึ้นอันดับ 1 บนชาร์ตป็อป และมีเพลงยอดนิยมจากภาพยนตร์หลายเพลง เช่น "Can't Help Falling in Love" (1961) และ "Return to Sender" (1962) ส่วนเพลง "Viva Las Vegas" เพลงชื่อเดียวกับหนังนั้น โด่งดังเล็กน้อยในฐานะเพลงหน้าบี แต่ต่อมาก็โด่งดังในภายหลัง แต่เมื่องานทำออกมาโดยเน้นด้านศิลปะ ลดความเป็นตลาดลงไป ในช่วงระหว่าง 5 ปี (ค.ศ. 1964-1968) เพรสลีย์มีเพลงติดท็อป 10 เพียงเพลงเดียวคือ "Crying in the Chapel" (1965) เพลงที่บันทึกเสียงในปี ค.ศ. 1960 ส่วนอัลบั้มที่ไม่ใช่เพลงประกอบภาพยนตร์ ในระหว่างเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1962 เขาออกอัลบั้ม Pot Luck และในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1968 ออกอัลบั้มประกอบรายการพิเศษทางโทรทัศน์ มีเพียง 1 อัลบั้มในฉบับใหม่ของเพรสลีย์ เป็นอัลบั้มในแนวกอสเปล คือชุด How Great Thou Art (1967) ทำให้เขาได้รับรางวัลแกรมมี่ครั้งแรกในชีวิต ในสาขาแสดงเกี่ยวกับศาสนายอดเยี่ยม The New Rolling Stone Album Guide เขียนเกี่ยวกับอัลบั้มนี้ว่า "อาจพิสูจน์ได้ว่า เขาเป็นนักร้องกอสเปลผิวขาวที่ยอดเยี่ยมที่สุดในเวลาของเขา ที่ค่อนถือว่าเป็นศิลปินร็อกแอนด์โรลคนสุดท้ายที่ทำเพลงกอสเปล ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการแสดงบุคลิกลักษณะด้านดนตรีของเขา ในด้านเกี่ยวกับเพลงของฆราวาส"[159]
ก่อนคริสต์มาส ค.ศ. 1966 เป็นเวลามากกว่า 7 ปีที่เพรสลีย์ได้พบกับพริสซิลลา โบลิยอ ครั้งแรก ทั้งคู่สมรสกับเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1967 ในพิธีง่าย ๆ ในห้องสวีตที่โรงแรมอาละดินในลาสเวกัส[160] หนังตลาดและอัลบั้มประกอบภาพยนตร์ใกล้ออก แต่ไม่ได้ออกจนกว่าเดือนตุลาคม ค.ศ. 1967 เมื่ออัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Clambake ถือเป็นอัลบั้มที่มียอดจำหน่ายต่ำในบรรดาอัลบั้มของเพรสลีย์ ผู้บริหารอาร์ซีเอลพูดถึงปัญหาว่า "ในช่วงเวลานั้น เกิดความพินาศขึ้น" คอนนี เคิร์ชเบิร์กและมาร์ก เฮนดริกซ์ นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า "เอลวิสถูกมองว่าเป็นตัวตลกของคนรักในเสียงดนตรีและเป็นอดีตไปแล้วสำหรับแฟนพันธุ์แท้ของเขา"[161]
กลับมา (1968–73)
[แก้]Elvis: รายการโทรทัศน์พิเศษ ใน ค.ศ. 1968
[แก้]ลิซ่า มารี เพรสลี่ย์ ลูกสาวคนเดียวของเพรสลี่ย์ เกิดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 ในช่วงเวลาที่เขาไม่ค่อยมีความสุขกับอาชีพของเขา[162] เพลง 8 เพลงที่ปล่อยออกมาในช่วงระหว่างมกราคม ค.ศ.1967 ถึง พฤษภาคม ค.ศ.1968 มีเพียง 2 เพลงที่ติดท็อป 40 และไม่ถึงอันดับที่ 28[163] เพลงในอัลบั้ม Speedway ของเขาอยู่ที่อันดับ 82 ในบิลบอร์ดชาร์ต พาร์กเกอร์ได้เปลี่ยนแผนให้เขาออกรายการโทรทัศน์ หลังจากที่เขาไม่ได้กลับมาในรายการโทรทัศน์เลยหลังจาก Frank Sinatra Timex Special ใน ค.ศ. 1960 เขาได้ทำข้อตกลงกับ NBC ในการผลิตและออกอากาศในช่วงคริสต์มาส[164]
มีการบันทึกช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่เบอร์แบงก์ แคลิฟอร์เนีย เรียกชื่ออย่างง่ายๆว่า Elvis ออกอากาศเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ.1968 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น 68 Comeback Special เป็นการแสดงที่โดดเด่นในฉากของสตูดิโอร่วมกับวงดนตรีของเขาและผู้ชมจำนวนไม่มากนัก นับเป็นการแสดงสดครั้งแรกของเขาหลังจาก ค.ศ. 1961 เอลวิสปรากฏตัวด้วยชุดหนังสีดำ ร้องเพลงและเล่นกีตาร์อย่างเผ็ดร้อนเหมือนสมัยแรกๆของเขา บิล บีลิวส์ ผู้ออกแบบชุดนี้ได้ออกแบบให้มันปกสูงเหมือนนโปเลียน (เพรสลีย์ชอบใส่เสื้อปกสูงเพราะคิดว่าคอของเขายาวเกินไป) และกลายเป็นคุณลักษณะสำคัญในการออกแบบชุดของเพรสลีย์ในปีหลังๆ ผู้อำนวยการและผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ สตีฟ บินเดอร์ ได้ทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างความมั่นใจและผลิตการแสดงทำให้ผลงานเสร็จหลายวันก่อนคริสต์มาส[165] ตามที่พาร์คเกอร์ได้วางแผนนไว้ การแสดงนี้มียอดชมสูงสุดในฤดูกาล มีผู้ชมถึง 42% จากยอดผู้ชมทั้งหมด[166] จอน แลนด้าจากนิตยสาร Eye กล่าวว่า "มีมนต์ขลังบางอย่างในการดูชายที่สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง หาทางกลับบ้านของเขา เขาร้องเพลงโดยไร้พลังและไม่มีความหวังในความเป็นร็อคแอนด์โรล เขาขยับร่างกายของเขาอย่างขาดความสมดุล และพยายามทำให้จิม มอร์ริสันเกิดความอิจฉา"[167] แต่เดฟ มาร์ชได้เรียกการแสดงนี้ให้เป็นหนึ่งในความยิ่งใหญ่ทางอารมณ์และเสียงในประวัติศาสตร์[168]
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1969 เพลง "If I Can Dream" ที่เขียนขึ้นเป็นพิเศษในอัลบั้มและสามารถติดท็อป 10 ได้ ตามที่เพื่อนของเขาเจอรี่ ชิลลิง ได้กล่าวถึงเขาว่า "เขาไม่ได้ทำแบบนี้มานานเป็นปี การที่เขาสามารถทำเพลงที่เหมาะกับเขาและไม่ได้ทำเพียงเพื่อประกอบภาพยนตร์อีก...เขาออกจากคุกแล้ว สหาย"[166] บินเดอร์ได้พูดถึงปฏิกิริยาของเพรสลีย์ว่า "ผมเล่น Elvis the 60-minute show และเขาบอกผมในห้องตรวจทานว่า 'สตีฟ นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดที่ผมเคยทำในชีวิตของผม ผมขอบอกคุณอย่างนึง ผมไม่เคยร้องเพลงเลย ผมไม่เชื่ออย่างนั้น' "[166]
From Elvis In Memphis และการแสดงในโรงแรมอินเตอร์เนชันแนล
[แก้]เพรสลีย์ได้รับเชิญให้บันทึกเสียงที่อเมริกัน ซาวด์ สตูดิโอ ซึ่งต่อมาออกมาเป็นอัลบั้ม "From Elvis In Memphis" จัดจำหน่ายเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1969 เป็นอัลบั้มแรกของเขาในรอบ 8 ปีที่ไม่ใช้อัลบั้มประกอบภาพยนตร์ เดฟ มาร์ช ได้กล่าวถึงอัลบั้มนี้ว่า "เป็นผลงานชิ้นเด่นของเพรสลีย์ที่ทำให้เขากลับมาสู่กระแสได้อีกหลังเสียเวลาอย่างยาวนานกับงานภาพยนตร์ เขาร้องเพลงคันทรี่, เพลงโซลและร็อคด้วยความเชื่อมั่นที่แท้จริง เป็นผลงานที่น่าทึ่งมาก"[169]
เพรสลีย์ตั้งใจที่จะกลับมาทำการแสดงสดอีกครั้ง หลังจากความสำเร็จใน Comeback Special, มีข้อเสนอมาจากทั่วโลก London Palladium เสนอพาร์คเกอร์เป็นเงินมูลค่า $28,000 สำหรับการแสดงหนึ่งสัปดาห์[170] ในเดือนพฤษภาคม โรงแรมอินเตอร์เนชันแนลที่เปิดใหม่ในลาส เวกัส ที่มีห้องแสดงโชว์ใหญ่ที่สุดในเมือง ประกาศว่าได้จองตัวเพรสลีย์สำหรับการแสดง 57 รอบตลอด 4 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม มัวร์, ฟอนทานา, และเดอะ จอร์แดนแนร์ส ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมเพราะกลัวสูญเสีญรายได้จากงานในแนชวิล เพรสลีย์สร้างวงใหม่นำโดยนักกีต้าร์ เจมส์ เบอร์ตันและสองวงกอสเปล The Imperials และ The Sweet Inspirations[171] อย่างไรก็ตามเขารูสึกประหม่า เขาจดจำความผิดพลาดจากการแสดงที่ลาสเวกัสเมื่อปี 1956 ได้เป็นอย่างดี เพรสลีย์เข้าเยี่ยมชมห้องแสดงโชว์และห้องรับรองในลาสเวกัส ณ ที่นั้นเขาได้พบกับทอม โจนส์ ผู้มีสไตล์คล้ายคลึงกับเขาในยุค 50 ทั้งสองกลายเป็นเพื่อนกัน และเรียนคาราเต้ร่วมกัน เพรสลีย์ในจ้างให้บิล เบลิว เพื่อออกแบบชุดจั๊มสูทซึ่งจะเป็นชุดสำหรับการแสดงของเขา ในปีต่อมา พาร์คเกอร์ตั้งใจจะให้เพรสลีย์กลับมาสู่งานแสดงบนเวทีอย่างต่อเนื่อง มีการโปรโมตอย่างขันแข็ง เจ้าของโรงแรม Kirk Kerkorian จัดส่งเครื่องบินของเขาเองไปนิวยอร์กเพื่อทำข่าวการกลับมาแสดงสดของเพรสลีย์[172]
เพรสลีย์แสดงบนเวทีโดยไม่มีการแนะนำตัว ผู้ชมมากกว่า 2,200 คนซึ่งรวมไปถึงดาราดังพากันปรบมือหลังจากเขาร้องเพลง "Can't Help Falling in Love" (ซึ่งต่อมากลายเป็นเพลงปิดการแสดงของเขาในยุค 70's)[173] ในการแถลงข่าวหลังการแสดง เมื่อนักข่าวเรียกเขาว่า "เดอะ คิง" เขาชี้ไปที่แฟตส์ โดมิโน และพูดว่า "ไม่ครับ, เขาต่างหากคิงออฟร็อคแอนด์โรล"[174] วันต่อมา พาร์คเกอร์ทำข้อตกลงว่าจ้างเพรสลีย์สำหรับการแสดงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และสิงหาคม เป็นเวลา 5 ปี มูลค่าถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี[175] นิวส์วีคกล่าวว่า "มีหลายสิ่งที่ไม่น่าเชื่อสำหรับเอลวิส แต่สิ่งที่ไม่น่าเชื่อที่สุดคืออำนาจของเขาในอาชีพมันเปรียบเสมือนดาวจรัสแสง"[176] โรลลิงสโตนเรียกเพรสลีย์ว่า "การคืนชีพในวงการที่เหนือธรรมชาติ"[177] ในเดือนพฤศจิกายน ภาพยนตร์ที่เพรสลีย์แสดงเรื่องสุดท้ายในชื่อ "Change of Habit" เข้าฉาย อัลบั้ม "From Memphis To Vegas/From Vegas" ออกจำหน่ายในเดือนเดียวกัน ซึ่งเป็นอัลบั้มแรกที่บันทึกเสียงจากการแสดงสดของเขาในโรงแรมอินเตอร์เนชันแนล ซิงเกิลจากงานบันทึกเสียงที่อเมริกัน ซาวด์ สตูดิโอ "Suspicious Minds" ขึ้นสู่อันดับ 1 ในบิลบอร์ดฮอต 100 ในรอบ 7 ปีและเป็นซิงเกิลสุดท้ายของเขาที่ขึ้นอันดับ 1 ของชาร์ตนี้[178]
คาสซานดรา ปีเตอร์สัน ซึ่งต่อมาเป็นเจ้าของรายการ Elvira พบกับเพรสลีย์ในช่วงนี้ ขณะที่เธอกำลังทำงานเป็นนักแสดงสาวที่ลาส เวกัส พูดถึงเพรสลีย์ว่า "เขาเป็นคนต่อต้านยาเสพติด เมื่อฉันพบเขาและบอกเขาว่าฉันสูบกัญชา เขาเตือนเธอว่า "อย่าสูบมันอีก" "[179] เพรสลีย์ไม่เพียงแค่ต่อต้านสารเสพติด เขาเป็นคนไม่ชอบดื่มสุรา ครอบครัวของเขาเคยมีปัญหาการติดสุรามาก่อนทำให้เขาตั้งใจที่จะหลีกเลี่ยง[180]
กลับสู่ทัวร์ และ พบกับนิกสัน
[แก้]ในปี พ.ศ. 2512 เอลวิสได้รับเชิญให้ไปเปิดการแสดง ที่โรงแรมอินเตอร์เนชันแนล ในลาสเวกัสที่เพิ่งสร้างเสร็จ และมีห้องประชุมที่ใหญ่ที่สุดในเมือง โดยเขาได้เปิดการแสดงถึง 57 รอบ ภายในระยะเวลาเพียง 4 สัปดาห์ และการแสดงในครั้งนี้ ก็มีผู้เข้าชมมากเป็นประวัติการณ์ หลังจากนั้น เขาก็ได้เปิดการแสดงในที่ต่างๆ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากทุกครั้ง
หย่าร้าง และ Aloha from Hawaii
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
สุขภาพเสื่อมโทรมและวาระสุดท้าย (1973–77)
[แก้]วิกฤตสุขภาพและงานสตูดิโอครั้งสุดท้าย
[แก้]ในช่วงปี พ.ศ. 2516 เอลวิสประสบปัญหาเรื่องสุขภาพ เคยถูกนำส่งโรงพยาบาล ด้วยโรคปอดบวม โรคเยื่อหุ้มปอดอักเสบ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ นอกจากต้องต่อสู้กับโรค ที่สะสมมาเป็นระยะเวลานานแล้ว เขายังต่อสู้กับน้ำหนักตัว ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระนั้นเขาก็ยังตระเวนเปิดการแสดง ตามคำเรียกร้องของแฟนเพลง ตามเมืองต่างๆ อยู่เสมอ
ปีสุดท้ายและเสียชีวิต
[แก้]วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2520 เวลาหลังเที่ยงคืน หลังจากที่เอลวิสไปพบทันตแพทย์ในช่วงเช้า แฟนสาวของเขาก็พบเอลวิสนอนหมดสติอยู่ภายในห้องน้ำ ซึ่งเป็นการเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ที่คฤหาสน์เกรสแลนด์ของเขาเอง ด้วยวัยเพียง 42 ปี และข่าวนี้ก็สร้างความตกตะลึงและเสียใจอย่างยิ่งแก่แฟนเพลงทั่วโลก
ชีวิตส่วนตัว
[แก้]สำหรับชีวิตครอบครัวนั้น เอลวิสได้แต่งงานกับพริสซิล่า เมื่อ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1973 และมีลูกสาวด้วยกัน 1 คนคือ ลิซ่า มารี เพรสลี่ย์ แต่ต่อมาทั้งคู่ก็ได้หย่าขาดจากกันในปี ค.ศ. 1973 และต่อมาเอลวิสพบรักใหม่กับลินดา ทอมสัน และใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันจนกระทั่งปลายปี ค.ศ. 1976
ผลงานเพลง
[แก้]อัลบั้มอันดับหนึ่ง
[แก้]ปี | อัลบั้ม | รูปแบบ | ตำแหน่งสูงสุด | ||
---|---|---|---|---|---|
US[181] | US Country[182] | UK[183][184] | |||
1956 | Elvis Presley | studio/comp. | 1 | n.a. | 1 |
Elvis | studio | 1 | n.a. | 3 | |
1957 | Loving You | sound./studio | 1 | n.a. | 1 |
Elvis' Christmas Album | studio | 1 | n.a. | 2 | |
1960 | Elvis Is Back! | studio | 2 | n.a. | 1 |
G.I. Blues | soundtrack | 1 | n.a. | 1 | |
1961 | Something for Everybody | studio | 1 | n.a. | 2 |
Blue Hawaii | soundtrack | 1 | n.a. | 1 | |
1962 | Pot Luck | studio | 4 | n.a. | 1 |
1964 | Roustabout | soundtrack | 1 | — | 12 |
1969 | From Elvis in Memphis | studio | 13 | 2 | 1 |
1973 | Aloha from Hawaii: Via Satellite | live | 1 | 1 | 11 |
1974 | Elvis: A Legendary Performer Volume 1 | compilation | 43 | 1 | 20 |
1975 | Promised Land | studio | 47 | 1 | 21 |
1976 | From Elvis Presley Boulevard, Memphis, Tennessee | studio | 41 | 1 | 29 |
1977 | Elvis' 40 Greatest | compilation | — | — | 1 |
Moody Blue | studio/live | 3 | 1 | 3 | |
Elvis in Concert | live | 5 | 1 | 13 | |
2002 | ELV1S: 30 #1 Hits | compilation | 1 | 1 | 1 |
2007 | The King | compilation | — | — | 1 |
ซิงเกิลอันดับหนึ่ง
[แก้]ปี | ซิงเกิล | ตำแหน่งสูงสุด | ||
---|---|---|---|---|
US[185] | US Country[186] | UK[183][184] | ||
1956 | "I Forgot to Remember to Forget" | — | 1 | — |
"Heartbreak Hotel" | 1 | 1 | 2 | |
"I Want You, I Need You, I Love You" | 1 | 1 | 14 | |
"Don't Be Cruel" | 1 | 1 | 2 | |
"Hound Dog" | 1 | 1 | 2 | |
"Love Me Tender" | 1 | 3 | 11 | |
1957 | "Too Much" | 1 | 3 | 6 |
"All Shook Up" | 1 | 1 | 1 | |
"(Let Me Be Your) Teddy Bear" | 1 | 1 | 3 | |
"Jailhouse Rock" | 1 | 1 | 1 | |
1958 | "Don't" | 1 | 2 | 2 |
"Hard Headed Woman" | 1 | 2 | 2 | |
1959 | "One Night"/"I Got Stung" | 4/8 | 24/— | 1 |
"A Fool Such as I"/"I Need Your Love Tonight" | 2/4 | — | 1 | |
"A Big Hunk o' Love" | 1 | — | 4 | |
1960 | "Stuck on You" | 1 | 27 | 3 |
"It's Now or Never" | 1 | — | 1 | |
"Are You Lonesome Tonight?" | 1 | 22 | 1 | |
1961 | "Wooden Heart" | — | — | 1 |
"Surrender" | 1 | — | 1 | |
"(Marie's the Name) His Latest Flame"/"Little Sister" | 4/5 | — | 1 | |
1962 | "Can't Help Falling in Love"/"Rock-A-Hula Baby" | 2/23 | — | 1 |
"Good Luck Charm" | 1 | — | 1 | |
"She's Not You" | 5 | — | 1 | |
"Return to Sender" | 2 | — | 1 | |
1963 | "(You're The) Devil in Disguise" | 3 | — | 1 |
1965 | "Crying in the Chapel" | 3 | — | 1 |
1969 | "Suspicious Minds" | 1 | — | 2 |
1970 | "The Wonder of You" | 9 | 37 | 1 |
1977 | "Moody Blue" | 31 | 1 | 6 |
"Way Down" | 18 | 1 | 1 | |
1981 | "Guitar Man" (reissue) | 28 | 1 | 43 |
2002 | "A Little Less Conversation" (JXL remix) | 50 | — | 1 |
2005 | "Jailhouse Rock" (reissue) | — | — | 1 |
"One Night"/"I Got Stung" (reissue) | — | — | 1 | |
"It's Now or Never" (reissue) | — | — | 1 |
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ Victor 2008, p. 10.
- ↑ Reaves 2002.
- ↑ Victor 2008, pp. 438–39.
- ↑ Semon & Jorgensen 2001.
- ↑ Collins 2002.
- ↑ Guralnick 1994, p. 13–14.
- ↑ Dundy 2004, pp. 13, 16, 20–22, 26.
- ↑ Guralnick 1994, p. 11–12, 23–24.
- ↑ Victor 2008, p. 419.
- ↑ Guralnick 1994, p. 12–14.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 15–16.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 17–18.
- ↑ Guralnick 1994, p. 19.
- ↑ Dundy 2004, p. 101.
- ↑ Guralnick 1994, p. 23.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 23–26.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 19–21.
- ↑ Dundy 2004, pp. 95–96.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 32–33.
- ↑ Guralnick 1994, p. 36.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 35–38.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 40–41.
- ↑ Stanley & Coffey 1998, p. 20.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 43, 44, 49.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 44, 46, 51.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 52–53.
- ↑ 27.0 27.1 Guralnick 1994, p. 171.
- ↑ 28.0 28.1 Matthew-Walker 1979, p. 3.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 46–48, 358.
- ↑ Wadey 2004.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 47–48, 77–78.
- ↑ Guralnick 1994, p. 51.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 38–40.
- ↑ Guralnick 2004.
- ↑ Bertrand 2000, p. 205.
- ↑ Szatmary 1996, p. 35.
- ↑ Guralnick 1994, p. 54.
- ↑ Jorgensen 1998, p. 8.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 62–64.
- ↑ Guralnick 1994, p. 65.
- ↑ Guralnick 1994, p. 77.
- ↑ Cusic 1988, p. 10.
- ↑ Guralnick 1994, p. 80.
- ↑ Guralnick 1994, p. 83.
- ↑ Miller 2000, p. 72.
- ↑ Jorgensen 1998, pp. 10–11.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 94–97.
- ↑ Ponce de Leon 2007, p. 43.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 100–1.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 102–4.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 105, 139.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 106, 108–11.
- ↑ 53.0 53.1 Guralnick 1994, p. 110.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 117–27, 131.
- ↑ Guralnick 1994, p. 119.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 128–30.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 127–28, 135–42.
- ↑ Burke & Griffin 2006, pp. 61, 176.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 152, 156, 182.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 144, 159, 167–68.
- ↑ Nash 2003, pp. 6–12.
- ↑ Guralnick 1994, p. 163.
- ↑ Bertrand 2000, p. 104.
- ↑ Hopkins 2007, p. 53.
- ↑ Guralnick & Jorgensen 1999, p. 45.
- ↑ Jorgensen 1998, p. 29.
- ↑ Rogers 1982, p. 41.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 217–19.
- ↑ Jorgensen 1998, p. 31.
- ↑ Stanley & Coffey 1998, pp. 28–29.
- ↑ Escott 1998, p. 421.
- ↑ Jorgensen 1998, pp. 36, 54.
- ↑ Stanley & Coffey 1998, p. 29.
- ↑ Guffey 2006, p. 127.
- ↑ Miles et al 2008, p. 32.
- ↑ 76.0 76.1 76.2 Stanley & Coffey 1998, p. 30.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 235–36.
- ↑ Slaughter & Nixon 2004, p. 21.
- ↑ Guralnick & Jorgensen 1999, pp. 50, 54, 64.
- ↑ Hilburn 2005.
- ↑ Rodman 1996, p. 28.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 262–63.
- ↑ Guralnick 1994, p. 267.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 274.
- ↑ 85.0 85.1 Victor 2008, p. 315.
- ↑ Guralnick & Jorgensen 1999, pp. 72–73.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 273, 284.
- ↑ Fensch 2001, pp. 14–18.
- ↑ 89.0 89.1 Burke & Griffin 2006, p. 52.
- ↑ Jorgensen 1998, p. 49.
- ↑ Gould 1956.
- ↑ 92.0 92.1 Guralnick & Jorgensen 1999, p. 73.
- ↑ 93.0 93.1 93.2 93.3 93.4 Marcus 2006.
- ↑ Marsh 1982, p. 100.
- ↑ Austen 2005, p. 13.
- ↑ Allen 1992, p. 270.
- ↑ Keogh 2004, p. 73.
- ↑ Jorgensen 1998, p. 51.
- ↑ Guralnick & Jorgensen 1999, pp. 80–81.
- ↑ Whitburn 1993, p. 5.
- ↑ 101.0 101.1 Austen 2005, p. 16.
- ↑ Edgerton 2007, p. 187.
- ↑ Brown & Broeske 1997, p. 93.
- ↑ Guralnick 1994, p. 338.
- ↑ 105.0 105.1 Gibson 2005.
- ↑ 106.0 106.1 Victor 2008, p. 439.
- ↑ Jezer 1982, p. 281.
- ↑ Moore & Dickerson 1997, p. 175.
- ↑ Guralnick 1994, p. 343.
- ↑ 110.0 110.1 Marsh 1980, p. 395.
- ↑ Palladino 1996, p. 131.
- ↑ Stanley & Coffey 1998, p. 37.
- ↑ Clayton & Heard 2003, pp. 117–18.
- ↑ Keogh 2004, p. 90.
- ↑ Guralnick & Jorgensen 1999, p. 95.
- ↑ Salisbury 1957, p. 4.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 395–97.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 406–8, 452.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 399–402, 428–30, 437–40.
- ↑ 120.0 120.1 Guralnick 1994, p. 400.
- ↑ Guralnick 1994, p. 430.
- ↑ Turner 2004, p. 104.
- ↑ Guralnick 1994, p. 437.
- ↑ Guralnick 1994, p. 431.
- ↑ Freierman 2008.
- ↑ Grein 2008.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 448–49.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 461–74.
- ↑ Victor 2008, p. 27.
- ↑ Guralnick 1994, pp. 464–65.
- ↑ Guralnick 1994, p. 466–67.
- ↑ Guralnick 1994, p. 474–80.
- ↑ Ponce de Leon 2007, p. 115.
- ↑ Guralnick 1999, p. 21.
- ↑ Guralnick 1999, pp. 47, 49, 55, 60, 73.
- ↑ Clayton & Heard 2003, p. 160.
- ↑ Victor 2008, p. 415.
- ↑ Presley 1985, p. 40.
- ↑ Jorgensen 1998, p. 107.
- ↑ Whitburn 2004, p. 501.
- ↑ Slaughter & Nixon 2004, p. 54.
- ↑ Matthew-Walker 1979, p. 19.
- ↑ Marcus 1982, pp. 279–80.
- ↑ Robertson 2004, p. 50.
- ↑ Guralnick 1999, pp. 44, 62–63.
- ↑ Gordon 2005, pp. 110, 114.
- ↑ Jorgensen 1998, p. 148.
- ↑ Robertson 2004, p. 52.
- ↑ Gordon 2005, pp. 110, 119.
- ↑ Ponce de Leon 2007, p. 133.
- ↑ Caine 2005, p. 21.
- ↑ Fields 2007.
- ↑ Guralnick 1994, p. 449.
- ↑ Kirchberg & Hendrickx 1999, p. 67.
- ↑ Lisanti 2000, pp. 19, 136.
- ↑ Jorgensen 1998, p. 201.
- ↑ Hopkins 2002, p. 32.
- ↑ Matthew-Walker 1979, p. 66.
- ↑ Brackett & Hoard 2004, p. 650.
- ↑ Guralnick 1999, pp. 261–63.
- ↑ Kirchberg & Hendrickx 1999, p. 73.
- ↑ Guralnick 1999, p. 171.
- ↑ Whitburn 2004, pp. 502–03.
- ↑ Kubernick 2008, p. 4.
- ↑ Guralnick 1999, pp. 293, 296.
- ↑ 166.0 166.1 166.2 Kubernick 2008, p. 26.
- ↑ Hopkins 2007, p. 215.
- ↑ Marsh 2004, p. 649.
- ↑ Marsh 1980, p. 396.
- ↑ Gordon 2005, p. 146.
- ↑ Jorgensen 1998, p. 283.
- ↑ Guralnick 1999, pp. 346–47.
- ↑ Gordon 2005, pp. 149–50.
- ↑ Cook 2004, p. 39.
- ↑ Guralnick & Jorgensen 1999, pp. 259, 262.
- ↑ Moyer 2002, p. 73.
- ↑ Jorgensen 1998, p. 287.
- ↑ Whitburn, Joel (2010). The Billboard Book of Top 40 Hits (9 ed.). Billboard Books. pp. 520–21. ISBN 9780823085545.
- ↑ Stein 1997.
- ↑ Mason 2007, p. 81.
- ↑ Whitburn 2007.
- ↑ Whitburn 2008.
- ↑ 183.0 183.1 Warwick et al 2004, pp. 860–66.
- ↑ 184.0 184.1 everyHit.com 2009.
- ↑ Whitburn 2004, pp. 500–4.
- ↑ Whitburn 2006, pp. 271–73.
อ้างอิง
[แก้]- Adelman, Kim. The Girls' Guide to Elvis: The Clothes, the Hair, the Women, and More! Random House; 2002. ISBN 0767911881.
- Allen, Steve. Hi-Ho, Steverino!: My Adventures in the Wonderful Wacky World of TV. Thorndike Press; 1992. ISBN 1560545216.
- Arnett, Jeffrey Jensen. Adolescence and Emerging Adulthood: A Cultural Approach. 3rd ed. Pearson Prentice Hall; 2006. ISBN 0131950711.
- Ashley, Martin. How High Should Boys Sing? Ashgate; 2009. ISBN 978-0754664758.
- The Top 100. The Atlantic Monthly. December 2006 [cited December 29, 2009].
- Austen, Jake. TV-A-Go-Go: Rock on TV from American Bandstand to American Idol. Chicago Review Press; 2005. ISBN 1556525729.
- Baden, Michael M.; Hennessee, Judith Adler. Unnatural Death: Confessions of a Medical Examiner. Ballantine; 1990. ISBN 0804105995.
- The Beatles. The Beatles Anthology. Chronicle Books; 2000. ISBN 0811826848.
- Bertrand, Michael T. Race, Rock, and Elvis. University of Illinois Press; 2000. ISBN 0252025865.
- In: Brackett, Nathan; Hoard, Christian, editors. The New Rolling Stone Album Guide. 4th ed. Simon and Schuster; 2004. ISBN 0743201698.
- Bronson, Fred. Chart Beat. Billboard. July 3, 2004.
- Brown, Peter Harry; Broeske, Pat H. Down at the End of Lonely Street: The Life and Death of Elvis Presley. Signet; 1997. ISBN 0451190947.
- Burke, Ken; Griffin, Dan. The Blue Moon Boys: The Story of Elvis Presley's Band. Chicago Review Press; 2006. ISBN 1556526148.
- Caine, Andrew. Interpreting Rock Movies: The Pop Film and Its Critics in Britain. Palgrave Macmillan; 2005. ISBN 0719065380.
- Caulfield, Keith. The King of Crossover's No. 1 Hits. Billboard. September 18, 2004.
- Clayton, Dick; Heard, James. Elvis: By Those Who Knew Him Best. Virgin Publishing; 2003. ISBN 0753508354.
- CMT. 40 Greatest Men in Country Music; 2005 [cited December 29, 2009].
- Collins, Dan. CBS News/Associated Press. How Big Was The King?; August 7, 2002 [cited December 27, 2009].
- Connelly, Charlie. In Search of Elvis: A Journey to Find the Man Beneath the Jumpsuit. Little, Brown; 2008. ISBN 0349119007.
- Cook, Jody. Graceland National Historic Landmark Nomination Form [PDF]. United States Department of the Interior; 2004.
- Cusic, Don. Singing with the King. Rejoice! The Gospel Music Magazine. Summer 1988.
- Denisoff, R. Serge. Solid Gold: The Popular Record Industry. Transaction Books; 1975. ISBN 0878555862.
- Discovery Channel. Greatest American; 2005 [cited December 29, 2009].
- Doss, Erika Lee. Elvis Culture: Fans, Faith, and Image. University of Kansas Press; 1999. ISBN 0700609482.
- Dundy, Elaine. Elvis and Gladys. 2nd ed. University Press of Mississippi; 2004. ISBN 1578066344.
- Dyer, Peter John. The Teenage Rave. Sight and Sound. Winter 1959–60.
- Edgerton, Gary R. The Columbia History of American Television. Columbia University Press; 2007. ISBN 0231121652.
- Escott, Colin. Elvis Presley. In: Kingsbury, Paul, editor. The Encyclopedia of Country Music. Oxford University Press; 1998. ISBN 0195176081.
- EveryHit. UK Top 40 Hit Database; 2009 [cited December 28, 2009].
- EveryHit. The 'Battle' For Most Number 1s; 2010a [cited January 20, 2010].
- EveryHit. Record Breakers and Trivia: Singles: Artists: Sales/Chart Performance; 2010b [cited January 20, 2010].
- Farmer, Brett. Spectacular Passions: Cinema, Fantasy, Gay Male Spectatorships. 2nd ed. Duke University Press; 2000. ISBN 0822325896.
- Feeney, Mark. Elvis at 75: Can We Ever Again See the Performer, Not the Punch Line? Boston Globe. January 3, 2010 [cited February 1, 2010].
- Fensch, Thomas. The FBI Files on Elvis Presley. New Century Books; 2001. ISBN 0930751035.
- Fields, Curt. A Whole Lotta Elvis Is Goin' to the Small Screen. Washington Post. August 3, 2007 [cited December 27, 2009].
- Friedlander, Paul. Rock and Roll: A Social History. Westview; 1996. ISBN 0813327253.
- Freierman, Shelly. Popular Demand. The New York Times. January 7, 2008 [cited January 1, 2010].
- Garber, Marjorie. Vested Interests: Cross-Dressing and Cultural Anxiety. Routledge; 1997. ISBN 0415919517.
- Gibson, Christine. Elvis on Ed Sullivan: The Real Story. American Heritage. December 6, 2005 [archived 2009-09-24; cited December 31, 2009].
- Gillett, Charlie. The Five Styles of Rock'n'Roll. In: McKeen, William, editor. Rock and Roll Is Here To Stay: An Anthology. W.W. Norton; 2000. ISBN 0393047008.
- Top-Earning Dead Celebrities. Forbes. October 29, 2007 [archived 2008-06-11; cited January 5, 2010].
- Gordon, Robert. The King on the Road. Bounty Books; 2005. ISBN 0753710889.
- Gould, Jack. TV: New Phenomenon—Elvis Presley Rises to Fame as Vocalist Who Is Virtuoso of Hootchy-Kootchy. The New York Times. June 6, 1956 [cited December 31, 2009].
- Grein, Paul. Yahoo! Music. Chart Watch Extra: The Top 40 Christmas Albums; December 5, 2008 [archived 2008-12-17; cited February 1, 2010].
- Guffey, Elizabeth E. Retro: The Culture of Revival. Reaktion; 2006. ISBN 186189290X.
- Guralnick, Peter. How Did Elvis Get Turned Into a Racist? The New York Times. January 8, 2004 [cited August 11, 2007].
- Guralnick, Peter. Last Train to Memphis: The Rise of Elvis Presley. Little, Brown; 1994. ISBN 0316332259.
- Guralnick, Peter. Careless Love: The Unmaking of Elvis Presley. Back Bay Books; 1999. ISBN 0316332976.
- Guralnick, Ernst; Jorgensen. Elvis Day by Day: The Definitive Record of His Life and Music. Ballantine; 1999. ISBN 0345420896.
- Harris, John. Talking about Graceland. The Guardian. March 27, 2006 [cited January 4, 2010].
- Higginbotham, Alan. Doctor Feelgood. The Observer. August 11, 2002 [cited December 29, 2009].
- Hilburn, Robert. From the Man Who Would Be King. Los Angeles Times. February 6, 2005 [cited January 4, 2010].
- Hilburn, Robert. This Fan of Charts Is No. 1, with a Bullet. Los Angeles Times. October 30, 2007 [cited January 17, 2010].
- Hopkins, Jerry. Elvis: The Final Years. Berkley; 1986. ISBN 0425089991.
- Hopkins, Jerry. Elvis in Hawaii. Bess Press; 2002. ISBN 1573061425.
- Hopkins, Jerry. Elvis—The Biography. Plexus; 2007. ISBN 0859653919.
- Humphries, Patrick. Elvis the #1 Hits: The Secret History of the Classics. Andrews McMeel Publishing; 2003. ISBN 978-0740738036.
- Jezer, Marty. The Dark Ages: Life in the United States 1945–1960. South End Press; 1982. ISBN 978-0896081277.
- Jorgensen, Ernst. Elvis Presley—A Life in Music: The Complete Recording Sessions. St Martin's Press; 1998. ISBN 0312185723.
- Keogh, Pamela Clarke. Elvis Presley: The Man, The Life, The Legend. Simon and Schuster; 2004. ISBN 0743456033.
- Kirchberg, Connie; Hendrickx, Marc. Elvis Presley, Richard Nixon, and the American Dream. McFarland; 1999. ISBN 0786407166.
- Kolawole, Helen. He Wasn't My King. The Guardian. August 15, 2002 [cited December 27, 2009].
- Kubernick, Harvey. The Complete '68 Comeback Special. CD Booklet RCA/BMG. UPC 88697306262; 2008.
- Lisanti, Tom. Fantasy Femmes of 60's Cinema: Interviews with 20 Actresses from Biker, Beach, and Elvis Movies. McFarland; 2000. ISBN 0786408685.
- Lott, Eric. All the King's Men: Elvis Impersonators and White Working-Class Masculinity. In: Stecopoulos, Harry; Uebel, Michael, editors. Race and the Subject of Masculinities. Duke University Press; 1997. ISBN 0822319667.
- Marcus, Greil. Mystery Train: Images of America in Rock 'n' Roll Music. Revised ed. E.P. Dutton; 1982. ISBN 052547708X.
- Marcus, Greil. Elvis Presley: The Ed Sullivan Shows. DVD Booklet Image Entertainment. UPC 01438137302; 2006 [cited February 1, 2010].
- Marsh, Dave. Elvis Presley. In: Marsh, Dave; Swenson, John, editors. The Rolling Stone Record Guide. 2nd ed. Virgin; 1980. ISBN 0907080006.
- Marsh, Dave. Elvis. Times Books; 1982. ISBN 081290947X.
- Marsh, Dave. The Heart of Rock & Soul: The 1001 Greatest Singles Ever Made. Da Capo; 1999. ISBN 030680901X.
- Masley, Ed. It's Good To Be King. Pittsburgh Post-Gazette. August 15, 2002 [cited January 31, 2010].
- Mason, Bobbie Ann. Elvis Presley. Penguin; 2007. ISBN 0143038893.
- Matthew-Walker, Robert. Elvis Presley. A Study in Music. Midas Books; 1979. ISBN 0859361624.
- Mawer, Sharon. The Official UK Charts Company. Album Chart History—1974; 2007a [cited February 1, 2010].
- Mawer, Sharon. The Official UK Charts Company. Album Chart History—1977; 2007b [cited February 1, 2010].
- Miles, Barry; Scott, Grant; Morgan, Johnny. The Greatest Album Covers of All Time. Collins & Brown; 2008. ISBN 1843404818.
- Miller, James. Flowers in the Dustbin: The Rise of Rock and Roll, 1947–1977. Fireside; 2000. ISBN 0684865602.
- Moore, Scotty; Dickerson, James. That's Alright, Elvis. Schirmer Books; 1997. ISBN 0028645995.
- Moyer, Susan M. Elvis: The King Remembered. Sports Publishing LLC; 2002. ISBN 1582615586.
- Myrie, Russell. Don't Rhyme for the Sake of Riddlin': The Authorized Story of Public Enemy. Cannongate; 2009. ISBN 1847671829.
- Nash, Alanna. The Colonel: The Extraordinary Story of Colonel Tom Parker and Elvis Presley. Simon and Schuster; 2003. ISBN 0743213017.
- Nash, Alanna, et al. Elvis and the Memphis Mafia. Aurum; 2005. ISBN 1845131282.
- National Park Service. Graceland; 2010 [archived 2011-12-30; cited January 7, 2010].
- Long Live the King. The New York Times. August 16, 2002 [archived 2008-01-19; cited December 30, 2009].
- Palladino, Grace. Teenagers: An American History. Westview; 1996. ISBN 046500766X.
- Pendergast, Sara; Pendergast, Tom. St. James Encyclopedia of Popular Culture. 4th ed. St. James Press; 2000. ISBN 155862404X.
- Pilgrim, David. Jim Crow Museum at Feris State University. Question of the Month: Elvis Presley and Racism; March 2006 [archived 2012-01-06; cited December 28, 2009].
- Pleasants, Henry. Elvis Presley. In: Frith, Simon, editor. Popular Music: Critical Concepts in Media and Cultural Studies, Volume 3: Popular Music Analysis. Routledge; 2004. ISBN 0415332699.
- Pomerantz, Dorothy; Lacey, Rose; Streib, Lauren; Thibault, Marie. Top-Earning Dead Celebrities. Forbes. October 27, 2009 [cited January 5, 2010].
- Ponce de Leon, Charles L. Fortunate Son: The Life of Elvis Presley. Macmillan; 2007. ISBN 0809016419.
- Presley, Priscilla. Elvis and Me. G.P. Putnam's Sons; 1985. ISBN 0399129847.
- Ramsland, Katherine. TruTV. Cyril Wecht: Forensic Pathologist—Coverup for a King; 2010 [cited January 4, 2010].
- Reaves, Jessica. Person of the Week: Elvis Presley. Time. August 15, 2002 [archived 2011-09-17; cited December 26, 2009].
- Recording Industry Association of America. Top 100 Albums; 2010 [cited January 31, 2010].
- Robertson, John. Elvis Presley: The Complete Guide to His Music. Omnibus Press; 2004. ISBN 1844497119.
- Rodman, Gilbert B. Elvis After Elvis, The Posthumous Career of a Living Legend. Routledge; 1996. ISBN 0415110025.
- Rogers, Dave. Rock 'n' Roll. Routledge & Kegan Paul; 1982. ISBN 0710009380.
- The Immortals: The First Fifty. Rolling Stone. April 15, 2004 [archived 2008-06-25; cited December 29, 2009].
- 1969 Rolling Stone Covers. Rolling Stone. 2009 [archived 2008-07-05; cited December 24, 2009].
- Roy, Samuel. Elvis: Prophet of Power. Branden; 1985. ISBN 0828318980.
- In: Sadie, Stanley, editor. The Norton/Grove Concise Encyclopedia of Music. Revised ed. W.W. Norton; 1994. ISBN 0393037533.
- Salisbury, Harrison. Presley Records a Craze in Soviet. The New York Times. February 3, 1957.
- Scherman, Tony. Elvis Dies. American Heritage. August 16, 2006 [archived 2009-03-27; cited December 29, 2009].
- Semon, Roger; Jorgensen, Ernst. Elvis.com. Is Elvis the Biggest Selling Recording Artist?; February 12, 2001 [cited December 26, 2009].
- BBC. Sinatra Is Voice of the Century; April 18, 2001 [cited December 29, 2009].
- Slaughter, Todd; with Anne E. Nixon. The Elvis Archives. Omnibus Press; 2004. ISBN 1844493806.
- Stanley, David; Coffey, Frank. The Elvis Encyclopedia. Virgin Books; 1998. ISBN 0753502933.
- Stein, Ruthe. Girls! Girls! Girls! San Francisco Chronicle. August 3, 1997 [cited December 29, 2009].
- Szatmary, David. A Time to Rock: A Social History of Rock 'n' Roll. Schirmer Books; 1996. ISBN 0028646703.
- Tasker, Yvonne. Cowgirl Tales. In: Codell, Julie F., editor. Genre, Gender, Race, and World Cinema: An Anthology. Blackwell; 2007. ISBN 1405132329.
- Turner, John Frayn. Frank Sinatra. Taylor Trade Publications; 2004. ISBN 1589791452.
- 100 Icons of the Century. Variety. 2005 [cited December 29, 2009].
- VH1. 100 Greatest Artists of Rock & Roll; 1998 [cited December 29, 2009].
- Victor, Adam. The Elvis Encyclopedia. Overlook Duckworth; 2008. ISBN 1585675989.
- Wadey, Paul. Jake Hess. The Independent. January 8, 2004 [archived 2010-07-13; cited December 28, 2009].
- Warwick, Neil; Kutner, Jon; Brown, Tony. The Complete Book of the British Charts: Singles & Albums. 3rd ed. Omnibus Press; 2004. ISBN 1844490580.
- Waters, Lindsay. Come Softly, Darling, Hear What I Say: Listening in a State of Distraction—A Tribute to the Work of Walter Benjamin, Elvis Presley, and Robert Christgau. Boundary 2. Spring 2003.
- Whitburn, Joel. Billboard Top 1000 Singles 1955–1992. Billboard Books; 1993. ISBN 079352072X.
- Whitburn, Joel. The Billboard Book of Top 40 Hits. 8th ed. Billboard Books; 2004. ISBN 0823074994.
- Whitburn, Joel. The Billboard Book of Top 40 Country Hits. 2nd ed. Billboard Books; 2006. ISBN 0823082911.
- Whitburn, Joel. Joel Whitburn Presents the Billboard Albums. 6th ed. Record Research; 2007. ISBN 0898201667.
- Whitburn, Joel. Joel Whitburn Presents Hot Country Albums: Billboard 1964 to 2007. Record Research; 2008. ISBN 089820173X.
- Wolfe, Charles. Amazing Grace: His Greatest Sacred Performances. CD Booklet RCA/BMG. UPC 7863664212; 1994.
- Woolley, John T.; Peters, Gerhard. American Presidency Project. University of California, Santa Barbara. Jimmy Carter: Death of Elvis Presley Statement by the President; August 17, 1977 [archived 2017-11-01; cited December 29, 2009].
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ
- เอลวิส เพรสลีย์ ที่สารานุกรมบริตานิกา
- Elvis Presley ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- เอลวิส เพรสลีย์ ที่ออลมูวี
- Elvis The Music official record label site
- Elvis Presley Interviews on officially sanctioned Elvis Australia site
- "The All American Boy: Enter Elvis and the Rock-a-billies" episode of 1968 Pop Chronicles radio series
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2478
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2520
- ศิลปินสังกัดอาร์ซีเอวิคเตอร์
- นักร้องอเมริกัน
- ชาวอเมริกันเชื้อสายอังกฤษ
- ชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมัน
- นักร้องริทึมแอนด์บลูส์
- นักร้องร็อกอเมริกัน
- บุคคลฝาแฝด
- บุคคลจากรัฐมิสซิสซิปปี
- นักร้องคันทรี
- ฝาแฝดเหมือน
- เสียชีวิตจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- นักร้องเสียงแบริโทน
- รัฐเทนเนสซี
- บุคคลจากเมมฟิส
- ชาวอเมริกันเชื้อสายสกอตแลนด์
- ผู้ที่ได้รับรางวัลแกรมมี สาขาศิลปินผู้ประสบความสำเร็จตลอดช่วงชีวิต