โรงเรียนปิยะบุตร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนปิยะบุตร์
Piyabut School
ที่ตั้ง
ข้อมูล
ชื่ออื่นป.บ.
ประเภทสถานศึกษาของรัฐ
คำขวัญประพฤติดี มีวินัย ตั้งใจศึกษา รู้หน้าที่
สถาปนา4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502
ผู้ก่อตั้งพล.ต.ท.สงวน จิตตาลาน
คุณหญิงบุญช่วย จิตตาลาน
หน่วยงานกำกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ผู้อำนวยการนางพรทิพย์ ทานะมัย
ระดับปีที่จัดการศึกษาม.1 - ม.6
สีชมพู - ขาว
เพลงมาร์ชปิยะบุตร์
เว็บไซต์[1]

โรงเรียนปิยะบุตร์ ตั้งอยู่เลขที่ 133 หมู่ 6 ตำบลโพนทอง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี รหัสไปรษณีย์ 15110 ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เป็นสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาของรัฐ จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 ปัจจุบันมีนักเรียนประมาณ 589 คน และมีบุคลากรรวมทั้งสิ้น 47 คน จัดเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดกลาง โรงเรียนวิถีพุทธ และผ่านการรับรองให้เป็นโรงเรียนต้นแบบโรงเรียนในฝัน (โรงเรียนดีประจำอำเภอ) เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554


อาคาร 4 โรงเรียนปิยะบุตร์

ประวัติโรงเรียน[แก้]

เสื้อสีชมพูเป็นสีประจำโรงเรียน
สิ่งสักการะประจำโรงเรียน
บรรยากาศภายในโรงเรียน
อาคารเรียนภายใน

โรงเรียนปิยะบุตร์ เดิมเป็นโรงเรียนราษฎร์ รับวิทยฐานะเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาล ได้รับอนุญาตจาก กระทรวงศึกษาธิการให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ตั้งอยู่เลขที่ 133 หมู่ 6 ตำบลโพนทอง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เป็นโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษา ผู้ก่อตั้งคือ พล.ต.ท.สงวน และคุณหญิงบุญช่วย จิตตาลาน ปัจจุบันมีนางพรทิพย์ ทานะมัย เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนปิยะบุตร์คนปัจจุบัน

  • 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินมาประทับยังโรงเรียนปิยะบุตร์ เนื่องในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินมากระทำพิธียกช่อฟ้า ณ วัดกัทลีพนาราม(วัดบ้านกล้วย) โดยมีคุณหญิงบุญช่วย จิตตาลาน เฝ้ารับเสด็จ ซึ่งนำความปลาบปลื้มมาสู่ชาวปิยะบุตร์ทุกคนตราบจนทุกวันนี้
  • 4 มีนาคม พ.ศ. 2514 ได้ยกทรัพย์สินทั้งหมด โดยมีอาคารเรียนพร้อมด้วยที่ดินจำนวน 12 ไร่ 3 งาน 64 ตารางวา ให้เป็นของกระทรวงศึกษาธิการ โดยจัดการเรียนการสอนตั้งแต่เด็กเล็ก จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 ภายใต้สังกัดกองการประถมศึกษา กรมสามัญศึกษา
  • พ.ศ. 2520 ได้เปลี่ยนมาอยู่ภายใต้สังกัดกองการมัธยมศึกษา กรมสามัญศึกษา โดยจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3
  • พ.ศ. 2538 จัดการเรียนการสอนจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มาจนถึงปัจจุบัน
  • 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ชนะเลิศการประกวดส้วมสุขสันต์ ปีการศึกษา 2553 ประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษา จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  • พ.ศ. 2554 โรงเรียนปิยะบุตร์ได้รับถูกคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนมาตรฐาน โรงเรียนดีประจำอำเภอและเป็นโรงเรียนต้นแบบโรงเรียนในฝันอีกด้วย ซึ่งเป็นที่น่าภาคภูมิใจของชาวปิยะบุตร์ทุกคนเป็นอย่างมาก
  • พ.ศ. 2554 รับโล่รางวัลดีเด่น จาก สพฐ. รางวัลโรงเรียนดีเด่นในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา (รั้วโรงเรียน) ระดับมัธยมศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาโรงเรียนเดียวในกลุ่มจังหวัดภาคกลางที่ได้รับรางวัลนี้
  • พ.ศ. 2555 ชนะเลิศการประกวดรางวัลส้วมสุขสันต์ระดับประเทศ

ประวัตินามของโรงเรียน[แก้]

โรงเรียนปิยะบุตร์นั้นเป็นโรงเรียนที่ไม่ได้ตั้งตามตำบล อำเภอ หรือจังหวัดที่เหมือนกับโรงเรียนมัธยมศึกษาอื่น ๆ ทั่วไป จากชื่อของโรงเรียนปิยะบุตร์นั้น คำว่า ปิยะบุตร์ อาจจะเป็นเพราะว่าผู้ก่อตั้งท่านมีความเคารพในองค์พระบาทสมเด็จพระปิยะมหาราช หรือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ของปวงชนชาวไทย ประดุจพระบิดา และผู้ก่อตั้งยังได้ตั้งชื่อบุตรชายของตนว่า ปิยะ อีกด้วย ดังนั้นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของบรรดาชาวปิยะบุตร์จึงมักเกี่ยวข้องกับองค์พระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสีประจำโรงเรียนปิยะบุตร์นั้นเป็นสีชมพู-ขาว ก็ยังเป็นสีประจำพระชนมวารของพระองค์ด้วย

อาคารสถานที่[แก้]

โรงเรียนปิยะบุตร์ มีพื้นที่ทั้งสิ้น 12 ไร่ 3 งาน 64 ตารางวา และมีอาคารเรียนต่างๆ ดังนี้

  • อาคาร 1: อาคารสงวน บุญช่วย จิตตาลาน เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ประกอบด้วยห้องเรียน ห้องดนตรี ห้องพยาบาล และหมวดวิชาต่างๆ ก่อสร้างตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งโรงเรียน แต่ได้ทำการรื้อถอนไปแล้วเนื่องจากมีสภาพที่ทรุดโทรม และได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนใหม่ในบริเวณใกล้เคียงเป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น โดยได้รับงบประมาณในการก่อสร้างและบริจาคโดยนายปิยะ จิตตาลาน ทายาทผู้ก่อตั้งโรงเรียนปิยะบุตร์ ให้เป็นทรัพย์สินของโรงเรียนปิยะบุตร์เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน ประกอบด้วยห้องเรียน ห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติฯ ห้องเกียรติยศ ห้องพยาบาล
  • อาคาร 2 เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น ประกอบด้วยห้องเรียน และศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา
  • อาคาร 3 เป็นอาคารคอนกรีต 3 ชั้น ประกอบด้วยห้องเรียน ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ห้องแนะแนว ห้องสำนักงานฝ่ายบริหารงบประมาณและบุคคล และห้องสำนักงานฝ่ายบริหารกิจการนักเรียน
  • อาคาร 4 เป็นอาคารคอนกรีต 3 ชั้น ประกอบด้วยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องเรียน ห้องปฏิบัติธรรม ห้องสำนักงานฝ่ายบริหารวิชาการ
  • อาคารคหกรรม เป็นอาคารสูง 2 ชั้น ประกอบด้วยห้องโสตทัศนศึกษา ห้องศูนย์การเรียนรู้ (Resource Center) และห้องเรียนคหกรรม
  • ศาลาบูชาครู เป็นศาลาที่สร้างขึ้นใหม่ เป็นอาคารทรงไทยขนาดใหญ่ ใช้เป็นสถานที่ในการจัดกิจกรรมและงานพิธีต่างๆ
  • อาคารเอนกประสงค์ (อาคารน๊อคดาวน์) เป็นอาคารเอนกประสงค์ขนาด 1 ชั้น เป็นสำนักงานฝ่ายบริหารทั่วไป
  • หอประชุม เป็นหอประชุมใหญ่ 1 ชั้น พร้อมเวที
  • อาคารพลศึกษา เป็นอาคารเรียนและที่ทำการของกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ขนาด 1 ชั้น
  • โรงอาหาร บริเวณใต้ถุนอาคาร 3 และ 4 ฝั่งทิศตะวันออก

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]