เอกยุทธ อัญชันบุตร
เอกยุทธ อัญชันบุตร | |
---|---|
เกิด | 24 มิถุนายน พ.ศ. 2497 จังหวัดพระนคร ประเทศไทย |
เสียชีวิต | 7 มิถุนายน พ.ศ. 2556 (58 ปี) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
บุตร | ก้องการุณ ศรีประสาน[1][2] |
บิดามารดา | ร้อยโท แปลก อัญชันบุตร นันทา ฉัตรกุล ณ อยุธยา |
เอกยุทธ อัญชันบุตร (24 มิถุนายน พ.ศ. 2497 - 7 มิถุนายน พ.ศ. 2556) หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า จอร์จ ตัน (George Tan) เป็นนักธุรกิจชาวไทย มีชื่อจากการเป็นเจ้าของเว็บไซต์ ไทยอินไซเดอร์ซึ่งต่อต้านรัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เคยต้องคดีแชร์ชาร์เตอร์และกบฏ 9 กันยา เมื่อ พ.ศ. 2528 ก่อนหนีคดีออกนอกประเทศแล้วเดินทางกลับเมื่อขาดอายุความแล้ว
ประวัติ
[แก้]เอกยุทธ อัญชันบุตร เกิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2497 ณ ที่จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนที่ 3 จากจำนวน 5 คน ของ ร้อยโท แปลก อัญชันบุตร นายทหารคนสนิทของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และนันทา ฉัตรกุล ณ อยุธยา จบการศึกษาที่โรงเรียนแม้นศรีวิทยา และโรงเรียนเทพประสาทวิทยา แล้วต่อมัธยมศึกษาที่โอมาฮา รัฐเนแบรสกา สหรัฐอเมริกา ก่อนกลับมาทำธุรกิจรับเหมาก่อก่อสร้างร่วมกับพี่ชาย แล้วไปเรียนต่อด้านเศรษฐศาสตร์การเงินการคลังที่มหาวิทยาลัยแปซิฟิก รัฐฮาวาย[3]
แชร์ชาร์เตอร์
[แก้]เมื่อเรียนจบ เอกยุทธเริ่มทำธุรกิจซื้อขายโภคภัณฑ์ และซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า จากนั้น จึงเปิดบริษัทนายหน้าซื้อขายโภคภัณฑ์ และเงินตราต่างประเทศ ชื่อ บริษัทชาร์เตอร์ อินเวสท์เมนท์ จำกัด จดทะเบียนวันที่ 14 มิถุนายน 2526 และบริษัทชาร์เตอร์เอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด จดทะเบียนวันที่ 24 ธันวาคม 2527[4]
เมื่อ พ.ศ. 2526 เป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในประเทศสูง ถึงร้อยละ 12 เอกยุทธในวัย 24 ปี ได้คิดหากำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ย โดยกู้เงินจากต่างประเทศด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ ประมาณร้อยละ 3 มาฝากในสถาบันการเงินในประเทศเพื่อทำกำไร และนำกำไรที่ได้ไปลงทุนอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติม[4]
บริษัทนายหน้าของเอกยุทธ ในระยะแรกมีเงินลงทุนจากนายทหาร และนักการเมืองเป็นจำนวนมาก เมื่อเริ่มมีชื่อเสียงจึงมีประชาชนทั่วไปนำเงินเข้ามาลงทุน และรุ่งเรืองที่สุดเมื่อ พ.ศ. 2527 เมื่อประชาชนสมัยนั้นนิยมการลงทุนในเงินนอกระบบเช่น แชร์แม่ชม้อย, แชร์แม่นกแก้ว และหันมาลงทุนกับแชร์ชาร์เตอร์เป็นทอด ๆ
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2527 รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยสมหมาย ฮุนตระกูล ประกาศลดค่าเงินบาท และออก พระราชบัญญัติการกู้ยืมเงิน อันเป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มีการดำเนินการทางกฎหมายกับชม้อย ทิพยโส หรือ "แม่ชม้อย" หัวหน้าวงแชร์แม่ชม้อย และพันจ่าอากาศเอกหญิง นกแก้ว ใจยืน หัวหน้าวงแชร์แม่นกแก้ว
เอกยุทธเดินทางออกนอกประเทศหลังจากมีข่าวว่าทางการจะออกหมายจับเมื่อกลางปี พ.ศ. 2528 และเกิดความตื่นตระหนกขึ้นเมื่อมีนายทหารฟ้องคดีเช็คของเอกยุทธ ที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน และทำให้มีผู้เข้าร้องเรียนกับกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เป็นจำนวนหลายพันคน ทางการประกาศอายัดทรัพย์สินของเอกยุทธ อัญชันบุตร, บริษัท ชาร์เตอร์ และผู้ถือหุ้น เพื่อนำออกขายทอดตลาด[4]
กบฏ 9 กันยา
[แก้]ในระหว่างที่เอกยุทธ หลบคดีแชร์ชาร์เตอร์ อยู่ในประเทศเยอรมนีตะวันตก ก็ได้พบกับพันเอกมนูญ รูปขจร โดยการประสานงานกับกลุ่มผู้นำสหภาพแรงงาน และร่วมกันก่อการกบฏ 9 กันยา เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 เพื่อล้มล้างรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แต่ไม่สำเร็จ ในเหตุการณ์ครั้งนี้ มีผู้เสียชีวิต 2 คน เป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศชาวอเมริกันและชาวออสเตรเลีย
เอกยุทธหลบหนีออกจากประเทศไทย ไปที่ประเทศมาเลเซีย และเดินทางต่อไปยังประเทศเยอรมนีตะวันตก เปลี่ยนชื่อเป็น "จอร์จ ตัน" และขอลี้ภัยการเมืองที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จากนั้นจึงย้ายไปนครนิวยอร์ก และเริ่มทำธุรกิจในตลาดค้าหุ้นวอลล์สตรีท และทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในช่วงนี้เอกยุทธมีธุรกิจหลักอยู่ในกรุงลอนดอน และกัวลาลัมเปอร์[5]
การกลับมาเมืองไทย
[แก้]เอกยุทธ อัญชันบุตร กลับมาเป็นข่าวคราวอีกครั้งในกลางปี พ.ศ. 2547 เมื่อได้เข้าไปที่พรรคประชาธิปัตย์พร้อมกับอัมรินทร์ คอมันตร์ และประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เพื่อเจรจาทางการเมืองซึ่งกล่าวกันว่าเอกยุทธพยายามจะให้เงินสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้โค่นรัฐบาล แต่ทางอัมรินทร์ได้ปฏิเสธในเรื่องนี้ว่าไม่เป็นความจริง[6] จากนั้น เอกยุทธได้ร่วมกับกลุ่มประชาชนเพื่อชาติและราชบัลลังก์จัดปราศรัยขับไล่พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ขึ้นที่ท้องสนามหลวงในเดือนกันยายน แต่มีผู้ร่วมชุมนุมไม่มากนัก จากนั้น เอกยุทธจึงได้ออกข่าวเป็นระยะ ๆ วิพากษ์และโจมตีทักษิณเรื่อยมา และได้เปิดเว็บไซต์ส่วนตัว แต่ในบางครั้งบางช่วงก็ได้วิพากษ์และโจมตีสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ด้วย[5][7]
การหายสาบสูญและการเสียชีวิต
[แก้]วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ญาติของเอกยุทธเข้าแจ้งความที่กองบังคับการปราบปราม ว่าเอกยุทธได้หายตัวไปตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันที่ 6 มิถุนายน หลังจากนั้นทราบว่าในวันต่อมา เอกยุทธโทรศัพท์ติดต่อพี่สาว ให้นำเช็คเงินสดจำนวน 5 ล้านบาทไปให้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเอกยุทธไม่ได้มาเอง แต่เป็นคนขับรถมารับแทน ก่อนหายตัวไปและไม่สามารถติดต่อได้
ทางญาติเดินทางไปตรวจสอบกล้องวงจรปิดของบริษัท ย่านทาวอินทาวน์ อันเป็นบริษัทและที่พักของเอกยุทธ เพื่อตรวจสอบภาพของเอกยุทธครั้งล่าสุด แต่ระบบเซิร์ฟเวอร์ของกล้องวงจรปิดกลับถูกถอดออกไป ญาติจึงเกรงว่าเอกยุทธอาจถูกลักพาตัว จึงเข้าแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจนครบาลวังทองหลาง ก่อนที่จะเดินทางมาร้องเรียนดังกล่าว เพื่อให้ช่วยติดตามตัวเอกยุทธเพิ่มอีกทางหนึ่ง
สำหรับสาเหตุของการหายตัวไปนั้น ญาติเชื่อว่า มาจากประเด็นความแย้งส่วนตัวที่มีอยู่จำนวนมาก ทั้งกรณีที่เอกยุทธ ฟ้องหมิ่นประมาท พลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กับพวกรวม 5 คน กรณีที่มีความขัดแย้งกันก่อนหน้านั้น ถึงเรื่องกรณีทำร้ายร่างกายกันที่ร้านคาราโอเกะแห่งหนึ่ง อีกทั้งยังมีเรื่องที่เอกยุทธเป็นผู้เปิดเผยว่าได้พบเห็นยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ ว่าไปพบปะกับนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลายคน ทั้งที่อยู่ในเวลาราชการ อันเป็นข่าวครึกโครมอื้อฉาว และในครั้งนั้นเอกยุทธก็ได้ถูกทำร้ายร่างกายด้วย[8][9]
อีก 2 วันต่อมา สันติภาพ เพ็งด้วง (บอล) ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัย เพราะเป็นคนขับรถประจำตัวของเอกยุทธที่อยู่ด้วยก่อนจะหายตัวไป และเป็นผู้ที่ไปรับเช็ค 5 ล้านบาทที่สนามบินสุวรรณภูมิแทนเอกยุทธ ที่ถูกตำรวจควบคุมตัวไว้หลังจากไปกบดานที่บ้านเกิดที่จังหวัดพัทลุง ได้กลับคำให้การจากตอนแรกที่บอกว่า เอกยุทธได้เดินทางไปเขตตะนาวศรี ประเทศพม่า โดยแยกทางกันที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์[10] และยอมรับสารภาพในเวลาเย็นว่า ได้เป็นผู้สังหารเอกยุทธเพื่อชิงทรัพย์ และโกรธแค้นเอกยุทธที่ไล่แฟนสาวออกจากที่ทำงานก่อนหน้านั้น[11] โดยทิ้งศพไว้ที่เขาจิงโจ้ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง[12]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "'ลูกชายเอกยุทธ' เผยขอแค่รู้พ่อมีชีวิต ยันไม่รู้เหตุโดนอุ้ม!". แนวหน้า. 10 มิถุนายน 2556. สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2558.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "คุกลูกชาย 'เอกยุทธ' 30 วัน ทำร้าย พนง.โอเกะ รอลงอาญา". ไทยรัฐออนไลน์. 5 มีนาคม 2558. สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2558.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ชีวประวัติ เอกยุทธ อัญชันบุตร
- ↑ 4.0 4.1 4.2 แชร์ชาร์เตอร์ ธุรกิจของ เอกยุทธ
- ↑ 5.0 5.1 ไพศาล มังกรไชยา, อัญชลี ไพรีรัก, เถกิง สมทรัพย์. ยุทธการล้มทักษิณ, ความคิด ชีวิตพิสดาร "เอกยุทธ อัญชัญบุตร" เจ้าพ่อแชร์ชาร์เตอร์. นนทบุรี : เบญจภาคี, พ.ศ. 2547. 190 หน้า. ISBN 974-92554-0-2
- ↑ บทสัมภาษณ์ อัมรินทร์ คอมันตร์, "F.M. 92.25 MHz" โดย สืบพงษ์ อุณหรัตน์: พุธที่ 12 มิถุนายน 2556
- ↑ คำนูณ สิทธิสมาน. ปรากฏการณ์สนธิ : จากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้า. กรุงเทพฯ : บ้านพระอาทิตย์, พ.ศ. 2550. 326 หน้า. ISBN 9749460979
- ↑ "เอกยุทธ" หายตัว ทนายความแจ้งกองปราบฯ ตามหา จากครอบครัวข่าว 3[ลิงก์เสีย]
- ↑ 'เอกยุทธ'หายตัวลึกลับ หวั่นอุ้มฆ่า! ญาติริ่งโร่แจ้งกองปราบ จากแนวหน้า
- ↑ นำคนขับรถ "เอกยุทธ"แถลง ยันไม่ได้อุ้มแค่ส่งไปพม่า จากเดลินิวส์
- ↑ "คนขับรถเปิดปากรับสารภาพฆ่า "เอกยุทธ" ชิงทรัพย์ ด้วยการร่วมกับพวก อีก 2 คน ช่วยกันจับตัวไว้แล้วบีบคอจนขาดอากาศหายใจ จากนั้นก็ได้นำศพไปถอดเสื้อผ้าออกและฝังดินไว้ ในสภาพแบบสุนัขข้างถนน จากผู้จัดการออนไลน์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-15. สืบค้นเมื่อ 2013-06-11.
- ↑ "'คำรณวิทย์'ยันสอบปมสังหาร'เอกยุทธ'ต่อ จากกรุงเทพธุรกิจ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-16. สืบค้นเมื่อ 2013-06-12.