เจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ ในรัชกาลที่ 1

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่
เกิดก่อน พ.ศ. 2310[ต้องการอ้างอิง]
พระราชวังบวรเมืองนคร เมืองนครศรีธรรมราช
เสียชีวิตพ.ศ. 2370
พระราชวังบวรสถานมงคล กรุงรัตนโกสินทร์ สยาม
คู่สมรสพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
บุตรสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ
บิดามารดา
  • เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์ ณ นคร) (บิดา)
  • ท่านผู้หญิงนวล (มารดา)

เจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ เป็นพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเป็นพระชนนีในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประวัติ[แก้]

เจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์ ณ นคร) และท่านผู้หญิงนวล (ทูลกระหม่อมหญิงใหญ่เมืองนคร[1]) มารดาเดิมมีนามว่าเจ้าหญิงชุ่ม เป็นธิดาพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) กับหม่อมทองเหนี่ยว มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 2 คน ได้แก่

  1. เจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ รับราชการเป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
  2. เจ้าจอมมารดานุ้ยเล็ก รับราชการเป็นพระสนมในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท

ท่านเกิดในพระราชวังบวรเมืองนครศรีธรรมราชในระหว่างที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เมืองนครศรีธรรมราชตั้งตนเป็นอิสระ พระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์ และได้แต่งตั้งพระมหาอุปราช (พัฒน์) เป็นวังหน้า เรียกกันว่า "วังหน้าเมืองนคร"[ต้องการอ้างอิง] ช่วงที่ท่านเกิดท่านจึงมีสถานะเป็นเจ้า ต่อมาหลังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยึดเมืองนครศรีธรรมราชได้ก็ทรงโปรดให้เป็นประเทศราช

พระมหาอุปราช (พัฒน์) นั้นคราวหนึ่งไปราชการทัพ คุณชุ่มหรือนวลถึงแก่กรรมลง ธิดาทั้งสองจึงเป็นกำพร้า ครั้นเสร็จราชการสงครามแล้ว อุปราชพัฒน์เข้ามาเฝ้าเมื่อ พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตรัสปลอบว่า "อย่าเสียใจนักเลย จะให้น้องสาวไปแทนที่จะได้เลี้ยงลูก" จึงพระบรมราชโองการให้ท้าวนางส่งตัวเจ้าจอมปรางไปพระราชทานเป็นภรรยาเจ้าพัฒน์ ท้าวนางกราบบังคมทูลว่า เจ้าจอมปรางขาดระดูมา 2 เดือนแล้ว มีพระราชดำรัสว่า "ได้ลั่นวาจายกให้แล้ว จงส่งตัวออกไปเถิด" เจ้าจอมปรางจำใจไปตามพระบรมราชโองการ และเจ้าพัฒน์ก็จำใจรับไว้เป็นศรีเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าจอมปรางก็เลี้ยงดูธิดาทั้ง 2 ด้วยความทะนุถนอม[2]

พระราชโอรส[แก้]

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ พระมหาอุปราช (พัฒน์) ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ท่านได้ถวายธิดาคนใหญ่เป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และธิดาคนเล็กเป็นพระสนมในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ มีพระราชโอรสพระองค์เดียว คือ พระองค์เจ้าอรุโณทัย ต่อมาทรงได้รับพระราชทานทรงกรมเป็น กรมหมื่นศักดิพลเสพ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงได้รับพระราชทานอุปราชาภิเษกเป็น กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ

หลังกรมหมื่นศักดิพลเสพ ทรงได้รับพระราชทานอุปราชาภิเษกแล้ว เจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ ได้ย้ายไปประทับที่พระตำหนักในพระราชวังบวร ชาวพระราชวังบวรขนานนามว่า "เจ้าคุณพระชนนี"[3] ในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีไปถึงพระองค์เจ้าปัทมราช ทรงตรัสเรียกเจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ว่า "เจ้าป้าของหม่อมฉัน"[4]

ถึงแก่อนิจกรรม[แก้]

เจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อพ.ศ. 2370 พระราชทานเพลิงศพ ณ วัดสระเกศ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2370 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระโกศกุดั่นน้อย เนื่องด้วยเป็นพระชนนีในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล อัฐิเดิมเก็บไว้ที่พระราชวังบวรสถานมงคล ภายหลังจากสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพสวรรคตแล้ว พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปัทมราชเชิญไปไว้ ณ วัดท่าโพธิ์วรวิหาร ร่วมกับเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์) ท่านผู้หญิงนวล และเจ้าจอมมารดานุ้ยเล็ก[3]

ลำดับสาแหรก[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]


อ้างอิง[แก้]

  1. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช[ลิงก์เสีย]
  2. ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2544. 490 หน้า. ISBN 974-222-648-2
  3. 3.0 3.1 หลวงนายฤทธิ์. เรื่องเก่า ๆ ของเจ้านาย. กรุงเทพฯ : โพสต์บุ๊ค, พิมพ์ครั้งที่ 1, 2557. 320 หน้า. หน้า ?. ISBN 978-974-228-187-8
  4. ลำดับชั้นที่ 1 สายสกุล ณ นคร[ลิงก์เสีย] สืบค้นเมื่อ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2560