ออริจิน (หนังสือ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ออริจิน  
ฉบับภาษาไทย
ผู้ประพันธ์แดน บราวน์
ชื่อเรื่องต้นฉบับOrigin
ผู้แปลอนุรักษ์ นครินทร์
ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาษาอังกฤษ
ชุดโรเบิร์ต แลงดอน
ประเภทลึกลับ, ระทึกขวัญ
สำนักพิมพ์สำนักพิมพ์ดับเบิลเดย์ (สหรัฐอเมริกา)
แพรวสำนักพิมพ์ (ไทย)
วันที่พิมพ์ตุลาคม ค.ศ. 2017 (สหรัฐอเมริกา)
มีนาคม ค.ศ. 2018 (ไทย)
ชนิดสื่อหนังสือปกแข็ง, หนังสือปกอ่อน
หนังสือเสียง, หนังสืออิเล็กทรอนิกส์
ISBN978-0-593-07875-4
เรื่องก่อนหน้าสู่นรกภูมิ 

ออริจิน (อังกฤษ: Origin) เป็นนวนิยายลึกลับ/ระทึกขวัญลำดับที่ 5 ในชุด โรเบิร์ต แลงดอน เขียนโดยแดน บราวน์ ฉบับภาษาอังกฤษเผยแพร่ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ดับเบิลเดย์ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2017[1] ฉบับภาษาไทยแปลโดย อนุรักษ์ นครินทร์ เผยแพร่โดยแพรวสำนักพิมพ์ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2018[2]

เรื่องย่อ[แก้]

เอ็ดมันด์ เคิร์สช์ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ผู้โจมตีศาสนามาโดยตลอดเนื่องจากเคยสูญเสียแม่จากการรับใช้ศาสนา พบปะกับบิชอปบัลเด็สปิโน, รับไบโคเวสและอิหม่ามอัล-ฟาเดิล ผู้นำศาสนาคนสำคัญที่อารามมอนต์เซร์รัต เพื่อหารือเรื่องการค้นพบครั้งสำคัญของเขา แต่การพบปะดังกล่าวจบลงด้วยคำขู่จากบิชอปบัลเด็สปิโนว่าจะขัดขวางการเผยแพร่การค้นพบของเขา

อย่างไรก็ตาม เคิร์สช์ประกาศจัดงานเผยแพร่การค้นพบที่พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ในเมืองบิลบาโอและเชิญแขกคนสำคัญหลายคน รวมถึงโรเบิร์ต แลงดอน ศาสตราจารย์ด้านสัญลักษณ์วิทยาและเคยเป็นอาจารย์ของเคิร์สช์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ขณะที่เคิร์สช์กำลังจะประกาศการค้นพบ เขากลับถูกพลเรือเอกหลุยส์ อบิลายิงเสียชีวิต อบิลาเป็นสาวกนิกายปัลมาเรียผู้สูญเสียครอบครัวจากเหตุระเบิดโดยผู้สนับสนุนเคิร์สช์ เขาผู้รับคำสั่งฆ่ามาจากบุคคลลึกลับนาม "ผู้สำเร็จราชการ" แลงดอนพบกับอัมบรา บิดัล ผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์ เธอสารภาพกับแลงดอนว่า คำสั่งเพิ่มชื่ออบิลาในรายชื่อแขกมาจากทางพระราชวัง ทำให้ทั้งสองสงสัยว่าราชสำนักสเปนอาจมีส่วนพัวพันกับเหตุฆาตกรรมเคิร์สช์เพราะบิชอปบัลเด็สปิโนเป็นที่ปรึกษากษัตริย์สเปนและอัมบรายังเป็นพระคู่หมั้นของเจ้าชายฆูเลียน มกุฎราชกุมารของสเปนซึ่งทั้งสองกำลังระหองระแหงกันอยู่

แลงดอนและอัมบราเห็นพ้องว่าควรจะเผยแพร่การค้นพบของเคิร์สช์ จึงตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากวินสตัน ปัญญาประดิษฐ์ที่สร้างโดยเคิร์สช์ เขาช่วยทั้งสองหลบหนีออกจากพิพิธภัณฑ์และขึ้นเครื่องบินส่วนตัวของเคิร์สช์ไปที่บ้านของเขาที่กาซามิลาในเมืองบาร์เซโลนา เพื่อหารหัสผ่าน 47 ตัว ที่จะใช้เผยแพร่การค้นพบดังกล่าว

ในเวลาเดียวกัน ผู้ใช้ชื่อว่า monte@iglesia.org เผยแพร่การพบปะที่มอนต์เซร์รัตและการเสียชีวิตของอัล-ฟาเดิลและโคเวสในโลกอินเทอร์เน็ต ทำให้บิชอปบัลเด็สปิโนตกเป็นผู้ต้องสงสัย สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่ลงเมื่อมีการพบเห็นบิชอปบัลเด็สปิโนลอบพาตัวเจ้าชายฆูเลียนออกจากพระราชวัง เพื่อกอบกู้สถานการณ์ดังกล่าว สำนักพระราชวังสเปนประกาศว่าผู้บัญชาการการ์ซาแห่งกัวร์เดียเรอัล (หน่วยราชองครักษ์สเปน) มีส่วนในเหตุฆาตกรรมและแจ้งว่าแลงดอนลักพาตัวอัมบรา ทำให้แลงดอนถูกตามล่าทันที

ด้านแลงดอนเมื่อไปถึงกาซามิลา เขาพบเบาะแสว่ารหัสผ่านอยู่ในงานของวิลเลียม เบลก ซึ่งตอนนี้จัดแสดงอยู่ที่มหาวิหารซากราดาฟามีเลีย ต่อมาเจ้าหน้าที่กัวร์เดียเรอัลที่รู้ความจริงว่าแลงดอนไม่ได้ลักพาตัวอัมบราพาตัวทั้งสองไปที่มหาวิหารดังกล่าว แลงดอนพบว่ารหัสผ่าน 47 ตัวคือบทกวี "ศาสนามืดดำอำลาไป และวิทยาศาสตร์ไสวจักใหญ่ยง" แต่อบิลาซึ่งรับคำสั่งจาก "ผู้สำเร็จราชการ" ให้หยุดยั้งการเผยแพร่การค้นพบของเคิร์สช์ตามมาขัดขวางและสู้กับแลงดอนก่อนที่เขาจะตกบันไดลงไปเสียชีวิต แลงดอนและอัมบราเดินทางต่อไปยังศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์บาร์เซโลนาซึ่งเคิร์สช์เก็บงานไว้และเผยแพร่การค้นพบได้สำเร็จ โดยการค้นพบดังกล่าวเกี่ยวข้องกับที่มาของชีวิตและอนาคตที่มนุษย์และเทคโนโลยีจะผสานรวมกันเป็นหนึ่ง

ด้านบิชอปบัลเด็สปิโนพาเจ้าชายฆูเลียนไปพบกับกษัตริย์สเปนผู้ทรงประชวรหนัก ก่อนที่กษัตริย์สเปนจะทรงเสด็จสวรรคตในคืนนั้นพร้อมกับบัลเด็สปิโน ทางสำนักพระราชวังสเปนประกาศว่าแลงดอนและผู้บัญชาการการ์ซาเป็นผู้บริสุทธิ์ ด้านเจ้าชายฆูเลียนติดต่ออัมบราเพื่อขอเริ่มต้นคบหากับเธอใหม่อีกครั้ง

วันต่อมา แลงดอนพบว่าแท้จริงแล้ว monte@iglesia.org คือวินสตัน เขาปล่อยข่าวต่าง ๆ เพื่อโหมกระแสให้เคิร์สช์ วินสตันยังสารภาพก่อนทำลายตัวเองว่าตนคือ "ผู้สำเร็จราชการ" โดยสร้างสถานการณ์ให้เคิร์สช์ถูกยิงเพื่อสร้างภาพให้เคิร์สช์เป็นผู้สละชีพเพื่อวิทยาศาสตร์และใส่ร้ายนิกายปัลมาเรียซึ่งความจริงไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เรื่องราวทั้งหมดจบลงเมื่อแลงดอนกลับมาที่ซากราดาฟามีเลียและเฝ้ามองผู้คนจากทุกเชื้อชาติที่ต่างมามหาวิหารแห่งนี้ด้วยจุดประสงค์เดียวกัน

ตัวละคร[แก้]

  • โรเบิร์ต แลงดอน ศาสตราจารย์ด้านสัญลักษณ์วิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
  • อัมบรา บิดัล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ บิลบาโอ
  • เอ็ดมันด์ เคิร์สช์ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และนักอนาคตศึกษา
  • วินสตัน ปัญญาประดิษฐ์ของเคิร์สช์
  • เจ้าชายฆูเลียน มกุฎราชกุมารของสเปน
  • บิชอปอันโตนิโอ บัลเด็สปิโน ที่ปรึกษาของกษัตริย์สเปน
  • พลเรือเอกหลุยส์ อบิลา สาวกนิกายปัลมาเรีย
  • ดิเอโก การ์ซา ผู้บัญชาการกัวร์เดียเรอัล

อ้างอิง[แก้]

  1. O'Loughlin, Cody (September 30, 2017). "The World According to Dan Brown". The New York Times. สืบค้นเมื่อ June 12, 2018.
  2. ทราย เจริญปุระ (29 มีนาคม 2561). "ทราย เจริญปุระ : ออริจิน และ นิยายรักในราชสำนักฝ่ายใน". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2561. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]