เทวากับซาตาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เทวากับซาตาน  
ภาพปกฉบับพิมพ์ครั้งแรก วาดด้วยเทคนิคแอมบิแกรม
ผู้ประพันธ์แดน บราวน์
ชื่อเรื่องต้นฉบับAngels & Demons
ผู้แปลอรดี สุวรรณโกมล
อนุรักษ์ นครินทร์
ศิลปินปกจอห์น แลงดอน
ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาษาอังกฤษ
ชุดโรเบิร์ต แลงดอน
ประเภทลึกลับ, วิทยาศาสตร์, สืบสวน
สำนักพิมพ์อมรินทร์
วันที่พิมพ์พฤษภาคม พ.ศ. 2543
หน้า480 หน้า
ISBN0-671-02735-2
เรื่องถัดไปรหัสลับดาวินชี 

เทวากับซาตาน (อังกฤษ: Angels & Demons) เป็นนวนิยายแนวลึกลับ/วิทยาศาสตร์/สืบสวนของแดน บราวน์ ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) และเป็นหนึ่งในหนังสือขายดี เป็นหนังสือตอนแรกในชุด "โรเบิร์ต แลงดอน" ศาสตราจารย์ด้านสัญลักษณ์วิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งต่อมามีภาคต่ออันแสนโด่งดัง คือ รหัสลับดาวินชี เนื้อเรื่องเป็นเหตุการณ์ระทึกขวัญวันเดียวที่ตัวละครเข้าไปเกี่ยวข้องกับมหาวิหารแห่งโรมันคาทอลิก และสมาคมลับชื่อ "อิลลูมินาติ" ซึ่งมีที่มานับแต่โบราณกาล

ภาพปกใช้เทคนิคการวาดแบบ แอมบิแกรม ประดิษฐ์โดย จอห์น แลงดอน ซึ่งกลายมาเป็นนามสกุลของตัวเอกในเรื่องนี้ และเป็นจุดเด่นประการหนึ่งของหนังสือ

เรื่องย่อ[แก้]

โรเบิร์ต แลงดอน ศาสตราจารย์ด้านสัญลักษณ์วิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้รับการติดต่อจากองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (CERN) ว่ามีคนถูกฆาตกรรมและถูกประทับตรา "Illuminati" แลงดอนจึงเดินทางไปที่เจนีวา ที่นั่นเขาได้พบกับแมกซิมิเลียน โคห์เลอร์ หัวหน้า CERN และวิตตอเรีย เวตรา ผู้เป็นบุตรบุญธรรมของคนถูกฆาตกรรม พวกเขาพบว่าปฏิสสาร ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของที่นี่ได้ถูกขโมยไป หากเลยเวลา 24 ชม. จากนี้ มันจะระเบิดอย่างรุนแรง

ต่อมา แลงดอนและวิตตอเรียได้เดินทางไปที่นครรัฐวาติกัน ซึ่งกำลังมีการคัดเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่ และพบว่า "เปรเฟอริติ" (พระคาร์ดินัลที่มีโอกาสได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาองค์ใหม่มากที่สุด) 4 รูปหายตัวไป พร้อมคำขู่จากฮัสซาซิน คนร้ายที่รับใช้ "เจนัส" ประมุขแห่งอิลลูมินาตี ว่าจะฆ่าพระคาร์ดินัลชั่วโมงละ 1 รูป เริ่มเวลา 20.00 น. แลงดอนจึงต้องพยายามค้นหา "วิถีแห่งความรู้แจ้ง" ซึ่งเป็นเส้นทางที่เหล่าสมาชิกอิลลูมินาติใช้นัดพบกัน โดยต้องสืบหาจากสถานที่ 4 แห่งที่เกี่ยวข้องกับธาตุทั้ง 4 ทั่วกรุงโรม

หลังจากพบร่างพระคาร์ดินัล 3 รูปแรก ฮัสซาซินพยายามฆ่าแลงดอนและวิตตอเรีย แลงดอนหลบหนีไปได้ แต่ฮัสซาซินจับตัววิตตอเรียไป เขาจึงต้องเร่งหาสถานที่สุดท้ายซึ่งเกี่ยวกับธาตุน้ำ แต่ก็ช่วยชีวิตพระคาร์ดินัลไว้ไม่ทัน จากจุดที่พบเปรเฟอริติรูปสุดท้าย แลงดอนได้พบว่าเส้นทางพาเขาไปที่ปราสาทซันตันเจโล ที่นั่นเขาได้พบกับวิตตอเรียอีกครั้ง และร่วมมือกันฆ่าฮัสซาซิน

ขณะเดียวกันที่นครรัฐวาติกัน แมกซิมิเลียน โคห์เลอร์เข้าพบกับคาเมอร์เลนโญเป็นการส่วนตัว แลงดอนและวิตตอเรียได้เตือนเหล่าทหารองครักษ์สวิสถึงอันตรายที่ตามมา ทั้งหมดบุกเข้าไปในห้องที่ทั้งสองพบปะกัน และพบคาเมอร์เลนโญนอนบาดเจ็บ ถูกประทับตรา "เพชรอิลลูมินาติ" บนอก ส่วนโคห์เลอร์ถูกยิง แต่ก่อนเสียชีวิต เขาได้มอบวิดีโอให้แก่แลงดอน

เมื่อเวลาเหลือน้อยลงทุกที คาเมอร์เลนโญได้สั่งให้ทหารองครักษ์สวิสอพยพทุกคนออกจากมหาวิหารนักบุญเปโตร ส่วนตนเองและแลงดอนไปที่หลุมศพของนักบุญเปโตรและพบหลอดปฏิสสาร ก่อนจะนำขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อไม่ให้แรงระเบิดกระทบกับคนที่อยู่ด้านล่าง คาเมอร์เลนโญกระโดดร่มชูชีพลงมาบนหลังคามหาวิหารอย่างปลอดภัย ส่วนแลงดอนที่ใช้แผ่นหุ้มหน้าต่างแทนร่มชูชีพ ลงมาตกที่แม่น้ำไทเบอร์

หลังแลงดอนฟื้น เขาได้กลับไปที่นครรัฐวาติกัน เพื่อนำวิดีโอของโคห์เลอร์มาให้ทุกคนดู พบว่าแท้จริงแล้ว "เจนัส" คือ คาเมอร์เลนโญ และพระสันตะปาปาองค์ก่อนเป็นบิดาของท่าน โดยก่อนหน้านี้ โคห์เลอร์ต้อนรับพระสันตะปาปาองค์ก่อนที่มาเยี่ยมชม CERN และมีการพูดคุยถึงความร่วมมือระหว่างศาสนาและวิทยาศาสตร์ คาเมอร์เลนโญ ผู้ซึ่งกลัวว่าศาสนาคริสต์อาจสูญเสียความศรัทธา จึงลอบวางยาพิษปลงพระชนม์พระสันตะปาปา และปลอมเป็น "เจนัส" เพื่อสร้างสถานการณ์เรียกศรัทธากลับมา เมื่อพบว่าแผนการของตนถูกเปิดโปง คาเมอร์เลนโญได้หลบหนีและเผาตัวเองตาย หลังเรื่องทุกอย่างยุติ พระสันตะปาปาองค์ใหม่ได้มอบตราประทับ "เพชรอิลลูมินาติ" ให้แก่แลงดอนแทนคำขอบคุณ

ตัวละคร[แก้]

  • โรเบิร์ต แลงดอน - ศาสตราจารย์ด้านสัญลักษณ์วิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
  • วิตตอเรีย เวตรา - นักฟิสิกส์ประจำศูนย์วิจัย CERN
  • แมกซิมีเลียน โคห์เลอร์ - หัวหน้าศูนย์วิจัย CERN
  • คาเมอร์เลนโญ คาร์โล เวนเตรสกา - เลขานุการประจำองค์สมเด็จพระสันตะปาปา
  • ผู้บัญชาการโอลิเวตติ - ผู้บัญชาการทหารองครักษ์สวิส
  • ร้อยเอกโรเชร์ - รองผู้บัญชาการทหารองครักษ์สวิส
  • ร้อยโทชาร์ตรองด์ - ทหารองครักษ์สวิส

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]