หว่อง อากิ๊ว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หว่อง อากิ๊ว
黄亞嬌
เกิดโญญา บินตี ตาฮีร์
พ.ศ. 2461
อาโลร์กาจะฮ์ รัฐมะละกา ประเทศมาเลเซีย
เสียชีวิต19 มกราคม พ.ศ. 2549 (88 ปี)
ตัมปิน รัฐเนอเกอรีเซิมบีลัน ประเทศมาเลเซีย
คู่สมรสเจิง หมิ่ง (張明)
บุตร13 คน

หว่อง อากิ๊ว (จีน: 黄亞嬌) หรือ โญญา บินตี ตาฮีร์ (มลายู: Nyonya binti Tahir) เป็นหญิงชาวมาเลเซียที่เกิดในครอบครัวมุสลิม ครั้นเจริญวัยเธอได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธ[1] คดีศาลเกิดขึ้นหลังการตายของเธอ ว่าควรปลงศพแบบอิสลามหรือพุทธ อันก่อให้เกิดข้อถกเถียงด้านเสรีภาพในการนับถือศาสนาของประเทศมาเลเซีย[2]

ประวัติ[แก้]

หว่องเกิดที่เมืองซิมปังอัมปัต รัฐมะละกา[3] ในครอบครัวเชื้อสายมลายูและจีน ย่าหรือยายของเธอเป็นหญิงมลายูมุสลิมที่สมรสกับชาวจีนไหหลำเข้ารีตอิสลาม อย่างไรก็ตามเธอได้รับการอุปการะจากครอบครัวชาวจีนและเติบโตเป็นพุทธศาสนิกชน[1][3] ใน พ.ศ. 2479 หว่องสมรสกับเจิง หมิ่ง (張明) ชายเชื้อสายจีนที่อายุมากกว่าเธอ 16 ปี เขาไม่ได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม และหว่องเองก็ยังปฏิบัติตนอย่างชาวพุทธต่อไป[3] เธอดำเนินวิถีชีวิตอย่างชาวจีนและบริโภคเนื้อสุกรเช่นเดียวกับบุตรของเธอ[4] ในบัตรประจำตัวประชาชนของลูก ๆ ระบุว่าเป็นคนเชื้อชาติจีน นับถือศาสนาพุทธ[5] ขณะที่บัตรของหว่องระบุตัวตนว่าเป็นคนเชื้อชาติมลายู นับถือศาสนาอิสลาม[6]

หว่องยื่นคำขอร้องให้เขตปกครองท้องถิ่นเพื่อเปลี่ยนชื่อและศาสนาในบัตรประจำตัวประชาชนของเธอ ทว่าสำนักงานกิจการอิสลามอาโลร์กาจะฮ์ได้ทำการสอบสวนเธอ และปฏิเสธคำร้องของเธอเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2529[3] หลังสามีเสียชีวิตใน พ.ศ. 2532 ขณะอายุ 87 ปี หว่องทราบว่าตนมิอาจฝังศพเคียงข้างสามีเมื่อตาย หากยังไม่ได้สถานะการรับรองทางกฎหมายในการเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธ เธอจึงยื่นคำร้องอีกครั้งใน พ.ศ. 2534 และ พ.ศ. 2541 ซึ่งถูกทางการปฏิเสธทั้งหมด[1] หว่องได้ทำบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ระบุว่าเธอเป็นชาวพุทธ และต้องการจัดพิธีศพแบบพุทธมากกว่าอิสลาม[4][7]

การตายและคดีในชั้นศาล[แก้]

หว่องเสียชีวิตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2549 ภายในบ้านของเธอที่ตามันอินดะฮ์ ขณะอายุได้ 88 ปี[1] เมื่อครอบครัวของเธอไปสถานีตำรวจท้องที่เพื่อแจ้งตาย เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับเรื่องรู้สึกสับสนกับข้อมูลในบัตรประจำตัวประชาชนของเธอที่ระบุว่าเธอเป็นชาวมลายู นับถือศาสนาอิสลาม แต่คนในครอบครัวกลับเป็นชาวจีน ที่นับถือศาสนาพุทธทั้งหมด ภายหลังเจ้าหน้าที่รายนี้ได้แจ้งข้อมูลไปยังกรมการศาสนารัฐเนอเกอรีเซิมบีลัน[8] กรมการศาสนาได้สั่งการให้ศาลชะรีอะฮ์เมืองตัมปินออกคำสั่งให้ระงับการฝังศพของเธอหลังมีข้อมูลว่าเธอเป็นชาวมลายู สภากิจการอิสลามรัฐเนอเกอรีเซิมบีลันได้ยื่นคำร้องต่อศาลสูงชะรีอะฮ์ประจำเมืองเซอเร็มบันเกี่ยวกับการปลงศพของเธอ[1][3] หัวหน้ากรมการศาสนารัฐเนอเกอรีเซิมบีลันเดินทางไปที่บ้านของหว่องด้วยตัวเอง และสั่งการให้ครอบครัวหว่องฝังศพเธอตามธรรมเนียมพิธีอิสลาม[9] อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลชะรีอะฮ์ได้รับฟังคำให้การจากลูก ๆ ของหว่อง ว่าเธอเป็นชาวพุทธและขอตายในฐานะพุทธศาสนิกชน ในวันจันทร์ถัดมา ศาลได้ตัดสินว่าหว่องไม่ใช่ชาวมุสลิมเมื่อเสียชีวิต และอนุญาตให้ครอบครัวจัดงานปลงศพแก่หว่องตามธรรมเนียมพุทธ ร่างของหว่องถูกฝังเคียงข้างสามีในสุสานจีนที่ซิมปังอัมปัต อำเภออาโลร์กาจะฮ์ อันเป็นบ้านเกิดของเธอ[3]

คดีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเบิกพยานที่ไม่ใช่มุสลิมในศาลชะรีอะฮ์ของมาเลเซีย ผู้ไม่ใช่ชาวมุสลิมจะไม่ได้รับการอนุญาตเริ่มคดีในศาลชะรีอะฮ์ แต่ก็ไม่ได้ห้ามพยานนอกศาสนาขึ้นให้การอย่างเป็นทางการ มีรายงานว่า ชนกลุ่มน้อยทางศาสนาในประเทศรู้สึกโล่งใจกับคำตัดสินดังกล่าว แต่ก็มีกลุ่มหนึ่งระบุว่าการตัดสินของศาลนั้น "ไม่สอดคล้องกับการคุ้มครอง [พวกเขา]" ซึ่งเป็นคนนอกศาสนาอิสลาม[5] นอกจากนี้แม้ว่าศาลจะตัดสินอนุญาตแก่ครอบครัวหว่องไปแล้ว แต่ฮันนี ตัน โฆษกสมาคมกฎหมาย อ้างถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 11 วิจารณ์คำตัดสินดังกล่าวว่า "ศาลไม่ได้ให้เพียงการเยียวยาความคับข้องใจที่ยกขึ้นโดยโจทก์ด้วยเหตุผลตามรัฐธรรมนูญ"[2] และคดีของหว่องเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หน่วยงานศาสนา สอบถามข้อมูลจากสมาชิกในครอบครัวของผู้วายชนม์ในการเป็นพยาน เพื่อให้ศาลตัดสินว่าผู้ตายยังมีสถานะเป็นมุสลิมอยู่หรือไม่ โดยส่วนใหญ่แล้วผู้คนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่กรณีของเอ็ม. มูรที หนึ่งในสมาชิกในทีมผู้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ของมาเลเซีย เขาเติบโตในครอบครัวที่นับถือศาสนาฮินดู แต่ถูกกล่าวอ้างว่าเขาเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม โดยที่ครอบครัวไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ศพของเขาถูกฝังไว้ตามธรรมเนียมอิสลาม และมีรายงานว่าครอบครัวของเขาเพิกเฉยต่อหมายศาลที่ออกโดยศาลชะรีอะฮ์ในท้องที่[10]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 ""她是回教徒" 老婦舉殯宗教局搶屍/"She was a Muslim": Religious Affairs Department claims woman's corpse", Sin Chew Daily, 20 January 2006, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 September 2007, สืบค้นเมื่อ 2 May 2007; has picture of Wong.
  2. 2.0 2.1 Surin, Jacquelin Ann (21 March 2007), "Article 11 launches video series on upholding Constitution", The Sun, สืบค้นเมื่อ 2 May 2007
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 "Syariah Court Decides Nyonya Tahir Not A Muslim". Bernama. 23 January 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-29. สืบค้นเมื่อ 2 May 2007.
  4. 4.0 4.1 "Nyonya Tahir - a landmark judgment", MalaysiaKini, 24 January 2006, สืบค้นเมื่อ 2 May 2007
  5. 5.0 5.1 "Malaysian allowed non-Muslim burial", Al Jazeera, 25 January 2006, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 March 2008, สืบค้นเมื่อ 2 May 2007
  6. "'Nyonya not a Muslim' - Court orders body released to her family", Kementerian Penerangan Malaysia, 24 January 2006, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-29, สืบค้นเมื่อ 2 May 2007
  7. "老婦舉殯宗教局搶屍 搶屍案,家屬勝訴 老婦可依據華人傳統安葬/Woman's corpse claimed by Religious Affairs Department; Family wins suit, woman can be buried according to Chinese custom", Sin Chew Daily, 23 January 2006, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 September 2007, สืบค้นเมื่อ 2 May 2007; has picture of son Chiang Ah Fatt.
  8. "JHEAINS accepts whatever ruling by Syariah Court on Nyonya's religion", Bernama, 23 January 2006
  9. "Seremban Syariah Court declared Nyonya Tahir not a Muslim", Radio Televisyen Malaysia, 23 January 2006, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-24, สืบค้นเมื่อ 2 May 2007
  10. "Don't submit Non-Muslims to syariah court jurisdiction", The Sun, 21 December 2006, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-15, สืบค้นเมื่อ 2 May 2007