หมวดคำอักษรจีน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หมวดคำอักษรจีนในพจนานุกรมคังซี (1)
หมวดคำอักษรจีนในพจนานุกรมคังซี (1)
หมวดคำอักษรจีนในพจนานุกรมคังซี (2)
หมวดคำอักษรจีนในพจนานุกรมคังซี (2)

หมวดคำอักษรจีน (จีน: 部首; พินอิน: bùshǒu) หมายถึงดัชนีคำศัพท์ในพจนานุกรมภาษาจีน (หรือภาษาอื่นที่ใช้อักษรจีน) ซึ่งแบ่งตามลักษณะของการประกอบอักษร อักษรจีนแต่ละตัวจะถูกจัดเข้าไว้ในหมวดคำเพียงหมวดเดียว เรียงตามลำดับจำนวนขีดและการเขียน และแต่ละหมวดก็จะมีความหมายไปในทางเดียวกัน

การแบ่งอักษรจีนเป็นหมวดคำเริ่มต้นขึ้นในอักษรานุกรมซัวเหวินเจี่ยจื้อ (說文解字) เขียนโดย สวี่ เซิ่น (許慎) นักคัมภีรศาสตร์สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก แต่เดิม สวี่ เซิ่น ได้แบ่งหมวดคำอักษรจีนไว้เป็น 540 หมวด ต่อมาพจนานุกรมคังซีในสมัยราชวงศ์ชิง ได้รวบรวมหมวดคำที่คล้ายกันเข้าจนเหลือ 214 หมวด เช่นเดียวกับพจนานุกรมจงหัว และเมื่อมีการประกาศใช้อักษรจีนตัวย่อ พจนานุกรมฮั่นหยู่จึงมีหมวดคำ 200 หมวดเท่านั้น (ส่วนพจนานุกรมซินหัวเรียงลำดับตามพินอิน)

ความหมายของหมวดคำ[แก้]

การแบ่งอักษรจีนออกเป็นหมวดคำนั้น นอกจากจะสามารถใช้เป็นดัชนีในพจนานุกรมแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความหมายโดยรวมของอักษรจีนที่อยู่ภายใต้หมวดคำหนึ่ง ๆ เพราะหมวดคำทุกหมวดมีความหมายในตัวเอง เช่นหมวดคำ 人 โดยตัวศัพท์เองแปลว่า คน เมื่อประกอบกับส่วนอื่นจึงมีความหมายที่เกี่ยวกับคน หรือกิริยาอาการของคน เช่นคำว่า 从 คนหนึ่งอยู่หน้าอีกคนหนึ่งอยู่หลัง ความหมายโดยรวมจึงหมายถึง เดินตามกัน หรือคำว่า 众 เป็นลักษณะของคนอยู่รวมกันสามคน ความหมายโดยรวมจึงหมายถึง มวลชน หมวดคำอาจมีรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อผสมกับส่วนอื่น เช่นหมวดคำ 人 อาจแปลงรูปไปเป็น 亻 ใส่ไว้ที่ข้างซ้ายของอักษร อาทิ 休 他 作 เป็นต้น

อักษรหมวดคำหลายหมวดสามารถเขียนโดด ๆ ได้ เป็นคำและมีความหมาย เรียกว่า หมวดคำอิสระ เช่น 口 หมายถึงปาก 女 หมายถึงผู้หญิง 水 หมายถึงน้ำ 火 หมายถึงไฟ เป็นต้น แต่บางหมวดถึงแม้จะมีความหมายแต่ก็ไม่สามารถเขียนโดด ๆ ได้ และไม่ถือเป็นคำ เรียกว่า หมวดคำไม่อิสระ เช่น 宀 หมายถึงหลังคา แต่ไม่เป็นคำ ต้องประกอบกับส่วนอื่นจึงจะเป็นคำได้ บางหมวดก็เป็นเพียงรูปแปลงของหมวดคำอื่นเช่น 忄 และ ⺗ เป็นรูปแปลงของ 心 หมายถึงหัวใจ รูปแปลงเหล่านี้จึงเป็นหมวดย่อยของหมวดคำหลัก และจัดอยู่ในหมวดเดียวกันในลำดับพจนานุกรม

หมวดคำ 女 ในคำว่า 媽 (แม่)

ส่วนที่อยู่ถัดจากหมวดคำ อาจให้ความหมายตามลักษณะที่ปรากฏ หรือให้เพียงแค่เสียงอ่านที่ใกล้เคียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น 好 (hǎo) ประกอบด้วยหมวดคำ 女 หมายถึงผู้หญิงและ 子 หมายถึงลูกชาย เนื่องจากชาวจีนมีคตินิยมว่าถ้าผู้หญิงมีลูกชายเป็นเรื่องดี คำนี้จึงแปลว่า ดี ในขณะที่ 媽/妈 (mā) แปลว่า แม่ ประกอบด้วยหมวดคำ 女 หมายถึงผู้หญิงและ 馬/马 (mǎ) ซึ่งเป็นศัพท์เลียนเสียงเท่านั้น (ความหมายแท้จริงของส่วนหลังคือ ม้า ไม่ได้หมายความว่าเป็นม้าตัวเมีย) แต่ก็มีอักษรจีนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้สัมพันธ์กับความหมายของหมวดคำหรือเสียงเลย ในกรณีนี้การจัดหมวดคำเพียงเพื่อให้สามารถค้นหาได้ในพจนานุกรมเท่านั้น ตัวอย่างเช่น 九 (jiǔ) แปลว่าเก้า จัดอยู่ในหมวดคำ 乙 (yǐ) ซึ่งหมายถึงที่สองหรือหักงอ

อักษรจีนต่างรูปของคำที่มีความหมายเดียวกันและอ่านเหมือนกัน โดยเฉพาะกับอักษรโบราณที่เลิกใช้หรือไม่นิยมใช้ หรือเป็นอักษรตัวย่อ-ตัวเต็ม ไม่จำเป็นต้องจัดอยู่ในหมวดคำเดียวกัน เช่น 礦 ตัวย่อ 矿 (kuàng) แปลว่าเหมืองแร่หรือสายแร่ ทั้งสองอยู่ในหมวดคำ 石 (หิน) อักษรต่างรูปของคำนี้คือ 鑛 อยู่ในหมวดคำ 金 (ทอง) อีกตัวอย่างหนึ่ง 後 (hòu) แปลว่าข้างหลังหรือหลังจาก อยู่ในหมวดคำ 彳 (ถนนหรือเดิน) ส่วนตัวย่อคือ 后 พบได้ในหมวดคำ 口 (ปาก)

ตำแหน่งของหมวดคำ[แก้]

ตำแหน่งของหมวดคำในอักษรจีนอาจจัดวางอยู่ได้หลายตำแหน่ง ทั้งซ้าย ขวา บน ล่าง คลุมบน ห่อล่าง ล้อมรอบ หรือแม้แต่ทับซ้อนเข้าไปข้างใน การจำแนกหมวดคำอักษรจีนจึงต้องอาศัยประสบการณ์การค้นหาบ่อยครั้ง ทราบว่าหมวดคำที่เปลี่ยนรูปมีอะไรบ้าง ปกติแล้วเรามักจะสังเกตได้ว่าหมวดคำกลุ่มหนึ่งมักจะอยู่ที่ตำแหน่งเดิมตลอดเวลา แต่หากเป็นกรณีพิเศษอื่นก็ต้องจดจำ

ต่อไปนี้เป็นการแยกแยะหมวดคำตามตำแหน่งที่วาง ซึ่งมีเจ็ดประเภทหลักและเจ็ดประเภทย่อย ตำแหน่งเหล่านี้มีการตั้งชื่อในภาษาญี่ปุ่นด้วย

  • วางข้างซ้าย ( เฮ็ง) เช่น 略 ประกอบขึ้นจากหมวดคำ 田 กับส่วน 各
  • วางข้างขวา ( สึกุริ) เช่น 期 ประกอบขึ้นจากหมวดคำ 月 กับส่วน 其
  • วางข้างบน ( คัมมุริ) เช่น 歩 ประกอบขึ้นจากหมวดคำ 止 กับส่วน 少 อีกตัวอย่างหนึ่ง 男 ประกอบขึ้นจากหมวดคำ 田 กับส่วน 力
  • วางข้างล่าง ( อะชิ) เช่น 志 ประกอบขึ้นจากหมวดคำ 心 กับส่วน 士 อีกตัวอย่างหนึ่ง 畠 ประกอบขึ้นจากหมวดคำ 田 กับส่วน 白
    ประเภทย่อยของอะชิ
    • ประกบข้างบนและข้างล่าง เช่น 亘 ประกอบขึ้นจากหมวดคำ 二 กับส่วน 日
    • แทรกไว้ตรงกลาง เช่น 昼 ประกอบขึ้นจากหมวดคำ 日 กับส่วนบน 尺 และส่วนล่าง 一
  • คลุมข้างบนและข้างซ้าย ( ทะเระ) เช่น 房 ประกอบขึ้นจากหมวดคำ 戸 กับส่วน 方
  • ห่อข้างล่างและข้างซ้าย ( เนียว) เช่น 起 ประกอบขึ้นจากหมวดคำ 走 กับส่วน 己
  • ล้อมรอบ ( คะมะเอะ) เช่น 国 ประกอบขึ้นจากหมวดคำ 囗 กับส่วน 玉
    ประเภทย่อยของคะมะเอะ
    • ล้อมรอบเปิดข้างล่าง เช่น 間 ประกอบขึ้นจากหมวดคำ 門 กับส่วน 日
    • ล้อมรอบเปิดข้างบน เช่น 凶 ประกอบขึ้นจากหมวดคำ 凵 กับส่วน 乄
    • ล้อมรอบเปิดข้างขวา เช่น 医 ประกอบขึ้นจากหมวดคำ 匚 กับส่วน 矢
    • คลุมข้างบนและข้างขวา เช่น 式 ประกอบขึ้นจากหมวดคำ 弋 กับส่วน 工
    • ประกบข้างซ้ายและข้างขวา เช่น 街 ประกอบขึ้นจากหมวดคำ 行 กับส่วน 圭

หมวดคำเดียวกันอาจมีตำแหน่งการวางที่แตกต่างกันได้ ทำให้อักษรบางตัวอาจไม่อยู่ในหมวดคำตามที่คาดการณ์ไว้เช่น 聞 อยู่ในหมวดคำ 耳 แทนที่จะเป็น 門; 化 อยู่ในหมวดคำ 匕 แทนที่จะเป็น 人; 章 กับ 意 อยู่ในหมวดคำ 立 กับ 音 ตามลำดับ เป็นต้น

การค้นหาในพจนานุกรม[แก้]

ปกติแล้วพจนานุกรมจะมีดัชนีเลขหน้าเริ่มต้นสำหรับหมวดคำอักษรจีนตัวนั้น แต่เนื่องจากในหนึ่งหมวดมีคำศัพท์มาก พจนานุกรมหลายเล่มจึงได้รวมคำศัพท์ทั้งหมดเก็บไว้เป็นดัชนีด้วย แล้วลำดับอักษรด้วยจำนวนขีดเพื่อให้ค้นหาง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น ต้องการหาคำว่า 拾 เราอาจสามารถเปิดไปดูที่หมวดคำ 手 (รูปแปลงคือ 扌 หมายถึง มือ) แล้วไล่ดูไปจนกว่าจะพบคำที่ต้องการซึ่งอาจใช้เวลามาก แต่ด้วยดัชนีคำศัพท์ทั้งหมด จะต้องนับว่าส่วนที่เหลือวาดอีกกี่ขีดจึงจะครบอักษรทั้งตัว ในกรณีนี้ 合 ประกอบขึ้นจากการเขียน 6 ขีด ในดัชนีคำศัพท์ ณ ตำแหน่ง 手 + 6 ขีด (หรือ 扌 + 6 ขีด) ก็จะมีคำว่า 拾 ปรากฏอยู่ จึงสามารถเปิดไปยังหน้าที่มีคำนั้นอยู่ได้โดยตรง และได้ความหมายว่า เก็บขึ้นมาจากพื้น ข้อเสียของระบบนี้อยู่ที่ตัวผู้ค้นหาหากไม่ทราบว่าหมวดคำคืออะไร หมวดคำรูปแปลงเป็นอย่างไร และมีลำดับขีดเขียนอย่างไร ซึ่งอักษรบางตัวอาจมีการเขียนที่ซับซ้อนจนไม่สามารถแยกแยะ ทำให้ค้นหาไม่เจอก็เป็นได้

พจนานุกรมบางเล่มได้รวมอักษร 〇 หมายถึงเลขศูนย์เข้าไปด้วย ซึ่งเขียนโดยการตวัดครั้งเดียว (1 ขีด) เป็นอักษรพิเศษที่ไม่จัดอยู่ในหมวดใด บางครั้งอาจมีอักษรจีนบางตัวที่จัดหมวดคำไม่ได้ รวมอยู่ท้าย ๆ ดัชนีคำศัพท์ โดยเฉพาะกับพจนานุกรมที่เรียงลำดับตามอักษรจีนตัวย่อ

หมวดคำในคอมพิวเตอร์[แก้]

ถึงแม้เราจะสามารถใช้อักษรจีนแทนหมวดคำได้โดยตรง แต่ในยูนิโคดก็มีช่วงอักขระที่จองไว้ให้สำหรับหมวดคำอักษรจีนโดยเฉพาะ เพื่อให้สะดวกใช้ในการสร้างดัชนี มีสองช่วงคือหมวดคำแบบคังซีตามดั้งเดิม (U+2F00–U+2FDF) และหมวดคำส่วนขยายที่ใช้กับอักษรตัวย่อ หรือใช้ในภาษาอื่นที่นอกเหนือไปจากภาษาจีน (U+2E80–U+2EFF)


หมวดคำจีนญี่ปุ่นเกาหลี ส่วนเพิ่มเติม
Unicode.org chart (PDF)
  0 1 2 3 4 5 6 7 8 9 A B C D E F
U+2E8x
U+2E9x  
U+2EAx
U+2EBx ⺿
U+2ECx
U+2EDx
U+2EEx
U+2EFx                        


หมวดคำแบบคังซี
Unicode.org chart (PDF)
  0 1 2 3 4 5 6 7 8 9 A B C D E F
U+2F0x
U+2F1x
U+2F2x
U+2F3x ⼿
U+2F4x
U+2F5x
U+2F6x
U+2F7x ⽿
U+2F8x
U+2F9x
U+2FAx
U+2FBx ⾿
U+2FCx
U+2FDx                    


อ้างอิง[แก้]

  • เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ. พจนานุกรม จีน-ไทย. กรุงเทพฯ : รวมสาส์น, 2541. ISBN 978-974-246-307-6
  • เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ. พจนานุกรม จีน-ไทย ฉบับใหม่ (ฉบับพิมพ์หนังสือตัวเต็ม). กรุงเทพฯ : รวมสาส์น, 2545. ISBN 978-974-246-643-5
  • นริศ วศินานนท์. ร้อยหมวดคำ จำอักษรจีน. กรุงเทพฯ : ทฤษฎี, 2550. ISBN 978-974-9796-73-3

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]