สี่เยฺวียนจี๋ลู่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนผังใน สี่เยฺวียนจี๋ลู่ แสดงชื่อกระดูกต่าง ๆ ของมนุษย์

สี่เยฺวียนจี๋ลู่ (จีน: 洗冤集錄; พินอิน: Xǐyuān Jílù; "ประชุมบันทึกการล้างมลทิน") เป็นหนังสือภาษาจีนที่ซ่ง ฉือ (宋慈) นักนิติศาสตร์ราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋) เขียนขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1247[1] เพื่อเป็นคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพ โดยประมวลคดีทางนิติวิทยาศาสตร์หลายเรื่องพร้อมด้วยประสบการณ์ของตนเข้าเป็นหนังสือเล่มนี้ไว้เป็นแนวทางปัดเป่าความไม่เป็นธรรม หนังสือนี้เป็นที่ยึดถือของข้าราชการหลายต่อหลายรุ่นสืบ ๆ มา ทั้งยังได้รับการแปลออกเป็นหลายภาษา ไม่ว่าจะฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น, เยอรมัน, อังกฤษ, และอื่น ๆ นับเป็นตำราลายลักษณ์อักษรทางนิติวิทยาศาสตร์เล่มแรกของโลก

เนื้อหา[แก้]

ต้นฉบับหนังสือนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีหลายชุดและเนื้อหาต่างกัน แต่ที่เก่าแก่ที่สุดเป็นฉบับเผยแพร่สมัยราชวงศ์ยฺเหวียน (元朝) แบ่งออกเป็น 5 ภาค 53 บท ภาค 1 ว่าด้วยราชโองการให้ตรวจสอบศพและบาดแผล ภาค 2 ว่าด้วยวิธีชันสูตรพลิกศพ ภาค 3, 4, และ 5 เป็นรายละเอียดของศพในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากการตายในหลายสาเหตุ และวิธีจัดการกับบาดแผลบางประเภท[2]

ในหนังสือนี้ ซ่ง ฉือ ยังพรรณนาระเบียบการรายงานการตรวจศพของศาล วิธีป้องกันพยานหลักฐานในขั้นตอนการตรวจสอบ เหตุผลที่เจ้าหน้าต้องแสดงผลการตรวจสอบให้สาธารณชนทราบอย่างเที่ยงตรง ตลอดจนวิธีชำระล้างศพเพื่อตรวจสอบสาเหตุต่าง ๆ ของการตาย[3] อนึ่ง เขายังระบุวิธีแยกแยะการฆ่าตัวตายกับการแสร้งฆ่าตัวตาย[4]

หนังสือนี้ยังเป็นเอกสารแรกที่กล่าวถึงบทบาทของแมลงในทางนิติวิทยาศาสตร์[5] โดยกล่าวว่า ใน ค.ศ. 1235 มีผู้ถูกแทงตาย ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่นำใบมีดรูปแบบต่าง ๆ มาทดลองกับซากสัตว์ ก็รู้ได้ว่า แผลแทงนั้นเกิดจากเคียว จึงสั่งให้ชาวบ้านทุกคนมารายงานตัวพร้อมนำเคียวมาด้วย ฝูงแมลงวันหัวเขียวพากันตอมเคียวเล่มหนึ่งเพราะเนื้อเยื่อและกลิ่นเลือดจากศพยังติดอยู่แม้มองไม่เห็นแล้วก็ตาม เจ้าของเคียวตกใจและรับสารภาพ นอกจากนี้ ส่วนอื่น ๆ ของหนังสือยังพรรณนาพฤติกรรมของแมลงวันหัวเขียวที่มีต่อศพ ซึ่งสัมพันธ์กับการเน่าเสียของศพหรืออวัยวะภายใน หรือความต้องตาต้องใจของเนื้อเยื่อบาดแผล เป็นต้น[6]

ดี. ไบรอัน อี. แม็กไนต์ (D. Brian E. McKnight) พูดถึงคดีเคียวดังกล่าวว่า "ชาวนาท้องถิ่นในหมู่บ้านจีนแห่งหนึ่งถูกพบเป็นศพ โดยถูกเคียวฟันตาย การใช้เคียวซึ่งเป็นเครื่องมือที่ชาวนาใช้เกี่ยวข้าวช่วงเก็บเกี่ยวนี้แสดงว่า ฆาตกรย่อมเป็นชาวนาอีกคนในท้องถิ่นนั้น ตุลาการท้องถิ่นจึงเริ่มสืบสวนโดยเรียกชาวนาท้องถิ่นทุกคนที่อาจต้องสงสัยให้มายังลานหมู่บ้าน แต่ละคนให้นำเคียวของตนติดตัวมายังลานประชุมด้วย เมื่อพร้อมกันแล้ว ตุลาการสั่งให้ผู้ต้องสงสัยราว 10 คนวางเคียวของตนไว้บนพื้นข้างหน้าตนแล้วเดินถอยหลังไปไม่กี่หลา บ่ายนั้นแดดอุ่น ขณะที่ชาวบ้าน ตุลาการ และผู้ต้องสงสัย รอเวลาอยู่นั้นเอง แมลงวันหัวเขียวตัวเงาวับแวววาวก็บินหึ่งมาตอมเคียวในลานหมู่บ้านนั้น แล้วแมลงตัวสีเงินวาวเหล่านี้ก็หันเหไปหาเคียวเล่มหนึ่งซึ่งวางอยู่บนพื้น ภายในไม่กี่นาที แมลงหลายตัวก็พุ่งลงตอมเคียวเล่มนั้นแล้วถูตัวไปมาบนเคียวอย่างชอบใจ โดยที่เคียวเล่มอื่นไม่เป็นที่สนใจของแมลงตัวหนึ่งตัวใดเลย เจ้าของเครื่องมือนั้นจึงเริ่มเหงื่อตก และนั่นเป็นช่วงเวลาไม่นานนักก่อนคนทั้งหลายในหมู่บ้านจะเอะใจว่า ฆาตกรคือใคร ตุลาการจึงให้กุมตัวฆาตกรไป โดยคนร้ายนั้นก้มหัวด้วยความอายพลางร้องขอความเมตตา ผู้ยืนยันฆาตกรรมจึงเป็นแมลงตัวสีเงินวาวที่เรียกกันว่า แมลงวันหัวเขียว ซึ่งต้องตาต้องใจกับเศษซากเนื้อเยื่อบาง ๆ เลือด กระดูก และเส้นขน ที่ติดอยู่บนเคียวหลังใช้ก่อฆาตกรรม ความรู้ของตุลาการประจำหมู่บ้านในเรื่องพฤติกรรมของแมลงบางกลุ่มที่ถูกเนื้อเยื่อศพมนุษย์ดึงดูดได้นั้นนับเป็นกุญแจที่ไขไปสู่การกระทำอันอำมหิตนี้ ทำให้ความยุติธรรมบังเกิดในแดนจีนโบราณ"[7]

การแปล[แก้]

หนังสือได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษหลายสำนวนดังนี้

  • ค.ศ. 1855 นายแพทย์ดับเบิลยู.เอ. ฮาร์แลนด์ (W.A. Harland) แปลและตีพิมพ์ในฮ่องกง ใช้ชื่อว่า Records of Washing away of Injuries[8]
  • ค.ศ. 1924 เอช.เอ. ไจลส์ (H.A. Giles) นักจีนวิทยา แปล ใช้ชื่อว่า The Hsi Yüan Lu, or Instructions to Coroners[9]
  • ค.ศ. 1981 ดี. ไบรอัน อี. แม็กไนต์ แปล ใช้ชื่อว่า The Washing Away of Wrongs: Forensic Medicine in Thirteenth-Century China[10]

ในวัฒนธรรมประชานิยม[แก้]

เรื่องราวใน สี่เยฺวียนจี๋ลู่ ได้รับการดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ฮ่องกงชื่อ สี่เยฺวียนลู่ (洗冤錄) เมื่อ ค.ศ. 2000

อ้างอิง[แก้]

  1. Uematsu, Tadashi; (transl. T. Nakayama) (1978). "Hsi-yüan chi-lu". ใน Balazs, Etienne; Hervouet, Yves (บ.ก.). A Sung Bibliography. The Chinese University Press. p. 186. ISBN 962-201-158-6.
  2. "Song Ci and his Xi Yuan Ji Lu" (ภาษาจีน). Huaxia Jingwei Wang. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2007-09-01.
  3. Song, Ci, and Brian E. McKnight. The washing away of wrongs: forensic medicine in thirteenth-century China. Ann Arbor: Center for Chinese Studies, U of Michigan, 1981. Print. p 161.
  4. Song, Ci, and Brian E. McKnight. The washing away of wrongs: forensic medicine in thirteenth-century China. Ann Arbor: Center for Chinese Studies, U of Michigan, 1981. Print. p 79-85.
  5. Benecke M. (2001). "A brief history of forensic entomology". Forensic Sci. Int. 120 (1–2): 2–14. doi:10.1016/S0379-0738(01)00409-1. PMID 11457602.
  6. Haskell, Neal H. (2006). "The Science of Forensic Entomology," in Forensic Science and Law: Investigative Applications in Criminal, Civil, and Family Justice, 431–440. Edited by Cyril H. Wecht and John T. Rago. Boca Raton: CRC Press, an imprint of Taylor and Francis Group. ISBN 0-8493-1970-6. Page 432.
  7. Haskell, Neal H. (2006). "The Science of Forensic Entomology," in Forensic Science and Law: Investigative Applications in Criminal, Civil, and Family Justice, 431–440. Edited by Cyril H. Wecht and John T. Rago. Boca Raton: CRC Press, an imprint of Taylor and Francis Group. ISBN 0-8493-1970-6. Page 432. "A local peasant from a Chinese village was found murdered, hacked to death by a hand sickle. The use of a sickle, a tool used by peasants to cut the rice at harvest time, suggested that another local peasant worker had committed the murder. The local magistrate began the investigation by calling all the local peasants who could be suspects into the village square. Each was to carry their hand sickles to the town square with them. Once assembled, the magistrate ordered the ten-or-so suspects to place their hand sickles on the ground in front of them and then step back a few yards. The afternoon sun was warm and as the villagers, suspects, and magistrates waited, bright shiny metallic green flies began to buzz around them in the village square. The shiny metallic colored flies then began to focus in on one of the hand sickles lying on the ground. Within just a few minutes many had landed on the hand sickle and were crawling over it with interest. None of the other hand sickles had attracted any of these pretty flies. The owner of the tool became very nervous, and it was only a few more moments before all those in the village knew who the murderer was. With head hung in shame and pleading for mercy, the magistrate led the murderer away. The witnesses of the murder were the brightly metallic colored flies known as the blow flies which had been attracted to the remaining bits of soft tissue, blood, bone and hair which had stuck to the hand sickle after the murder was committed. The knowledge of the village magistrate as to a specific insect group's behavior regarding their attraction to dead human tissue was the key to solving this violent act and justice was served in ancient China."
  8. W.A. Harland, M.D., Records of Washing away of Injuries, Hong Kong 1855.
  9. Giles, HA (1924). "The "Hsi Yüan Lu" or "Instructions to Coroners"". Proceedings of the Royal Society of Medicine. 17 (Sect Hist Med): 59–107. PMC 2201406. PMID 19983962.
  10. Song, Ci, and Brian E. McKnight. The Washing Away of Wrongs: Forensic Medicine in Thirteenth-Century China. Science, medicine, and technology in East Asia, v. 1. Ann Arbor: Center for Chinese Studies, University of Michigan, 1981 (ISBN 0892648007).

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]