ราชวงศ์ซ่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ราชวงศ์ซ่งใต้)
ซ่ง

960–1279
ราชวงศ์ซ่งเหนือในปี 1111
ราชวงศ์ซ่งเหนือในปี 1111
สถานะจักรวรรดิ
เมืองหลวงเปียนจิง (汴京)
(960-1127)

หลินอัน (臨安)
(1127–1276)
ภาษาทั่วไปภาษาจีน
ศาสนา
ศาสนาพุทธ, ลัทธิเต๋า, ลัทธิขงจื๊อ, ศาสนาพื้นบ้าน
การปกครองราชาธิปไตย
จักรพรรดิ 
• 960-976
จักรพรรดิไท่จู่
• 976-997
จักรพรรดิไท่จง
• 997-1022
จักรพรรดิเจินจง
• 1022-1063
จักรพรรดิเหรินจง
• 1063-1067
จักรพรรดิอิงจง
• 1067-1085
จักรพรรดิเสินจง
• 1085-1100
จักรพรรดิเจ๋อจง
• 1100-1126
จักรพรรดิฮุ่ยจง
• 1126-1127
จักรพรรดิฉินจง
• 1127-1162
จักรพรรดิเกาจง
• 1162-1189
จักรพรรดิเซี่ยวจง
• 1189-1194
จักรพรรดิกวงจง
• 1194-1224
จักรพรรดิหนิงจง
• 
จักรพรรดิลี่จง
• 
จักรพรรดิตู้จง
ประวัติศาสตร์ 
• เจ้า ควงอิ้น ขึ้นครองบัลลังก์แทนราชวงศ์โฮ่วโจว
960 960
• เหตุการณ์จิ้งคัง ทัพจินบุกถึงเมืองหลวงไคเฟิง ซ่งเหนือล่มสลายและก่อตั้งราชวงศ์ซ่งใต้
1127
• ยอมจำนน หลินอัน
1276
• สิ้นสุดราชวงศ์ซ่งใต้
1279 1279
ประชากร
• 1041
100,000,000a[›]
สกุลเงินเหรียญจีน
ก่อนหน้า
ถัดไป
ราชวงศ์โฮ่วโจว
ราชวงศ์หยวน

ราชวงศ์ซ่ง ตามสำเนียงกลาง หรือ ซ้อง ตามสำเนียงฮกเกี้ยน (จีน: 宋朝; พินอิน: Sòng Cháo; เวด-ไจลส์: Sung Ch'ao) เป็นราชวงศ์ของจีนที่ปกครองระหว่างปี 960 ถึง 1279 ราชวงศ์นี้ก่อตั้งโดยจักรพรรดิซ่งไท่จู่ ผู้ซึ่งแย่งชิงบัลลังก์จากราชวงศ์โจวยุคหลังและไปพิชิตส่วนที่เหลือของสิบอาณาจักร สิ้นสุดยุคห้าวงศ์สิบรัฐ ราชวงศ์ซ่งมักขัดแย้งกับราชวงศ์เหลียว ราชวงศ์เซี่ยตะวันตก และราชวงศ์จินทางตอนเหนือของจีน

เจ้า ควงอิ้น ได้ชื่อว่า พระเจ้าซ่งไท่จู่ ได้พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมขึ้นมาใหม่ แต่กลับตัดทอนอำนาจทางการทหารของแม่ทัพ เนื่องจากความระแวง กลัวจะยึดอำนาจ ทำให้การทหารอ่อนแอ อย่างไรก็ดี ในราชวงศ์นี้ ศิลปกรรมและวัฒนธรรมรุ่งเรืองมาก การศึกษาของประชาชนดีขึ้น และเปาบุ้นจิ้น ก็ได้มาเกิดในยุคในสมัยของจักรพรรดิซ่งเหรินจง ซึ่งเป็นยุคที่ฮ่องเต้อ่อนแอ อำนาจอยู่ในมือพวกกังฉิน ท่านตัดสินคดีอย่างยุติธรรมและเด็ดขาด ไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมใด ๆ จนเป็นที่เลื่องลือมาถึงปัจจุบัน

ในสมัยราชวงศ์ซ่ง จีนถูกรุกรานโดยชนเผ่าต่าง ๆ คือ พวกเซี่ย พวกชิตัน (เมืองเหลียว) จึงมีศึกอยู่ตลอดมา แถมยังต้องยอมเซ็นสัญญาสงบศึกกับ "คนป่าเถื่อน" ต้องส่งบรรณาการให้ ทำให้การเงินไม่คล่องตัว จนมีนักปฏิรูปชื่อ "หวังอั้นจี่" ออกกฎหมายมาควบคุมการใช้เงินของบรรดาเชื้อพระวงศ์ แต่สุดท้ายก็ต้องยกเลิก เพราะไปขัดผลประโยชน์เจ้าใหญ่นายโต ครั้นต่อมา มีชนเผ่าจินหรือกิม (บรรพบุรุษของแมนจู) เข้ามาตี และเนื่องจากมีขุนนางกังฉินไปเข้ากับศัตรู (ดังเช่น ฉินไคว่ กังฉินชื่อดัง ซึ่งใส่ความแม่ทัพงักฮุย และสังหารงักฮุยกับลูกชายเสีย ทำให้ชาวจีนเคียดแค้นชิงชังอย่างยิ่ง บวกกับการทหารที่อ่อนแออยู่แล้ว (ผสมกับฮ่องเต้ที่ไร้สามารถ หูเบา เชื่อฟังกังฉิน) ทำให้พวกจินสามารถบุกจนถึงเมืองไคฟง (เมืองหลวง) จึงต้องย้ายเมืองหลวง ไปอยู่ทางทิศใต้ มีชื่อเรียกว่า ซ่งใต้ ซึ่งพวกจินก็ยังตามล้างผลาญตลอด แต่ต่อมา ในที่สุด พวกจิน, เซี่ยกับชิตันก็ถูกมองโกล ซึ่งนำโดย เจงกิสข่าน (เตมูจิน) เข้าตี แล้วหันมาตีจีนต่อจนถึงปักกิ่ง หลังจากนั้น กุบไลข่าน หลานปู่ของเจงกิสข่าน ได้โจมตีราชวงศ์ซ่งใต้ โดยได้ความร่วมมือจากขุนนาง และทหารของราชวงศ์ซ่งบางคน ที่กลับลำหันมาช่วยเหลือมองโกล โจมตีพวกของตัวเอง จนสิ้นราชวงศ์ในที่สุด แล้วกุบไลข่านจึงตั้งราชวงศ์หยวนขึ้นมาแทน

ซ่งรวมแผ่นดิน[แก้]

ซ่งไท่จู่ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ซ่ง

แผ่นดินภาคกลาง ภายหลังจักรพรรดิโจวกงตี้ แห่งราชวงศ์โฮ่วโจวสิ้นพระชนม์ลง (ราชวงศ์สุดท้ายในห้าราชวงศ์) ภายในราชสำนักอยู่ในภาวะตึงเครียด ภายนอกเผชิญภัยคุกคามจากทัพเหลียว ปี พ.ศ. 1503 เกิดเหตุเปลี่ยนแปลงที่เฉินเฉียว เจ้า ควงอิ้น ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งแม่ทัพรักษาวังหลวง บัญชาการกองกำลังที่เข้มแข็งที่สุดในเวลานั้น ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนายทัพใต้ร่มธง บีบให้โจวก้งตี้ วัยเจ็ดขวบสละราชย์ จากนั้นสถาปนาราชวงศ์ซ่งขึ้นแทนที่โฮ่วโจว นักประวัติศาสตร์จีนเรียกว่า เป่ยซ่งหรือซ่งเหนือซ่งไท่จู่ เจ้า ควงอิ้นขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ก็จัด “งานเลี้ยงสุราปลดอาวุธ” สลายกำลังของนายทหารกลุ่มต่าง ๆ ที่สนับสนุนตนขึ้นสู่บัลลังก์โดยไม่เสียเลือดเนื้อ ด้วยเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้ขึ้นได้อีก ทั้งเล็งเห็นว่าการที่นายทัพคุมกำลังทหารไว้ ย่อมจะมีอำนาจพลิกฟ้าอยู่ในมือ ซ่งไท่จู่ (เจ้า ควงอิ้น) จึงใช้วิธีการเดียวกันในการโอนถ่ายอำนาจทางทหารของแม่ทัพรักษาชายแดนเข้าสู่ส่วนกลาง นอกจากนี้ เพื่อลิดรอนอำนาจขุนนางที่อาจส่งผลคุกคามต่อราชบัลลังก์ในภายภาคหน้า จึงออกกฎระเบียบใหม่ ให้มีเพียงขุนนางระดับสูงเท่านั้นที่สามารถเข้าเฝ้าเพื่อปรึกษาราชกิจ โดยมีกษัตริย์เป็นผู้ตัดสินชี้ขาด ขุนนางเป็นเพียงผู้รับไปปฏิบัติ ไม่ได้มีหน้าที่ให้คำปรึกษาชี้แนะข้อราชการดังเช่นแต่ก่อน นับแต่นั้นมา อำนาจเด็ดขาดทั้งมวลจึงตกอยู่ในมือของกษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว เวลานั้น รอบข้างยังประกอบด้วยแว่นแคว้นต่าง ๆ สืบเนื่องมาจากสมัยห้าราชวงศ์สิบแคว้น อาทิ โฮ่วสู หนานฮั่น หนานถัง อู๋เยว่ เป่ยฮั่น เป็นต้น ดังนั้นภารกิจสำคัญของเจ้า ควงอิ้นจึงได้แก่การเปิดศึกรวมแผ่นดิน ทัพซ่งมุ่งลงใต้ ทยอยรวบรวมดินแดนภาคใต้กลับมาอีกครั้ง หลังจากปราบแคว้นหนานถังอันเข้มแข็งได้สำเร็จในปี 974 แว่นแคว้นที่เหลือต่างทยอยเข้าสวามิภักดิ์กับราชวงศ์ซ่ง ปลายรัชกาล เจ้า ควงอิ้นหันทัพมุ่งขึ้นเหนือ หวังรวมแคว้นเป่ยฮั่นที่หลงเหลือเพียงหนึ่งเดียว แต่แล้วสิ้นพระชนม์ลงระหว่างการศึกภาคเหนือในปี 1519 ซ่งไท่จง เจ้ากวงอี้ (ปี พ.ศ. 1519 – พ.ศ. 1540) ที่เป็นพระราชอนุชาจึงขึ้นสืบราชบัลลังก์ สานต่อปณิธานรวมแผ่นดิน โดยรวมแคว้นเป่ยฮั่นสำเร็จในปี พ.ศ. 1522 จากนั้นพยายามติดตามทวงคืนดินแดนที่เคยเสียให้กับเหลียว (ปักกิ่งและต้าถง) กองทัพซ่งเหนือเปิดศึกกับเหลียวหลายครั้ง ขณะที่แคว้นเหลียวก็หาโอกาสรุกลงใต้ กลายเป็นสภาพการเผชิญหน้ากัน จวบกระทั่งปี พ.ศ. 1547 ล่วงเข้ารัชกาลซ่งเจินจง (โอรสของซ่งไท่จง) ซ่งเหนือกับเหลียวบรรลุข้อตกลงร่วมกันที่ฉานหยวน สงครามอันยาวนานจึงยุติลง

ระบบการรวมศูนย์อำนาจ[แก้]

ราชวงศ์ซ่งได้ใช้ระบบการรวมศูนย์อำนาจผสมกับการการแต่งตั้งข้าราชการจากส่วนกลางออกไปปกครองหัวเมือง ระบบนี้ทำให้ราชสำนักมีเวลาดูแลกิจการในเมืองหลวงมากขึ้นและในยุคนี้มีการก่อสร้างเมืองไม่เพียงเพื่อการบริหารเท่านั้น ยังเป็นการสร้างเมืองเพื่อเป็นศูนย์กลางการพาณิชย์ อุตสาหกรรม พาณิชย์นาวี หัวเมืองชายฝั่งถูกเชื่อมโยงกับหัวเมืองในแผ่นดินการพัฒนานี้ทำให้เกิดสามัญชนที่ร่ำรวยขึ้นมาโดยไม่ต้องรับราชการอย่างในอดีตจำนวนมาก

วัฒนธรรม[แก้]

ในด้านวัฒนธรรมนั้น นอกจากพัฒนาสิ่งที่สืบทอดจากสมัยถังแล้ว ยังมีการบันทึกประวัติศาสตร์ ศิลปะการเขียนภาพ ศิลปะการเขียนพู่กัน และการทำเครื่องปั้นดินเผาเนื้อแข็ง ลัทธิข่งจื่อมีอิทธิพลเหนือพุทธศาสนาเนื่องจากถูกมองว่าเป็นของต่างประเทศ และไม่มีคำตอบสำหรับการปฏิบัติ และแนวทางสำหรับทางการเมืองและปัญหาพื้นฐานทั่วไป ในขณะที่สำนักข่งฟูจื่อได้พัฒนาสู่ลัทธิข่งจื่อแนวใหม่ โดยการนำเอาปรัชญาแนวคิดดั้งเดิมของข่งจื่อมาสอดแทรกด้วยความเห็น ผสมผสานแนวคิดทางศาสนาพุทธ ลัทธิเต๋า เป็นต้น ลัทธิข่งจื่อแนวใหม่ที่มีอิทธิพลอย่างสูงคือแนวคิดของ ชูสี่ 朱喜 ซึ่งมีแนวคิดในการสอนให้เชื่อฟังฝ่ายเดียว และตำหนิการคัดค้านผู้ปกครอง กล่าวคือ ลูกต้องเชื่อฟังพ่อแม่ ภรรยาเชื่อฟังสามี ผู้น้อยเชื่อฟังผู้อาวุโสกว่า เป็นต้น แนวคิดนี้ถูกปลูกฝังลึกอยู่ในสังคมจีนจนถึงศตวรรษที่ 19 แต่ยังคงมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวเกาหลี และ ญี่ปุ่นจนทุกวันนี้

เปิดศึกกับซีเซี่ย[แก้]

ปลายรัชกาลซ่งไท่จง/เจ้ากวงอี้ ชนเผ่าตั่งเซี่ยง ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือเริ่มมีขุมกำลังเข้มแข็งขึ้น หันไปสวามิภักดิ์กับแคว้นเหลียว ราชสำนักซ่งจึงสั่งปิดชายแดนตัดขาดการติดต่อค้าขายระหว่างกัน ทำให้เกิดธุรกิจค้าเกลือเถื่อน และการปล้นสะดมสินค้าในบริเวณใกล้เคียง สองฝ่ายปะทะกันหลายครั้งแต่ไม่อาจเอาชนะกันได้ ต่อเมื่อ ปี 1006 ภายหลังซ่งทำสัญญาสงบศึกกับเหลียว จึงหันมาผูกมิตรกับซ่งเหนือ เปิดการค้าชายแดนตามปกติจวบกระทั่งปี พ.ศ. 1581 หลี่หยวนเฮ่า ผู้นำคนใหม่ในเวลานั้น สถาปนาแคว้นซี่เซี่ย ขึ้นเป็นผลสำเร็จ ที่เมืองซิ่งโจว (ปัจจุบันคือเมืองอิ๋นชวน มณฑลหนิงเซี่ย) ซีเซี่ยฉีกสัญญาพันธมิตรที่มีมากว่า 30 ปี เริ่มรุกรานเข้าดินแดนภาคตะวันตกของซ่งเหนือ ขณะที่กองทัพซ่งเหนือพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า พยายามเรียกร้องให้มีการเจรจากสงบศึกแต่ไม่เป็นผล อย่างไรก็ตาม เมื่อทำศึกเป็นเวลานาน การค้าที่เคยมีต้องประสบกับความเสียหาย ซีเซี่ยกลับเป็นฝ่ายเดือดร้อนเพราะขาดแคลนสินค้าที่จำเป็น สุดท้าย ซีเซี่ยจึงยอมเจรจาสงบศึก โดยซี่เซี่ยยอม “สวามิภักดิ์” กับราชสำนักซ่ง ขณะที่ซ่ง “พระราชทาน” ผ้าไหมแพรพรรณ เงินทองและชาให้กับซีเซี่ย สองฝ่ายต่างรื้อฟื้นเส้นทางค้าขายระหว่างกันดังเดิม

พลิกโฉมการปกครองภายใน[แก้]

เจ้า ควงอิ้นและเจ้ากวงอี้สองพี่น้องที่ได้ผ่านพบความวุ่นวายแตกแยกของบ้านเมืองที่เกิดขึ้นจากการแย่งชิงอำนาจของเหล่าขุนศึก อีกทั้งประสบการณ์ความพลิกผันทางการเมืองของตน ทราบว่า เป็นเพราะเหล่าขุนศึกมีทั้งกำลังทหารและกำลังทรัพย์อยู่ในมือ ทั้งได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในท้องถิ่น ดังนั้น เพื่อเป็นการลิดรอนอำนาจของเหล่าแม่ทัพรักษาชายแดน ราชสำนักได้จัดส่งขุนนางฝ่ายบุ๋นออกไปทำหน้าที่ปกครองในส่วนท้องถิ่นโดยตรง มีการคัดเลือกทหารฝีมือดีจากท้องถิ่นเข้าสู่ส่วนกลางเพื่อทำหน้าที่กองกำลังรักษาวังหลวง ทั้งให้มีการสับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งประจำการทุกสามปี ส่วนด้านการเงิน ก็กำหนดให้รายรับรายจ่ายของท้องถิ่น (ภาษี เงินปี เบี้ยบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ) ต้องจัดรวบรวมและแจกจ่ายจากส่วนกลางการปฏิรูปดังกล่าว เป็นการเสริมสร้างอำนาจการปกครองส่วนกลางให้เข้มแข็งขึ้นอย่างไม่มียุคใดเทียบได้ พร้อมกับได้สลายขุมกำลังท้องถิ่นลงอย่างราบคาบ ตลอดราชวงศ์ไม่มีขุมกำลังอื่นใดในแผ่นดินสามารถท้าทายราชอำนาจของกษัตริย์ได้อีก อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวส่งผลให้กองทัพอ่อนแอลง ทำให้ราชสำนักซ่งต้องตกเป็นฝ่าย “ตั้งรับ” ในยุคสมัยที่รอบข้างเต็มไปด้วยชนเผ่านักรบจากนอกด่านที่ทวีความแข็งกล้าขึ้น ดูจะไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมนัก

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี[แก้]

ในสมัยราชวงศ์ซ่ง ผลงานในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีจำนวนมากมาย เข็มทิศ การพิมพ์หนังสือและดินปืนเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่ยิ่งใหญ่สามประการที่ได้รับการพัฒนาและประยุกต์ใช้อย่างเต็มที่ในยุคนี้ ในจำนวนนี้ วิธีการพิมพ์โดยใช้ตัวเรียงพิมพ์ที่ประดิษฐ์คิดสร้างใหม่โดยปี้เซิงเกิดขึ้นก่อนยุโรปถึง 400 ปี ซูซ่งได้ผลิตเครื่องสังเกตปรากฏการณ์ดวงดาวและนาฬิกาทางดาราศาสตร์เครื่องแรกของโลก

หนังสือเรื่อง ”เมิ่งซีปี่ถาน” ของเสินคั่วมีฐานะสูงส่งในประวัติศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในด้านวัฒนธรรม จริยศาสตร์ได้รับความนิยมชมชอบ และได้มีนักจริยศาสตร์หลายคนเช่นชูสีและลู่จิ่วหยวนเป็นต้น ศาสนาเต๋า พุทธศาสนาตลอดจนศาสนาอื่นที่แพร่หลายเข้าสู่จีนจากต่างประเทศก็แพร่หลายมาก หนังสือเรื่อง ”ประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ถังฉบับใหม่” ที่เรียบเรียงโดยโอว หยางชิวในซ่งเหนือได้สร้างผลงานอันยิ่งใหญ่ต่อการบันทึกประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ถัง ส่วนหนังสือเรื่อง “จืจื้อทุงเจี้ยน” ซึ่งเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ทั่วไปที่ซือหม่าเชียน เรียบเรียงตามลำดับปี ก็นับเป็นผลงานยอดเยี่ยมของหนังสือประวัติศาสตร์ของจีน ในด้านวรรณคดี ราชวงศ์ซ่งมีกวีประพันธ์วรรณกรรมปกิณกะที่มีชื่อเสียงหลายคนเช่นโอว หยางชิวและชูสีเป็นต้น บทกลอนซ่งเป็นวรรณกรรมที่ยอดเยี่ยมที่สุดในช่วงราชวงศ์ซ่ง มีกวีที่ดีเลิศหลายคนเช่นเอี้ยนซู หลิวหย่ง โจวปังเอี้ยน หลี่ ชิงเจ้าและซิน ชี่จี๋เป็นต้น ในสมัยราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์จิน ละครและงิ้วก็มีค่อนข้างแพร่หลาย ในด้านการวาดภาพ ผลงานที่มีชื่อเสียงค่อนข้างมากคือภาพวาดทัศนียภาพ ดอกไม้และนก ภาพวาดชื่อ ”ชิงหมิงซั่งเหอถู” (งานรื่นเริงวันเช็งเหม็ง) ของจาง จื๊อตวนเป็นผลงานยิ่งใหญ่ในด้านการวาดภาพของจีน

เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ[แก้]

ภายหลังสัญญาสงบศึกที่ฉานหยวน ซ่งเหลียวยุติศึกสงครามอันยาวนานนับสิบปี เมื่อปลอดภัยสงคราม การค้า การผลิต ศิลปวิทยาการและวัฒนธรรมของสองฝ่ายต่างเจริญรุ่งเรืองขึ้น พร้อมกับการขยายตัวของหน่วยงานราชการส่วนกลาง ที่ประสิทธิภาพนับวันจะถดถอยลงคลอง ทหารขาดการซ้อมรบและศึกษายุทธวิธีในการศึก กองทัพอ่อนแอลง ถึงกับมีคำกล่าวว่า ทหารม้าไม่รู้จักการใส่อานม้า ทหารราบก็รบไม่เป็น เมื่อเผชิญหน้ากับศัตรูก็ได้แต่ตัวสั่นงันงกด้วยความกลัวตาย ระหว่างนายทัพกับพลทหารไม่รู้จักไม่รู้ใจ ได้แต่บัญชาการรบบนแผ่นกระดาษ อันเป็นสาเหตุแห่งความแพ้พ่ายครั้งแล้วครั้งเล่าของทัพซ่งนอกจากนี้ หน่วยงานข้าราชการขุนนางก็มีขนาดใหญ่โตเทอะทะขึ้นทุกวัน ทั้งที่ยังมีบุคคลากรที่ผ่านการสอบคัดเลือกแต่ไม่มีตำแหน่งการงานรองรับอีกมากมายนับไม่ถ้วน กล่าวกันว่า มีอัตราการแข่งขันเพื่อให้ได้ตำแหน่งงานถึงหนึ่งต่อสิบทีเดียวภาวะดังกล่าวส่งผลให้เกิดกระแสการอนุรักษ์อย่างเหนียวแน่น เนื่องจากเกรงว่าจะต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ อันจะกระทบกระเทือนตำแหน่งของตน ในเวลาเดียวกัน บรรดาขุนนางผู้ใหญ่ ต่างแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน กวาดเก็บทรัพย์สินเข้าพกเข้าห่อ ไม่สนใจถึงผลกระทบต่อส่วนรวม บรรยากาศดังกล่าวปกคลุมไปทั่วราชสำนักซ่งการขยายตัวของหน่วยงานราชการ ทำให้ราชสำนักซ่งต้องเผชิญกับวิกฤตค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว จากบันทึกค่าใช้จ่ายสมัยซ่ง พบว่า เมื่อถึงรัชสมัยซ่งอิงจง (พ.ศ. 1606 – พ.ศ. 1610) ท้องพระคลังที่ว่างเปล่ากลับมีรายจ่ายมากกว่ารายรับเป็นจำนวนมหาศาล บ่งชี้ถึงฐานะทางการเงินอันคลอนแคลนของราชสำนัก

การปฏิรูปที่ไร้ผล[แก้]

ปี พ.ศ. 1565 ซ่งเจินจง ล้มป่วยสิ้นพระชนม์ ซ่งเหยินจง (เหรินจง) (พ.ศ. 1565 – พ.ศ. 1606) ราชโอรสขึ้นครองราชย์ด้วยวัยเพียง 13 ปี ดังนั้นจึงมีหลิวไทเฮาคอยดูแลให้คำปรึกษาราชกิจ ต่อเมื่อ หลิวไทเฮาสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 1576 ซ่งเหยินจงจึงเริ่มบริหารราชกิจด้วยตนเอง จากนั้นไม่นาน ราชสำนักซ่งเปิดศึกกับซีเซี่ยอีกครั้ง แต่ทัพซ่งก็ต้องแพ้พ่ายเสียหายกลับมา เป็นเหตุให้ซ่งเหยินจงมีดำริที่จะปรับปรุงกองทัพและการคลังครั้งใหญ่ ปี พ.ศ. 1586 ทรงแต่งตั้งฟ่านจ้งเยียน และคณะให้ดำเนินการปฏิรูประบบการปกครองภายใน แต่นโยบายปฏิรูปของฟ่านจ้งเยียนทำให้บรรดาขุนนางและกลุ่มตระกูลสูงศักดิ์เสียผลประโยชน์ เป็นเหตุให้เกิดเสียงคัดค้านมากมาย สุดท้าย การปฏิรูปดังกล่าวดำเนินการไปได้เพียงปีเศษก็ต้องล้มเลิกไป คณะทำงานปฏิรูปของฟ่านจ้งเยียนต่างทยอยถูกปลดจากตำแหน่งปลายรัชกาลซ่งเหยินจง หวังอันสือ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งทางราชการไม่นาน ได้นำเสนอแนวทางการปฏิรูปแบบใหม่ โดยเสนอให้เร่งสร้างบุคลากรที่มีความสามารถ ปรับปรุงระเบียบข้อกำหนดกฎหมาย และจัดการบริหารการคลังเสียใหม่ เป็นต้น แนวคิดของหวังอันสือแม้ว่าจะเป็นที่ชื่นชมอย่างมากในหมู่ปัญญาชน แต่ซ่งเหยินจงไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใดในรัชกาลของซ่งเหยินจงมีบุคคลสำคัญเช่นเปาบุ้นจิ้น อ๋องแปด อำมาตย์หวัง ฯลฯ

จวบจนปี พ.ศ. 1606 (ค.ศ. 1063) ซ่งเหยินจง ล้มป่วยสิ้นพระชนม์ลง ซ่งอิงจงสืบราชบัลลังก์ต่อมาได้เพียง 4 ปี ก็สิ้นพระชนม์ลง โอรสของซ่งอิงจงขึ้นครองราชย์ต่อมาพระนามว่า ซ่งเสินจง โดยมีบทบาทสำคัญในการให้การสนับสนุนแนวคิดการปฏิรูปกฎหมายของหวังอันสือในเวลานั้น ปัญหาความขัดแย้งในสังคมและวิกฤตทางการเงินยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น หน่วยงานราชการของราชสำนักซ่งมีขนาดใหญ่โตขึ้นกว่าเมื่อครั้งต้นราชวงศ์ถึงกว่าสิบเท่า เพียงค่าใช้จ่ายแต่ละปีของกองทัพก็ครอบคลุมรายได้กว่าครึ่งจากท้องพระคลัง ดังนั้น ซ่งเสินจงขึ้นครองราชย์ได้ไม่นานก็ทรงแต่งตั้งให้หวังอันสือ เป็นผู้นำคณะปฏิรูปกฎหมายการปกครองใหม่ ระเบียบกฎหมายใหม่ของหวังอันสือ มุ่งเน้นการเก็บกวาดรายได้จากบรรดาพ่อค้า ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่ดินเข้าสู่ท้องพระคลัง ลดการผูกขาดอำนาจและอภิสิทธิ์ของกลุ่มตระกูลขุนนางชั้นสูง ขณะที่กลุ่มชาวนาและราษฎรทั่วไปลดภาระในการแบกรับภาษีและการเกณฑ์แรงงาน อีกทั้งมีการปรับปรุงระบบชลประทาน ทำให้กำลังการผลิตของสังคมโดยรวมพัฒนาขึ้นในระดับหนึ่ง มีเงินเข้าท้องพระคลังเพิ่มขึ้นอย่างไรก็ตาม ระเบียบกฎหมายใหม่ยังต้องเผชิญกับกระแสการคัดค้านจากผู้เสียผลประโยชน์

ภายหลังซ่งเสินจงสิ้นพระชนม์ลงในปี พ.ศ. 1628 (ค.ศ. 1085) โอรสวัยสิบขวบขึ้นครองราชย์ต่อมา พระนามว่า ซ่งเจ๋อจง มีเกาไทเฮาเป็นที่ปรึกษาราชกิจ ซึ่งให้การสนับสนุนกลุ่มแนวคิดอนุรักษ์แบบเก่านำโดยซือหม่ากวง ไม่นานนัก กลุ่มปฏิรูปของหวังอันสือก็ถูกขับไล่ออกจากศูนย์กลางอำนาจ ระเบียบกฎหมายใหม่ถูกยกเลิกไป การปฏิรูปของหวังอันสือจึงจบสิ้นลงพร้อมกับการสิ้นพระชนม์ของซ่งเสินจง ต่อเมื่อเกาไทเฮาสิ้นพระชนม์ลงในปี พ.ศ. 1636 ซ่งเจ๋อจงก็หันมาให้การสนับสนุนฝ่ายการปฏิรูปอีกครั้ง แต่ภายในกลุ่มปฏิรูปเองเกิดแตกความคิดเห็นเป็นหลายฝ่าย กลายเป็นการแก่งแย่งช่วงชิงคานอำนาจกันเอง จวบจนซ่งเจ๋อจงสิ้นพระชนม์ลงในปี พ.ศ. 1643 ซ่งฮุยจง ขึ้นครองราชย์ต่อมา ให้การสนับสนุนกลุ่มขุนนางไช่จิงและพวก ที่แอบอ้างการผลักดันกฎหมายใหม่ มาใช้ในการโกงกินและขยายอำนาจในหมู่พรรคพวกเดียวกัน อันนำมาซึ่งยุคแห่งความมืดมนฟอนเฟะของราชวงศ์ซ่งเหนือ ระบบราชการที่ล้มเหลว เป็นเหตุให้ราษฎรทยอยลุกฮือขึ้นก่อการต่อต้านราชสำนัก อาทิ กบฏฟางล่า (พ.ศ. 1663) กบฏซ่งเจียง (พ.ศ. 1661) อันเป็นที่มาของเรื่องราวในตำนาน “วีรบุรุษเขาเหลียงซาน” หรือ "108 ผู้กล้าหาญแห่งเขาเหลียงซาน" ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ยอดวรรณดีของจีน เป็นต้น แต่สุดท้ายยังคงต้องพ่ายแพ้แก่ราชสำนักซ่งเหนือในที่สุด

สถาปัตยกรรมสมัยราชวงศ์ซ่ง[แก้]

สมัยราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ. 1503 - พ.ศ. 1812) เป็นช่วงที่การเมืองและการทหารของจีนค่อนข้างทรุดโทรม แต่เศรษฐกิจ การผลิตเครื่องศิลปหัตถกรรมและการค้าค่อนข้างพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ยิ่งได้รับการพัฒนาอย่างมาก ลักษณะพิเศษของ สถาปัตยกรรมในสมัยราชวงศ์ซ่งคือ มีขนาดไม่ใหญ่เท่าใดนัก แต่มีรูปร่างสวยมากแผนผังของเมืองสมัยราชวงศ์ซ่งคือ เปิดร้านค้าข้างถนน การดับเพลิง การคมนาคมขนส่ง ร้านค้าและสะพานในเมืองได้รับการพัฒนาใหม่ เมืองเปี้ยนเหลียงเมืองหลวงสมัยราชวงศ์ซ่ง (เมืองไคฟงมณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) กลายเป็นเมืองพาณิชย์แห่งหนึ่ง วิหารประธานและวิหารข้ามสระเลี้ยงปลาในวัดจิ้นฉือเมืองไท่หยวนมณฑลซานซีก็เป็นสถาปัตยกรรมสมัยราชวงศ์ซ่งที่เป็นแบบฉบับสถาปัตยกรรมที่สร้างด้วยอิฐและก้อนหินในสมัยราชวงศ์ซ่งมีระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ ที่สำคัญคือ เจดีย์และสะพาน เจดีย์ในวัดหลิงอิ่นเมืองหางโจวและสะพานโหย่งทงในอำเภอเจ้าเซียนมณฑลเหอเป่ยก็เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างด้วยอิฐและก้อนหินที่เป็นแบบฉบับในสมัยราชวงศ์ซ่งสมัยราชวงศ์ซ่ง สังคมศักดินาของจีนได้รับการพัฒนาอีกขั้นหนึ่ง คนจีนในสมัยราชวงศ์ซ่งเริ่มมีความสนใจในการสร้างอุทยานขึ้น อุทยานสมัยซ่งที่มีลักษณะตัวแทนคือ ชังล่างถิงและตู๋เล่อหยวนสมัยราชวงศ์ซ่งยังได้ปรากฏวิทยานิพนธ์พิเศษเกี่ยวกับเทคโนโลยีการก่อสร้างอย่างสมบูรณ์เรื่องเหยิงเจ้าฝ่าสื้อหรือแปลว่า กฎเกณฑ์การก่อสร้าง เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีและการควบคุมดูแลการก่อสร้างของจีนต่างก็ขึ้นสู่ระดับใหม่

กำเนิดแคว้นจินกับอวสานของซ่งเหนือ[แก้]

ในเวลาเดียวกัน สถานการณ์ทางภาคเหนือก็วุ่นวายไม่ต่างกัน ราชสำนักเหลียวเกิดการแตกแยกภายใน ระบบการปกครองล้มเหลว บ้านเมืองอ่อนแอลง กลุ่มชนเผ่าทางเหนือที่เคยถูกกดขี่บีบคั้นต่างลุกฮือขึ้นก่อหวอด ชนเผ่าหนี่ว์เจิน ทางภาคอีสานเริ่มมีกำลังแกร่งกล้าขึ้น ปี พ.ศ. 1658 อากู่ต่า ผู้นำชนเผ่าหนี่ว์เจิน สถาปนาแคว้นต้าจินหรือกิม ที่ฮุ่ยหนิง (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเฮหลงเจียง) ทรงพระนาม จินไท่จู่ จากนั้นกรีฑาทัพบุกแคว้นเหลียว ฝ่ายซ่งเหนือ เห็นเป็นโอกาสที่จะยึดดินแดน 16 เมืองที่เคยเสียไปกลับคืนมา จึงทำสัญญาร่วมมือกับแคว้นจินบุกเหลียว โดยซ่งจะส่งบรรณาการที่เคยให้กับเหลียวมามอบให้แคว้นจินแทน เพื่อแลกกับดินแดน 16 เมือง (ปักกิ่ง ต้าถง) ที่สูญเสียไปกลับคืนมา ซ่งกับจินทำสัญญาร่วมมือกันบุกเหลียว ซ่งรับหน้าที่บุกเมืองเยียนจิง (ปักกิ่ง) และต้าถง ขณะที่จินนำทัพรุกคืบกลืนดินแดนเหลียวที่เหลือ ถงก้วน นำทัพซ่งบุกเมืองเยียนจิงสองครั้งแต่ต้องพ่ายแพ้กลับมาทั้งสองหน สุดท้ายปล่อยให้ทัพจินเป็นฝ่ายบุกเข้ายึดเมืองไว้ได้โดยง่าย ราชสำนักซ่งต้องรับปาก “ไถ่เมืองคืน” ด้วยภาษีรายปีที่เก็บได้จากท้องถิ่นเป็นเงินก้อนโต สถานการณ์คราวนี้เป็นเหตุให้ทัพจินเล็งเห็นถึงความอ่อนแอและไร้ประสิทธิภาพของกองกำลังฝ่ายซ่ง ดังนั้น เมื่อทัพจินล้มล้างเหลียวเป็นผลสำเร็จ ก็เบนเข็มมุ่งมายังซ่งเหนือเป็นลำดับต่อไปปี 1125 หลังจากหวันเหยียนเซิ่นขึ้นครองราชย์เป็นจินไท่จง สืบต่อจากจินไท่จู่ผู้เป็นพี่ชายแล้ว ก็นำทัพกวาดล้างแคว้นเหลียวเป็นผลสำเร็จ ทัพจินอ้างเหตุรุกไล่ติดตามตัวนายทัพเหลียว นำทัพล่วงเข้ามาในแดนซ่ง แยกย้ายบุกแดนไท่หยวนและเยียนจิง (ปักกิ่ง) แม่ทัพรักษาเมืองเยียนจิงยอมสวามิภักดิ์ทัพจิน นำทางเคลื่อนทัพรุกประชิดเมืองหลวงไคฟงซ่งฮุยจงเมื่อได้ทราบข่าวทัพจินเคลื่อนลงใต้ รีบสละบัลลังก์ให้กับรัชทายาทส่วนตัวเองหลบหนีลงใต้ ซ่งชินจง เมื่อขึ้นครองราชย์ ก็เรียกประชุมเสนาบดีคิดหาหนทางแก้ไขวิกฤตครั้งนี้ กลุ่มขุนนางใหญ่สนับสนุนให้ย้ายเมืองหลวงเพื่อลี้ภัย ทว่าหลี่กัง อาสาทำหน้าที่รักษาเมืองอย่างแข็งขัน หัวเมืองรอบนอกเมื่อทราบข่าวทัพจินก็รวมตัวกันจัดตั้งกองกำลังต่อต้านการรุกรานจากภายนอก ทัพจินเมื่อไม่สามารถเอาชัยได้ในระยะเวลาอันสั้น ก็เริ่มขาดแคลนเสบียง ในเวลาเดียวกัน ซ่งชินจงแอบทำสัญญาสงบศึกกับทัพจิน โดยยินยอมจ่ายทรัพย์สินเงินทองจำนวนมหาศาล อีกทั้งส่งมอบดินแดนสามเมืองให้เป็นการชดเชย ฝ่ายจินจึงยอมถอนทัพกลับภาคเหนือ ภายหลังวิกฤตหลี่กังถูกปลดจากตำแหน่ง ราชสำนักซ่งแม้ว่ารับปากส่งมอบเมืองไท่หยวน จงซานและเหอเจียงให้กับแคว้นจิน แต่ราษฎรในท้องถิ่นต่างพากันต่อต้านทัพจินอย่างไม่คิดชีวิต ทัพจินไม่อาจเข้าครอบครองทั้งสามเมืองได้ จึงส่งกองกำลังบุกลงใต้มาอีกครั้ง แต่คราวนี้ ชาวเมืองไท่หยวนที่ยืนหยัดต่อสู้เป็นเวลานาน เกิดขาดแคลนเสบียง จึงต้องเสียเมืองในที่สุด ทัพจินรุกประชิดเมืองไคฟงอีกครั้ง ราชสำนักซ่งเหนือจัดส่งราชทูตไปเจรจาสงบศึกแต่ไม่เป็นผล ทัพจินบุกเข้าเมืองไคฟงกวาดต้อน ซ่งเว่ยจง ซ่งชินจง และเชื้อพระวงศ์ ไปเป็นเชลย อีกทั้งปล้นสะดมทรัพย์สินในท้องพระคลังไปจนหมดสิ้น ราชวงศ์ซ่งเหนือล่มสลาย

ในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ แม้มีการศึกสงครามประปรายเป็นระยะ แต่เนื่องจากพื้นที่บางส่วนยังมีความสงบสุขอยู่บ้าง ดังนั้น วิทยาการความรู้ การผลิต ยังคงมีความก้าวหน้าอย่างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคนิคการพิมพ์ ถือเป็นผลงานที่โดดเด่นในยุคนี้ นอกจากนี้ ความจำเป็นของการศึกสงคราม ราชสำนักซ่งยังได้มีการผลิตดินปืนขึ้นเพื่อใช้ในการรบเป็นครั้งแรกในด้านศิลปะและวรรณคดี ก็มีอัจฉริยะที่โดดเด่นปรากฏขึ้นไม่น้อย บทกวี ในสมัยซ่งได้รับการยอมรับว่า มีความสำเร็จอย่างสูง เนื่องจากระบบการสอบจอหงวนทำให้กลุ่มปัญญาชนได้รับอิสระในการพัฒนาตนเองขึ้นมา อาทิ หวังอันสือ ฟ่านจ้งเยียน ซือหม่ากวง เป็นต้น อีกทั้งยังได้ฝากผลงานภาพวาดฝีมือเยี่ยมไว้มากมายที่โดดเด่นเป็นที่รู้จัก ได้แก่ฝีมือของ ซ่งฮุยจง กษัตริย์องค์ที่แปดแห่งราชวงศ์ซ่งเหนือ นับแต่ราชวงศ์ซ่งเป็นต้นมา ประวัติศาสตร์การแบ่งแยกอันยาวนานของจีนในลักษณะนี้ก็ไม่เกิดขึ้นอีก หลังจากซ่งเหนือถูกล้มล้างโดยราชวงศ์จิน ได้เปิดกระแสการรุกรานจากชนเผ่านอกด่านเข้าครอบครองแผ่นดินจีนในเวลาต่อมา

ราชวงศ์ซ่งใต้ (พ.ศ. 1670 – พ.ศ. 1822)[แก้]

ราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋) ก่อตั้งขึ้นโดยเจ้าโก้ว (趙構) ชาวฮั่นซึ่งเป็นทายาทของตระกูลเจ้า ที่สืบทอดมาจากราชวงศ์ซ่งเหนือ ก่อตั้งราชธานีขึ้นในบริเวณดินแดนแถบเจียงหนาน (พื้นที่ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง) เรียกว่าเมืองหลินอัน (臨安; ปัจจุบันคือเมืองหางโจว (หังโจว) ในมณฑลเจ้อเจียง) โดยเจ้าโก้วนั้นสถาปนาตนขึ้นเป็น ซ่งเกาจง (宋高宗) ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ซ่งใต้ กระนั้นตลอดระยะเวลา 153 ปีของราชวงศ์ซ่งใต้ รวมฮ่องเต้ 9 พระองค์ ราชวงศ์นี้กลับตกอยู่ภายใต้การคุกคามของอาณาจักรจิน (คนไทยมักเรียกว่า “กิม”) โดยตลอด จนกระทั่งพบจุดจบภายใต้เงื้อมมือของชนเผ่ามองโกลความขัดแย้งภายในและความอ่อนแอของราชวงศ์ซ่งใต้อันเป็นมรดกตกทอดมาจากราชวงศ์ซ่งเหนือ ทำให้ตลอดเวลา 150 กว่าปีของราชวงศ์ซ่งใต้ ชาวฮั่นไม่มีโอกาสที่จะกลับไปยึดครองดินแดนทางภาคเหนือคืนได้อีกเลย โดยพรมแดนทางตอนเหนือสุดของราชวงศ์ซ่งใต้ที่ติดกับเขตแดนของอาณาจักรจินนั้นก็คือ เส้นลากจากแม่น้ำเว่ยสุ่ย (淮水) ผ่านสองเขต ถัง (唐; ปัจจุบันคือถังเหอ มณฑลเหอหนาน) และ เติ้ง (ปัจจุบันคือตำบลเติ้งตะวันออก ในมณฑลเหอหนาน) ไปสิ้นสุดที่ด่านฉินหลิงต้าซ่าน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในบริเวณมณฑลส่านซี ขณะที่พรมแดนทางด้านอื่นๆ นั้นยังคงเดิมเหมือนกับราชวงศ์ซ่งเหนือหลังจากกองทัพจินบุกเข้าเมืองไคฟงกวาดต้อน ซ่งฮุยจงและซ่งชินจง สองฮ่องเต้แห่งซ่งเหนือ รวมถึงเชื้อพระวงศ์ ไปเป็นเชลย อีกทั้งปล้นสะดมทรัพย์สินในท้องพระคลังไปจนหมดสิ้นจนกระทั่งราชวงศ์ซ่งเหนือล่มสลาย ในเดือนสองปี ค.ศ. 1127 เนื่องด้วยปีดังกล่าวนั้นเป็นปีแรกของศักราชจิ้งคัง (靖康元年) ทำให้นักประวัติศาสตร์จีนเรียกเหตุการณ์การจับสองฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ซ่งเหนือไปเป็นเชลยว่าเป็น เหตุการณ์ปีจิ้งคัง หรือ ทุกขภัยสมัยจิ้งคัง (靖康之變) ต่อมาในเดือนห้าของปีเดียวกัน เชื้อพระวงศ์และแม่ทัพของกองทัพราชวงศ์ซ่งเหนือที่ล่มสลายนามเจ้าโก้ว ได้อาศัยช่วงเวลาที่กองทัพจินถอนทัพตั้งราชวงศ์ซ่งขึ้นใหม่ที่เมือนหนานจิง (ปัจจุบันคือเมืองซังชิว มณฑลเหอหนาน) และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้ซ่งเกาจง ในปีถัดมา (ค.ศ. 1128) ซ่งเกาจงได้ย้ายราชธานีมาอยู่ที่เมืองหลินอัน (เมืองหางโจวในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นเมืองทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง และเป็นเมืองที่มีภูมิชัยค่อนข้างดีในการตั้งรับการรุกรานจากอาณาจักรจินทั้งนี้นักประวัติศาสตร์รุ่นหลังได้เรียกขานราชวงศ์ที่ตั้งขึ้นใหม่ ณ ดินแดนเจียงหนานนี้ว่า “ราชวงศ์ซ่งใต้” หลังยึดดินแดนในแถบเจียงหนานเป็นฐานที่มั่นได้ ฮ่องเต้ซ่งเกาจง ได้แต่งตั้งหลี่กัง (李綱) ขึ้นมาดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี และจงเจ๋อ (宗澤) ขุนนางที่ภักดีต่อราชวงศ์ซ่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งเสนาบดี ทั้งยังดำเนินยุทธวิธีทางการทหารหลายประการ เพื่อปกป้องตนเองจากการรุกรานของชนเผ่าจินอย่างแข็งขัน ด้วยการกุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญในพื้นที่ต่างๆ, พัฒนายุทโธปกรณ์ทางการทหารให้มีความทันสมัยขึ้น, ปฏิรูประบบการทหารเพิ่มความเข้มแข็งให้กับกองทัพ ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จพอสมควร อย่างไรก็ตามเนื่องจากฮ่องเต้ราชวงศ์ซ่งใต้มีบัญชาให้ดำเนินนโยบายสันติและปกป้องดินแดนเป็นหลัก ทั้งยังมีแนวนโยบายพื้นฐานให้ขุนนางฝ่ายบุ๋นเป็นฝ่ายควบคุมขุนนางฝ่ายบู๊ ยกการเมืองเหนือการทหาร ส่งผลให้การขยายดินแดน การยึดครองดินแดนที่เสียไปในราชวงศ์ซ่งเหนือไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ และก็ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้หลี่กังซึ่งสนับสนุนให้มีการดำเนินนโยบายยึดดินแดนที่เสียไปกลับคืนมาดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีได้เพียง 75 วันก็ถูกปลด ขณะที่เสนาบดีจงเจ๋อถึงกับตรอมใจตายในประเด็นดังกล่าวนี้ นักประวัติศาสตร์จีนได้มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ฮ่องเต้ซ่งเกาจงไม่ต้องการให้กองทัพของพระองค์บุกขึ้นเหนือไปยึดดินแดนคืนจากพวกจินก็เพราะว่า หนึ่งพระองค์เกรงกลัวต่อกองทัพจิน และสองพระองค์เกรงกลัวว่าหากสามารถปราบพวกจินได้ฮ่องเต้สองพระองค์ที่ถูกจับเป็นเชลยไปคือ ซ่งฮุยจงและซ่งชินจงจะกลับมาแย่งบัลลังก์จากพระองค์ไป ... ด้วยความขัดแย้งอันนี้นี่เองที่ทำให้ภายในราชสำนักซ่งใต้เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างขุนนางฝ่ายเหยี่ยวและขุนนางฝ่ายพิราบโดยตลอดในปี ค.ศ. 1128 กองทัพจินได้ทียกทัพลงมารุกรานดินแดนทางตอนใต้อีกครั้ง โดยสามารถบุกตีเมืองสำคัญๆ ได้หลายแห่ง คือ เปี้ยนจิง (汴京), สีว์โจว (徐州), หยางโจว (揚州) เป็นต้น ต่อมาในฤดูหนาวปีเดียวกันแม่ทัพของจินนามอูจู๋ (兀術) ได้ยกทัพใหญ่บุกเมืองเจี้ยนคัง (建康) และ หางโจว เมื่อฮ่องเต้ซ่งเกาจงเห็นสถานการณ์กำลังตกอยู่ในภาวะคับขันพระองค์จึงหลบหนีไปยังเมืองติ้งไห่ (定海; ปัจจุบันคือเมืองเจิ้นไห่ มณฑลเจ้อเจียง) และเวินโจว ในเวลาเดียวกันเนื่องจากระหว่างการยกทัพมารุกรานชาวฮั่น ทหารจินได้ทำการฆ่าฟันชาวฮั่นด้วยความโหดเหี้ยม ทำให้ในหลายๆ พื้นที่ชาวบ้านมีความโกรธแค้นทหารจินเป็นอย่างมาก จนกระแสการต่อต้านกองทัพจินในหลายพื้นที่นั้นพุ่งขึ้นสูงในภาวะวิกฤตของชาติเช่นนี้นี่เอง ทำให้ในกองทัพของราชวงศ์ซ่งใต้ก่อกำเนิดขุนศึกเลื่องชื่อเกิดขึ้นหลายคน โดยหนึ่งในขุนศึกที่ชนรุ่นหลังรู้จักกันดีที่สุดก็คือ งักฮุย

งักฮุย หรือ เย่ว์เฟย (岳飛 พ.ศ. 1646-พ.ศ. 1685)[แก้]

เกิดในครอบครัวชาวนาในมณฑลเหอหนาน ค.ศ. 1125 ขณะที่งักฮุยอายุได้ 22 ปี เมื่อกองทัพจินบุกลงใต้ เขาได้ร่วมกับกองทัพในการปกป้องเมืองไคเฟิง ด้วยความเก่งกาจในการรบของงักฮุยทำให้เขาได้รับชัยชนะในการต่อสู้กับกองทัพจินโดยตลอด ในเวลาต่อมาเมื่อได้เลื่อนขึ้นเป็นแม่ทัพ งักฮุยได้ฝึกฝนกองทัพอันเข้มแข็งของตัวเองขึ้นในในนาม “กองทัพงักฮุย (岳家軍) ” ความเข้มแข็งและชัยชนะอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทหารจินนั้นครั่นคร้ามต่อกองทัพงักฮุยเป็นอย่างยิ่ง จนมีคำร่ำลือกันในหมู่ทหารจินว่า “โยกภูเขานั้นง่าย คลอนทัพงักฮุยนั้นยากยิ่ง”ในปี ค.ศ. 1140 ภายในอาณาจักจินเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยแม่ทัพสายเหยี่ยวอย่างอูจู๋ขึ้นมามีอิทธิพลในราชสำนักจิน ส่งผลให้ในเวลาต่อมากองทัพจินยกทัพลงมารุกรานอาณาจักรซ่งใต้อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีการแบ่งการเดินทัพออกเป็นหลายสาย อย่างไรก็ตามด้วยการต่อต้านอันเข้มแข็งของประชาชนและทหารซ่งทำให้สามารถยันกองทัพจินเอาไว้ได้ นอกจากนี้ด้วยความกล้าหาญและสามารถของแม่ทัพแห่งราชวงศ์ซ่งหลายต่อหลายนายอย่างเช่น หานซื่อจง (韓世忠), จางจุ้น (張俊) รวมไปถึงงักฮุย ทำให้นอกจากจะสามารถป้องกันอาณาเขตไว้ได้แล้ว กองทัพซ่งยังสามารถรุกเอาดินแดนคืนได้อีกมากมายด้วย โดยกองทัพของงักฮุยสามารถยึดเอาไช่โจว (蔡州; ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอหนาน) อิ่งชาง (穎昌; ปัจจุบันอยู่ในเหอหนาน) เจิ้งโจว และลั่วหยาง คืนมาจากจินได้ โดยในเวลาต่อมากองทหารม้าของงักฮุยยังสามารถรักษาเหยี่ยนเฉิง (郾城; ปัจจุบันอยู่ในเหอหนาน) และตีกองทัพทหารม้าอันเข้มแข็งของอูจู๋เสียกระเจิงอีกด้วย โดยชัยชนะครั้งนั้นในหน้าประวัติศาสตร์จีนบันทึกเอาไว้ว่าคือ “ชัยชนะที่เหยี่ยนเฉิง (郾城大捷) ” ณ เวลานั้นแม้ว่าสถานการณ์จะเป็นใจอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูประเทศของราชวงศ์ซ่งใต้ แต่ฮ่องเต้ซ่งเกาจงที่ได้รับคำแนะนำจากนายกรัฐมนตรีนามฉินไคว่ (秦檜) กลับมีแนวนโยบายในการเจรจาสงบศึกกับอาณาจักรจิน โดยมองว่างักฮุยนั้นคืออุปสรรคของการเจรจา ทำให้มีการส่งป้ายทองอาญาสิทธิ์ 12 ป้ายภายในวันเดียวเรียกให้งักฮุยถอนทัพกลับมาทางใต้ แม้งักฮุยจะพยายามฝืนคำสั่งของราชสำนักเช่นไรแต่สุดท้ายก็ทัดทานไว้ไม่ไหวต้องยกทัพกลับเมืองหลวง ปล่อยให้กองทัพจินยึดดินแดนคืนกลับไปหลังงักฮุยถอนทัพกลับมายังเมืองหลวง ฉินไคว่ก็ใส่ร้ายว่างักฮุยนั้นมักใหญ่ใฝ่สูง คิดการใหญ่จะก่อกบฏล้มล้างราชสำนักจนถูกส่งเข้าคุก ในเวลาเดียวกันราชสำนักซ่งก็บรรลุข้อตกลงในสัญญาสงบศึกกับอาณาจักรจิน สัญญาสงบศึกดังกล่าวลงนามกันในปี ค.ศ. 1211 อันเป็นปีที่ 11 ของศักราชเส้าซิงทำให้ได้ชื่อว่าเป็น “สัญญาสงบศึกเส้าซิง” สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่ซ่งใต้เสียเปรียบจินเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องซ่งใต้ต้องยอมลดตัวเป็น ‘บ่าว’ ยกย่องจินไว้เป็น ‘นาย’ ทุกปีซ่งต้องส่งของบรรณาการไปจิ้มก้องให้กับจินเป็นเงิน 250,000 ตำลึงกับผ้าไหมจำนวน 250,000 พับ ทั้งต้องยอมยกดินแดนถังโจว (唐州) เติ้งโจว (鄧州) ทั้งหมดรวมไปถึงพื้นที่ครึ่งหนึ่งของ ซังโจว (商州) และฉินโจว (秦州) ให้กับจินด้วย ทั้งนี้ภายหลังการเซ็นสัญญาสงบศึกดังกล่าวได้ไม่นานงักฮุยก็ต้องโทษ “อาจจะมีก็ได้ (莫須有) ”* ถึงขั้นประหารชีวิตทั้งนี้ในสมัยฮ่องเต้ซ่งใต้องค์ต่อๆ มาก็ยังมีการลงนามในสัญญาสันติภาพอีก 2 ครั้ง โดยมีความเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาเล็กน้อย คือ ในสมัยฮ่องเต้ซ่งเสี้ยวจง (宋孝宗) จินกับซ่งเปลี่ยนสถานะเป็นอากับหลาน โดยทุกๆ ปี ซ่งต้องส่งเงิน 200,000 ตำลึง และผ้าไหมจำนวน 200,000 พับให้กับจิน ขณะที่สัญญาสันติภาพในสมัยฮ่องเต้ซ่งหนิงจง (宋寧宗) อาณาจักรจินมีสถานะเป็นลุงของราชวงศ์ซ่ง ขณะที่ทุกๆ ปีซ่งจะต้องส่งเงิน 300,000 ตำลึง และผ้าไหมจำนวน 300,000 พับให้กับจินผลจากการซื้อสันติภาพดังกล่าว ส่งผลให้ดินแดนทางภาคเหนือทั้งหมดหลุดไปจากความควบคุมของฮ่องเต้ซ่งใต้โดยเด็ดขาด ภายใต้การปกครองของจิน ชีวิตของชาวจีนทางภาคเหนือก็ตกอยู่ภายใต้ความยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง โดยชาวฮั่นนั้นต้องตกอยู่ในสภาพของชาวนาเช่าที่ต้องเช่าที่ดินจากชาวจิน ขณะที่ในส่วนของราชวงศ์ซ่งใต้ การสูญเสียดินแดนทางภาคเหนือไปทำให้อาณาเขตการปกครองของซ่งใต้นั้นมีเนื้อที่เพียง 2 ใน 3 ของอาณาจักรซ่งเหนือเท่านั้น

ซ่งใต้กับอิทธิพลของมองโกล[แก้]

แม้ว่าหลังจากนั้นจะเกิดศึกสามเส้า เพื่อแย่งดินแดนทางภาคเหนือกันอย่างดุเดือดระหว่าง ชนเผ่ามองโกล ซีเซี่ย และจิน แต่ด้วยความอ่อนแอของราชสำนักซ่งใต้ ทำให้ชาวฮั่นไม่สามารถขยับขยายอาณาจักรของตนให้กว้างขวางได้แต่อย่างใด ทั้งนี้เมื่ออาณาจักรมองโกลเข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ และกลืนอาณาจักรซีเซี่ยไปรวมกับตน ทัพมองโกลอันเหี้ยมหาญก็หันมาสู้รบกับอาณาจักรจินที่อาจถือว่าเป็นรัฐกันชนที่ป้องกันอาณาจักรซ่งใต้จากการคุกคามของมองโกลภายใต้สภาวะสามเส้าดังกล่าว ราชสำนักซ่งกลับหันไปจับมือกับมองโกลเพื่อจัดการกับจิน โดยผลสุดท้ายแม้จะกำจัดอาณาจักรจินได้สำเร็จ แต่ซ่งใต้กลับไม่อาจยึดคืนดินแดนที่เคยเป็นของตนกลับมาได้ ทั้งความร่วมมือกับมองโกลยังแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของกองทัพซ่งใต้ให้เป็นที่ประจักษ์อีกด้วยหลังจากสิ้นรัฐกันชนอย่างจินลง อาณาจักรมองโกลกับซ่งก็เกิดกรณีพิพาททางพรมแดนอยู่เสมอ ๆ โดยใน ปี ค.ศ. 1278 กองทัพมองโกลยกทัพข้ามแม่น้ำแยงซีเกียงลงมาประชิดราชธานีหลินอัน ฮ่องเต้ซ่งกงตี้ (宋恭帝) และพระมารดาจึงตัดสินใจยอมจำนนต่อกองทัพมองโกล ขณะที่ขุนนางบางส่วนที่ยังมีจิตใจคิดสู้ก็ถอนทัพลงไปทางใต้ ถอยไปตั้งหลักยังฝูเจี้ยน กวางตุ้งและตั้งราชธานีชั่วคราวขึ้นโดยยกเจ้าซื่อ และ เจ้าปิ่งขึ้นเป็นฮ่องเต้นาม ซ่งตวนจง (宋端宗) และซ่งม่อจง (宋末帝) ตามลำดับ ขุนนางเหล่านั้นนำโดย เหวินเทียนเสียง (文天祥), ลู่ซิ่วฟู (陸秀夫), จางซื่อเจี๋ย (張世傑) อย่างไรก็ตามในเดือน 12 ของปีเดียวกัน กองทัพของเหวินเทียนเสียงก็ต้องพ่ายให้แก่กองทัพมองโกลอันแข็งแกร่ง โดยเหวินเทียนเสียงถูกจับเป็นเชลย ณ เมืองต้าตูและเสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1282

เหวินเทียนเสียงขุนนางผู้ภักดี[แก้]

สำหรับเหวินเทียนเสียงนั้นถือเป็นขุนนางและนักกวีผู้มีชื่อเสียงเลื่องระบืออย่างยิ่งในฐานะผู้ยืดหยัดต่อต้านมองโกล และเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์อย่างยิ่ง โดยบทกวี กั้วหลิงติงหยาง (過零丁洋) ซึ่งในสองวรรคสุดท้ายเขียนเอาไว้ว่า “นับแต่อดีตมามีผู้ใดบ้างที่เคยหนีจากความตายได้ จะเหลือทิ้งไว้ก็แต่เพียงหัวใจอันสัตย์ซื่อนี้ที่ส่องสว่างอยู่ในประวัติศาสตร์ (人生自古誰無死, 留取丹心照汗青。) ” เป็นประโยคที่คนจีนทุกคนยังท่องจำได้ขึ้นใจจนกระทั่งปัจจุบันค.ศ. 1279 ปีที่สองของรัชสมัยเสียงซิงของซ่งม่อตี้ กองทัพมองโกลยกทัพเข้าตีภูเขาหยาซานโดยคราวนี้ลู่ซิ่วฟูต้องแบกฮ่องเต้หลบหนีและหายสาบสูญไป ขณะที่จางซื่อเจี๋ยนั้นพลีชีพไปในการรบ จากเหตุการณ์นี้เองที่นักประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดของราชวงศ์ซ่งใต้

เศรษฐกิจและวัฒนธรรมสมัยซ่งใต้[แก้]

ในทางการเมืองแม้สมัยซ่งใต้จะถูกจัดว่าเป็นราชวงศ์ที่อ่อนแอที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ กระนั้นความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในสมัยซ่งใต้กลับโดดเด่นสวนกระแสความตกต่ำทางการเมือง ด้วยอิทธิพลทางการค้าที่ การค้าขายภายในประเทศและกับต่างประเทศถือว่าเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากในด้านการเกษตร ด้วยความที่พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่นั้นอยู่ภายในดินแดนของอาณาจักรซ่งใต้ ทำให้ระดับปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรของซ่งใต้นั้นไม่ได้ด้อยกว่าซ่งเหนือเลย นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยี ในการผลิตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตอาวุธ การพัฒนาเครื่องมือทางการเกษตรใหม่ ๆ การทำเหมืองแร่ หลอมโลหะ ต่อเรือ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีเทคโนโลยีและขนาดการผลิตที่เหนือกว่ายุคซ่งเหนือมาก นอกจากนี้แล้วยังมีการพัฒนาการเลี้ยงหม่อนไหม การทอผ้าไหม การทอผ้าฝ้าย การผลิตเครื่องเคลือบดินเผา ซึ่งก็ถือว่ามีความก้าวหน้ามากกว่าเดิมเช่นกัน มากกว่านั้นหลังจากที่ปี่เซิง (畢昇) ในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือได้คิดค้นเทคโนโลยีการพิมพ์แบบใหม่ที่สามารถเรียงพิมพ์ได้ (活字印刷) ขึ้นทำให้การพิมพ์หนังสือเป็นจำนวนมาก ๆ ง่ายขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตกระดาษก้าวหน้าตามขึ้นไปด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้วัฒนธรรมของราชวงศ์ซ่งแพร่หลายไปอย่างรวดเร็วและเป็นไปในวงกว้างขึ้นทั้งนี้ทั้งนั้นความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด มีนัยยะต่อการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดที่เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่งก็คือ “การค้า” หรือ “พาณิชยกรรม” อ้างอิงจากแฟร์แบงค์และไรสชาวร์ สองนักประวัติศาสตร์จีนคนสำคัญของโลกตะวันตกมองว่า สมัยซ่งถือเป็นจุดกำเนิดของ “การปฏิวัติพาณิชยกรรม” ในประเทศ โดยในสมัยซ่งใต้ การค้าภายในประเทศและกับต่างประเทศนั้นมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในส่วนของพ่อค้าจีนเองก็มีการค้าผ่านทางทะเลกับเกาหลี ญี่ปุ่น และดินแดนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังมีการแข่งขันกันทำการค้ากับชาวอาหรับและเปอร์เซียอีกด้วย สำหรับสาเหตสำคัญที่การค้าทางทะเลขยายตัวขึ้นอย่างมากในสมัยซ่งใต้ก็อันเนื่องมาจาก ดินแดนทางภาคเหนือของจีนที่แต่ดั้งเดิมเป็นเส้นทางการค้าทางบกที่เรียกกันว่าเส้นทางสายไหมนั้นตกอยู่ภายใต้การควบคุมของอาณาจักรซีเซี่ยและจิน ทำให้พ่อค้าชาวจีนต้องหันไปใช้เรือขนส่งสินค้าแทน โดยผลที่ตามมาก็คือพ่อค้าทางทะเลเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ส่วนเมืองต่าง ๆ ตามริมชายฝ่ายทะเลก็เพิ่มความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้การค้าโดยเงินที่ทำจากกระดาษ (ธนบัตร) ก็ถือว่าแพร่หลายอย่างมากในสมัยซ่งนี่เองในเชิงวัฒนธรรมในสมัยซ่งใต้นั้นมีปราชญ์ถือกำเนิดขึ้นหลายคนไม่ว่าจะเป็นนักปราชญ์แห่งลัทธิขงจื๊อใหม่ (หรือเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า หลี่เสวีย, 理學) อย่างจูซี (朱熹), ลู่จิ่วยวน (陸九淵) รวมไปถึงกวีเอกอย่างลู่โหยว (陸遊) เป็นต้น

อ้างอิง[แก้]

  • Adshead, S.A.M. (2004). T'ang China: The Rise of the East in World History. New York: Palgrave Macmillan. ISBN 1-4039-3456-8 (hardback).
  • Anderson, James A. (2008). "'Treacherous Factions': Shifting Frontier Alliances in the Breakdown of Sino-Vietnamese Relations on the Eve of the 1075 Border War," in Battlefronts Real and Imagined: War, Border, and Identity in the Chinese Middle Period, 191-226. Edited by Don J. Wyatt. New York: Palgrave MacMillan. ISBN 978-1-4039-6084-9.
  • Bol, Peter K. "The Rise of Local History: History, Geography, and Culture in Southern Song and Yuan Wuzhou," Harvard Journal of Asiatic Studies (Volume 61, Number 1, 2001) : 37–76.
  • Brook, Timothy (1998). The Confusions of Pleasure: Culture and Commerce in Ming China. Berkeley: University of California Press. ISBN 978-0-520-22154-3
  • Brose, Michael C. (2008). "People in the Middle: Uyghurs in the Northwest Frontier Zone," in Battlefronts Real and Imagined: War, Border, and Identity in the Chinese Middle Period, 253-289. Edited by Don J. Wyatt. New York: Palgrave MacMillan. ISBN 978-1-4039-6084-9.
  • Ebrey, Patricia Buckley, Anne Walthall, James B. Palais (2006). East Asia: A Cultural, Social, and Political History. Boston: Houghton Mifflin Company. ISBN 0-618-13384-4.
  • Ebrey, Patricia Buckley (1999). The Cambridge Illustrated History of China. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 0-521-66991-X (paperback).
  • Embree, Ainslie Thomas (1997). Asia in Western and World History: A Guide for Teaching. Armonk: ME Sharpe, Inc.
  • Chan, Alan Kam-leung and Gregory K. Clancey, Hui-Chieh Loy (2002). Historical Perspectives on East Asian Science, Technology and Medicine. Singapore: Singapore University Press. ISBN 9971-69-259-7
  • Fairbank, John King and Merle Goldman (1992). China: A New History; Second Enlarged Edition (2006). Cambridge; London: The Belknap Press of Harvard University Press. ISBN 0-674-01828-1
  • Fraser, Julius Thomas and Francis C. Haber. (1986). Time, Science, and Society in China and the West. Amherst: University of Massachusetts Press. ISBN 0-87023-495-1.
  • Gernet, Jacques (1962). Daily Life in China on the Eve of the Mongol Invasion, 1250-1276. Translated by H.M. Wright. Stanford: Stanford University Press. ISBN 0-8047-0720-0
  • Graff, David Andrew and Robin Higham (2002). A Military History of China. Boulder: Westview Press.
  • Guo, Qinghua. "Yingzao Fashi: Twelfth-Century Chinese Building Manual," Architectural History: Journal of the Society of Architectural Historians of Great Britain (Volume 41 1998) : 1–13.
  • Hall, Kenneth (1985). Maritime trade and state development in early Southeast Asia. Hawaii: University of Hawaii Press. ISBN 0-8248-0959-9.
  • Hansen, Valerie. (2000). The Open Empire: A History of China to 1600. New York & London: W.W. Norton & Company. ISBN 0-393-97374-3.
  • Hargett, James M. "Some Preliminary Remarks on the Travel Records of the Song Dynasty (960-1279)," Chinese Literature: Essays, Articles, Reviews (CLEAR) (July 1985) : 67–93.
  • Hargett, James M. "Song Dynasty Local Gazetteers and Their Place in The History of Difangzhi Writing," Harvard Journal of Asiatic Studies (Volume 56, Number 2, 1996) : 405–442.
  • Hartwell, Robert M. "Demographic, Political, and Social Transformations of China, 750-1550," Harvard Journal of Asiatic Studies (Volume 42, Number 2, 1982) : 365–442.
  • Hymes, Robert P. (1986). Statesmen and Gentlemen: The Elite of Fu-Chou, Chiang-Hsi, in Northern and Southern Sung. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 0-521-30631-0.
  • Hsu, Mei-ling. "The Qin Maps: A Clue to Later Chinese Cartographic Development," Imago Mundi (Volume 45, 1993) : 90-100.
  • Levathes, Louise (1994). When China Ruled the Seas. New York: Simon & Schuster. ISBN 0-671-70158-4.
  • Lorge, Peter (2005). War, Politics and Society in Early Modern China, 900-1795: 1st Edition. New York: Routledge.
  • McKnight, Brian E. (1992). Law and Order in Sung China. Cambridge: Cambridge University Press.
  • Mohn, Peter (2003). Magnetism in the Solid State: An Introduction. New York: Springer-Verlag Inc. ISBN 3-540-43183-7
  • Mote, F.W. (1999). Imperial China: 900-1800. Harvard: Harvard University Press.
  • Needham, Joseph and Wang Ling. "Horner's Method in Chinese Mathematics: Its Origins in the Root-Extraction Procedures of the Han Dynasty," T'oung Pao, Second Series, Vol. 43, No. 5 (1955) : 345-401.
  • Needham, Joseph (1986). Science and Civilization in China: Volume 1, Introductory Orientations. Taipei: Caves Books, Ltd.
  • Needham, Joseph (1986). Science and Civilization in China: Volume 3, Mathematics and the Sciences of the Heavens and the Earth. Taipei: Caves Books, Ltd.
  • Needham, Joseph (1986). Science and Civilization in China: Volume 4, Physics and Physical Technology, Part 2: Mechanical Engineering. Taipei: Caves Books, Ltd.
  • Needham, Joseph (1986). Science and Civilization in China: Volume 4, Physics and Physical Technology, Part 3: Civil Engineering and Nautics. Taipei: Caves Books, Ltd.
  • Needham, Joseph (1986). Science and Civilization in China: Volume 5, Chemistry and Chemical Technology, Part 7: Military Technology; The Gunpowder Epic. Taipei: Caves Books, Ltd.
  • Paludan, Ann (1998). Chronicle of the Chinese Emperors. London: Thames & Hudson. ISBN 0500050902.
  • Peers, C.J. (2006). Soldiers of the Dragon: Chinese Armies 1500 BC-AD 1840. Oxford: Osprey Publishing.
  • Rossabi, Morris (1988). Khubilai Khan: His Life and Times. Berkeley: University of California Press. ISBN 0-520-05913-1.
  • Rudolph, R.C. "Preliminary Notes on Sung Archaeology," The Journal of Asian Studies (Volume 22, Number 2, 1963) : 169–177.
  • Sastri, Nilakanta, K.A. The CōĻas, University of Madras, Madras, 1935 (Reprinted 1984).
  • Schafer, Edward H. "War Elephants in Ancient and Medieval China," Oriens (Volume 10, Number 2, 1957) : 289-291.
  • Sen, Tansen. (2003). Buddhism, Diplomacy, and Trade: The Realignment of Sino-Indian Relations, 600–1400. Manoa: Asian Interactions and Comparisons, a joint publication of the University of Hawaii Press and the Association for Asian Studies. ISBN 0-8248-2593-4.
  • Shen, Fuwei (1996). Cultural flow between China and the outside world. Beijing: Foreign Languages Press. ISBN 7-119-00431-X.
  • Sivin, Nathan (1995). Science in Ancient China. Brookfield, Vermont: VARIORUM, Ashgate Publishing.
  • Steinhardt, Nancy Shatzman. "The Tangut Royal Tombs near Yinchuan", Muqarnas: An Annual on Islamic Art and Architecture (Volume X, 1993) : 369-381.
  • Sung, Tz’u, translated by Brian E. McKnight (1981). The Washing Away of Wrongs: Forensic Medicine in Thirteenth-Century China. Ann Arbor: University of Michigan Press. ISBN 0-89264-800-7
  • Temple, Robert. (1986). The Genius of China: 3,000 Years of Science, Discovery, and Invention. With a forward by Joseph Needham. New York: Simon and Schuster, Inc. ISBN 0-671-62028-2.
  • Wagner, Donald B. "The Administration of the Iron Industry in Eleventh-Century China," Journal of the Economic and Social History of the Orient (Volume 44 2001) : 175–197.
  • Wang, Lianmao (2000). Return to the City of Light: Quanzhou, an eastern city shining with the splendour of medieval culture. Fujian People's Publishing House.
  • West, Stephen H. "Playing With Food: Performance, Food, and The Aesthetics of Artificiality in The Sung and Yuan," Harvard Journal of Asiatic Studies (Volume 57, Number 1, 1997) : 67–106.
  • Wright, Arthur F. (1959). Buddhism in Chinese History. Stanford: Stanford University Press.
  • Yuan, Zheng. "Local Government Schools in Sung China: A Reassessment," History of Education Quarterly (Volume 34, Number 2; Summer 1994) : 193–213.
  • Cotterell, Arthur. (2007). The Imperial Capitals of China - An Inside View of the Celestial Empire. London: Pimlico. pp. 304 pages. ISBN 9781845950095.
  • Gascoigne, Bamber (2003). The Dynasties of China: A History. New York: Carroll & Graf. ISBN 1-84119-791-2.
  • Giles, Herbert Allen (1939). A Chinese biographical dictionary (Gu jin xing shi zu pu) . Shanghai: Kelly & Walsh. (see here for more)
  • Gernet, Jacques (1982). A history of Chinese civilization. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 0-521-24130-8.
  • Kruger, Rayne (2003). All Under Heaven: A Complete History of China. Chichester: John Wiley & Sons. ISBN 0-470-86533-4.
  • Paludan, Ann. (1998). Chronicle of the China Emperors. London: Thames & Hudson. pp. 224 pages. ISBN 0-500-05090-2.
  • Tillman, Hoyt C. and Stephen H. West (1995). China Under Jurchen Rule: Essays on Chin Intellectual and Cultural History. Albany, New York: State University of New York Press.
ก่อนหน้า ราชวงศ์ซ่ง ถัดไป
ยุคห้าวงศ์สิบรัฐ ราชวงศ์ในประวัติศาสตร์จีน
(ค.ศ. 960–1279)
ราชวงศ์หยวน