สามารถ แขนควง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สามารถ แขนควง
เกิดสามารถ คุณสวัสดิ์
จังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทย
อาชีพนักแสดงตลก, ผู้นำเชียร์

สามารถ แขนควง หรือชื่อจริง สามารถ คุณสวัสดิ์ เป็นผู้นำเชียร์ระดับประเทศ[1] และระดับนานาชาติ ซึ่งได้รับรางวัลกองเชียร์เกียรติยศ จากสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย[2]

ทั้งนี้ สามารถยังเป็นบุคคลที่ได้รับการจดจำไปทั่วโลก จากลีลาการเชียร์ด้วยท่าควงแขนแบบไร้กระดูก[3]

ประวัติ[แก้]

สามารถ แขนควง มีชื่อจริงคือ สามารถ คุณสวัสดิ์ ซึ่งเดิมเขาเคยประกอบอาชีพร้องเพลง และแสดงตลก แต่ไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งเมื่อครั้งวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ได้ส่งผลให้นักแสดงตลกตกงานเป็นจำนวนมาก สามารถจึงได้โอกาสไปทำหน้าที่เชียร์การแข่งเดาะบอลที่นานที่สุดในโลกเพื่อร่วมบันทึกสถิติกินเนสบุ๊ค นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเข้าสู่เส้นทางสายนี้ และสามารถได้เริ่มทำหน้าที่เป็นผู้นำเชียร์ระดับนานาชาติครั้งแรก ในการแข่งขันซีเกมส์ 2001 ที่ประเทศมาเลเซีย[2]

ในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 สามารถได้เข้าร่วมกลุ่ม "แก๊งสามเชียร์" กับล้ำ กลองเชียร์ และลอยด์ เงาะป่า หลังจากที่ก่อนหน้านี้เป็นการเชียร์แบบต่างคนต่างเชียร์ โดยทั้งสามได้วางแผนการเชียร์ในแต่ละวันด้วยกัน ซึ่งเน้นการเชียร์ทีมชาติไทยเป็นหลัก นอกจากนี้ เขายังเป็นตัวแทนในการสร้างมิตรภาพอันดีระหว่างชาวไทยกับชาวต่างชาติ รวมถึงมีรูปแบบการเชียร์ที่ได้รับการยอมรับในระดับอาเซียน โดยได้มีการฝึกร้องเพลงเชียร์ของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเวียดนาม, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์[2]

การเชียร์ที่สร้างความประทับใจมากที่สุดของสามารถ คือการทำหน้าที่เชียร์พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ในการแข่งแบดมินตันในซีเกมส์ 2005 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ โดยพระองค์ได้บอกให้เชียร์อย่างเต็มที่ ซึ่งสามารถได้ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ กระทั่งพระองค์ได้รับรางวัลเหรียญทองจากการแข่งขันดังกล่าว[2]

ด้านผลงานเชียร์อื่นที่ได้รับการกล่าวถึง ได้แก่ปี พ.ศ. 2554 สามารถได้ทำหน้าที่เชียร์ในหลายสนามการแข่งกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 37 โดยการสร้างความสนุกสนานให้แก่ผู้ชม[4] ส่วนในการแข่งโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 ที่จัดขึ้น ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เขาได้จัดกิจกรรมร้องรำทำเพลงร่วมกับกับผู้นำเชียร์อย่าง ท้าวดักแด้ รวมถึงโดโด้ แขนควง ซึ่งได้รับความสนใจจากกองเชียร์ต่างชาติ รวมถึงสื่อมวลชนที่เข้ามาถ่ายทำข่าว[5]

วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555 สามารถได้ทำกิจกรรมเชียร์ในการแข่งฟุตบอลเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2012 รอบรองชนะเลิศ เมื่อครั้งที่ทีมชาติไทยพบกับทีมชาติมาเลเซีย[6] และในวันที่ 22 ธันวาคม เขาได้ทำกิจกรรมเชียร์ในเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2012 รอบชิงชนะเลิศ เมื่อครั้งที่ทีมชาติไทยพบกับทีมชาติสิงคโปร์[7]

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 สามารถร่วมทำกิจกรรมการกุศล ในการมอบอุปกรณ์กีฬาและทุนการศึกษาให้แก่โรงเรียนวัดเซิงหวาย ที่จังหวัดพิษณุโลก[8]

รางวัลที่ได้รับ[แก้]

  • พ.ศ. 2553 - รางวัลเกียรติยศกองเชียร์ไทย จากสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย ในฐานะของการสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศ[9]

อ้างอิง[แก้]

  1. คนกีฬาชวนร่วมลุ้นโชคกับ “เดลินิวส์”
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 กองเชียร์ระดับชาติ ใครจะว่ารับจ้าง อยากดัง!?...ก็เพราะอยากทำเพื่อชาติ
  3. "บูรณาการกีฬาไทย อุ้มแกนนำเชียร์ชาติ - Sport - Manager Online". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-24. สืบค้นเมื่อ 2014-09-21.
  4. กองเชียร์ระดับชาติ ลงสนาม 'พิษณุโลกเกมส์' - ประเด็นเด่น - ร่วมด้วยช่วยกัน[ลิงก์เสีย]
  5. แก้ว สัญลักษณ์แห่งความสุข - SportGURU[ลิงก์เสีย]
  6. แฟนลูกหนังร่วมพลังคลั่งชาติศึก ไทย - มาเลเซีย
  7. รวมเลือดเนื้อเป็นชาติเชื้อไทยอีกครา ศึกไทย-สิงคโปร์
  8. ซับน้ำตานักเรียนโรงเรียนวัดเซิงหวาย - MCOT.net[ลิงก์เสีย]
  9. ดำรงศักดิ์ควงนพเก้าซิวรางวัลนักกีฬายอดเยี่ยม

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]