สกทาคามี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สกทาคามี (บาลี: Sakadāgāmī; สันสกฤต: Sakṛdāgāmin) หรือ สกิทาคามี แปลว่า ผู้จะมาสู่(เทวะ)โลกนี้เพียงอีกครั้งเดียว[1] เป็นชื่อเรียกพระอริยบุคคลลำดับที่ 2 ใน 4 ประเภท

คัมภีร์สุมังคลวิลาสินีอธิบายว่าคำว่า "โลกนี้" หมายถึงกามาวจรโลก กล่าวคือ ผู้บรรลุสกทาคามีในมนุษยโลกแล้วไปเกิดในเทวโลก สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ในเทวโลกนั้นได้ หากไม่ได้อรหัตตผล จะมาเกิดเป็นมนุษย์แล้วบรรลุอรหัตตผลอย่างแน่นอน ฝ่ายผู้บรรลุสกทาคามีในเทวโลกแล้วมาเกิดในมนุษยโลก สามารถบรรลุอรหัตตผลในมนุษยโลกนั้นได้ หากไม่ได้ จะกลับไปเกิดในเทวโลกแล้วบรรลุอรหัตตผลอย่างแน่นอน[2]

การละสังโยชน์[แก้]

เมื่อละสังโยชน์เบื้องต่ำ 3 ประการ เป็นพระโสดาบันได้แล้ว และทำสังโยชน์เบื้องต่ำอีกสองประการที่เหลือให้เบาบางลงด้วย จึงเป็นพระสกทาคามี ได้แก่

  • กามราคะ หมายถึง ความพอใจในกาม คือ การความเพลินในการได้เสพ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่น่าพอใจ
  • ปฏิฆะ หมายถึง ความกระทบกระทั่งในใจ คล้ายความพยาบาทอย่างละเอียด

หากสังโยชน์เบื้องต่ำทั้งสองประการนี้หมดไปก็จะเป็นพระอนาคามี

ประเภท[แก้]

ในพระไตรปิฎกภาษาบาลี ไม่ได้ระบุประเภทของพระสกทาคามีไว้ มีเพียงคัมภีร์ชั้นหลัง เช่น[3]

คัมภีร์ปรมัตถโชติกา แบ่งไว้ 3 ประเภท คือ สกทาคามีในกามภพ 1 ในรูปภพ 1 และในอรูปภพ 1

คัมภีร์ปรมัตถมัญชุสา แบ่งไว้ 5 ประเภท คือ ผู้บรรลุใน (มนุษย) โลกนี้แล้วปรินิพพานในโลกนี้เอง 1 ผู้บรรลุในโลกนี้แล้ว ปรินิพพานในเทวโลก 1 ผู้บรรลุในเทวโลกแล้ว ปรินิพพานในเทวโลกนั้นเอง 1 ผู้บรรลุในเทวโลกแล้ว เกิดในโลกนี้จึงปรินิพพาน 1 ผู้บรรลุในโลกนี้แล้ว ไปเกิดในเทวโลกหมดอายุแล้ว กลับมาเกิดในโลกนี้จึงปรินิพพาน 1 ทั้งนี้ พระสกทาคามีที่กล่าวถึงในพระไตรปิฎกภาษาบาลีหมายเอาประเภทที่ 5 อย่างเดียว

ตัวอย่างบุคคลผู้บรรลุสกทาคามิผลในพุทธกาล[แก้]

  1. นางสุมนาเทวี ธิดาของอนาถบิณฑิกเศรษฐี

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. มหาลิสูตร, พระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
  2. นาทิกาคามคมนวณฺณนา, อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร
  3. พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), สกทาคามี, พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
บรรณานุกรม
  • พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง
  • อรรถกถาภาษาไทย