ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย

พิกัด: 7°31′N 98°13′E / 7.52°N 98.22°E / 7.52; 98.22
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย
水碓斗母宫
ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง
ศาสนา
ศาสนาศาสนาชาวบ้านจีน
จังหวัดจังหวัดภูเก็ต
เทพกิ๋วอ๋องไต่เต่
เทศกาลงานประเพณีถือศีลกินผัก
หน่วยงานกำกับดูแลมูลนิธิจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง
ปีที่อุทิศพ.ศ. 2454
ที่ตั้ง
ที่ตั้ง283 ซอยภูธร ถนนระนอง ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมืองภูเก็ต
ประเทศประเทศไทย
สถาปัตยกรรม
ประเภทสถาปัตยกรรมจีน
เสร็จสมบูรณ์พ.ศ. 2525
ทิศทางด้านหน้าทิศตะวันออก

ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย หรือ จุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง (水碓斗母宫) เป็นศาลเจ้าจีนในจังหวัดภูเก็ตเริ่มสร้างขึ้นในสมัยต้นรัชกาลที่ 6 คนภูเก็ตเรียกศาลเจ้าว่า อ๊าม (庵) ตั้งอยู่ที่ ซอยภูธร ถนนระนอง ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต โดยความหมาย ของคำว่า จุ้ยตุ่ย จุ้ย (水) แปลว่า น้ำ ตุ่ย (碓) แปลว่า ครกตำข้าว สมัยก่อนนั้น หน้าบริเวณศาลเจ้า เป็นคลอง กว้าง มีน้ำมาก ชาวบ้านจึงสร้างกังหันขึ้น เพื่อใช้กำลังจากน้ำมาตำข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้ว

ประวัติ[แก้]

รูปแกะสลักขององค์เทพเจ้าต่าง ๆ ที่จะใช้ในงานพิธีกรรม

ครั้งสมัยหนึ่งประมาณการผ่านไปเจ็ดสิบกว่าปีแล้วมีงิ้วคณะหนึ่งได้นำคณะล่องใต้ไปแสดงตามสถานที่ต่าง ๆ คณะงิ้วจะต้องอัญเชิญ กิ้วอ๋อง ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขานับถือ สักการบูชาอย่างสูงให้ท่านติดตามไปคุ้มครองปกปักรักษาให้พวกเขาอยู่เย็นเป็นสุขตลอดมา

ต่อมาคณะงิ้วดังกล่าวได้เดินทางมาถึงจังหวัดภูเก็ต ก็ได้เริ่มทำการแสดงที่ซอยรมณีย์ทางด้านวัดมงคลนิมิต (ซึ่งคนพื้นเมืองของจังหวัดภูเก็ตเรียกซอยรมณีย์ว่า อ่างอ่าหล่าย) คณะงิ้วได้มาอยู่ที่จังหวัดภูเก็ตนานพอประมาณ ระหว่างที่คณะงิ้วอยู่ภูเก็ตนั้นจัดได้ว่าให้มีพิธีกินผัก(กินเจ) กัน ซึ่งพวกงิ้วได้ถือปฏิบัติสืบอายุเป็นตอน ๆ มา พิธีการกินเจ คือ เริ่มขึ้นใน 1 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจันทรคติจีน (เก้าโง้ยโช่ยอีด) ก่อนถึงวันกินเจพวกงิ้วจะปัดกวาด ล้างชำระสถานที่เครื่องใช้ หม้อข้าว ถ้วยชาม และสิ่งของที่จะประกอบในพิธีให้สะอาด ผู้ที่จะเข้าร่วมในพิธีจะต้องแต่งตัว นุ่งขาว ในพิธีการกินเจมีทั้งหมด 9 วัน 9 คืน

ในสมัยนั้นก็มีพี่น้องชาวภูเก็ต ทั้งคนจีน และคนไทย ก็ได้เข้าร่วมในพิธีการถือศีลกินเจกับคณะงิ้วด้วย พี่น้องชาวภูเก็ตของเราก็ได้ศึกษา ปฏิบัติ พิธีการต่าง ๆ ตั้งแต่วันเริ่มงานกินเจจนเสร็จพิธี ในพิธีการกินเจนี้ เขาจะมีพิธีขึ้นเสาโกเต้ง มีตะเกียงน้ำมัน 9 ดวงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพิธีการกินเจได้เริ่มขึ้นแล้วในพิธีการกินเจก็มีการประทับทรงพระทำพิธี ลุยไฟ สะเดาะเคราะห์อาบน้ำมันซึ่งกำลังเดือด พิธีไหว้เทวดา มีการแห่ขบวนไปตามถนนสายต่าง ๆ พอครบกำหนด 9 วัน 9 คืน ก็เป็นอันเสร็จพิธีการกินเจ

เมื่อพวกงิ้วหมดธุรการแสดงงิ้ว ต่างก็เก็บข้าวของเตรียมจะเดินทางกลับภูมิลำเนาของตน หัวหน้าคณะของงิ้วได้พิจารณาเห็นว่าพี่น้องชาวภูเก็ตทั้งคนจีนและคนไทยมีความเลื่อมใสศรัทธาในพิธีการถือศีล กินเจ เขาก็ได้อัญเชิญเฮี้ยวโห้ย (ไฟศักดิ์สิทธิ์) และสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งจะในพิธีการกินเจ ให้ไว้กับพี่น้องชาวภูเก็ตไว้ดำเนินพิธีการกินเจต่อไปพี่น้องชาวภูเก็ตต่างพร้อมใจกันจัดตั้งเป็นศาลเจ้าขึ้นที่อ่างอ่าหล่าย (ซอยรมณีย์)

ต่อมาได้เกิดไฟไหม้จากบริเวณบ้านเรือนจึงลามมายังบริเวณศาลเจ้า ชาวบ้านจึงได้อัญเชิญเฮี้ยวโห้ย (ไฟศักดิ์สิทธิ์) มาฝากไว้ยังศาลเจ้าปุดจ้อ และเมื่อถึงเวลากินผักก็จะอัญเชิญมายังศาลเจ้าชั่วคราวที่ชาวบ้านช่วยกันสร้างขึ้น ณ สวนพูข้างศาลเจ้าปุดจ้อ (普吉平陽山觀音廟) ต่อมาเจ้าของสวนพูได้ถวายที่ดินแปลงนี้ให้ "กิวอ๋องไต่เต่" (九皇大帝)สร้างเป็นศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย ซึ่งหลังแรกได้สร้างด้วยเป็นหลังคามุงจาก ในปี พ.ศ. 2454 ต่อมาเมื่อในปี พ.ศ. 2525 ชาวบ้านเข้าร่วมพิธีถือศีลกินผักมากขึ้น จึงได้ร่วมใจกันบริจาคทรัพย์เพื่อพัฒนาศาลเจ้ามาตราบจนปัจจุบัน และเปลี่ยนมาเป็น มูลนิธิ จุ้ยตุ่ย เต้าโบ้เก้ง (水碓斗母宮基金會)

งานประเพณีถือศีลกินผัก (เจี่ยฉ่าย)[แก้]

พิธีกรรม

เสาโกเต้งศาลเจ้า สัญลักษณ์ของพิธีการถือศีลกินผัก
  • ยี่ง่อ
    • วันทำความสะอาดศาลเจ้า หรือล้างอ้าม
    • ปังเอี๋ย เป็นพิธีกรปล่อยขุนทหารเพื่อดูแลอาณาบริเวณมณฑลการกินผัก
  • ยี่เก้า
    • ทำพิธียกเสาโกเต้งขึ้นและอัญเชิญตะเกียง 9 ดวง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นพิธีถือศีลกินผัก
    • ทำพิธีเชิญ ยกอ๋องซ่งเต่ (เง็กเซียนฮ่องเต้) และองค์ประธานงานถือศีลกินผัก กิวอ๋องไต่เต๋
  • โช่ยส่า
    • พิธี โข้กุ้น หรือ การเลี้ยงขุนทหาร และทำพิธีฉะเต็กเกี๋ยมหรือ ปักกระบี่ไม้ จะปักทั้งหมด 9 จุดโดยองค์พระจะเป็นผู้กระทำการพิธี
    • พิธีอัญเชิญ หล่ำเต๊า ปักเต๊า หรือ เทพผู้ถือบัญชีเกิดและตาย มาประดิษฐ์าน ณ ศาลเจ้า
  • โช่ยลั๊ก
    • พิธี โข้กุ้น หรือ การเลี้ยงขุนทหาร
    • ทำพิธี โก๊ยโห๊ย หรือ ลุยไฟ
  • โช่ยชิด
    • อิ้วเก้ง หรือแห่พระไปตามนนสายต่าง ภายในเมือง
    • ทำพิธีป้ายชิดแช้ หรือ บูชาดาวนพเคราะห์ทั้ง 7
  • โช่ยเก้า
    • พิธี โข้กุ้น หรือ การเลี้ยงขุนทหาร
    • ทำพิธีส่ง หยกอ๋องซ่งเต่
    • ทำพิธีส่ง กิ๋วอ๋องไต่เต่
  • โช่ยจ๊าบ
    • ทำพิธีนำเสาโกเต้งลง ถือเป็นการเสร็จสิ้นพิธีถือศีลกินผัก


ที่ตั้ง[แก้]

มูลนิธิจุ้ยตุ่ยเต้าโบเก้ง 283 ซอยภูธร ถนนระนอง ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต 83000 โทร 0-7621-3243

7°31′N 98°13′E / 7.52°N 98.22°E / 7.52; 98.22

อ้างอิง[แก้]