ศาลพระกาฬ (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ศาลพระกาฬ เป็นเทวสถานในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ก่อนถูกดัดแปลงเป็นพุทธสถานในยุคต่อมา ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกตะแลงแกงบนเกาะเมือง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่บริเวณเกือบกึ่งกลางเกาะเมืองและเป็นย่านตลาดที่มีผู้คนพลุกพล่านมาก และหากมีการประหารนักโทษก็จะมีการเสียบหัวประจานให้ประชาชีเห็นจะได้เกรงกลัวมิเอาเยี่ยงอย่าง[1] ปัจจุบันศาลพระกาฬหลงเหลือเพียงรากฐานของอิฐเท่านั้น[2]

สุจิตต์ วงษ์เทศให้คำอธิบายว่าศาลพระกาฬในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้เป็นแบบอย่างในการสร้างเทวสถานโบสถ์พราหมณ์และเสาชิงช้าหน้าวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหารในกรุงเทพมหานครด้วย[3]

ประวัติ[แก้]

จากการขุดค้นของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. 2512 พบว่าศาลพระกาฬนี้เป็นเทวาลัยของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมาแต่ดั้งเดิม คาดว่าถูกสร้างขึ้นในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนต้นหรือราวพุทธศตวรรษที่ 20 ลักษณะเป็นปรางค์ซุ้มสี่ทิศ ยุคแรกนั้นเป็นเทวสถานในนิกายไศวะ และนิกายไวษณพ มีการขุดค้นพบเทวรูปสำริด เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ และพระคเณศ ทรงเครื่องและศิราภรณ์อย่างขอมสมัยนครวัด[2] ทั้งนี้หากพิจารณาจากภูมิสถานของศาลพระกาฬก็จะพบว่าอยู่ในกลางพระนคร บริเวณจุดตัดของถนนป่าโทนกับถนนศรีสรรเพชญ์เป็นสี่แยกเรียกว่าตะแลงแกง ในหนังสือ ตำนานกรุงเก่า ของพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ได้เขียนบรรยายเอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2450 ความว่า[2]

"...ข้างฟากถนนตะแลงแกงทางใต้ด้านตะวันตก มีศาลพระกาฬหลังคาเป็นซุ้มปรางค์ และมีศาลอยู่ต่อกันไปเข้าใจว่าจะเป็นศาลพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมือง ที่ตรงตะแลงแกงเห็นจะถือกันว่าเป็นกลางพระนคร..."

ย่านตะแลงแกงนี้มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่นด้วยเป็นที่ตั้งของตลาดสดที่ขายของแต่เช้าจรดเย็นและตลาดค้าของชำขนาดใหญ่สองแห่งคือตลาดหน้าคุกและตลาดหน้าศาลพระกาฬ[1][3] ทั้งนี้หากมีการประหารนักโทษก็จะทำการประหารที่ตะแลงแกง แล้วเสียบศีรษะศพประจานให้เพื่อให้ประชาชนเกรงกลัวมิกล้าเอาเยี่ยงอย่าง[1]

ต่อมายุคหลังมีการดัดแปลงศาลพระกาฬเป็นพุทธสถาน สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2179 พระราชพงศาวดารระบุว่าในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดเกล้าให้รื้อเทวสถานเดิมไปสร้างใหม่ ณ ย่านชีกุน จากการขุดค้นทางโบราณคดีจึงพบว่ามีพระพุทธรูป และพบว่าด้านหน้ามีการสร้างวิหารขนาดใหญ่ในยุคหลัง[2] แต่หลังการดัดแปลงเป็นพุทธสถานนี้ก็พบว่าศาลพระกาฬก็เริ่มโรยรา และถูกทิ้งร้างขาดการดูแลมานาน สันนิษฐานว่าจะเกิดขึ้นช่วงก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองไปจนถึงยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 ปวัตร์ นวะมะรัตน (26 มกราคม 2560). "ตะแลงแกง". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 "ศาลพระกาฬ พระนครศรีอยุธยา". TAT Edutour. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  3. 3.0 3.1 สุจิตต์ วงษ์เทศ (8 เมษายน 2560). "ศาลพระกาฬ ยุคอยุธยา อยู่สี่แยกตะแลงแกง ย่านกลางเมือง". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)