วิเวียน เวสต์วูด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เดม วิเวียน เวสต์วูด
เกิดวิเวียน อิซาเบล สไวร์
8 เมษายน ค.ศ. 1941(1941-04-08)
ทินซัล, เชชเชอร์, อังกฤษ
เสียชีวิต29 ธันวาคม ค.ศ. 2022(2022-12-29) (81 ปี)
แคลพัม, ลอนดอน, อังกฤษ
สัญชาติบริติช
การศึกษามหาวิทยาลัยเวสต์มินสเตอร์
อาชีพนักออกแบบแฟชัน, นักธุรกิจ
ค่ายวิเวียน เวสต์วูด
คู่สมรสเดเรก เวสต์วูด (ค.ศ. 1962–1965; หย่า)
มัลคอล์ม แมคลาเรน (ค.ศ. 1967–1980; หย่า)
อันเดรียส ครอนธาเลอร์ (แต่งงาน ค.ศ. 1992)
บุตรเบน เวสต์วูด (เกิด ค.ศ. 1963)
โจเซฟ คอร์เร (เกิด ค.ศ. 1967)
รางวัลนักออกแบบแฟชันบริติชแห่งปี (ค.ศ. 1990, 1991 และ 2006)

เดม วิเวียน อิซาเบล เวสต์วูด (อังกฤษ: Dame Vivienne Isabel Westwood) (ชื่อเกิด วิเวียน อิซาเบล สไวร์ (Vivienne Isabel Swire)) (8 เมษายน ค.ศ. 1941 – 29 ธันวาคม ค.ศ. 2022) เธอเป็นนักออกแบบแฟชันและนักธุรกิจชาวอังกฤษในแนวพังก์ร็อก และนิวเวฟ ผู้ทรงอิทธิพลในวงการแฟชั่นระดับโลก นับตั้งแต่ยุค 70 ในช่วงของยุค "พังก์" เสื้อผ้าของเธอถูกสวมใส่โดยวง ดนตรีพังก์ร็อกเซ็กซ์ พิสทอลส์ ที่โด่งดังที่สุดในยุค 70 มาจนถึงปัจจุบัน รายได้การขายเสื้อผ้าที่เธอดีไซน์ให้ลูกค้าผู้ดีมากกว่า 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 1998

วิเวียนเกิดที่เมืองทินซัล มณฑลเชชเชอร์ในปี ค.ศ. 1941 วิเวียนได้รับรางวัล British Designer ในปี 1990 และในปี 1992 เธอได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จักรวรรดิบริติช (OBE) สำหรับความกระตือรือร้นในแฟชั่น ในปี 1998 เธอได้รับรางวัลจากราชินีอังกฤษสำหรับยอดการส่งออกที่มากที่สุดในรอบปี และในปี 2003 วิเวียนเป็นที่รู้จักในนามของ Designer of the Year

เธอได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ท่านผู้หญิง (Dame) จากราชสำนักอังกฤษตอบแทนการเป็นดีไซเนอร์ที่สร้างชื่อให้ประเทศ วิเวียนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ที่เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ[1]

ประวัติ[แก้]

เธอเกิดที่เมืองทินซัล มณฑลเชชเชอร์ แม่ของเธอเป็นช่างทอผ้าในโรงงานท้องถิ่น ส่วนพ่อมาจากตระกูลช่างทำรองเท้า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในตอนที่วิเวียนเกิด ครอบครัวของเธอได้ดำเนินกิจการร้านค้าในโรงงานเครื่องบินจนถึงช่วงปลายทศวรรษ 1950 จึงย้ายเข้าไปอยู่ทางฝั่งตะวันเฉียงเหนือของกรุงลอนดอน

หลังจบโรงเรียนมัธยมของรัฐเมื่ออายุ 16 ปี วิเวียนได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนศิลปะแฮร์โรว์ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเวสต์มินสเตอร์) โดยเลือกวิชาแฟชั่นและการทำเครื่องเงิน แต่หลังจากจบภาคการศึกษาแรก เธอก็ลาออกและมาทำงานในโรงงาน จากนั้นไม่นานเธอได้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นครูโรงเรียนชั้นประถม และเริ่มการทำงานด้วยอาชีพรับจ้างสอนหนังสือนักเรียนประถม เมื่อปี 1962 วิเวียนได้แต่งงานกับ เดเรก เวสต์วูด สามีคนแรกและให้กำเนิดลูกชายคนแรกชื่อว่า เบนจามิน แต่ไม่นานเธอก็สละครอบครัวเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่กับมัลคอล์ม แมคลาเรน นักเรียนศิลปะ (ผู้จัดการวง เซ็กซ์ พิสทอลส์)

ในปี ค.ศ.1970 ประเทศอังกฤษ กำลังตกอยู่ในสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดอัตราคนว่างงานที่สูงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 หนุ่มสาวชนชั้นแรงงานจำนวนมากได้รับผลกระทบนี้ ทำให้วิเวียน เวสต์วูดเปิดกิจการเล็ก ๆ บนถนนคิงส์ในลอนดอนเป็นร้านขายเสื้อผ้าเก่าราคาถูก โดยใช้ชื่อว่า Let It Rock ซึ่งต่อมาก็ได้มีการเปลี่ยนชื่ออีกหลายครั้ง

ในปี 1972 วิเวียนเริ่มสนใจกลุ่มนักซิ่งมอเตอร์ไซค์จึงเปลี่ยนชื่อร้านเป็น “Too Fast to Live, Too Young to Die” (“เร็วไปที่จะอยู่ เด็กไปที่จะตาย”) ขายชุดหนัง เสื้อสูทแอฟริกันสีจัดและเสื้อยืดแหกกฎ จากนั้นไม่นานเขาก็เปลี่ยนชื่อร้านอีกครั้ง และขายชุดรัดรูป กระโปรงภาพยนตร์สั้น เสื้อยืดที่ขาดวิ่น ซึ่งนั่นถือเป็นจุดกำเนิดของแนวคิดแบบพังก์ และปัจจุบันนี้ เธอก็ยังคงมีร้านอยู่ที่นี่ภายใต้ชื่อว่า World’s End

ช่วงปลายทศวรรษ 70 วิเวียนถึงจุดอิ่มตัวกับเครื่องแต่งกายแบบพังก์ ช่วงนี้เองถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยน เพราะเธอเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อหาแรงบันดาลใจ จึงปรับโฉมร้านอีกครั้งเรียกว่า “วิลด์สเอ็น” คือการทำแฟชั่นโชว์ 2 คอลเลคชั่นร่วมกันคือ “โรแมนติก ออฟ เดอะ ซี” และ “นอสเตลเจีย ออฟ มัด” สองคอลเลคชั่นนี้เองถือเป็นจุดเปิดอาชีพการเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์อย่างแท้จริงของเวสต์วูด ในปี 1983 เวสต์วูดเริ่มทำคอลเลคชั่น “วิตเชส” ด้วยการผสมแรงบันดาลใจจากของพื้นบ้านกับอุตสาหกรรมการผลิต ในปีค.ศ. 1983 นี้เองผลงานของเธอก็ได้ขึ้นแคทวอล์คที่ปารีส โดยเธอเป็นดีไซเนอร์ชาวอังกฤษคนที่ 2 ต่อจาก Mary Quant

ในปี 1984 เวสต์วูดสร้างชื่อเสียงอีกครั้งด้วยการนำเอารูปทรงรัดรูปของเสื้อผ้าสตรีสมัยก่อนมาตัดทอน และดัดแปลงในคอลเลคชั่น Minicrinis พร้อมรองเท้าส้นตึกอันเป็นสัญลักษณ์ของเธอ ในปี 1987 เวสต์วูดนำคอลเซ็ตมาดัดแปลงเป็นชุด

แต่เธอก็ยังหันมาสร้างสรรค์ผลงานช่วยเหลือสังคม อย่างในช่วงปลายปี ค.ศ. 2005 เธอก็ได้เข้าร่วมโครงการเพื่อสิทธิมนุษยชนของอังกฤษ โดยเธอได้ออกแบบเสื้อยืดสำหรับเด็กและทารกที่สกรีนคำว่า I am not a terrorist, please don’t arrest me (หนูไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย ได้โปรดอย่ากักกันหนู) ออกวางขายในจำนวนจัดตัวละ 50 ปอนด์ โดยนำรายได้ทั้งหมดไปสนับสนุนองค์กรนี้

เอกลักษณ์[แก้]

ทัศนคติ[แก้]

ยุคแรก วิเวียนแสดงออกถึงการต่อต้านสังคมระบบชนชั้นผู้ดี ผ่านงานดีไซน์ในหลากวิธี เช่น วัสดุนอกกรอบทั้งกระดูกไก่ ยางรถยนต์ หมุด โซ่ ภาพจากนิตยสารเก่า ฯลฯ ถูกนำมาสร้างเป็นเสื้อยืดดิบ ๆ ในสังเวียนแฟชั่นยุคแรกคือ วิเวียนไม่ได้ขายแค่เสื้อผ้าสไตล์พังก์ร็อก แต่สิ่งที่เธอพยายามเสนอขายแก่สังคมคือ ทัศนคติ (attitude) ที่ว่า "กล้าที่จะยืนนอกกรอบ แล้วบอกว่านี่คือสิ่งที่ฉันต้องการ"

วิเวียนยังใช้งานดีไซน์เป็นเครื่องมือสื่อสารทางเพศอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์ลายหน้าอกผู้หญิงและรูปคาวบอยเปลือยบนเสื้อยืด หรือกระดุมรูปศิวลึงค์ รวมทั้งการเฉือนเสื้อผ้าให้ขาดวิ่นเห็นเนื้อหนังบริเวณหน้าอก และการนำชุดชั้นในมาใส่ด้านนอก ฯลฯ "งานของฉันคือการประจันหน้ากับสถาบันทางสังคม พยายามค้นหาว่าอิสรภาพของฉันเองอยู่ที่ไหน และทำอย่างไรเพื่อให้ได้มันมา" วิเวียนใช้เสื้อยืดลามกเป็นสื่อ เพื่อค้นหาจุดยืนและอิสรภาพที่คนชนชั้นกรรมาชีพเช่นเธอโหยหา

เสื้อผ้าของวิเวียนหลายชิ้นมักถูกวิจารณ์ว่า "ใส่จริงไม่ได้" ทั้งความแปลกของวัสดุ ลวดลาย สัดส่วนโครงสร้าง และแพตเทิร์นการตัดเย็บ แต่เธอมีมุมมองว่า "เสื้อผ้าของฉันอาจดูนอกลู่นอกทาง เพียงเพราะผู้คนไม่ได้คาดคิด แต่สิ่งที่ฉันทำก็เพื่อประณามความจืดชืดและความน่าเบื่อของแฟชั่นธรรมดาเหล่านั้น"

เทคนิคและคอนเซ็ปต์[แก้]

ยุค 1980 เป็นช่วงที่วิเวียนได้แหกกฎการตัดเย็บชั้นสูงแบบอังกฤษ ขณะที่การตัดเย็บสไตล์ผู้ดีอังกฤษจะเน้นสัดส่วนที่เท่ากันทั้งสองข้าง แต่สำหรับวิเวียน สูทของเธออาจมีปกข้างหนึ่งใหญ่กว่าอีกข้าง แขนข้างหนึ่งยาวกว่าอีกข้างหรืออาจมีแขนข้างเดียว ชายเสื้อสูทไม่จำเป็นต้องยาวเท่ากัน หรือแขนเสื้อที่มักโค้งมนตรงไหล่ อาจกลายเป็นมีมุมเหลี่ยม แหลมออกมาจนเวลาใส่ต้องพับมุม คอเสื้ออาจกลายเป็นชายกระโปรง ขณะที่ชายเสื้ออาจถูกใส่แทนคอเสื้อ

หลังจากศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมอังกฤษอย่างจริงจัง วิเวียนเริ่มนำภูมิปัญญาแฟชั่นดั้งเดิมมาใช้ เป็นเสมือน "กล้องส่องย้อนอดีตแห่งแฟชั่น" วิเวียนยังสนใจการทำเสื้อผ้าเข้ารูป ด้วยเชื่อว่า "เสื้อผ้าคือการเปลี่ยนรูปทรงของร่างกาย" เธอใช้เทคนิคเพิ่มลดตัดเฉือนเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงทางสรีระผู้สวมใส่ให้ดูดีแบบอุดมคติ และทำให้สิ่งที่เธอคิดว่า ควรจะเป็นส่วนที่ดึงดูดใจที่สุด คือใบหน้าโดดเด่น

วงการแฟชั่นยังยกย่องวิเวียนเป็น "นักคิดทางแฟชั่น" เธอเป็นดีไซเนอร์คนแรกที่เข้าใจเรื่องแพตเทิร์นในมุมมอง 3 มิติอย่างแท้จริง เช่น การใช้ผ้าสี่เหลี่ยม 2 ผืนวางเหลื่อมเย็บติดกันให้เกิดเหลี่ยมแหลมขึ้น หรือการใช้ผ้าสามเหลี่ยมวางเฉียงเย็บติดกันเพื่อตัดเป็นชุดเข้ารูป หรือกระเป๋าเสื้อที่โค้งรอบตัวเสื้อจนเกิดมูฟเมนต์ทุกครั้งที่ผู้สวมใส่เคลื่อนไหว

อ้างอิง[แก้]

  1. "Fashion designer Vivienne Westwood dies". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2022-12-29. สืบค้นเมื่อ 2022-12-29.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]