วันวาเลนไทน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วันนักบุญวาเลนไทน์
การ์ดวันวาเลนไทน์จาก ค.ศ. 1909
ชื่ออื่นวันวาเลนไทน์
จัดขึ้นโดยคนในหลายประเทศ;
แองกลิคันคอมมิวเนียน
นิกายลูเทอแรน
นิกายคาทอลิกดั้งเดิม
ประเภทศาสนาคริสต์, วัฒนธรรม, เชิงพาณิชย์
ความสำคัญวันฉลองของนักบุญวาเลนไทน์; การเฉลิมฉลองเกี่ยวกับความรัก
การถือปฏิบัติให้การ์ดอวยพรและของขวัญ, การออกเดท, เข้าร่วมในพิธีรับศีล
วันที่
ความถี่ทุกปี
เค้กกับดอกกุหลาบที่นิยมใช้สำหรับวันวาเลนไทน์

วันนักบุญวาเลนไทน์ (อังกฤษ: Saint Valentine's Day) หรือเรียก วันวาเลนไทน์ (อังกฤษ: Valentine's Day) ตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปี วันวาเลนไทน์มีการเฉลิมฉลองในหลายประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นประเทศทางตะวันตก แม้จะยังเป็นวันทำงานในทุกประเทศเหล่านั้นก็ตาม

"วันนักบุญวาเลนไทน์" แต่เดิมเป็นเพียงวันฉลองนักบุญในศาสนาคริสต์ยุคแรกหนึ่งหรือสองคนชื่อวาเลนตินัส ความหมายโรแมนติกโดยนัยสมัยใหม่นั้นกวีเพิ่มเติมในอีกหลายศตวรรษต่อมาทั้งสิ้น มีการกำหนดวันวาเลนไทน์ขึ้นครั้งแรกโดยสมเด็จพระสันตะปาปาเกลาซิอุสที่ 1 ใน ค.ศ. 496 ก่อนที่สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 จะให้ตัดออกจากปฏิทินโรมันทั่วไป (General Roman Calendar) ในปี ค.ศ. 1969

วันวาเลนไทน์มาข้องเกี่ยวกับรักแบบโรแมนติกเป็นครั้งแรกในแวดวงสังคมของเจฟฟรีย์ ชอเซอร์ สมัยกลางยุครุ่งโรจน์ (High Middle Ages) เมื่อประเพณีรักเทิดทูน (courtly love) เฟื่องฟู จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 วันวาเลนไทน์ได้วิวัฒนา มาเป็นโอกาสซึ่งคู่รักจะแสดงความรักของพวกเขาแก่กันโดยให้ดอกไม้ ขนมหรือลูกกวาด และส่งการ์ดอวยพรกัน[1][2]ในภายหลังประเพณีการแสดงออกความรักไม่ได้เป็นที่นิยมเพียงแค่ทางฝั่งตะวันตกหากแต่มีการแพร่กระจายความนิยมไปทั่วโลก โดยคนส่วนใหญ่ถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันแห่งการแสดงความรักให้กันจนถึงปัจจุบัน โดยบางประเทศมีการฉลองในลักษณะที่คล้ายกันนี้ เช่น ประเทศบราซิลมีการเฉลิมฉลอง "Dia dos Namorados" ในวันที่ 12 มิถุนายน โดยจะมีการมอบของขวัญให้คนที่รัก เช่น ดอกไม้และช็อกโกแลต[3]

นักบุญวาเลนไทน์[แก้]

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์[แก้]

มรณสักขีในศาสนาคริสต์ยุคแรกหลายคนมีชื่อว่าวาเลนไทน์ ซึ่งวาเลนไทน์ที่มีการฉลองในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ คือ วาเลนไทน์แห่งโรม (Valentinus presb. m. Romae) และวาเลนไทน์แห่งเทอร์นี (Valentinus ep. Interamnensis m. Romae)[3] วาเลนไทน์แห่งโรมเป็นนักบวชในโรมผู้พลีชีพเพื่อศาสนาราว ค.ศ. 269 และฝังที่เวียฟลามีเนีย (Via Flaminia) กะโหลกที่สวมมาลัยดอกไม้ของนักบุญวาเลนไทน์จัดแสดงในมหาวิหารซานตามาเรียในคอสเมดิน โรม เรลิกอื่นพบได้ในมหาวิหารซานตาพราสเซเด (Santa Prassede)[4] ในโรมเช่นกัน เช่นเดียวกับที่โบสถ์คาร์เมไลท์ถนนไวท์ไฟร์เออร์ (Whitefriar Street Carmelite Church) ในดับลิน ประเทศไอร์แลนด์

วาเลนไทน์แห่งเทอร์นีกลายมาเป็นบิชอปแห่งอินเตรัมนา (Interamna, ปัจจุบัน คือ เทอร์นี) ราว ค.ศ. 197 และกล่าวกันว่าเขาได้พลีชีพในช่วงการเบียดเบียนคริสต์ศาสนิกชนในรัชสมัยจักรพรรดิออเรเลียน ศพเขาฝังที่เวียฟลามีเดียเช่นกัน แต่คนละตำแหน่งกับที่ฝังวาเลนไทน์แห่งโรม เรลิกของเขาอยู่ที่มหาวิหารนักบญวาเลนไทน์แห่งเทอร์นี[5]

สารานุกรมคาทอลิกยังกล่าวถึงนักบุญคนที่สามที่ชื่อวาเลนไทน์ ผู้ซึ่งมีการกล่าวขานถึงในบัญชีมรณสักขียุคต้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เขาพลีชีพเพื่อศาสนาในแอฟริการ่วมกับเพื่อนเดินทางจำนวนหนึ่ง แต่ไม่มีข้อมูลอื่นใดเกี่ยวกับเขาอีก[6]

ไม่มีส่วนใดที่โรแมนติกปรากฏในชีวประวัติยุคกลางตอนต้นแต่เดิมของมรณสักขีทั้งสามคนนี้ ก่อนที่นักบุญวาเลนไทน์จะมาเชื่อมโยงกับเรื่องรักใคร่ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 นี้ ระหว่างวาเลนไทน์แห่งโรมกับวาเลนไทน์แห่งเทอร์นีนั้นไม่มีความข้องเกี่ยวกันเลย

ศีรษะของนักบุญวาเลนไทน์เก็บรักษาไว้ในแอบบีย์นิวมินสเตอร์ วินเชสเตอร์ และเป็นที่เคารพบูชา แต่ไม่มีหลักฐานว่านักบุญวาเลนไทน์จะเป็นนักบุญที่ได้รับความนิยมก่อนบทกวีของเชาเซอร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 แม้แต่ในพื้นที่วินเชสเตอร์[7] การเฉลิมฉลองนักบุญวาเลนไทน์มิได้แตกต่างไปจากการเฉลิมฉลองนักบุญคนอื่นมาก และไม่มีโบสถ์ใดอุทิศถึงเขา[7]

ในการตรวจชำระปฏิทินนักบุญโรมันคาทอลิก วันฉลองนักบุญวาเลนไทน์ซึ่งตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ถูกตัดออกจากปฏิทินโรมันทั่วไปและลดขั้นไปอยู่ในปฏิทินเฉพาะ (particular calendar, ท้องถิ่นหรือประจำชาติ) ด้วยเหตุผล "แม้ความทรงจำเกี่ยวกับนักบุญวาเลนไทน์จะเก่าแก่ แต่ชื่อของเขาก็ถูกลดไปอยู่ในปฏิทินเฉพาะ เพราะนอกเหนือไปจากชื่อของเขาแล้ว ไม่มีข้อมูลอื่นใดทราบกันเกี่ยวกับนักบุญวาเลนไทน์ เว้นแต่ว่า ศพเขาฝังที่เวียฟลามิเนียเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์"[8] วันฉลองนี้ยังมีการเฉลิมฉลองอยู่ในบัลซาน (ประเทศมอลตา) ที่ซึ่งมีการอ้างว่าพบเรลิกของนักบุญวาเลนไทน์ที่นั่น และมีการเฉลิมฉลองทั่วโลกโดยผู้นับถือนิกายคาทอลิกดั้งเดิมที่ถือตามปฏิทินที่เก่ากว่าก่อนหน้าของสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่สองนี้ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ยังมีการเฉลิมฉลองเป็นวันวาเลนไทน์ในนิกายอื่นของศาสนาคริสต์ ตัวอย่างเช่น วันวาเลนไทน์มีระดับระดับ "พิธีฉลอง" (commemoration) ในปฏิทินของคริสตจักรแห่งอังกฤษ และส่วนอื่นของแองกลิคันคอมมิวเนียน[9]

ตำนาน[แก้]

ในคริสต์ศตวรรษที่ 5 หรือที่ 6 ผลงานชื่อ Passio Marii et Marthae ได้กุเรื่องราวการพลีชีพเพื่อศาสนาแก่นักบุญวาเลนไทน์แห่งโรม ซึ่งปรากฏว่ามิได้มีพื้นฐานอยู่บนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ใด ๆ เลย[10] ผลงานนี้อ้างว่า นักบุญวาเลนไทน์ถูกเบียดเบียนเพราะนับถือศาสนาคริสต์ และถูกสอบสวนโดยจักรพรรดิคลอเดียส กอธิคัส เป็นการส่วนตัว วาเลนไทน์จักรพรรดิคลอเดียสประทับใจและได้สนทนากับเขา โดยพยายามให้เขาเปลี่ยนไปนับถือลัทธิเพเกินโรมันเพื่อรักษาชีวิตของเขา วาเลนไทน์ปฏิเสธและพยายามโน้มน้าวให้จักรพรรดิคลอเดียสหันมานับถือศาสนาคริสต์แทน ด้วยเหตุนี้ เขาจึงถูกประหารชีวิต ก่อนที่เขาจะถูกประหารชีวิตนั้น มีรายงานวาเขาได้แสดงปาฏิหาริย์โดยรักษาลูกสาวตาบอดของผู้คุมของเขา แอสเตอเรียส (Asterius) Passio สมัยหลังย้ำตำนานนี้ โดยเสริมเรื่องกุว่าสมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 1 ได้ทรงสร้างโบสถ์ครอบสุสานของเขา (เป็นความเข้าใจผิดกับผู้พิทักษ์ประชากร [tribune] ในคริสต์ศตวรรษที่ 4 ชื่อ วาเลนติโน ซึ่งบริจาคที่ดินเพื่อสร้างโบสถ์ในขณะที่จูเลียสเป็นพระสันตะปาปา)[10] ตำนานได้หยิบยกขึ้นเป็นข้อเท็จจริงโดยบันทึกมรณสักขีในภายหลัง เริ่มจากบันทึกมรณสักขีของบีดในคริสต์ศตวรรษที่ 8 และมีย้ำในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ใน ตำนานทอง[11] หนังสือนี้อธิบายคร่าว ๆ ถึงกิจการของนักบุญ (Acta Sanctorum) ต้นสมัยกลางว่ามีนักบุญวาเลนไทน์หลายคน และตำนานนี้จัดเข้ากับวาเลนไทน์ใต้วันที่ 14 กุมภาพันธ์

อ้างอิง[แก้]

  1. The History of Valentine's DayHistory.com, A&E Television Networks. Retrieved February 2, 2010.
  2. HowStuffWorks "How Valentine's Day works"HowStuffWorks. Retrieved February 2, 2010.
  3. 3.0 3.1 Oxford Dictionary of Saints, s.v. "Valentine": "The Acts of both are unreliable, and the Bollandists assert that these two Valentines were in fact one and the same."
  4. "Saint Valentine's Day: Legend of the Saint". novareinna.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-02-05. สืบค้นเมื่อ 2012-02-20.
  5. "Basilica of Saint Valentine in Terni". virtualmuseum.ca. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-16. สืบค้นเมื่อ 2012-02-20.
  6. "Catholic Encyclopedia: St. Valentine". newadvent.org.
  7. 7.0 7.1 Henry Ansgar Kelly (1986), "The Valentines of February", Chaucer and the cult of Saint Valentine, Davis medieval texts and studies, vol. 5, BRILL, pp. 58–63, ISBN 9789004078499
  8. Calendarium Romanum ex Decreto Sacrosancti Œcumenici Concilii Vaticani II Instauratum Auctoritate Pauli PP. VI Promulgatum (Typis Polyglottis Vaticanis, MCMLXIX), p. 117.
  9. "Holy Days". The Church of England. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-25. สืบค้นเมื่อ 2012-02-14.
  10. 10.0 10.1 Ansgar, 1986, pp. 49-50
  11. Legenda Aurea, "Saint Valentine" เก็บถาวร 2012-01-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, catholic-forum.com.