วัดหนองแขม (กรุงเทพมหานคร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดหนองแขม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดหนองแขม
ที่ตั้งเลขที่ 66 ถนนเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งใต้ แขวงหนองแขม เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร 10160
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดหนองแขม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงหนองแขม เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร

ประวัติ[แก้]

วัดหนองแขมสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2413 มูลเหตุการสร้างวัด คือ พระวินัยธร เจ้าอาวาสวัดเชิงเลน จังหวัดนครปฐม ได้ปรารภถึงเหตุที่พวกญาติของท่านได้อพยพจากหมู่บ้านหัวย่านมาอยู่แถบถิ่นหนองแขมหลายครัวเรือน ท่านจึงได้สร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นอนุสาวรีย์ สำหรับบรรจุอัฐิธาตุของบุพการี เมื่อสร้างวัดเสร็จ ขนานนามวัดว่า "วัดหนองแขม"[1] เนื่องจากมีหนองน้ำปกคลุมด้วยต้นแขมอยู่ใกล้วัด และต่อมากลายเป็นชื่อตำบลหนองแขม

อาคารเสนาสนะ[แก้]

วัดหนองแขมมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามเป็นศาลาจตุรมุข ตั้งอยู่กลางน้ำ ส่วนพระวิหารหลวงพ่อโตซึ่งเป็นพระอุโบสถหลังเก่า หน้าบันระบุศักราช พ.ศ. 2413 เป็นพระอุโบสถขนาดเล็กฝีมือแบบช่างพื้นบ้าน ภายในพระอุโบสถปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนัง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัด มีรอยพระพุทธบาทจําลองประดิษฐานในมณฑป โดยมีการจัดงานปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลองนี้ในช่วงเดือนสามของทุกปี พระสังกัจจายน์หรือหลวงพ่อโต[2] ยังมีรูปหล่อพระครูวิทยาวรคุณ (หลวงพ่อพร) ขนาดเท่าองค์จริง ซึ่งคณะศิษยานุศิษย์ได้ร่วมกันสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2468

กิจกรรม[แก้]

กิจกรรมสำคัญที่ทางวัดจัดขึ้นทุกปี ได้แก่ ประเพณีวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ในวันอาสาฬหบูชา มีกิจกรรมในวันนี้มีการทำบุญตักบาตรในช่วงเช้า ต่อด้วยการแสดงเทศนาธรรมที่เกี่ยวข้องกับความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา มีการแสดงธรรมและให้โอวาทแก่พุทธศาสนิกชน และเวียนเทียนรอบบริเวณอุโบสถจำนวน 3 รอบ วันเข้าพรรษาของทางวัด มีการตักบาตร ในเวลา 05.00 น. หลังจากนั้นมีการสวดมนต์และแสดงธรรมเทศนาที่เกี่ยวข้องกับวันเข้าพรรษา ด้วยการถวายหลอดไฟหรือเทียนเข้าพรรษา กระบุง กระจาด ต้นผ้าป่า และผ้าอาบน้ำฝน ทางวัดมีการจัดกิจกรรมประเพณีทำบุญตักบาตรเทโวในวันออกพรรษา[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดหนองแขม". ไทยตำบล. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-06. สืบค้นเมื่อ 2020-09-03.
  2. "ชุมชนหนองแขม" (PDF). มหาวิทยาลัยธนบุรี.
  3. "ขนบธรรมเนียมประเพณีเขตหนองแขม". สภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-22. สืบค้นเมื่อ 2020-09-03.