วัดพระแก้วน้อย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพระแก้วน้อย
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพระแก้วน้อย
ที่ตั้งตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
พระประธานพระพุทธรูปหินอ่อน
พระจำพรรษาไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา
ความพิเศษพระอารามประจำพระนครคีรี
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดพระแก้วน้อย หรือโดยย่อว่า วัดพระแก้ว เป็นวัดประจำพระราชวังบนพระนครคีรี ซึ่งเป็นพระราชวังฤดูร้อนของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระราชวัง ทำนองเดียวกันกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง[1] ปัจจุบันวัดพระแก้วน้อยเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี

ประวัติ[แก้]

วัดพระแก้วน้อย เป็นวัดประจำพระราชวังบนพระนครคีรี โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างเป็นวัดประจำพระราชวังฤดูร้อน โดยจำลองแบบมาจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร[1]

ใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ระบุถึงการสร้างพระนครคีรีที่เมืองเพชรบุรี เมื่อปีมะแม เอกศก (ตรงกับช่วงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2402 - 21 มีนาคม พ.ศ. 2403) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหม และพระยาเพ็ชรพิไสยศรีสวัสดิ์ปลัดเป็นนายงาน สร้างวังบนเขามหาสมณะ ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเขามหาสวรรค์ บนเขานี้มียอดเขาอยู่สามยอด ยอดหนึ่งชื่อพระนครคีรีให้สร้างวัง แต่อีกยอดให้สร้างวัด ดังปรากฏความว่า "...เขาอีกยอด ๑ โปรดให้ทำพระเจดีย์ศิลาเป็นซีก ๆ ไปแต่เกาะสีชัง ฐาน ๖ ศอก สูง ๔ วา ๒ ศอก ไปประดิษฐานไว้ที่ยอดเขานั้น ให้ชื่อว่าสุทธิเสลเจดีย์ โปรดให้สร้างพระวิหารโรงธรรมอุโบสถ กุฏิ เสนาสนสงฆ์ เป็นอารามขึ้นแต่ยังไม่ได้พระราชทานชื่อ..."[2]

สถานที่ภายในวัด[แก้]

สิ่งก่อสร้างภายในวัดพระแก้วน้อย ประกอบด้วย พระวิหาร พระสุทธเสลเจดีย์ พระปรางค์แดง ศาลาราย และหอระฆัง มีรายละเอียดดังนี้[1][3]

  • พระวิหาร มีลักษณะเป็นพระอุโบสถขนาดเล็ก ผนังประกอบด้วยหินอ่อน หลังคากระเบื้องสี กรอบหน้าบันประกอบด้วยปูนปั้นฝีมือของช่างเมืองเพชรบุรี ใบระกาหางหงส์ เป็นรูปนาค และมีจุดเด่นอยู่ที่ตรงหน้าบันที่ประดับรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ ซึ่งเป็นงานปูนปั้นอันงดงามมีชื่อเสียงชิ้นหนึ่งของเมืองเพชรบุรี[1] เดิมประดิษฐานพระแก้วผลึก แต่หลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางการจึงเชิญพระแก้วผลึกกลับกรุงเทพมหานครด้วย แล้วประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อนไว้แทน[3] ด้านล่างประดิษฐานพระแก้วมรกตจำลอง
  • พระสุทธเสลเจดีย์ มีลักษณะเป็นเจดีย์ศิลา สีเทาอมเขียวทรงกลม ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ 3 เมตร เจดีย์สูง 9 เมตร ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ ซึ่งการสลักหินอ่อนประกอบประกอบเป็นองค์เจดีย์นั้นทำสำเร็จที่เกาะสีชัง เสร็จแล้วจึงถอดเป็นชิ้นแล้วนำมาประกอบอีกครั้งบนยอดเขาวัง[3][4]
  • พระปรางค์แดงและศาลาราย ลักษณะของพระปรางค์แดง (ชาวบ้านมักเรียกกันว่า เจดีย์แดง) สร้างเป็นพระปรางค์จตุรมุขทาสีแดงทั้งองค์ ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับพระวิหาร ภายในพระปรางค์มีแท่นสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป คือ พระไพรีพินาศ (จำลอง) ส่วนศาลารายสร้างเป็นศาลาโถงขนาดเล็กสามหลัง ตั้งอยู่ด้านหน้าตรงข้ามหอระฆัง[5]
  • หอระฆัง ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนเนินที่สูงลดหลั่นลงมาจากพระวิหาร[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "วัดพระแก้วน้อย / วัดพระแก้ว". พระนครคีรี. สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 447
  3. 3.0 3.1 3.2 จันทรรัตน์ คงทัพ (6 มีนาคม 2564). "ท่อง "พระนครคีรี" วิมานบนเขา ถิ่นเก่ากษัตริย์ เศวตฉัตรมิ่งขวัญเมือง". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "พระสุทธเจดีย์". พระนครคีรี. สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "พระปรางค์แดงและศาลาราย". พระนครคีรี. สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. "หอระฆัง". พระนครคีรี. สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]