วัดประดิษฐาราม (กรุงเทพมหานคร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดประดิษฐาราม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดประดิษฐาราม, วัดมอญ
ที่ตั้งเลขที่ 33 ซอยอิสรภาพ 17/1 ถนนอิสรภาพ แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูปริยัติวรานุสิฐ (ชาลี ปญฺญาวโร ป.ธ.๔)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดประดิษฐาราม หรือ วัดมอญ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ 6 ไร่ 82.20 ตารางวา จุดเด่นคือพระพุทธรูปปางสีหไสยาสน์ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระนอน และเจดีย์คู่ทรงมอญ

ประวัติ[แก้]

วัดประดิษฐารามสร้างเมื่อ พ.ศ. 2293 เดิมเป็นวัดไทย มีกุฏิพระเป็นฝาไม้ไผ่ขัดแตะ แต่เมื่อชาวมอญมาอาศัยอยู่บริเวณนี้และได้ทำนุบำรุงวัดจึงกลายเป็นวัดมอญในที่สุด เจ้าอาวาสองค์แรกก็คือท่านเกษร เจ้าอาวาสองค์ต่อมาเป็นชาวมอญชื่อว่า หลวงปู่โต ชาวบ้านได้ไปนิมนต์ท่านมาจากบ้านบางปลา ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ในราวต้นรัชกาลที่ 5 ต่อมาราวต้นรัชกาลที่ 6 ในการปลงศพหลวงปู่โต ทางราชการได้ส่งช่างสิบหมู่มาสร้างเมรุให้และมีการจุดลูกหนูด้วย วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2521 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร[1]

อาคารเสนาสนะ[แก้]

โบสถ์เป็นโบสถ์ขนาดเล็กมีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันเป็นไม้พื้นเรียบ เซาะร่องทำลายประดับกระจกสีอย่างลายเครือเถาดอกพุดตาน มีวิหารหลังเล็กอยู่ข้างโบสถ์ หน้าบันวิหารเป็นลายปูนปั้นเครือเถา กรอบหน้าบันด้านล่าง ปั้นรูปนกในท่าเอี้ยวตัว (ไม่ใช่หงส์) 1 ตัว ซ้ายมือของโบสถ์เป็นระเบียงคดประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ที่ดินหลังระเบียงคดพระพุทธไสยาสน์เป็นวังพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) ระเบียงคดเดิมมุงด้วยกระเบื้องหางปลา ต่อมาได้รื้อลงมุงด้วยสังกะสีลอนเล็กแทน วัดมีเจดีย์บรรจุอัฐิน้อยใหญ่ 4–5 องค์ เป็นเจดีย์ทรงไทยย่อมุมไม้สิบสอง ด้านหลังโบสถ์มีเจดีย์มุมละ 1 องค์ คงเหลือเพียงองค์เดียว เป็นเจดีย์ทรงไทยย่อไม้สิบสองเหมือนกัน[2]

วัดมีศาลาการเปรียญ และมีโรงเรียนเทศบาลวัดมอญและหมู่กุฏิสงฆ์ในเขตสังฆาวาส

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดประดิษฐาราม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-23. สืบค้นเมื่อ 2020-09-22.
  2. วราห์ โรจนวิภาต. "เล่าเรื่องชุมชนมอญวัดประดิษฐาราม".[ลิงก์เสีย]