วัดทุ่งน้อย (จังหวัดนครปฐม)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดทุ่งน้อย
แผนที่
ที่ตั้งตำบลแหลมบัว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม 73120
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระประเชิญ ปุญฺญปารคู
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดทุ่งน้อย เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลแหลมบัว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

วัดทุ่งน้อยเริ่มก่อสร้างขึ้นในที่ดินรกร้างว่างเปล่า จำนวน 23 ไร่ เมื่อ พ.ศ. 2447 โดยย้ายมาจากวัดคอกช้าง ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตร และเป็นวัดที่สร้างมาในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540[1]

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถยังไม่มีการปรากฏปีศักราชที่สร้างแน่ชัด แต่เป็นการสร้างด้วยศิลปะรัตนโกสินทร์แบบประยุกต์ มีการตกแต่งประตูและหน้าบันด้วยการลงรักปิดทอง หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีแดง[2] วิหารหลวงพ่อดำ ภายในประดิษฐานรูปปั้นของอดีตเจ้าอาวาสวัดทุ่งน้อย คือ หลวงพ่อมา ปทุมฺรตฺน มีข้อความจารึกที่ฐานว่า เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2516 และมีรูปปั้นของหลวงพ่อเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)[3]

โบราณวัตถุที่สำคัญ คือ พระพุทธรูปศิลาแลง ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย หน้าตัก 3 ศอก สมัยอยุธยาตอนปลาย ลงรักปิดทองทั้งองค์ มีพระนามว่า พระพุทธศิลามนต์ แต่ชาวบ้านทั่วไปนิยมเรียกว่า หลวงพ่อดำ ประดิษฐานอยู่ในวิหาร พระพุทธรูปศิลาแลง ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางสมาธิ หน้าตัก 3 ศอก สมัยอยุธยาตอนปลาย ลงชาดทั้งองค์ มีพระนามว่า หลวงพ่อทอง ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ พระพุทธรูปทั้งสององค์นี้หลวงพ่อมา ปทุมฺรตโน พบที่อุโบสถเก่า ตำบลวัดละมุด อำเภอนครชัยศรี ซึ่งเป็นวัดร้าง อยู่ห่างจากวัดทุ่งน้อยประมาณ 4 กิโลเมตร จึงอัญเชิญมาทางเรือมาขึ้นที่วัดทุ่งน้อย และพระพุทธรูปปูนปั้น ปางไสยาสน์ ศิลปะสุโขทัย ประทับหงายพระองค์ พระหัตถ์ทั้งสองเหยียดประสานกันบนพระนาภี (สะดือ) มีขนาดยาว 5.70 เมตร กว้าง 1.50 เมตร ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในโลก หลวงพ่อมา ปทุมฺรตโน เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง เมื่อ พ.ศ. 2480 โดยมีหลวงพ่อช้าง วัดทอง คลองบางกอกน้อย ธนบุรี เป็นช่างปั้น และตั้งพระนามว่า หลวงพ่อสนอง และได้รับการบูรณะใหม่ในเมื่อ พ.ศ. 2543

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดทุ่งน้อย". พระสังฆาธิการ.
  2. "อุโบสถ วัดทุ่งน้อย". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  3. "วิหารหลวงพ่อดำ วัดทุ่งน้อย". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.