วงศ์ย่อยงูหางกระดิ่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วงศ์ย่อยงูหางกระดิ่ง
งูหางกระดิ่งไซด์วินเดอร์ (Crotalus cerastes) นับเป็นงูหางกระดิ่งขนาดใหญ่ ที่พบในทะเลทรายในตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาและตอนเหนือของเม็กซิโก มีการเคลื่อนไหวโดยขยับตัวไปทางด้านข้าง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ไฟลัมย่อย: Vertebrata
ชั้น: Reptilia
อันดับ: Squamata
อันดับย่อย: Serpentes
วงศ์: Viperidae
วงศ์ย่อย: Crotalinae
Oppel, 1811
สกุล
ชื่อพ้อง
ชื่อพ้อง
  • Crotalini - Oppel, 1811
  • Crotales - Cuvier, 1817
  • Crotalidae - Gay, 1825
  • Crotaloidae - Fitzinger, 1826
  • Cophiadae - Boie, 1827
  • Crotaloidei - Eichwald, 1831
  • Crotalina - Bonaparte, 1831
  • Bothrophes - Fitzinger, 1843
  • Crotalinae - Cope, 1860
  • Teleuraspides - Cope, 1871
  • Crotalida - Strauch, 1873
  • Bothrophera - Garman, 1884
  • Cophiinae - Cope, 1895
  • Lachesinae - Cope, 1900
  • Lachesinii - Smith, Smith & Sawin, 1977
  • Agkistrodontinii - Hoge & Romano-Hoge, 1981
  • Agkistrodontini - Hoge & Romano-Hoge, 1983 [1]

วงศ์ย่อยงูหางกระดิ่ง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Crotalinae, อังกฤษ: Rattlesnake, Pit viper) เป็นวงศ์ย่อยของวงศ์ Viperidae ที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดและพบกระจายพันธุ์ได้กว้างขวางที่สุด

มีลักษณะโดยรวม คือ มีแอ่งรับรู้คลื่นอินฟราเรดระหว่างช่องเปิดจมูกกับตา กระดูกพาลาทีนมีก้านกระดูกโคเอนัลชิ้นเล็ก กระดูกพรีฟรอนทัลไม่มีก้านกระดูกออร์ไบทัล มีขนาดความยาวตั้งแต่ 30 เซนติเมตรจนถึงร่วม 3.7 เมตร กระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในหลายพื้นที่ของโลก ตั้งแต่ยุโรปจนถึงทวีปเอเชีย และทวีปอเมริกาเหนือจนถึงอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ในหลากหลายภูมิประเทศ ตั้งแต่ทะเลทรายที่ร้อนและแห้งแล้ง ไปจนถึงที่ราบสูงหรือที่ราบต่ำในป่าดิบหรือบนภูเขาสูงที่ชุ่มชื้น โดยมากจะอาศัยและหากินบนพื้นดิน แต่บางชนิดก็ดำรงชีวิตอยู่บนต้นไม้หรือใช้ชีวิตแบบครึ่งบกครึ่งน้ำ

หากินในเวลากลางคืน โดยใช้แอ่งรับรู้คลื่นอินฟราเรดตรงระหว่างตากับจมูกจับความร้อนที่ออกจากร่างกายของเหยื่อ ซึ่งได้แก่ นกหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น สัตว์ฟันแทะชนิดต่าง ๆ ในชนิดที่ดำรงชีวิตแบบครึ่งบกครึ่งน้ำก็จับปลาหรือกบกินเป็นอาหาร แพร่พันธุ์ด้วยการออกลูกเป็นตัว ยกเว้นสกุล Calloselasma หรือ งูกะปะ, Lachesis และบางชนิดของสกุล Trimeresurus ที่วางไข่

มีทั้งหมด 18 สกุล ประมาณ 155 ชนิด โดยสกุลที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ งูหางกระดิ่งที่อยู่ในสกุล Crotalus และSistrurus ที่มีจุดเด่น คือ ปลายหางเป็นปล้องของสารประกอบเคอราติน เรียงตัวต่อเนื่องกันซึ่งเป็นส่วนของผิวหนังลำตัวที่ยังหลงเหลืออยู่จากการลอกคราบแต่ละครั้ง เมื่อสั่นหางส่วนนี้แล้วจะทำให้เกิดเสียงจากการปล้องแต่ละปล้องนั้นเสียดสีกระทบกัน เพื่อใช้เป็นสัญญาณเตือนและข่มขู่สัตว์ที่ใหญ่กว่าที่คุกคาม

สำหรับในประเทศไทย มีงูในวงศ์ย่อยนี้ 16 ชนิด ได้แก่ งูกะปะ (Calloselasma rhodostoma) ที่พบมากในสวนยางและสวนปาล์มน้ำมันทางภาคใต้, งูหางแฮ่มกาญจน์ (Trimeresurus kanburiensis), งูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง (T. trigonocephalus), งูหางแฮ่มภูเขา (Ovophis monticola) เป็นต้น[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. McDiarmid RW, Campbell JA, Touré T. 1999. Snake Species of the World: A Taxonomic and Geographic Reference, vol. 1. Herpetologists' League. 511 pp. ISBN 1-893777-00-6 (series). ISBN 1-893777-01-4 (volume).
  2. วีรยุทธ์ เลาหะจินดา, วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก หน้า 410-411 (พ.ศ. 2552) ISBN 978-616-556-016-0

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]