มูสลี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มูสลีแบบแห้ง เสิร์ฟคู่กับนมและกล้วย

มูสลี หรือ มิวส์ลี (อังกฤษ: muesli) เป็นอาหารเช้าและอาหารที่เป็นทั้งอาหารเช้าและอาหารเที่ยง (brunch)[1] ซึ่งประกอบไปด้วยข้าวโอ๊ตชนิดเกล็ด (rolled oats) และส่วนประกอบอื่น ๆ รวมไปถึงธัญพืช ผลไม้สดและแห้ง เมล็ดพันธุ์และถั่ว และอาจผสมกับนมวัว นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ นมจากพืชแบบอื่น ๆ โยเกิร์ต หรือน้ำผลไม้ มีการบรรจุมูสลีทั้งในรูปแบบแห้งพร้อมรับประทาน หรือแบบทำใหม่

ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์และเยอรมนียังนิยมรับประทานมูสลีเป็นอาหารมื้อเบาก่อนอาหารเย็นอีกด้วย

มูสลีจัดเป็นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตพลังงานสูง เหมาะแก่การรับประทานเป็นอาหารเช้า

ประวัติ[แก้]

มูสลีได้รับการพัฒนาขึ้นประมาณช่วงปี พ.ศ. 2443 โดยแพทย์ชาวสวิสชื่อ มักซีมีเลียน เบียร์เชอร์-เบ็นเนอร์ สำหรับผู้ป่วยที่ต้องรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยผลไม้และผักสดในโรงพยาบาลของเขา[2] เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจาก "อาหารจานแปลก" ที่เขาและภรรยาได้รับประทานขณะปีนเขาที่เทือกเขาแอลป์ มูสลีที่รู้จักกันในปัจจุบันเริ่มได้รับความนิยมในประเทศแถบตะวันออกในช่วงปี พ.ศ. 2503 ซึ่งเป็นช่วงที่อาหารสุขภาพและอาหารมังสวิรัติได้รับความสนใจ มูสลีแบบดั้งเดิมของเบียร์เชอร์ถูกแช่ในน้ำและน้ำมะนาวข้ามคืน จากนั้นรับประทานคู่กับโยเกิร์ต

มูสลีในบรรจุภัณฑ์[แก้]

ส่วนประกอบของมูสลีในบรรจุภัณฑ์

มูสลีในบรรจุภัณฑ์มีส่วนประกอบหลักเป็นข้าวโอ๊ตชนิดเกล็ดหรือคอร์นเฟลก ผสมกับผลไม้แห้งหลากหลายแบบ ถั่ว และเมล็ดพันธุ์ ส่วนใหญ่แล้วจะมีส่วนประกอบของเกล็ดธัญพืชชนิดอื่น เช่น ข้าวสาลีหรือข้าวไรย์ โดยมีรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งอาจมีส่วนผสมของน้ำผึ้ง เครื่องเทศ หรือช็อกโกแลต มูสลีในบรรจุภัณฑ์แบบแห้งสามารถเก็บได้เป็นเวลานานหลายเดือนและรับประทานได้อย่างรวดเร็วเพียงผสมกับนม โยเกิร์ต กาแฟ ช็อกโกแลตร้อน น้ำผลไม้ หรือน้ำเปล่า นอกจากนี้ยังสามารถใส่ผลไม้ได้ตามต้องการ นอกจากนี้อีกวิธีหนึ่งในการรับประทานมูสลีได้แก่ การแช่นมไว้ข้ามคืน จากนั้นรับประทานพร้อมผลไม้สด

มูสลีสด[แก้]

มูสลีสด ทำจากข้าวโอ๊ตชนิดเกล็ด น้ำส้ม แอปเปิลปั่น และกล้วย เร็ดเคอร์รันต์ ลูกเกด เนยแข็งคอตทิจ ปิดท้ายด้วยแรสเบอร์รี

เราสามารถทำมูสลีแบบสดโดยใช้ข้าวโอ๊ตชนิตเกล็ด หรือข้าวโอ๊ตแบบเต็มเมล็ดซึ่งผ่านการแช่ในน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้ ส่วนประกอบอื่น ๆ ที่มักนำมาใช้ ได้แก่ ผลไม้สด (เช่น กล้วย แอปเปิล เบอร์รี องุ่น มะม่วง ผลไม้แห้ง ผลิตภัณฑ์นม (เช่น นมสด นมเปรี้ยว ครีม นมข้นหวาน หรือนมถั่วเหลือง) น้ำเลมอน ถั่วบด เมล็ดพันธุ์ เครื่องเทศ (โดยเฉพาะอบเชย) น้ำผึ้ง

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Planet, L. (2 March 2015), The World's Best Brunches: Where to Find Them and How to Make Them, Lonely Planet Publications, p. 294, ISBN 978-1-74360-881-4, ISBN 978-1-74360-881-4.
  2. Kurmann, Joseph A.; Rasic, Jeremija L.; Kroger, Manfred (1992), "Bircher Muesli", Encyclopedia of Fermented Fresh Milk Products: An International Inventory of Fermented Milk, Cream, Buttermilk, Whey, and Related Products (1 ed.), Springer Verlag, p. 75, ISBN 978-0-442-00869-7, ISBN 978-0-442-00869-7.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ มูสลี