ซอบั้ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ซอบั้ง หรือ ซอผู้ไท[1] หรือ ซอไม้ไผ่[2] เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสี ที่ทำจากปล้องไม่ไผ่ ทำหน้าที่เป็นทั้งกะโหลกซอและคันซอ ซึ่งแตกต่างจากซอในภูมิภาคอื่นของประเทศไทย ไม้ไผ่ที่ใช้ขึ้นอยู่บนเขา โดยตัดในช่วงที่กำลังผลิแขนงแตกใบอ่อน เรียกว่า “ไม้กุ” แล้วนำไปตากแดดจนแห้งอยู่ตัว ก่อนจะนำไปขูดเปลือก เจาะรู ร้อยสาย เข้ากับลูกบิด บั้งหรือกระบอกไม่ไผ่นั้นทำหน้าที่เป็นกล่องเสียงเช่นเดียวกับกะโหลกซอ ด้านหนึ่งของกระบอกวางชิ้นไม้เล็กๆเรียกว่า หย่อง ทำหน้าที่ยกสายซอทั้งสองสาย ซึ่งทำจากสายห้ามล้อจักรยาน สายหนึ่งเรียกว่า “สายไล่เสียง” ทำหน้าที่ดำเนินทำนอง สายที่สองเรียกว่า “สายกล่อมเสียง”[3] ทำหน้าที่เป็นเสียงประสาน ให้สูงขึ้น วางพาดขึงไปยังลูกบิดที่ทำจากลิ่มไม่สองชิ้นบริเวณปลายด้านตรงข้ามของกระบอก ถัดมาเล็กน้อยมีรัดอกที่ทำจากหวายรัดสายซอทั้งสองให้สัมผัสเข้ากับตัวกระบอก[1]

ซอบั้งนิยมบรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีอื่น เช่น พิณ และแคน โดยใช้คันชักสีให้เกิดเสียง ร่วมกับแคน และปี่ผู้ไท มีเสียงที่อ่อนหวานเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ในด้านระบบเสียงซอบั้งของชาวบ้านบ่อแก้วพบว่ามีเสียงหลักที่ใช้ในการบรรเลงบทเพลงอยู่ 6 เสียง คือ F# A# B C# E F# ซึ่งเป็นระบบเสียงห้าเสียง (Pentatonic Scale) โดยอยู่ในโครงสร้างของบันไดเสียง F# Minor Pentatonic Scale การบรรเลงจะสีทั้งสองสายพร้อมกัน โดยมีทำนองเพลงที่บรรเลงคือลายล่องขวง ลายลำภูไท ลายลำให้พร ลายเดินดง และลายสุดสะแนน ซอบั้งใช้ในเฉพาะกลุ่มบุคคลในชุมชน และบทบาทของซอบั้งในบริบทเชิงพิธีกรรมในชุมชน

วิธีการทำซอบั้ง

วัสดุและอุปกรณ์การประดิษฐ์ซอบั้งของชาวบ้านบ่อแก้วประกอบด้วยไม้ไผ่[2] มีดโต้ มีดไส มีดเจาะ เหล็กซี สายเบรกรถจักรยาน สายเอ็นไนลอน สายพลาสติก และยางไม้ต้นซาด[4] โดยมีขั้นตอนและวิธีการประดิษฐ์ซอบั้งที่สำคัญ [4]คือ

  • การเลือกไม้ไผ่ มีอายุประมาณ 2 ปี ขึ้นไป อายุของไผ่ส่งผลต่อเสียงและลักษณะของซอบั้ง[4]
  • การวัดระยะความยาวของซอบั้งไม้ไผ่ สัดส่วนความกว้างต่อความยาวของปล้องไม้ไผ่ในอัตรา 1 : 6[4]
  • การขึ้นรูปซอบั้งไม้ไผ่ จะใช้มีดโต้ และการไสเปลือกไม้ไผ่ให้มีความบางตามต้องการ[4]
  • การเจาะรูลูกบิดสายและรูร้อยสายใช้เหล็กซีที่เผาไฟ [4]
  • การขึ้นสายซอบั้งไม้ไผ่ การเจาะช่องขยายเสียงและการประดิษฐ์คันชัก จากไม้ไผ่ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร[4]

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 TK Park. ซอบั้ง สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2564.
  2. 2.0 2.1 เครื่องดนตรีของภาคอีสานตอนเหนือ สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2564.
  3. พิทยวัฒน์ พันธะศรี. แนวทางการส่งเสริม อนุรักษ์และพัฒนาซอบั้งชาวภูไท จังหวัดกาฬสินธุ์. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2564.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 พิทยวัฒน์ พันธะศรี. ซอบั้ง : การสืบทอดวัฒนธรรมการประดิษฐ์และการบรรเลงของชาวบ้านบ่อแก้ว ตำบลบ่อแก้ว อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ Saw-Bang : Cultural Transmission Created and Played by Bokaew Villagers at Tambon Bokaew, Amphoe Nakhhu Kalasin Province. วารสารวิชาการแพรวากาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2557.