พระเจ้าคนุตที่ 4 แห่งเดนมาร์ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าคนุตที่ 4
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
พระบรมรูปกษัตริย์คนุตที่ 4 ณ โบสถ์นักบุญปีเตอร์, เนสวืด
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
ครองราชย์1080 – 1086
ก่อนหน้าฮารัลด์ที่ 3
ถัดไปโอลาฟที่ 1
ประสูติราว ค.ศ. 1042[1]
สวรรคต10 กรกฎาคม ค.ศ. 1086(1086-07-10) (44 ปี)
โบสถ์นักบุญอัลบัน, โอเดนเซ
ฝังพระศพมหาวิหารนักบุญคนุต, โอเดนเซ
คู่อภิเษกอเดลาแห่งแฟลนเดอส์
พระราชบุตร
พระนามเต็ม
คนุต สเวนเซน แอสตริดเซน
ราชวงศ์แอสตริดเซน
พระราชบิดาพระเจ้าสเวนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก
พระราชมารดาไม่ปรากฎนาม
ศาสนาโรมันคาทอลิก

พระเจ้าคนุตที่ 4 แห่งเดนมาร์ก (ราว ค.ศ. 1042 - 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1086) ทรงเป็นที่รู้จักในภายหลังว่า พระเจ้าคนุต ผู้ศักดิ์สิทธิ์ (เดนมาร์ก: Knud IV den Hellige) หรือ นักบุญคนุต (Sankt Knud) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก ระหว่างปีค.ศ. 1080 ถึงค.ศ. 1086 กษัตริย์คนุตทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทะเยอทะยาน ผู้ทรงพระยายามสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์เดนมาร์ก พระองค์ทรงอุทิศตนแก่โรมันคาทอลิกและทรงมีความปรารถนาในราชบัลลังก์อังกฤษ สุดท้ายพระองค์ทรงถูกลอบปลงพระชนม์โดยกบฏในปีค.ศ. 1086 พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์เดนมาร์กพระองค์แรกที่ได้รับการประกาศเป็นนักบุญ ทรงได้รับการรับรองจากคริสตจักรคาทอลิกและทรงได้เป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของประเทศเดนมาร์ก ในปีค.ศ. 1101

พระชนม์ชีพ[แก้]

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระเจ้าคนุตที่ 4
ตราประจำพระอิสริยยศ
การทูลHans Majestæt
(ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท)
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับDeres Majestæt
(พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ)

เจ้าชายคนุตประสูติราว ค.ศ. 1042 เป็นหนึ่งในพระโอรสหลายพระองค์ของพระเจ้าสเวนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก[1] พระองค์เป็นคนแรกทีได้รับการบันทึกว่า ทรงมีส่วนร่วมในการบุกปล้นสะดมอังกฤษในพระนามของกษัตริย์สเวนที่ 2 ในปีค.ศ. 1069[2] และในบันทึกเหตุการณ์ของชาวแองโกล-แซกซัน ได้บรรยายว่า เจ้าชายคนุตเป็นหนึ่งในผู้นำในการบุกปล้นอังกฤษในปีค.ศ. 1075 เมื่อพระองค์ทรงนำกองทัพหลับมายังอังกฤษในปีค.ศ. 1075 กองเรือเดนมาร์กหยุดพักที่เคาน์ตีฟลานเดอส์[3] แฟลนเดอส์เป็นปฏิปักษ์ต่อพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งอังกฤษ จึงทำให้กลายเป็นพันธมิตรของชาวเดนส์ไปโดยปริยาย ตามบันทึกของสกัลด์ คาล์ฟ มานาซอน ได้บันทึกว่า พระองค์ทรงปฏิบัติการทหารสำเร็จในแซมเบอร์และเอสเธอร์[2]

เมื่อกษัตริย์สเวนสวรรคต พระเชษฐาของเจ้าชายคนุตได้ขึ้นเป็นกษัตริย์คือ พระเจ้าฮารัลด์ที่ 3 แห่งเดนมาร์ก และเจ้าชายคนุตต้องลี้ภัยไปยังสวีเดน[2] เนื่องจากพระองค์อาจมีส่วนในการต่อต้านการปกครองของกษัตริย์ฮารัลด์[3] ในวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1080 กษัตริย์ฮารัลด์สวรรคต[4] และคนุตได้สืบราชบัลลังก์เดนมาร์ก ในช่วงครองราชย์ พระองค์ได้อภิเษกสมรสกับอเดลาแห่งแฟลนเดอส์ ธิดาในโรแบร์ที่ 1 เคานท์แห่งแฟลนเดอส์ พระราชินีอเดลามีพระสูติกาลพระราชโอรสหนึ่งพระองค์คือ เจ้าชายคาร์ล ในปีค.ศ. 1084 และพระราชธิดาฝาแฝดคือ เจ้าหญิงเซซีเลีย (เสกสมรสกับยาร์ล อีริค) และเจ้าหญิงอิงเงอเกิร์ด (เสกสมรสกับ โฟลเก ผู้อ้วนท้วม) ซึ่งประสูติก่อนที่กษัตริย์คนุตจะสวรรคตไม่นาน (ราวค.ศ. 1085/1086)[2][5] เชื้อสายของเจ้าหญิงอิงเงอเกิร์ดคือ ราชวงศ์ยาลโบ ซึ่งสืบราชบัลลังก์สวีเดนและนอร์เวย์ และเชื้อสายของกษัตริย์คนุตได้ครองราชย์ในเดนมาร์กครั้งแรก คือ พระเจ้าโอลาฟที่ 2 แห่งเดนมาร์ก

พระมหากษัตริย์เดนมาร์ก[แก้]

กษัตริย์คนุตที่ 4 ทรงได้รับการบรรยายว่า เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความทะเยอทะยานอย่างสูงส่ง เช่นเดียวกับการศรัทธาในศาสนาอย่างแรงกล้า พระองค์ได้เพิ่มอำนาจของคริสตจักร และเรียกร้องให้มีการกวดขันทางศาสนาในวันหยุดของคริสตจักร[2] พระองค์ทรงพระราชทานของกำนัลขนานใหญ่แก่โบสถ์ในดาลบี โอเดนเซ รอสกิลด์ และวีบอร์ก และโดยเฉพาะในลุนด์[2] ด้วยความที่ทรงสนับสนุนโบสถ์อย่างยิ่ง พระองค์ทรงกระตุ้นให้มีการเก็บทศางค์[1] การเพิ่มพูนอำนาจของคริสตจักร ทำให้พระองค์ได้พันธมิตรที่ทรงอำนาจ เพื่อสนับสนุนสถานะของกษัตริย์คนุต[2]

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1085 กษัตริย์คนุตทรงเขียนจดหมายบริจาคแก่มหาวิหารลุนด์ที่กำลังก่อสร้าง พระองค์พระราชทานที่ดินผืนใหญ่ในสคาเนีย, เกาะเชลลันด์และอาแมเยอร์[6] พระองค์ทรงก่อตั้งโรงเรียนมหาวิหารลุนด์ในเวลาเดียวกัน[2] กษัตริย์คนุตทรงรวบรวมที่ดินส่วนใหญ่จากให้ศาสนาเพื่อให้อภัยโทษแก่ข้าราชบริพารผู้ทำผิดกฎหมายของพระองค์ เหล่าบาทหลวงแห่งลุนด์ได้ขยายอำนาจอภิสิทธิ์ในที่ดินเหล่านั้น สามารถเก็บภาษีและปรับชาวนาบริเวณนั้นได้ แต่กษัตริย์คนุตยังคงรักษาสิทธิในการอภัยโทษคนนอกกฎหมายของพระองค์ไว้ เมื่อยามที่ทรงล้มเหลวในการระดมข้าราชบริพารผู้ประพฤติดีในการจัดตั้ง เลดัง ระดมพลสู่สงคราม และจึงทรงใช้คนกลุ่มนี้แทนโดยให้เดินทางมาเป็นบริวารของพระองค์[6]

รัชกาลของพระองค์มีความพยายามอย่างแข็งขันในการเพิ่มอำนาจของราชวงศ์ในเดนมาร์ก ด้วยการยับยั้งขุนนางและให้พวกเขาเคารพกฏหมาย[2] กษัตริย์คนุตทรงประกาศพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้พระองค์สามารถอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินสาธารณะ และสิทธิ์ในสินค้าของเรืออับปาง อีกทั้งสิทธิ์ในการสืบทอดทรัพย์สินของชาวต่างชาติและชาวเดนมาร์กที่ไร้ญาติสืบมรดก พระองค์ยังทรงตรากฎหมายเพื่อปกป้องเสรีภาพของนักบวชและพ่อค้าต่างชาติ[1] พระราโชบายเหล่านี้นำไปสู่ความไม่พอใจในหมู่ราษฎรของพระองค์ ซึ่งไม่คุ้นเคยกับการที่มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงอ้างสิทธิในพระราชอำนาจดังกล่าว และมองว่าเป็นสิ่งที่คุกคามชีวิตประจำวันของพวกเขา[2]

การล้มเลิกความพยายามในอังกฤษ[แก้]

แต่ความทะเยอทะยานของกษัตริย์คนุตที่ 4 ไม่ทรงมีเพียงแค่เรื่องภายในประเทศ ด้วยทรงเป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าคนุตมหาราช ผู้ปกครองอังกฤษ เดนมาร์กและนอร์เวย์ จนถึงปีค.ศ. 1035 กษัตริย์คนุตทรงปรารถนาในราชบัลลังก์อังกฤษ โดยทรงมองว่าพระองค์มีสิทธิอันชอบธรรม ส่วนกษัตริย์วิลเลียมที่ 1 แห่งอังกฤษนั้นเป็นเพียงผู้ช่วงชิงราชบัลลังก์ พระองค์ทรงระดมกองเรือเพื่อ เลดังลิมฟยอร์ด[2] แต่กองเรือไม่เคยได้ออกเดินทาง เนื่องจากกษัตริย์คนุตที่ 4 ทรงจดจ่ออยู่กับการยึดครองชเลสวิช โดยมองภัยคุกคามจากจักรพรรดิไฮน์ริชที่ 4 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งทรงมองเดนมาร์กและแฟลนเดอส์ด้วยท่าทีที่ไม่เป็นมิตร กษัตริย์คนุตทรงหวาดหวั่นต่อการรุกรานของจักรพรรดิไฮน์ริชที่ 4 ซึ่งศัตรูของจักรพรรดิคือ รูดอล์ฟแห่งเรนเฟลเดินกำลังลี้ภัยอยู่ในเดนมาร์ก[2]

นักรบในกองเรือส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่ต้องการเดินทางกลับบ้านในฤดูเก็บเกี่ยว เบื่อการรอคอยนี้และได้เลือกเจ้าชายโอลาฟ (ต่อมาคือ พระเจ้าโอลาฟที่ 1 แห่งเดนมาร์ก) พระอนุชาของกษัตริย์ให้เป็นผู้นำของพวกเขาและเป็นปากเป็นเสียงให้ในการปรึกษากับกษัตริย์คนุต สิ่งนี้ทำให้กษัตริย์เกิดความระแวง จึงทรงมีพระราชโองการให้จับกุมเจ้าชายโอลาฟ และทรงไปคุมขังในแฟลนเดอส์ ในที่สุดเลดังก็ยุบแยกย้ายกันไป ด้วยชาวนาต้องการที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิต[2] แต่กษัตริย์คนุตก็ทรงต้องการที่จะระดมพลอีกครั้งภายในหนึ่งปี

สวรรคต[แก้]

ก่อนที่จะมีการระดมพลกองเรือ ชาวนาผู้ไม่พอใจได้ก่อกบฏในเวนซิสเซล[1] อันเป็นสถานที่ที่กษัตริย์คนุตทรงประทับอยู่ในต้นปีค.ศ. 1086 กษัตริย์คนุตทรงหลบหนีไปยังชเลสวิชและสุดท้ายไปอยู่ที่โอเดนเซ ในวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1086 กษัตริย์คนุตและราชองครักษ์ได้ขอลี้ภัยในโบสถ์นักบุญอัลบันในโอเดนเซ ซึ่งเป็นเขตอภัยทาน แต่ฝ่ายกบฏได้บุกเข้าโบสถ์และปลงพระชนม์กษัตริย์คนุต พร้อมพระอนุชาคือ เจ้าชายเบเนดิกต์ และเหล่าราชองครักษ์ 17 นาย ต่อหน้าแท่นบูชา[1] ตามบันทึกของอาลินอธแห่งแคนเทอร์เบอรี ได้บรรยายว่า กษัตริย์คนุตสวรรคตจากการถูกหอกแทงเข้าที่สีข้าง[7] ผู้สืบบัลลังก์คือ เจ้าชายโอลาฟ ที่ครองราชย์เป็น พระเจ้าโอลาฟที่ 1 แห่งเดนมาร์ก

การประกาศเป็นนักบุญ[แก้]

นักบุญคนุตผู้ศักดิ์สิทธิ์
มรณสักขี
เกิดราว ค.ศ. 1042
เสียชีวิต10 กรกฎาคม ค.ศ. 1086
โบสถ์นักบุญอัลบัน, โอเดนเซ
นิกายโรมันคาทอลิก
เป็นนักบุญ19 เมษายน ค.ศ. 1101
โดย สมเด็จพระสันตะปาปาปาสคาลที่ 2
วันฉลอง10 กรกฎาคม
สัญลักษณ์คนสวมมงกุฏและเสื้อคลุมอย่างกษัตริย์
องค์อุปถัมภ์ประเทศเดนมาร์ก

ก่อนการมรณสักขี พระองค์เป็นผู้สนับสนุนคริสตจักร กษัตริย์คนุตทรงถูกยกยอเป็นนักบุญอย่างรวดเร็ว ในรัชกาลของกษัตริย์โอลาฟที่ 1 เดนมาร์กประสบปัญหาการเพาะปลูกล้มเหลว จึงถูกมองว่าเป็นการลงโทษของพระเจ้าสำหรับการมรณสักขีการล่วงเกินทำลายสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างกษัตริย์คนุตที่ 4 มีการรายงานปาฏิหาริย์ปรากฎขึ้นเหนือหลุมพระศพของพระองค์[8] และกระบวนการประกาศเป็นนักบุญริเริ่มในสมัยกษัตริย์โอลาฟที่ 1[1]

ในวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1101 ด้วยการเกลี้ยกล่อมของราชทูตจากพระเจ้าอีริคที่ 1 แห่งเดนมาร์ก สมเด็จพระสันตะปาปาปาสคาลที่ 2 จึงทรงยืนยันการเกิดขึ้นของ "ลัทธิคนุต" และกษัตริย์คนุตที่ 4 ทรงได้รับการประกาศให้เป็นนักบุญ[6] พระองค์เป็นชาวเดนมาร์กคนแรกที่ได้เป็นนักบุญ[1] วันที่ 10 กรกฎาคม เป็นวันเฉลิมฉลองพระองค์ตามคติคาทอลิก ในสวีเดนและฟินแลนด์มีประวัติถึงวันนักบุญคนุตบางส่วน แต่แท้จริงแล้วเป็นการระลึกถึงมรณสักขีของ เจ้าชายคนุต ลาวาร์ด พระนัดดาของพระองค์มากกว่า[9][10]

ในปีค.ศ. 1300 พระบรมศพของพระองค์และเจ้าชายเบเนดิกต์ พระอนุชา ได้รับการฝังใหม่ที่มหาวิหารนักบุญคนุตในโอเดนเซ ซึ่งถูกสร้างเพื่อเป็นเกียรติแก่พระองค์ และพระบรรมศพของพระองค์ยังคงอยู่ที่นั่น[1]

พระราชมรดก[แก้]

การปลงพระชนม์คนุตผู้ศักดิ์สิทธิ์ วาดโดย คริสเตียน อัลเบร็คช์ ฟ็อน เบ็นซอน ในปีค.ศ. 1843

รัชกาลของกษัตริย์คนุตได้ถูกตีความแตกต่างกันไปตามกาลเวลา จากกษัตริย์หัวรุนแรงที่กดขี่ข่มเหงประชาชน มาเป็นกษัตริย์ผู้เข้มงวดแต่ยุติธรรม ซึ่งอุทิศพระองค์แก่คริสตจักรโรมันคาทอลิกอย่างทุ่มเท ทรงต่อสู้เพื่อความยุติธรรมโดยไม่คำนึงถึงตัวพระองค์เอง[3] พระองค์ไม่ทรงเคยเป็นนักบุญซึ่งเป็นที่นิยมในเดนมาร์ก แต่ความเป็นนักบุญของเขาทำให้สถาบันกษัตริย์เดนมาร์กได้รับรัศมีของเทวสิทธิราชย์[1] สาเหตุของการกบฏที่ได้สังหารกษัตริย์คนุตที่ 4 นั้นไม่ปรากฏแน่ชัด แต่ก็สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะค่าปรับที่ทรงเรียกเก็บจากชาวนาที่ไม่ได้มาเข้าร่วม "เลดัง" ในปีค.ศ. 1085 ตามที่ระบุไว้ในพงศาวดารรอสกิลด์ หรืออาจเป็นเพราะผลที่รุนแรงที่เกิดมาจากนโยบายทศางค์ของพระองค์

เอกสารการบริจาคให้มหาวิหารลุนด์ของพระองค์ เป็นเอกสารที่เก่าแก่ที่สุดในเดนมาร์ก ซึ่งให้ข้อมูลเชิงลึกอย่างกว้างๆ เกี่ยวกับสังคมหลังยุคไวกิงของเดนมาร์ก[6] การบริจาคอาจเป็นจุดประสงค์ในการจัดตั้งสังฆมณฑลลุนด์ของเดนมาร์ก ตามพระราชประสงค์ของกษัตริย์สเวนที่ 2[2] ซึ่งมาสำเร็จในปีค.ศ. 1104 เมื่อพระราชโอรสของกษัตริย์คนุตคือ เจ้าชายคาร์ล ได้เป็นเคานท์แห่งแฟลนเดอส์ระหว่างปีค.ศ. 1119 ถึงค.ศ. 1127 พระองค์ได้รับพระสมัญญานามว่า ชาร์ล คนดี เคานท์คาร์ล หรือ ชาร์ล ก็ทรงพบจุดจบเหมือนพระราชบิดาคือ ทรงถูกปลงพระชนม์โดยกบฏ (ในบรูช ค.ศ. 1127) ต่อมาทรงได้รับการประกาศเป็นบุญราศี[2] ตามบันทึกของนีลส์ ลุนด์ ผู้สอนประวัติศาสตร์ยุคกลางของมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ระบุว่า การที่กษัตริย์คนุตละทิ้งการบุกอังกฤษ "ถือเป็นจุดจบของยุคสมัยไวกิง"

ในปีค.ศ. 2008 มีการถ่ายภาพรังสีส่วนตัดอาศัยคอมพิวเตอร์พระบรมศพของกษัตริย์คนุต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระองค์เป็นคนถนัดมือขวา และมีพระวรกายผอมเพรียว นอกจากนี้มีการระบุสาเหตุการสวรรคตว่ามีการแทงจากกระดูกใต้กระเบนเหน็บไปยังส่วนท้อง ซึ่งลบล้างบันทึกของอาลินอธแห่งแคนเทอร์เบอรี พระองค์ไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ ที่มีการต่อสู้กับศัตรูหลายคน ซึ่งเป็นการสนับสนุนหลักฐานที่ว่าพระองค์ทรงยอมรับความตายโดยที่ไม่ทรงต่อสู้ใดๆ เลย[7]

ในสเปน วันเฉลิมฉลองนักบุญคนุต กลายเป็น "วันหยุด" เล่นๆ สนุกๆ ไม่จริงจัง สำหรับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อให้มารีฮวนนาถูกกฎหมาย ตามภาษาสเปนชื่อพระองค์คือ คานูโต ซึ่งบังเอิญตรงกับคำเรียก บุหรี่จากกัญชา[11]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 Stefan Pajung, Knud den Hellige ca. 1042–1086, danmarkshistorien.dk, Aarhus University, 22 January 2010
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 2.14 Bricka, Carl Frederik, Dansk Biografisk Lexikon, vol. IX [Jyde – Køtschau], 1895, pp.260–263.
  3. 3.0 3.1 3.2 Knud 4. den Hellige at Gyldendals Åbne Encyklopædi
  4. Bricka, Carl Frederik, Dansk Biografisk Lexikon, vol. VII [I. Hansen – Holmsted], 1893, p.74.
  5. Line, Philip (2007). Kingship and State Formation in Sweden: 1130–1290. Brill. pp. 499–500.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 Knud den Helliges gavebrev 1085 เก็บถาวร 23 กรกฎาคม 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, danmarkshistorien.dk, Aarhus University, 6 June 2010
  7. 7.0 7.1 CT-scanning af Knud den Hellige afslører nyt om kongemord เก็บถาวร 2008-03-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Ingeniøren, 8 March 2008
  8. Farmer, David Hugh (1997). The Oxford dictionary of saints (4. ed.). Oxford [u.a.]: Oxford Univ. Press. pp. 87. ISBN 9780192800589.
  9. Axelsson, M: Tjugo dagar efter jul, published 13 January 2007 (in Swedish)
  10. The Scandinavian Remedy: The murder at Haraldsted (3 January 2009) เก็บถาวร 16 มีนาคม 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, retrieved 8 January 2012.
  11. "En honor a San Canuto". El País (ภาษาสเปน). 20 January 2003.

อ้างอิง[แก้]

  • The Oxford Illustrated History of the Vikings. Ed., Peter Sawyer. Oxford University Press, New York, 1997. Chapter Seven: "The Danish Empire and the End of the Viking Age" by Niels Lund. The quote is from page 181.
  • The Oxford Dictionary of Saints. Ed David High Farmer. Oxford University Press, 2004. See the entry on St Canute.
ก่อนหน้า พระเจ้าคนุตที่ 4 แห่งเดนมาร์ก ถัดไป
พระเจ้าฮารัลด์ที่ 3
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
(ค.ศ. 1080 - ค.ศ. 1086)
พระเจ้าโอลาฟที่ 1