พระพุทธอุทาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระพุทธอุทาน หรือ พุทธอุทาน คือคำอุทานของพระพุทธเจ้า ที่เปล่งออกจากพระโอษฐ์ด้วยความปีติโสมนัสด้วยมหากิริยาจิต (จิตที่ไม่ประกอบด้วยกิเลส ทั้งกุศลและอกุศล) พระพุทธเจ้าทรงเปล่งพระพุทธอุทานหลายครั้งตลอดพระชนมชีพของพระองค์ ซึ่งบางครั้งเป็นบทประพันธ์คาถา บางครั้งเป็นคำตรัสร้อยแก้วแบบธรรมดา[1] ซึ่งคาถาอุทานที่พระองค์ตรัสไว้มีจำนวนมากต่างกรรมต่างวาระกัน ทำให้การปฐมสังคายนาพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าหลังพุทธปรินิพพาน ต้องมีการแยกหมวดหมู่สำหรับรวบรวมพระพุทธพจน์ที่เป็นพระพุทธอุทานไว้โดยเฉพาะ

ตัวอย่างพระพุทธอุทาน[แก้]

ตัวอย่างพระพุทธอุทาน "ปฐมพุทธอุทาน" เป็นพระพุทธอุทานที่ทรงเปล่งออกเป็นคำประพันธ์ ที่โคนต้นโพธิ์เป็นที่ตรัสรู้ หลังการตรัสรู้ได้ 7 วัน

"ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา
อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส
อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา
ยโต ปชานาติ สเหตุธมฺมํ"
(แปลว่า: "ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลายมาปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีเพียร
เพ่งอยู่ ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น
ย่อมสิ้นไปเพราะมารู้แจ้งธรรมพร้อมด้วยเหตุ ฯ")[2]

หมายความว่า บุคคลจะหลุดพ้นความสงสัยทั้งปวงได้ เพราะรู้ที่มาของสาเหตุของปัญหา (ทุกข์ สมุทัย) หรือ บุคคลจะหลุดพ้นได้เพราะมองทุกสิ่งโดยความเป็นจริง คือเพ่งพินิจอารมณ์ภายในจิตใจด้วยความเป็นจริง ซึ่งจะทำให้ผู้เพ่งพินิจเข้าใจได้เองโดยธรรมชาติของจิตว่าความคิดทั้งปวงตกอยู่ในสามัญญลักษณะ คือมีการแปรเปลี่ยนไปตลอด เมื่อรู้ได้เช่นนี้แล้ว ผู้เพ่งพินิจจะได้เข้าใจและไม่ยึดติดกับจิตใจอันหวั่นไหวต่อกิเลส และสามารถหลุดพ้นจากความต้องการอันเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวงได้[3]

อ้างอิง[แก้]