พระนางจิรประภาเทวี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระนางจิรประภามหาเทวี)
จิรประภาเทวี
มหาเทวี
ครองราชย์พ.ศ. 2088–2089
รัชกาลก่อนหน้าพระเมืองเกษเกล้า
รัชกาลถัดไปสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช
ประสูติประมาณ พ.ศ. 2042–43
สวรรคตประมาณ พ.ศ. 2137–38 (95-96 พรรษา)
พระราชสวามีพระเมืองเกษเกล้า
พระราชบุตรท้าวซายคำ
เจ้าจอมเมือง
พระนางยอดคำทิพย์
ราชวงศ์มังราย

พระนางจิรประภาเทวี (ไทยถิ่นเหนือ: ᨾᩉᩣᨴᩮᩅᩦ ᨧᩥᩁᨷᩕᨽᩣ) (ครองราชย์ พ.ศ. 2088–2089) หรือ มหาเทวีจิรประภา (ไทยถิ่นเหนือ: ) เป็นพระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 12 แห่งอาณาจักรล้านนาสืบต่อจากพระราชสวามี ซึ่งในรัชกาลของพระนางหัวเมืองฝ่ายเหนือเกิดการระส่ำระสายเนื่องจากบ้านเมืองเกิดการแย่งอำนาจระหว่างขุนนางกับเจ้านาย บ้านเมืองอ่อนแอมีศึกสงครามขนาบทั้งทิศเหนือและใต้ ทั้งกองทัพพม่า และอยุธยา ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยาที่ยกทัพมาถึงเชียงใหม่

พระนางปกครองบ้านเมืองเพียงแค่เพียงปีเศษก็ได้สละราชบัลลังก์แก่ สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พระราชนัดดา (หลานยาย) ซึ่งเป็นพระราชโอรสของกษัตริย์โพธิสารราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง และภายหลังพระองค์และพระราชนัดดาได้เสด็จไปประทับในนครหลวงพระบางและมิได้นิวัติกลับมายังนครเชียงใหม่อีกเลยตลอดปลายพระชนม์ชีพ

พระราชประวัติ[แก้]

พระนางจิรประภาเทวี พระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า หรือ พญาเกศเชษฐราช กษัตริย์แห่งล้านนา (ครองราชย์ครั้งแรก พ.ศ. 2068-2081 ครองราชครั้งที่สอง พ.ศ. 2086-2088) ทรงให้ประสูติกาลพระโอรส 2 พระองค์ และพระราชธิดาอีก 1 พระองค์ ได้แก่

  1. ท้าวซายคำ กษัตริย์แห่งล้านนา (ครองราชย์ พ.ศ. 2081-2086) หลังจากขุนนางปลดพระเมืองเกษเกล้า พระราชบิดาออกจากราชบัลลังก์และอัญเชิญพระองค์ครองราชสมบัติ แต่ภายหลังพระองค์ก็ถูกเหล่าขุนนางลอบปลงพระชนม์พร้อมครอบครัว[1]
  2. เจ้าจอมเมือง พระราชโอรสองค์ที่สอง แต่ไม่สามารถครองราชย์ได้เนื่องจากทรงอ่อนแอจนไม่สามารถขึ้นครองราชสมบัติได้ บางท่านได้อธิบายว่า พระองค์อาจทรงปัญญาอ่อน[2]
  3. พระนางยอดคำทิพย์ พระราชธิดาที่ต่อมาภายหลังได้เป็นพระอัครมเหสีในพระเจ้าโพธิสารราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง และมีพระราชโอรสคือ พระไชยเชษฐาธิราช

ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานโดยตรงเกี่ยวกับการประสูติกาลในปีใด แต่ศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล ได้คำนวณจากการที่ท้าวซายคำประสูติเมื่อพระเมืองเกษเกล้ามีพระชนมายุ 18 พรรษา พระนางจิรประภาเทวีอาจมีพระประสูติกาลพระโอรสเมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 16 พรรษา พระนางจึงน่าจะประสูติในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2042-2043 และเมื่อพิจารณาจากภูมิหลังเดิมของพระเมืองเกษเกล้าที่เคยประทับในเมืองน้อย (ปัจจุบันคืออำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน) ซึ่งถือเป็นเขตไทใหญ่ พระนางจิรประภาอาจทรงมีเชื้อสายไทใหญ่ด้วย แต่ศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุลได้เน้นว่าเป็นเพียงข้อสังเกตเท่านั้น[3]

ส่วนพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร ได้มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับพระนางจิรประภาว่าอาจเป็นเครือญาติกับสมเด็จพระไชยราชาธิราช เมื่อครั้งที่ครองเมืองพิษณุโลก และสันนิษฐานว่าพระนางน่าจะเป็นเจ้านายเมืองเหนือที่สมรสกับเจ้านายแห่งเมืองเชียงใหม่ซึ่งภายหลังได้ครองราชย์เป็นพระเมืองเกษเกล้าในกาลต่อมา[4]

ขณะนี้เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี ได้ค้นคว้าต่อยอดจากข้อสันนิษฐานของ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ พบว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่พระนางจะทรงมีความสัมพันธ์เป็นพี่-น้องกันกับสมเด็จพระไชยราชา ทั้งนี้ยังวิเคราะห์ต่อไปอีกว่าการที่พงศาวดารไม่ปรากฏที่มาของสมเด็จพระไชยราชาไว้อย่างชัดเจนนั้นเป็นเพราะพระองค์ไม่ได้อยู่เครือข่ายของผู้ที่ควรจะได้รับพระราชบัลลังก์อย่างชอบธรรม และจาการที่มีหลักฐานกล่าวว่าทางหลวงพระบางได้ยกทัพมาช่วยสมเด็จพระไชยราชาในการชิงราชสมบัติอยุธยาซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่พระนางจิรประภาและพระเมืองเกษเกล้าได้ยกพระนางยอดคำทิพย์ให้ไปอภิเษกกับพระโพธิสารราชไปแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าระหว่างพระนางจิรประภากับสมเด็จพระไชยราชาคงมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นเหนียว[5]

มูลเหตุของการครองราชย์[แก้]

พระเมืองเกษเกล้า พระราชสวามี ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2068-2081 ซึ่งช่วงแรกของการครองราชย์ยังมีกลุ่มอำนาจเดิมในสมัยพญาแก้ว ยังไม่พบความขัดแย้งของเหล่าขุนนาง และดูเหมือนว่าครองราชย์ตามปกติเฉกเช่นกษัตริย์องค์ก่อน ความมั่นคงช่วงแรกจึงเกิดจากแรงสนับสนุนของเหล่าพระสงฆ์และมหาเทวีเจ้าตนย่า (นางโป่งน้อย) ซึ่งเป็นฐานอำนาจเดิม ภายหลังเมื่อมหาเทวีเจ้าตนย่าสวรรคตใน พ.ศ. 2077 โดยพระองค์มีพระราโชบายที่จะรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง สร้างความไม่พอใจแก่ขุนนางลำปางที่นำโดย หมื่นสามล้าน ซึ่งเป็นผู่นำไม่พอใจและเกิดการก่อกบฏขึ้นในปี พ.ศ. 2078 โดยขุนนางเมืองลำปางได้เป็นแกนนำการก่อกบฏ ดังข้อความตอนหนึ่งว่า "...เสนาทังหลาย เปนต้นว่า หมื่นสามล้านกินนคร ๑ ลูกหมื่นสามล้านเชื่อว่าหมื่นหลวงชั้นนอก ๑ หมื่นยี่อ้าย ๑ จักกะทำคดแก่เจ้าพระญาเกสเชฏฐราชะ พระเปนเจ้ารู้ จิ่งหื้อเอาหมื่นส้อยสามล้านไพข้าเสียวันนั้นแล..."[6] แสดงว่าขุนนางตามภูมิภาค ต่างไม่พอใจพระมหากษัตริย์ และเกิดความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้น จนในที่สุด พ.ศ. 2081 ขุนนางมีอำนาจเหนือกษัตริย์และได้ร่วมกันปลดพระเมืองเกษเกล้าออก แล้วส่งไปครองเมืองน้อย

หลังจากเหตุการณ์นั้น เหล่าขุนนางจึงได้อัญเชิญท้าวซายคำขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แทนพระราชบิดา ท้าวซายคำครองราชย์ในปี พ.ศ. 2081 ขณะมีพระชนมายุ 24 พรรษา แต่หลังพระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติได้ไม่นานก็ถูกลอบปลงพระชนม์ ดังตำนานพระธาตุหริภุญชัยได้กล่าวไว้ว่า "...พระยาซายคำถือเมืองได้ ๖ ปี มีลูกหญิงก็หลาย มีลูกชายก็มาก เถิงปีก่าดหม้า เดือน ๑๑ แรมค่ำ ๑ วันอาทิตย์ ไทยระวายยี (พ.ศ. 2086) ชาวดาบเรือนหื้อเสียชีวิตในคุ้มน้อยทั้งมวนแล..."[1] แสดงว่าท้าวซายคำได้ถูกเหล่าขุนนางลอบปลงพระชนม์ในคุ้มพร้อมด้วยครอบครัว โดยตำนานเมืองเชียงใหม่ได้ให้เหตุผลไว้ว่า "...เสวยเมืองบ่ชอบสราชธัมม์ เสนาอามาตย์พร้อมกัน ข้าพ่อท้าวชายเสียในปลีก่าเหม้า สก ๙๐๕ ตัว..."[6]

หลังจากลอบปลงพระชนม์แล้ว ก็ได้นำพระเมืองเกษเกล้าพระราชบิดากลับมาครองราชย์โดยครองราชย์ไม่ถึงสองปี ก็ถูกแสนคราวเหล่าขุนนางไทใหญ่ลอบปลงพระชนม์ในปี พ.ศ. 2088 แผ่นดินล้านนาจึงว่างกษัตริย์และเกิดความแตกแยกถึงขั้นสงครามกลางเมือง และมีการดึงกำลังภายนอกเข้าช่วยด้วย

  • กลุ่มแสนคราว เป็นกลุ่มขุนนางในเชียงใหม่ได้ลอบปลงพระชนม์พระเมืองเกษเกล้า แล้วไปอัญเชิญเจ้านายเมืองเชียงตุงที่มีเชื้อสายราชวงศ์มังรายมาครองเมืองเชียงใหม่แต่ไม่ยอมมา จึงได้อัญเชิญเจ้าฟ้าเมืองนายแทน
  • กลุ่มหมื่นหัวเคียน[note 1] เป็นกลุ่มขุนนางที่นำเข้ามารบกับกลุ่มแสนคราวที่เมืองเชียงใหม่ รบกันเป็นเวลาสามวันสามคืน ฝ่ายหมื่นหัวเคียนพ่ายแพ้หนีไปเมืองลำพูน กลุ่มนี้ได้แจ้งให้กรุงศรีอยุธยายกทัพขึ้นมายึดเชียงใหม่ ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระไชยราชาธิราชจึงทรงยกทัพมายังเชียงใหม่
  • กลุ่มเชียงแสน กลุ่มนี้ประกอบไปด้วย เจ้าเมืองเชียงแสน เจ้าเมืองเชียงราย เจ้าเมืองลำปาง และเจ้าเมืองพาน ซึ่งเป็นกลุ่มของพระนางจิรประภาเทวีเอง ได้ทำการกวาดล้างกลุ่มแสนคราวได้สำเร็จ และสนับสนุนพระอุปโย (หรือ พระไชยเชษฐา) แห่งล้านช้างมาครองล้านนา ด้วยพระองค์มีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาในพระเมืองเกษเกล้า โดยระหว่างการรอการเสด็จมาของพระไชยเชษฐา เหล่าบรรดาขุนนางจึงได้อัญเชิญพระนางจิรประภา พระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า และพระราชมารดาในท้าวซายคำ ขึ้นเป็นกษัตรีย์พระองค์แรกในแผ่นดินล้านนาในปี พ.ศ. 2088

ครองราชย์[แก้]

มหาเทวีจิรประภาครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2088-2089[7] เนื่องจากพระองค์มีความเหมาะสมเนื่องจากเคยมีบทบาททางการเมือง ด้วยพระนางเป็นพระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า และพระราชมารดาในท้าวซายคำ รวมระยะเวลากว่า 19 ปี (พ.ศ. 2069-2088) และในช่วงเวลาที่พระนางเสวยราชย์ สันนิษฐานว่าพระนางมีพระชนมายุราว 45-46 พรรษา ซึ่งถือเป็นพระชนมายุที่ถือว่าเหมาะสม ด้วยประสบการณ์และความพร้อมดังกล่าวทำให้มหาเทวีสามารถแก้ไขสภาวะบ้านเมืองให้ลุล่วงไปด้วยดี[8]

สงครามกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก[แก้]

ระหว่างที่พระนางจิรประภาขึ้นครองราชย์นั้น ได้เกิดสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับล้านนา โดยสมเด็จพระไชยราชาธิราชได้นำกองทัพจากกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาตีล้านนาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2088 เนื่องจากสถานการณ์ก่อนหน้านี้ทำให้เชียงใหม่เกิดความอ่อนแอ เกิดความแตกแยกวุ่นวายหนัก การเดินทัพของฝ่ายกรุงศรีอยุธยาครั้งนี้รีบเร่งมาก ใช้เวลาเพียง 16 วันก็มาถึง ขณะนั้นมหาเทวีจิรประภาเพิ่งขึ้นเสวยราชย์ขณะที่พระสวามีเพิ่งสวรรคตได้ไม่นาน สภาพเมืองเชียงใหม่ก็ไม่พร้อมรับศึก เพื่อไม่ให้เมืองเชียงใหม่บอบช้ำหนัก มหาเทวีจิรประภาจึงได้ส่งเสนาอำมาตย์ไปถวายสมเด็จพระไชยราชาธิราชเพื่อให้บ้านเมืองพ้นภัยด้วยการเป็นไมตรีกัน[8] และก็ได้พระราชทานรางวัลแก่เสนาอำมาตย์[4] โดยฝ่ายสมเด็จพระไชยราชาธิราชเองก็มิได้เข้าทำร้ายเมืองเชียงใหม่[9]

พระนางทรงใช้วิธีการกราบบังคมทูลเชิญให้สมเด็จพระไชยราชาธิราชไปประทับที่เวียงเจ็ดลิน พระราชวังฤดูร้อนของกษัตริย์เชียงใหม่ที่เชิงดอยสุเทพแทนการเข้าเวียงโดยผ่านประตูช้างเผือกตามฮีตล้านนา และทูลเชิญสมเด็จพระไชยราชาธิราชร่วมทำบุญสร้างกู่ถวายพระเมืองเกษเกล้าที่วัดโลกโมฬีที่เปรียบเสมือนวัดประจำรัชกาลพระเมืองเกศเกล้า[6] แต่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง โดยสมเด็จพระไชยราชาธิราชได้ประทับสำราญพระอิริยาบถที่เวียงเจ็ดริน พักพลที่สบกวงใต้เมืองลำพูน แล้วเสด็จกลับ[4]

โดยในเรื่องดังกล่าว พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ได้สันนิษฐานว่าพระนางจิรประภา อาจจะเป็นเครือญาติของสมเด็จพระไชยราชาธิราช เนื่องด้วยพระไชยราชาธิราชไม่เข้าทำลายเมืองเชียงใหม่ด้วยความผูกพันระหว่างเครือญาติ[9] และทั้งสองก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกันแต่อย่างใดเนื่องจากในเอกสารหลักฐานก็ไม่ได้ให้วี่แววในเรื่องราวดังกล่าวเลย[10]

สงครามไทใหญ่[แก้]

ในปีเดียวกันหลังจากกรุงศรีอยุธยายกทัพกลับไป กองทัพเมืองนายและเมืองยองห้วยจากรัฐฉานยกทัพมาล้อมเมืองเชียงใหม่ซ้ำร้ายได้เกิดแผ่นดินไหว เจดีย์หลวงรวมทั้งเจดีย์วัดพระสิงห์และวัดอื่น ๆ หักพังลงมาด้วยซึ่งสร้างความยุ่งยากภายในเมืองมากขึ้น แต่สงครามครั้งนี้ข้าศึกได้ล่าถอยไป [8]

สงครามกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง[แก้]

เนื่องจากในปีนั้นมีข้าศึกมาติดพันอยู่ตลอดมหาเทวีจิรประภาจึงได้ขอกำลังจากล้านช้างซึ่งเป็นอาณาจักรของพระเจ้าโพธิสารราช พระชามาดา (ลูกเขย) ของพระนางเอง ซึ่งอาณาจักรล้านช้างกำลังเจริญรุ่งเรือง ซึ่งการรวมกันของล้านช้างและล้านนา ได้สร้างความหวั่นวิตกต่อสมเด็จพระไชยราชาธิราช โดยเฉพาะการแทรกแซงล้านนา กองทัพกรุงศรีอยุธยาจึงได้ขึ้นมาปราบเชียงใหม่เป็นครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2089 โดยเฟอร์ดินานด์ เมนเดส ปินโต นักเดินทางชาวโปรตุเกสได้บันทึกไว้ว่า มีกำลังพล 400,000 คน เรือ 300 ลำ ช้าง 4,000 เชือก เกวียนสำหรับบรรทุกปืนใหญ่ 200 เล่ม และมีทหารรับจ้างโปรตุเกสไปร่วมรบด้วย 120 คน[note 2][11] ในครั้งนี้กรุงศรีอยุธยาสามารถตีเมืองลำพูนแตก แต่เชียงใหม่ก็ป้องกันตัวเองสำเร็จผลของสงครามคือกรุงศรีอยุธยาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงต้องกระสุนปืนได้รับบาดเจ็บสาหัส ทหารฝ่ายล้านนาและล้านช้างได้อาวุธยุทโธปกรณ์ ช้าง ม้า และเชลยศึกจำนวนมาก

ทรงสละราชบัลลังก์[แก้]

หลังจากสิ้นสงครามแล้ว พระเจ้าโพธิสารราชได้รับความดีความชอบสูง และได้นำพระราชโอรส คือ พระไชยเชษฐาขึ้นมาครองอาณาจักรล้านนา มหาเทวีจิรประภาจึงทรงสละราชบัลลังก์ให้แก่พระราชนัดดา[12] ในช่วงที่สมเด็จพระไชยเชษฐาทรงครองอาณาจักรล้านนา ในช่วงปี พ.ศ. 2089-2090 แต่พระโพธิสารราชเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน พระไชยเชษฐาจึงเสด็จกลับล้านช้างในปี พ.ศ. 2090 โดยเสด็จไปพร้อมกับพระแก้วมรกต และพระนางจิรประภาเทวี[12] แผ่นดินล้านนาจึงว่างกษัตริย์ เกิดสงครามกลางเมืองเชียงใหม่ด้วยขุนนางต่างสู้รบกัน ดังนั้นระหว่างปี พ.ศ. 2091-2094 จึงถือเป็นกลียุคของล้านนา ในที่สุดขุนนางเมืองเชียงใหม่เห็นว่าสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชทรงไม่เสด็จกลับมาแล้ว จึงได้อัญเชิญท้าวแม่กุเสวยราชย์ต่อไป ด้วยเหตุนี้พระไชยเชษฐาทรงเห็นว่าท้าวแม่กุครองราชย์โดยพระองค์มิชอบ จึงนำไปสู่การยกทัพไปตีเมืองเชียงแสนในปี พ.ศ. 2098[12]

ชีวิตบั้นปลายพระชนม์[แก้]

มหาเทวีจิรประภาได้ตามเสด็จพระไชยเชษฐา ผู้เป็นพระราชนัดดาของพระนาง โดยขณะที่พระนางประทับอยู่ในล้านช้าง มหาเทวีจิรประภาได้โปรดฯ ให้สร้าง ธาตุน้อย พระธาตุที่มีขนาดย่อมกว่าพระธาตุหลวงของวัดมหาธาตุ เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว โดยมีลักษณะเป็นศิลปะล้านนาที่มีลักษณะรูปทรงเดียวกันกับ พระเจดีย์วัดโลกโมฬี ที่พระภัสดาของพระองค์โปรดฯ ให้สร้างนอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ โดยจารึกวัดธาตุหลวงพระบาง ซึ่งกรรณิการ์ วิมลเกษม เป็นผู้อ่านแล้วแปล มีข้อความระบุว่า[13]

จุลศักราช ๙๑๐ ปีเบิกสัน เดิน ๗ ออก ๑๑ ค่ำ วันศุกร์ มื้อระวายยี่ ยามพาดลั่น ฤกษ์หัสตะ พระราชไอยกามหาเทวเจ้า ตั้งพระมหาธาตุ ก็โอกาส หยาดน้ำ ข้อยข้ากับอารามแลไพร่

ในบั้นปลายพระชนม์ชีพเชื่อว่าพระนางจิรประภาเทวีได้ประทับอยู่ในหลวงพระบางจนกระทั่งเสด็จสวรรคตโดยมิได้เสด็จนิวัติกลับไปยังเชียงใหม่อีกเลย[13] แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเสด็จสวรรคตในปีใด

เชิงอรรถ[แก้]

  1. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, หน้า 88 เรียกคนกลุ่มนี้ว่า "หมื่นหัวเคียนแสนหวี" ซึ่งแสดงว่าเป็นขุนนางเมืองแสนหวี และโพกศีรษะ (หัวเคียน)
  2. ตัวเลขที่นายปินโตระบุไว้อาจมีมากเกินจริง

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 ตำนานพระธาตุหริภุญชัย, หน้า 31
  2. ตำนานนางกษัตริย์, หน้า 139
  3. ตำนานนางกษัตริย์, หน้า 138
  4. 4.0 4.1 4.2 พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. "ลูกเขาเมียใครที่เชียงใหม่ สุโขทัย และอยุธยา" ในฟื้นฝอยหาตะเข็บ, หน้า 228
  5. เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี. "ข้อคิดใหม่และข้อสังเกตบางประการ : ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย" หน้า ๑๔๓-๑๘๓
  6. 6.0 6.1 6.2 ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. หน้า 87
  7. สรัสวดี อ๋องสกุล. "บทบาททางการเมือง ประวัติ และที่มาของอำนาจมหาเทวีจิรประภา". ขัตติยานีศรีล้านนา. เจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ บรรณาธิการ (เชียงใหม่:วิทอินดีไซน์,2547) หน้า 31-57
  8. 8.0 8.1 8.2 ประวัติศาสตร์ล้านนา. หน้า 177
  9. 9.0 9.1 พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. "ลูกเขาเมียใครที่เชียงใหม่ สุโขทัย และอยุธยา" ในฟื้นฝอยหาตะเข็บ, หน้า 229
  10. พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. "ลูกเขาเมียใครที่เชียงใหม่ สุโขทัย และอยุธยา" ในฟื้นฝอยหาตะเข็บ, หน้า 230
  11. ตำนานนางกษัตริย์, หน้า 147
  12. 12.0 12.1 12.2 ประวัติศาสตร์ล้านนา. หน้า 178
  13. 13.0 13.1 ตำนานนางกษัตริย์, หน้า 152

บรรณานุกรม[แก้]

  • ตำนานพระธาตุหริภุญไชย. พิมพ์เป็นอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระพิจิตรโอสถ (รอด สุตันตานนท์), 29 พฤษภาคม 2502
  • ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่:ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฎเชียงใหม่, 2538
  • สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:อมรินทร์, 2552. หน้า 175-178 ISBN 978-974-8132-15-0
  • กิตติ วัฒนะมหาตม์. ตำนานนางกษัตริย์. กรุงเทพฯ:สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2553. หน้า 137-161 ISBN 978-974-341-666-8
  • พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. ฟื้นฝอยหาตะเข็บ. กรุงเทพฯ:มติชน, 2553. ISBN 978-974-02-0490-9
ก่อนหน้า พระนางจิรประภาเทวี ถัดไป
พระเมืองเกษเกล้า (ครั้งที่ 2)
กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา
(พ.ศ. 2088 - พ.ศ. 2089)
พระไชยเชษฐา