สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระไชยเชษฐา)
สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช
อนุสาวรีย์สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช หน้าพระธาตุหลวง กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว
พระเจ้าเชียงใหม่
ครองราชย์พ.ศ. 2089 - 2090
ราชาภิเษกพ.ศ. 2089
ก่อนหน้าพระนางจิรประภาเทวี
ถัดไปพระเมกุฏิสุทธิวงศ์
พระเจ้าล้านช้าง
ครองราชย์พ.ศ. 2091 - 2114
ราชาภิเษกพ.ศ. 2093
ก่อนหน้าพระยาโพธิสาลราช
ถัดไปพระยาสุมังคละโพธิสัตว์
พระราชสมภพพ.ศ. 2077
หลวงพระบาง อาณาจักรล้านช้าง
สวรรคตพ.ศ. 2114
อัตตะปือ อาณาจักรล้านช้าง
มเหสีพระตนทิพย์
พระตนคำ
พระนางสามสี
พระราชบุตรพระหน่อแก้วกุมาร
พระไชยธิราช เจ้าเมืองอัตตะปือ
พระนามเต็ม
พระอุปภัยพุทธบวรไชยเชษฐาธิราช
ราชวงศ์ล้านช้าง
พระราชบิดาพระยาโพธิสาลราช
พระราชมารดาพระนางยอดคำทิพย์
ศาสนาศาสนาพุทธ
King Sayasethathirath
สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช

พระอุปภัยพุทธบวรไชยเชษฐาธิราช[1] หรือที่รู้จักกันดีในพระนาม สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช[2] (ลาว: ໄຊເສດຖາ, ເສດຖາທິຣາດ; ไทยถิ่นเหนือ: ) ถือเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งของชาติลาว ทรงเป็นผู้นำแห่งอาณาจักรล้านช้าง ผู้สถาปนากรุงเวียงจันทน์ให้เป็นศูนย์กลางอารยธรรม และเป็นศูนย์รวมศิลปะวัฒนธรรมต่าง ๆ ของอาณาจักรล้านช้างเข้าไว้ด้วยกัน ประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าพระองค์เป็นพระญาติหรือพระนัดดาในพระนางจิรประภาเทวีพระมหากษัตรีย์แห่งอาณาจักรล้านนา

ในรัชสมัยพระยาโพธิสาลราช (พ.ศ. 2063-2090) พระองค์เป็นผู้เคร่งครัดทางศาสนาพุทธเป็นอย่างยิ่ง ได้มีพระราชโองการให้พลเมืองเลิกนับถือผีสางเทวดา เลิกการทรงเจ้าเข้าผีทั่วพระราชอาณาจักร ให้รื้อศาลหลวง ศาลเจ้าผีเสื้อเมืองทรงเมือง และให้หันมานับถือพระพุทธศาสนาแทน ทรงสร้างวัดสุวรรณเทวโลกเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนา แต่เนื่องจากประเพณีการนับถือผีนั้นมีมาช้านาน และได้ฝังเข้าไปในจิตใจของประชาชนทั่วไป จึงยากที่จะเลิกอย่างเด็ดขาดได้

ครั้นต่อมาทางอาณาจักรล้านนาว่างกษัตริย์ปกครอง จึงได้อัญเชิญเจ้าไชยเชษโฐหรือเชษฐวังโส พระโอรสของพระเจ้าโพธิสาร หรือเจ้าชายแห่งเมืองหลวงพระบาง(เสด็จพระราชสมภพและเติบโตอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง) ไปครองนครล้านนา เมื่อปี พ.ศ. 2089 ทรงครองราชเป็นกษัตย์เป็นพระองค์ที่ 15 สาเหตุที่ท่านทรงมีอำนาจในแคว้นล้านนาหรือนครเชียงใหม่ เนื่องด้วยอำนาจของบิดาที่เคยเข้าไปแทรกแซงในล้านนาเป็นสำคัญ เมื่อพระเจ้าโพธิสารเสด็จสวรรคต พ.ศ. 2090 ด้วยถูกช้างล้มทับขณะประพาสป่า ทรงกลับนครได้เพียง 3 สัปดาห์ก็สวรรคต เมื่อสวรรคตแล้ว พระโอรสทั้งหลายต่างแย่งชิงราชสมบัติกัน อาณาจักรล้านช้างได้แตกเป็น 2 ฝ่ายคืออาณาจักรฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ได้แก่ เจ้าศรีวรวงษาราชกุมาร (เจ้ามหาอุปราชศรีวรวงษา) และเจ้ากิจธนวราธิราช (เจ้าท่าเรือ) ผู้เป็นพระราชโอรสองค์รองต่างพยายามจะขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ ในที่สุดเจ้าท่าเรือสามารถยึดครองเมืองหลวงพระบางไว้ได้ ขุนนางล้านช้างและเจ้าศรีวรวงษาราชกุมารจึงเชิญพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเสด็จกลับมานครหลวงพระบางเพื่อรับเถลิงถวัลยราชสมบัติระงับเหตุวุ่นวายที่จะเกิดขึ้น และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดบุปผาราม เชียงใหม่ รวมทั้งพระพุทธสิหิงค์และพระแก้วขาวไปด้วย เมื่อเสด็จถึงล้านช้าง ทรงยึดราชสมบัติจากเจ้าท่าเรือไว้ได้ โดยการสนับสนุนของเจ้าศรีวรวงษาราชกุมาร(ภายหลังได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้ามหาอุปราชศรีวรวงษาในรัชสมัยของพระไชยเชษฐาธิราช และได้รับแต่งตั้งเป็นกษัตริย์องค์แรกในยุคล้านช้างตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าซึ่งได้รับการสนับสนุนและแต่งตั้งจากบุเรงนอง)เป็นสำคัญซึ่งทั้งช่วยเป็นทัพร่วมตีขนาบยึดเมืองหลวงพระบางจากเจ้าท่าเรือและเสนอชื่อให้พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงดำรงตำแหน่งกษัตริย์ ภายหลังได้รับแต่งตั้ง เมืองหลวงพระบางได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กรุงศรีสัตนาคนหุต" พระองค์จึงขึ้นครองราชสมบัติ นับเป็นมหาราชองค์ที่ 2 ของลาว ที่ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงพระนามว่า "พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช"

พระพุทธศาสนาในยุคของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช นับว่ามีความเจริญถึงขั้นขีดสุด ทรงได้สร้างวัดสำคัญมากมาย ที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างองค์พระธาตุหลวงขึ้นมาใหม่ให้ใหญ่โตมโหฬารสมกับที่เป็นปูชนียสถานคู่แผ่นดินพระราชอาณาจักร และได้สร้างวัดในกำแพงเมืองอยู่ประมาณ 120 วัด และยังได้สร้างวัดพระแก้ว ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต ที่นำมาจากเมืองเชียงใหม่ ในสมัยนี้ได้มีการแต่งวรรณกรรมหลายเรื่อง เช่น สังสินชัย การเกต พระลักพระราม เป็นต้น และทรงเป็นผู้ตราจารีต12ครรลอง14ขึ้นให้ประชาชนและบรรดาเจ้าแลพระยาทั้งหลายภายในอาณาจักรได้ปฏิบัติสืบทอดกันมา หรือที่เรียกว่า "ฮีต12คอง14"นั่นเอง

สมัยนี้อาณาจักรอยุธยาได้มีความสัมพันธ์ลาวอย่างแน่นแฟ้น ได้ร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับพม่า ได้สร้างเจดีย์ "พระธาตุศรีสองรัก" ในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เพื่อเป็นอนุสรณ์ แห่งความเป็นพี่เป็นน้องกัน ของสองอาณาจักร

พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้ทรงย้ายเมืองหลวงจากเมืองเชียงทองมาอยู่ที่เวียงจันทน์ ได้ประดิษฐานพระแก้วมรกต และพระแซกคำ (พระพุทธสิหิงค์ หรือพระสิงค์) ไว้ที่เวียงจันทน์ เรียกว่าเวียงจันทน์ล้านช้างส่วนพระบางประดิษฐานไว้ที่เมืองเชียงทอง จึงได้ชื่อว่าหลวงพระบางมาจนถึงบัดนี้ บางครั้งก็เรียกชื่อว่าล้านช้างหลวงพระบาง และได้สร้างวัดเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตขึ้นเป็นพิเศษ พระองค์ได้ทรงสร้างพระธาตุหลวง ซึ่งถือเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นยอดเยี่ยมของลาวเมื่อ พ.ศ. 2109 ซึ่งต่อมาได้ถูกพวกปล้นจากยูนนานทำลายเสียหายไปมาก

นอกจากพระองค์จะได้ทรงสร้างพระธาตุ อื่น ๆ และพระพุทธรูปสำคัญ ๆ อีกมากมาย เช่น พระเจ้าองค์ตื้อ ที่เวียงจันทน์ พระเจ้าองค์ตื้อ ที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย พระเสริม พระสุก พระใส พระอินทร์แปลง พระองค์แสน ทรงสร้างวัดพระธาตุ ที่จังหวัดหนองคาย และพระธาตุที่จมน้ำโขงอยู่ พระธาตุบังพวน อำเภอเมืองหนองคาย สร้างวัดศรีเมือง จังหวัดหนองคาย และพระประธานในโบสถ์ นามว่า พระไชยเชษฐา พระศรีโคตรบูร ที่แขวงคำม่วน พระธาตุอิงรัง ที่แขวงสุวรรณเขต (สุวรรณเขต) พระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และทรงปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม เป็นต้น

พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงประคับประคองนำราชอาณาจักรล้านช้างผ่านพ้นภัยการเป็นเมืองขึ้นของพม่าไปได้ ตลอดรัชสมัยของพระองค์ แม้ว่าในขณะนั้นอาณาจักรล้านนา (เสียแก่พม่า พ.ศ. 2101) และอาณาจักรอยุธยา (เสียแก่พม่า พ.ศ. 2107) ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าแล้ว แต่หลังจากพระองค์สวรรคตในปี พ.ศ. 2114 เนื่องจากท่านต้องไปปราบกบฎที่เมืองโองการหรือเมืองอัตปือแต่ท่านกลับเสียท่าให้กับหัวหน้ากบฎชาวกูยที่แข็งเมืองซ้อนกลจนทัพของมหาราชแห่งล้านช้างต้องแตกพ่ายและท่านถูกสำเร็จโทษในเวลาต่อมา พอมาถึง พ.ศ. 2117-2118 พระเจ้าบุเรงนองได้ยกทัพมาตีลาวและได้รับชัยชนะ และทรงนำโอรสองค์เดียวของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชซึ่งประสูติในปีที่สวรรคต ไว้เป็นประกันที่หงสาวดีด้วย ต่อจากนั้นมาหลายปีแผ่นดินลาวก็วุ่นวายด้วยเรื่องราชสมบัติ

จน พ.ศ. 2134 พระเถระเจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ จึงได้ประชุมกันลงมติให้ส่งทูตไปเชิญพระหน่อแก้วกุมาร ซึ่งเป็นตัวประกันอยู่ประเทศพม่ากลับมาครองราชย์ และในเวลานั้นพระเจ้าบุเรงนองสวรรคตลง พม่าเริ่มอ่อนแอลง และพระหน่อแก้วกุมารขึ้นครองราชย์สมบัติ พ.ศ. 2135 และประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับพม่าต่อไป

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. ลำดับกษัตริย์ลาว, หน้า 103
  2. ลำดับกษัตริย์ลาว, หน้า 96
บรรณานุกรมม
  • ชำนาญ สัจจะโชติ, ศรีวิชัย กับพระแก้วมรกต, บริษัท งานดี จำกัด (ในเครือมติชน) , กรุงเทพมหานคร, กันยายน 2548
  • สุรศักดิ์ ศรีสำอาง. ลำดับกษัตริย์ลาว. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2545. 368 หน้า. ISBN 974-418-118-4


ก่อนหน้า สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช ถัดไป
พระนางจิรประภาเทวี
พระเจ้าเชียงใหม่
(พ.ศ. 2089 – 2090)
พระเมกุฏิสุทธิวงศ์
พระยาโพธิสาลราช
พระเจ้าล้านช้าง
(พ.ศ. 2091 – 2114)
พระยาสุมังคละโพธิสัตว์