ผู้ใช้:Magnamonkun/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ในการประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้เกิดการทุจริตโครงการอย่างโจ่งแจ้งจนนำไปสู่การล้มประมูลโครงการเมื่อวันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564[1] และทำให้หนึ่งในผู้เข้าร่วมประมูลคือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และผู้เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้งหมด ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง[2] ถือเป็นหนึ่งในการดำเนินงานที่ผิดพลาดของคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 62 ที่มี ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ในการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2564 จิรายุ ห่วงทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต 16 พรรคเพื่อไทย ได้ใช้การทุจริตครั้งนี้อภิปรายโจมตีฝ่ายรัฐบาล โดยเรียกปฏิบัติการนี้ว่า ปฏิบัติการ 16 วัน ทันใจนาย[3] และในช่วงเวลาเดียวกัน สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายซ้ำว่าการทุจริตดังกล่าวส่อเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย[4]

ภาพรวม[แก้]

ข้อกล่าวหาการทุจริตในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เริ่มขึ้นจากการจัดตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ขึ้นโดยมีรายนามดังนี้[5]

  1. นายกิตติกร ตันเปาว์ ผู้ช่วยผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานกรรมการ
  2. นายประสิทธิ์ ศิริภากรณ์ อธิบดีอัยการ ผู้แทนสำนักอัยการสูงสุด
  3. นางสาวกนกรัตน์ ขุนทอง ผู้แทนสำนักงบประมาณ
  4. นายประภาส คงเอียด ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
  5. นายสรพงษ์ ไพฑูรย์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ผู้แทนกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม
  6. นายกาญผจญ อุดมธรรมภักดี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เลขานุการ
  7. นายอัฌษไธก์ รัตนดิรก ณ ภูเก็ต ผู้ทรงคุณวุฒิ
  8. นายวิทยา ยาม่วง ผู้ทรงคุณวุฒิ

โดยคณะกรรมการได้ออกข้อกำหนดทั้งหมด สำรวจความเห็นนักลงทุน ทำประชาพิจารณ์ และเปิดขายซองเมื่อวันที่ 10–24 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 มีผู้เข้าซื้อซองข้อเสนอทั้งหมด 10 ราย เดิมมีกำหนดการให้เอกชนยื่นข้อเสนอภายในเดือน กันยายน พ.ศ. 2563 แต่ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 ได้มีหนังสือส่งจากผู้ซื้อซองรายหนึ่งถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. แล้ว สคร. ได้ส่งต่อหนังสือนั้นถึงคณะกรรมการฯ และรฟม. เพื่อให้มีการพิจารณาตามคำร้องขอ ในวันเดียวกันคณะกรรมการได้มีการจัดประชุมฉุกเฉินแล้วเชิญบุคคลภายนอกเข้าร่วมประชุมด่วน 2 คน ได้แก่ นายภคพงษ์ ศิริกันธรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ตัวแทนจากที่ปรึกษากลุ่ม BMTO ซึ่งสุ่มเสี่ยงว่าการให้บุคคลภายนอกสองคนเข้าร่วมประชุมจะทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ส่อให้เอกชนรายหนึ่งผูกขาดสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าโดยชัดเจน โดยผลการประชุมวันนั้นคือมีมติแก้ไขสาระสำคัญของเงื่อนไขการประมูล เป็นเหตุให้บีทีเอสซีต้องออกมาฟ้องร้องเพื่อความเป็นธรรม

ข้อกล่าวหาการทุจริต[แก้]

  • 7 สิงหาคม พ.ศ. 2563 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) มีหนังสือที่ ITD/ORW/15.00/0001 ส่งตรงถึงผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ขอให้มีการพิจารณาเปลี่ยนเงื่อนไขการประมูล ด้วยเหตุว่าโครงการมีความเสี่ยงสูงมาก มีความจำเป็นต้องผ่านพื้นที่อนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน รวมถึงต้องขุดเจาะลอดแม่น้ำเจ้าพระยา จึงต้องให้มีการจัดการก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน รวมถึงการที่โครงการเป็นระบบใต้ดิน จึงต้องจัดหาระบบรถไฟฟ้าที่มีความปลอดภัยสูง ไม่เป็นอันตรายต่อประชาชน จึงเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขโดยพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิคร่วมกับข้อเสนอทางการเงิน เพื่อหาเอกชนที่มีศักยภาพ มีความเหมาะสม และมีประสบการณ์สูงเข้าดำเนินงานแทนรัฐ
  • 13 สิงหาคม พ.ศ. 2563 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ โดย นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ได้ส่งหนึ่งสือที่ กค. 0820.1/4810 ถึงผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พร้อมสำเนาหนังสือ ที่ ITD/ORW/15.00/0001 ของ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยพิจารณาโดยด่วน เนื่องจากเรื่องดังกล่าวอยู่ในอำนาจของ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
  • 21 สิงหาคม พ.ศ. 2563 คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีการจัดการประชุมด่วน และมีมติ 7 ต่อ 1 เสียง ให้ เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขตามที่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เสนอมา โดยในการประชุม คณะกรรมการ ได้เชิญบุคคลภายนอกเข้าร่วมประชุมด้วย 2 คน และทั้งสองได้เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขตามที่ อิตาเลียนไทยฯ เสนอมา ทั้งนี้หนึ่งเสียงที่คัดค้านคือ นางสาวกนกรัตน์ ขุนทอง ผู้แทนสำนักงบประมาณ
  • 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563 รฟม. มีหนังสือแก้ไข เอกสารประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน เพิ่มเติม ครั้งที่ 1 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (RFP Addendum 1) ถึงเอกชนทั้ง 10 ราย พร้อมกับยืดระยะเวลาจัดทำข้อเสนอเพิ่มอีก 45 วัน เป็นวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
  • 17 กันยายน พ.ศ. 2563 บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) โดย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้เข้ายื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้มีการคุ้มครองการประมูล และปรับไปใช้กติกาการประมูลรูปแบบเดิมก่อนการลงมติเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2563 เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563[6]
  • 20 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยศาลวินิจฉัยว่ามติดังกล่าวเป็นการกระทำที่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ชะลอการใช้หลักเกณฑ์ใหม่แล้วกลับไปใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาเดิมจนกว่าศาลจะเห็นเป็นอย่างอื่น[7]
  • 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้ยื่นอุทธรณ์ขอเพิกถอนคำสั่งศาลปกครองกลางที่ให้กลับไปใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาเดิมต่อศาลปกครองสูงสุด ด้วยเหตุผลว่าเป็นคำสั่งที่ส่งผลกระทบและเป็นอุปสรรคแค่การบริหารงานของรัฐ และการบริการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง[8]

อ้างอิง[แก้]