ปลาสร้อยน้ำผึ้ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาสร้อยน้ำผึ้ง
ปลาสีปกติ
สีเผือก
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Cypriniformes
วงศ์: Gyrinocheilidae
สกุล: Gyrinocheilus
สปีชีส์: G.  aymonieri
ชื่อทวินาม
Gyrinocheilus aymonieri
(Tirant, 1883)
ชื่อพ้อง[1]
  • Gyrinocheilus kaznakovi Berg, 1906
  • Gyrinocheilus monchadskii Krasyukova & Gusev 1987

ปลาสร้อยน้ำผึ้ง (อังกฤษ: Chinese algae eater, Honey sucker, Sucking loach; ชื่อวิทยาศาสตร์: Gyrinocheilus aymonieri) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ในวงศ์ปลาสร้อยน้ำผึ้ง (Gyrinocheilidae) มีรูปร่างเรียวทรงกระบอก แบนข้างเล็กน้อย ส่วนหัวค่อนข้างใหญ่ ตาเล็ก ปากอยู่ด้านล่างของจะงอยปาก มีสีพื้นลำตัวสีน้ำตาลเขียวมีลายแถบสีคล้ำพาดยาวตามลำตัวและมีจุดสีดำกระจายอยู่ทั่ว ตัวผู้เมื่อเจริญวัยขึ้นจะมีปุ่มคล้ายเม็ดสิวขึ้นตามหน้าและริมฝีปากบน มีลักษณะสำคัญ คือมีช่องเล็ก ๆ อยู่ด้านบนสุดของช่องเหงือก ริมฝีปาก มีลักษณะเป็นแผ่นดูดรูปกลมใช้ดูดกินตะไคร่น้ำตามพื้นหิน และ ทราย แล้วหายใจโดยใช้น้ำผ่านเข้าช่องเปิดด้านบนฝาปิดเหงือก แล้วออกมาทางด้านข้าง แทนที่จะใช้ปากสูบน้ำเข้าอย่างปลาทั่ว ๆ ไป

หากินอยู่ตามท้องน้ำ พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั้งแหล่งน้ำหลากและที่ราบลุ่ม ขนาดความยาวเต็มที่ 30 เซนติเมตร กินอาหารจำพวกตะไคร่น้ำ, ซากพืช, ซากสัตว์ และสัตว์น้ำขนาดเล็กทั่วไป พบตั้งแต่ภาคใต้ของประเทศจีน ในประเทศไทยพบได้ทุกภาคและพบไปจนถึงมาเลเซีย

ปลาสร้อยน้ำผึ้ง ในอดีตขึ้นชื่อมากในแง่ของการนำไปทำเป็นน้ำปลาที่มีรสชาติดี เป็นของขึ้นชื่อของจังหวัดราชบุรีในชื่อ "น้ำปลาปลาสร้อยน้ำผึ้ง" และใช้เนื้อบริโภคอีกด้วย นอกจากนี้ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาตู้ เพื่อใช้ทำความสะอาดตู้ด้วยการกินเศษอาหารหรือตะไคร่น้ำ ปัจจุบัน นิยมเพาะพันธุ์เป็นปลาเผือกหรือปลาที่มีร่างกายสั้นกว่าปกติอีกด้วย รวมถึงยังนำไปในกิจการฟิชสปาหรือสปาปลาแทนที่ปลาเลียหินได้อีกด้วย[2]

ชื่ออื่น ๆ เรียกว่า "ปลาน้ำผึ้ง" หรือ "ปลาผึ้ง" หรือ "ปลาลูกผึ้ง" หรือ "ปลามูด", "ปลาอีดูด", "ปลายาลู่" หรือ "ปลาปากใต้" [3]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 จาก IUCN (อังกฤษ)
  2. "ตรวจสปาปลาจี้สบส.ยกร่างมาตรฐาน". คมชัดลึก. 10 March 2011. สืบค้นเมื่อ 29 December 2015.
  3. ปลาสร้อยน้ำผึ้ง (ไทย)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Gyrinocheilus aymonieri ที่วิกิสปีชีส์