นัมแดมุน

พิกัด: 37°33′35″N 126°58′31″E / 37.55972°N 126.97528°E / 37.55972; 126.97528
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ประตูนัมแด)
ประตูนัมแด (นัมแดมุน)
ฮันกึล남대문 (숭례문)
ฮันจา南大門 (崇禮門)
อักษรโรมันฉบับปรับปรุงNamdaemun (Sungnyemun)
แผนที่
แผนที่

นัมแดมุน (ประตูใหญ่ทางทิศใต้) คือประตูโบราณที่ตั้งอยู่ในโซล ประเทศเกาหลีใต้ มีชื่อทางการว่า ซุงนเยมุน (숭례문, Sungnyemun ประตูแห่งความเคารพอันเหมาะสม) ประตูแห่งนี้เคยเป็นสิ่งก่อสร้างสร้างด้วยไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในโซล[1] การก่อสร้างเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1938 (ค.ศ. 1395) ในรัชกาลของพระเจ้าแทโจ และแล้วเสร็จในอีก 3 ปีต่อมา ประตูบานนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา โดยมีขึ้นในรัชกาลพระเจ้าเซจงมหาราชเมื่อปี พ.ศ. 1990 (ค.ศ. 1447) และ รัชกาลพระเจ้าซองจงปี พ.ศ. 2022 (ค.ศ. 1479)

การซ่อมแซมใหญ่ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) ซึ่งต่อมาหลังจากการบูรณะแล้วเสร็จ รัฐบาลเกาหลีใต้ได้จัดให้เป็น สมบัติประจำชาติเกาหลีใต้ หมายเลขหนึ่ง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ปีเดียวกัน

เมื่อเช้าตรู่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 เกิดเหตุลอบวางเพลิง สร้างความเสียหายอย่างหนักทั้งหลัง สะเทือนใจชาวเกาหลีและชาวต่างประเทศ[2] การบูรณะนัมแดมุนขึ้นใหม่ใช้ระยะเวลา 5 ปีจึงเสร็จสิ้น ใช้งบประมาณกว่า 27 พันล้านวอน (ประมาณ 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 696 ล้านบาท)[3] เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2556 รัฐบาลเกาหลีใต้จัดพิธีเปิดนัมแดมุนอย่างเป็นทางการและเปิดให้ประชาชนเข้าชมตามปกติอีกครั้ง


ประวัตินัมแดมุน[แก้]

ประตูนัมแดมุนในช่วงปี พ.ศ. 2443
  • พ.ศ. 1938 เริ่มก่อสร้างประตูนัมแดมุนในรัชสมัยพระเจ้าแทโจ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โชซ็อน เพื่อใช้สำหรับควบคุมการเดินทางเข้าสู่เมืองหลวงและใช้เป็นสถานที่สำหรับต้อนรับบรรดาคณะทูตจากต่างชาติอย่างเป็นทางการ[4]
  • พ.ศ. 1941 ประตูนัมแดมุนสร้างเสร็จในรัชสมัยพระเจ้าแทโจ
  • พ.ศ. 2450 เจ้าชายมกุฏราชกุมารแห่งญี่ปุ่นเสด็จพระราชดำเนินเยือนประตูนัมแดมุน แล้วทรงรับสั่งให้บูรณะประตูนัมแดมุน เนื่องจากถูกปล่อยให้ทิ้งร้างขาดการดูแลรักษา ทรงมีพระดำริให้นำหินแกรนิตและก่ออิฐขึ้นบริเวณฐาน ตัดเส้นทางรถรางผ่านใต้ประตู และนำไฟฟ้าเข้ามาตกแต่ง ในขณะนั้น ประตูนัมแดมุนไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้าชม การปรับปรุงครั้งนี้ทำให้ประตูนัมแดมุนมีสถาปัตยกรรมอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
  • พ.ศ. 2476 คณะรัฐบาลมีพระราชกฤษฎีกาให้ปรับปรุงความสวยงามโดยรอบ
  • พ.ศ. 2504 ในช่วงสงครามเกาหลีมีการซ่อมแซมฐานด้านหน้าของนัมแดมุน
  • พ.ศ. 2505 20 ธันวาคม รัฐบาลเกาหลีประกาศให้ประตูนัมแดมุนเป็นสมบัติประจำชาติหมายเลข 1 พร้อมโบราณสถาน โบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ได้รับการประกาศในคราวเดียวกันอีก 115 รายการตามลำดับ
  • พ.ศ. 2549 ในเดือนมีนาคม ประตูนัมแดมุนเปิดให้ประชาชนเข้าชมหลังจากมีการปูพื้นหญ้าโดยรอบนัมแดมุน และในปีเดียวกันนี้มีการจัดทำพิมพ์เขียวของนัมแดมุนจำนวน 182 แผ่นไว้เผื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินในอนาคต[5]
  • พ.ศ. 2551 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ในช่วงกลางดึก เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่ประตูนัมแดมุน ทำให้โครงสร้างส่วนหลังคาที่สร้างด้วยไม้และมุงกระเบื้องทั้งหมดของชั้นที่ 2 และบางส่วนของชั้นที่ 1 ได้รับความเสียหายอย่างหนักและถล่มลงมาทำให้โครงสร้างส่วนฐานที่เป็นอิฐและหินได้รับความเสียหายไปด้วย เหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ต่อมาจึงปิดนัมแดมุนเพื่อทำการซ่อมแซม ในตอนแรกตำรวจสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการลอบวางเพลิงหรือระบบไฟฟ้าขัดข้อง ต่อมา ปรากฏพยานที่ชี้ว่าเป็นการลอบวางเพลิง ชายอายุ 69 ปีคนหนึ่งถูกจับกุมและเขายอมรับสารภาพว่าเป็นผู้วางเพลิงโดยมีแรงจูงใจในการก่อเหตุเนื่องจากไม่พอใจจำนวนเงินชดเชยที่ได้รับจากการเวนคืนที่ดิน[6] ชายชราผู้ก่อเหตุถูกศาลพิพากษาจำคุก 10 ปี
  • พ.ศ. 2556 วันที่ 29 เมษายน การบูรณะซ่อมแซมนัมแดมุนเสร็จสิ้น และต่อมาในวันที่ 4 พฤษภาคม รัฐบาลเกาหลีใต้จัดพิธีเปิดนัมแดมุนอย่างเป็นทางการ โดยประธานาธิบดีพัก กึน-ฮเย ทำพิธีเปิดป้ายไม้ขนาดใหญ่ที่สลักชื่อประตูด้วยอักษรฮันจา เธอกล่าวในพิธีเปิดช่วงหนึ่งว่า "ซุงเยมุนเป็นสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณและเอกลักษณ์ของชาติและเป็นหน้าตาของสาธารณรัฐเกาหลี"[7] และ "การฟื้นฟูซุงเยมุนมีความหมายมากกว่าการบูรณะซ่อมแซมสถานที่ทางวัฒนธรรม...ฉันเชื่อว่าการฟื้นฟูครั้งนี้ยังจะนำความภาคภูมิใจของประชาชนกลับคืนมา นำมาซึ่งความหวังใหม่และประตูสำหรับยุคใหม่"[8] หลังพิธีเปิดเสร็จสิ้น นัมแดมุนก็เปิดให้ประชาชนเข้าชมตามปกติอีกครั้ง[9] [10]

รูปภาพ[แก้]


อ้างอิง[แก้]

  1. Fire ravages South Korea landmark
  2. “ประตูนัมแดมุน” สมบัติประจำชาติหมายเลข 1 ของเกาหลีใต้ถูกไฟเผาเสียหายหนัก![ลิงก์เสีย]
  3. เกาหลีใต้เตรียมเปิดประตู “นัมแดมุน” หลังปิดซ่อมเพราะถูกเผา
  4. "Namdaemun - Great South Gate, Seoul". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-02. สืบค้นเมื่อ 2014-07-01.
  5. Three Years Needed for Restoration
  6. Man 'confesses to S Korea blaze'
  7. Arson-hit South Korean landmark reopens to public
  8. "Seoul Celebrates Reopening of Ancient Gate". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2014-07-05.
  9. "เกาหลีใต้ทำพิธีเปิด "ประตูนัมแดมุน" หลังบูรณะเสร็จสมบูรณ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-29. สืบค้นเมื่อ 2014-06-27.
  10. ฟื้นประตูนัมแดมุน จิตวิญญาณเกาหลีใต้

แม่แบบ:Eight Gates of Seoul

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]


37°33′35″N 126°58′31″E / 37.55972°N 126.97528°E / 37.55972; 126.97528