นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เป็นหนึ่งในสี่นิคมอุตสาหกรรมของกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่เลขที่ 40 ซอยฉลองกรุง 31 แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2521 โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย[1]

นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังเป็นนิคมที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ 2,559 ไร่ แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป 1,228 ไร่ เขตประกอบการเสรี 683 ไร่ เขตพาณิชยกรรมและที่พักอาศัย 9.23 ไร่ และพื้นที่สาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก 638.77 ไร่[2] จากข้อมูลในรายงานการศึกษาเรื่อง นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554 ระบุว่ามีจำนวนโรงงานมากที่สุดคือประมาณ 260 โรง ชนิดของโรงงานอุตสาหกรรมที่มีมากอันดับ 1 คือ กิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรม อันดับ 2 อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง อันดับ 3 อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ขณะที่นิคมฯ อื่นมีอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมอัญมณี อุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นต้น

จากเหตุอุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554 พื้นที่แถบลาดกระบังรวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังก็ได้รับผลกระทบ มีสถานประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังถูกน้ำท่วม 83 แห่ง ลูกจ้างเดือดร้อน 10,417 คน ภายหลังได้มีการสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม เช่น เสริมคันดินโดยรอบให้สูงขึ้นอีก 0.5 เมตร สร้างแนวกระสอบทรายและหินคลุก ปูผ้าพลาสติกคลุมดินเพื่อป้องกันการพังทลายเมื่อถูกน้ำเซาะ รวมถึงปิดกั้นคลองลำแตงโมที่ไหลเข้าสู่พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมด้วยถุงทราย สร้างแนวเขื่อนด้วยวงปูนซีเมนต์และแผ่นคอนกรีตให้มีความสูง 1.2 เมตร ตอนกลางลำแตงโม เพื่อป้องกันน้ำล้นทะลัก[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. กิตตินันท์ นาคทอง. "อนาคตลาดกระบังที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป". ผู้จัดการออนไลน์.
  2. "นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-02-07. สืบค้นเมื่อ 2022-08-01.
  3. ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล. ""ศึกชิงน้ำ" การเสียสละอีกครั้งของภาคเกษตร". GREENNEWS.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]