ชะพลู
ชะพลู | |
---|---|
ช้าพลู | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | พืช |
หมวด: | พืชดอก |
ชั้น: | พืชใบเลี้ยงคู่ |
อันดับ: | อันดับพริกไทย |
วงศ์: | วงศ์พริกไทย |
สกุล: | Piper |
สปีชีส์: | P. sarmentosum |
ชื่อทวินาม | |
Piper sarmentosum Roxb. 1820 | |
ชื่อพ้อง[1] | |
Chavica hainana C. DC. |
ชะพลู หรือ ช้าพลู[2] (ชื่อวิทยาศาสตร์: Piper sarmentosum Roxb. หรือ Piper lolot C.DC.) เป็นพืชในวงศ์ Piperaceae มักสับสนกับพลู[3] แต่ใบรสไม่จัดเท่าพลูและมีขนาดเล็กกว่า ชะพลูเป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบพื้นที่ลุ่ม มีความชื้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ โดยการเลือกกิ่งที่มีใบอ่อนและใบแก่ เด็ดใบแก่ออกและนำไปปักชำได้
"Piper lolot (lolot)" ปัจจุบันทราบว่าเป็นสปีชีส์เดียวกันกับ Piper sarmentosum โดย lolot ได้รับการปลูกเพื่อใช้ใบประกอบในอาหารของลาว และเวียตนาม เช่นใช้สำหรับห่อเนื้อย่าง thịt bò nướng lá lốt (ถิกบ่อเหนืองลาโล้ต) ในเวียดนาม[4]
ชื่อ
[แก้]นอกจากชื่อ ชะพลู, ช้าพลู ในภาษาไทยแล้ว ในภาษาอังกฤษไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ แต่อาจถูกเรียกในชื่อ wild betel, ในภาษาลาวเรียกว่า ຜັກອີ່ເລີດ (ผักอีเลิด), ภาษามลายูเรียก Pokok Kaduk, ภาษาอินโดนีเซียเรียก Merica lolot[5], ภาษาเขมรเรียก ចាព្លូ (ชาพลู หรือ ជីរភ្លូ ชีพลู), ภาษาเวียดนามเรียก lá lốt (ลาโล้ต), ภาษาจีนเรียก 假蒟 (เจี๋ยจู่)[6], ภาษาจีนกวางตุ้งเรียก 蛤蔞 (กับเหล่า)
ชะพลูมีชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ ในประเทศไทยอีกคือ ทางภาคเหนือเรียกว่า "ผักปูนา", "ผักพลูนก", "พลูลิง", "ปูลิง", "ปูลิงนก" ทางภาคกลาง เรียกว่า "ช้าพลู" ทางภาคอีสานเรียกว่า "ผักแค", "ผักปูลิง", "ผักนางเลิด", "ผักอีเลิด" และ ทางภาคใต้เรียกว่า "นมวา"
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
[แก้]ใบมีลักษณะคล้ายรูปหัวใจรูปทรงคล้ายกับใบพลู แต่มีขนาดใบเล็กกว่า มีสีเขียวเข้มเป็นใบเดี่ยว รสชาติเผ็ดอ่อน ๆ ดอกออกบริเวณปลายยอด มีสีขาวอัดแน่นกันเป็นทรงกระบอกขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายดีปลีแต่สั้นกว่าชะพลูพบในเขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และตอนใต้ของจีน และไกลถึงหมู่เกาะอันดามัน[7]
การใช้ประโยชน์
[แก้]ในใบชะพลูมีสารบีตา-แคโรทีนสูงมาก ใบนำมารับประทานกับเมี่ยงคำ นำมาแกงใส่กะทิ ข้าวยำ ห่อหมก หรือเป็นผักจิ้มน้ำพริก ทางภาคใต้ใส่ในแกงกะทิหอยขม แกงคั่วปู[8]ในจังหวัดจันทบุรีใส่ในแกงป่าปลา[9] ในใบมีออกซาเลตสูง จึงไม่ควรรับประทานมากเป็นประจำ
ชะพลูเป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยา ดอกทำให้เสมหะแห้ง ช่วยขับลมในลำไส้ รากขับเสมหะให้ออกมาทางระบบขับถ่าย ขับลมในลำไส้ ทำให้เสมหะแห้ง ต้นขับเสมหะในทรวงอก ใบมีรสเผ็ดร้อน ทำให้เจริญอาหาร ขับเสมหะ ใบ ต้น และดอกใช้ขับเสมหะ รากใช้ขับลม น้ำต้มทั้งต้นช่วยลดน้ำตาลในเลือดของกระต่ายที่เป็นเบาหวานได้[10]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Hassler M, บ.ก. (2014-03-16). "Catalogue of Life: 2014 Annual Checklist". Synonymic Checklists of the Vascular Plants of the World. The Species 2000 & ITIS Catalogue of Life.
- ↑ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ เก็บถาวร 2009-03-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สืบค้นออนไลน์)
- ↑ "Piper sarmentosum". Asia Food Glossary. Asia Source. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-27. สืบค้นเมื่อ 2008-09-08.
- ↑ McGee, Harold (2004). On Food and Cooking (Revised Edition). Scribner. p. 410. ISBN 978-0-684-80001-1.
- ↑ Warriors, Biodiversity. "Merica Lolot | Katalog Biodiversity Warriors". Biodiversity Warriors. สืบค้นเมื่อ 2018-03-11.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "假蒟 Jiaju". 藥用植物圖像資料庫 Medicinal Plant Images Database (ภาษาจีน). 香港浸會大學中醫藥學院 School of Chinese Medicine, Hong Kong Baptist University. 2007.
- ↑ "Piper sarmentosum Roxb. – An addition to the flora of Andaman Islands" (PDF). Current Science. 87 (2). July 25, 2004. สืบค้นเมื่อ 2008-09-08.
- ↑ เมฆาณี จงบุญเจือ; สมพิศ คลี่ขยาย (2556). อาหารปักษ์ใต้ บ้าบ๋า ย่าหยาในอันดามัน. กรุงเทพฯ: เศรษฐศิลป์. ISBN 9786167376615.
- ↑ ศิริลักษณ์ รอตยันต์, บ.ก. (2550). แกงป่า-ผัดเผ็ด (2 ed.). กรุงเทพฯ: สนพ. แสงแดด. ISBN 9789749665787.
- ↑ จำลองลักษณ์ หุ้นชิ้น; จิรนาฏ วีรชัยพิเชษฐ์กุล; รุ่งทิพย์ พรหมทรัพย์; อภิสิทธิ์ ประสงค์สุข, บ.ก. (มิถุนายน 2550). อาหารจากสมุนไพร อร่อย สุขภาพดี. กรุงเทพฯ: สนพ. แม่บ้าน. pp. 64–65. ISBN 9789749798652.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Piper sarmentosum, Piper lolot
- วิกิสปีชีส์ มีข้อมูลภาษาอังกฤษเกี่ยวกับ Piper sarmentosum, Piper lolot
- ชะพลู 108 พรรณไม้ไทย
- ชะพลู เก็บถาวร 2009-06-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน คลังปัญญาไทย