จิงเคอ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงถึงการลอบสังหารฉินอ๋องของจิงเคอ (ฉินอ๋อง-ซ้าย), (จิงเคอ-ขวาและถูกจับตัวไว้ได้), (ฉินอู่หยาง หมอบกราบอยู่ตรงกลาง)[1]
จิงเคอ

จิงเคอ (จีน: 荊軻, อังกฤษ: Jing Ke, เวด-ไจลส์: Ching K'o, พินอิน: Jīng Kē) เป็นมือสังหารที่ลอบสังหารฉินอ๋อง หรือจิ๋นซีฮ่องเต้ ที่ปรากฏนามในประวัติศาสตร์จีนในยุคจ้านกว๋อ

ในประวัติศาสตร์[แก้]

เจ้าชายไท่จื่อตัน รัชทายาทแห่งแคว้นเยี่ยนได้ตกเป็นตัวประกันอยู่ในแคว้นฉินเป็นเวลานาน ตลอดเวลาถูกกดขี่สารพัด ต่อมาได้หลบหนีกลับไปยังแคว้นเยี่ยนได้สำเร็จ จึงกลายเป็นศัตรูอีกคนหนึ่งที่สำคัญของฉินอ๋อง

ต่อมาแคว้นฉินได้บุกโจมตีแคว้นฉี, แคว้นฉู่, แคว้นฮั่น, แคว้นวุ่ย และแคว้นเจ้า ได้ราบคาบ สถานการณ์จึงคาดหมายได้ว่า ต่อไปจะบุกแคว้นเยี่ยนอย่างแน่นอน

ไท่จื่อตันจึงมีบัญชาให้ จิงเคอ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการใช้มีด ปลอมตัวเป็นทูตแคว้นเยี่ยน พร้อมกับผู้ช่วยชื่อ ฉินอู่หยาง ไปยังเมืองเซียนหยาง เมืองหลวงของแคว้นฉินพร้อมกับบรรณาการคือ แผนที่เมืองจีชาง ของแคว้นเยี่ยน พร้อมกับศีรษะของฝานอี๋ว์ชี ซึ่งเป็นศัตรูคนสำคัญคนหนึ่งของฉินอ๋องที่หลบหนีไปยังแคว้นเยี่ยน เพื่อเสแสร้งว่าแคว้นเยี่ยนสยบยอมต่อแคว้นฉิน

ทางฝ่ายแคว้นฉินไม่ทราบมาก่อนว่านี่เป็นแผนการ ได้จัดการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ ในการเข้าเฝ้าครั้งนี้ จิงเคอเป็นผู้เดินนำหน้าถือกล่องใส่ศีรษะของฝานอี๋ว์ชีเดินนำหน้า ขณะที่ฉินอู๋หยางถือม้วนแผนที่เดินตามหลัง แต่กิริยาของฉินอู๋หยางตื่นตระหนกมีพิรุธให้จับได้ ฉินอ๋องจึงสั่งให้ฉินอู๋หยางหยุดอยู่ห่าง ๆ แล้วรับสั่งให้จิงเคอรับแผนที่มาคลี่ให้ทอดพระเนตร ปรากฏว่ามีดสั้นที่ซ่อนอยู่ปลายสุดของแผนที่แล่บออกมาให้เห็น แผนการลอบสังหารฉินอ๋องครั้งนี้จึงล้มเหลว แม้จิงเคอจะพยายามใช้มีดสั้นนั่นจ้วงแทงฉินอ๋องแล้วก็ตาม แต่ฉินอ๋องก็หลบหลีกไปได้พ้น ท้ายสุดเป็นฝ่ายจิงเคอและฉินอู้หยางที่ถูกองครักษ์ของฉินอ๋อง สังหารลงในท้องพระโรงทันที

การลอบสังหารฉินอ๋องในครั้งนี้เกิดขึ้นในปีที่ 227 ก่อนคริสต์ศักราช เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว ซือหม่าเซียน นักประวัติศาสตร์ในยุคราชวงศ์ฮั่นตอนต้น แม้จะเป็นในยุคหลังผ่านมาหลายร้อยปีแล้วก็ตาม ก็ได้บันทึกถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ ชื่อ 刺客列傳 (ชีวประวัตินักลอบสังหาร)

ในวัฒนธรรมต่าง ๆ[แก้]

เรื่องราวการลอบสังหารของจิงเคอในครั้งนี้ ได้ถูกดัดแปลงในวัฒนธรรมร่วมสมัยของจีนในยุคปัจจุบันหลายอย่าง อาทิ The Emperor and the Assassin ภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 1999 ตัวละครจิงเคอรับบทโดย จาง เฟิงอี้ จากการกำกับของ เฉิน ไคเก๋อ หรือถูกดัดแปลงเป็นตัวละครใน ฮีโร่ ในปี ค.ศ. 2003 จากการกำกับของ จาง อี้โหมว ซึ่งตัวนักลอบสังหารแสดงโดย หลี่ เหลียนเจี๋ย หรือในละครโทรทัศน์ชุด The Rise of the Great Wall ในปี ค.ศ. 1986 โดย ATV ตัวละครจิงเคอแสดงโดย หลิว สงเหยิน[2]และ Assassinator Jing Ke ในปี ค.ศ. 2004 นำแสดงโดย หลิว ยี่[3]

นอกจากนี้แล้ว เหตุการณ์ครั้งนี้ได้กลายมาเป็นภาษิตในภาษาจีนคำว่า 图穷匕见 (จีนกลาง: ถูฉงชีเสี้ยน, แต้จิ๋ว: โต่วเคี้ยงชิกหิ่ง) แปลว่า "สุดแผนที่มีดปรากฏ" ซึ่งหมายถึง "แผนการแตกไม่สามารถปกปิดได้"[4] [5]

อ้างอิง[แก้]

  1. 劉煒/著. [2002] (2002) Chinese civilization in a new light 中華文明傳真#3 春秋戰國. Publishing Company. ISBN 9620753119 pg 28-29.
  2. "จิ๋นซีกำลังสนุกไม่ควรพลาด ตอนจิงเคอลอบสังหาร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2011-10-15.
  3. Emperor Qin
  4. แก้วชัย ธรรมาชัย แปล, สุภาษิต 3 ภาษา ไทย, แต้จิ๋ว, จีนกลาง หน้า 228-230 (สำนักพิมพ์สุขภาพใจ) ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์และ ISBN
  5. [https://web.archive.org/web/20121030222609/http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9530000040252 เก็บถาวร 2012-10-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ถูฉยงปี่เสี้ยน: สุดแผนที่ ปรากฏมีดสั้น จากผู้จัดการออนไลน์]