คุยกับผู้ใช้:ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา/ทดลองเขียน

ไม่รองรับเนื้อหาของหน้าในภาษาอื่น
เพิ่มหัวข้อ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ความคิดเห็นล่าสุดเมื่อ: 1 ปีที่แล้ว โดย ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา ในหัวข้อ ทำเนียบผู้นำชุมชนรุ่งมณีพัฒนา

ประวัติศาสตร์ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา[แก้]

ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2514 เป็นปีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเปิดดำเนินการ ผู้คนจากจังหวัดต่างๆ ได้ย้ายเข้ามาทำงานและจับจองอาศัยในพื้นที่ตั้งของชุมชนรุ่งมณีพัฒนาในปัจจุบัน บริเวณซอยเทพลีลา แยก 3-15 รามคำแหง 39 ซึ่งเป็นพื้นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อประกอบอาชีพคการค้าขายเป็นต้นมา ต่อมาบริษัทเอกฉันท์ภายใต้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้เข้ามาจัดสรรพื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัยให้ และทำสัญญาเช่ากับชาวบ้านขึ้นในปี พ.ศ. 2522 แม้ว่าจะมีการทำสัญญาเช่าแล้วเพียงบางส่วน แต่ก็ยังมีชาวบ้านที่เข้ามาบุกรุกจับจองพื้นที่ดังกล่าวเพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยเรื่อยมาจนเริ่มหนาแน่นขึ้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 ตำรวจเริ่มเข้ามาจับผู้ที่เข้ามาบุกรุกพื้นที่ว่างเปล่า ทำให้ชาวบ้านจำเป็นต้องหยุดการก่อสร้างไประยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะค่อยๆ ดำเนินการต่อ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง บริษัทเอกฉันท์ได้ปิดกิจการไป ชาวบ้านในกลุ่มที่ทำสัญญาเช่าไว้เดิมจึงต้องติดต่อสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เพื่อทำสัญญาเช่าต่อกันเอง แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงมีคนบุกรุกพื้นที่เพิ่มอย่างต่อเนื่อง

ด้วยความที่ชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว ต้องการน้ำ-ไฟ ในการดำรงชีวิต ต้องการบ้านเป็นแหล่งพักพิง มีที่อยู่เป็นของตัวเอง และให้ลูกหลานได้เรียนหนังสือในโรงเรียนของรัฐ ชาวบ้านจึงจำเป็นต้องดำเนินการต่างๆ ให้ถูกต้องเพื่อที่จะมีทะเบียนบ้านเป็นของตัวเอง และได้รับสิทธิ์ตามที่กล่าวมา ชาวบ้านจึงเริ่มรวมตัวกันเป็นชุมชน และได้ยื่นหนังสือขอจัดตั้งเป็นชุมชนตามระเบียบของกรุงเทพมหานคร จนได้รับการประกาศแต่งตั้งเป็นชุมชนตามระเบียบกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2534 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2535 โดยมีผู้นำชุมชนคนแรก คือ นางเฮียะ แซ่ซึ้ง และนายประทุม หรือ นายพงศ์สิทธิ์ ดอกไม้เพ็ง เป็นเลขานุการ และได้นำชื่อของลูกสะใภ้ของนางเฮียะมาตั้งเป็นชื่อชุมชน “รุ่งมณีพัฒนา” โดยมีกรรมการชุมชนที่ได้รับการรับรองจากเขตบางกะปิจำนวนทั้งหมด 18 คน

วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2540 เนื่องจากการปรับเปลี่ยนการทำงานของกรุงเทพมหานคร ทำให้ชุมชนรุ่งมณีพัฒนาได้ย้ายจากเขตบางกะปิ มาสังกัดภายใต้การกำกับดูแลของเขตวังทองหลาง ซึ่งการเข้ามาอยู่ใต้การดูแลของเขตวังทองหลางนี้ทำให้ชาวบ้านเกิดความสนิทสนมและใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่เขตมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2541 มีการสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนขึ้นที่ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา ด้วยการสนับสนุนของ สส.ดร.สืบแสง พรหมบุญ และทุนจากโครงการมิยาซาว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนชุมชนรุ่งณีพัฒนานี้จึงสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2543

ต่อมาในสมัย ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีกองทุนหมู่บ้านเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2546-2547 ซึ่งหมู่บ้านรุ่งมณีพัฒนาได้รับเงินจากสำนักกองทุนหมู่บ้านมา 1 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นแหล่งเงินให้คนในชุมชนได้กู้เงิน แต่ด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นเงินให้เปล่าจึงไม่ได้ส่งคืนเงินต้น และในเวลาต่อมาสำนักงานกองทุนหมู่บ้านจึงมีมติให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพื่อแก้ไขปัญหากองทุนเลื่อนลอย และต้องปิดงบประมาณให้ได้ตั้งแต่วันที่ได้รับเงิน

จากสภาพเดิมโดยทั่วไปของชุมชนส่วนใหญ่บุกรุกที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ การปลูกสร้างบ้านเรือนเป็นแบบต่างคนต่างปลูกตามสภาพที่ดินที่จับจองและตามสภาพฐานะการเงิน จึงทำให้สภาพชุมชนไม่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีสภาพเป็นชุมชนแออัดนั้น ในช่วงปี พ.ศ. 2549 สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้หารือเกี่ยวกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยร่วมกับคนในชุมชนรุ่งมณีพัฒนา จนได้ข้อสรุปว่าจะจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นสำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยขึ้น ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดทำโครงการบ้านมั่นคง พัฒนาสภาพแวดล้อมของชุมชนบนที่ดินสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ชุมชนมีที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย และมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน โดยในการทำงานมีประธานกลุ่มออมทรัพย์คนแรกคือ นายวิโรจน์ สิงห์สัง ในช่วงปี พ.ศ. 2549- 2551 แต่เนื่องจากให้ความร่วมมือในการพัฒนาค่อนข้างน้อยจึงมีการประชุมลงมติเลือกประธานกลุ่มออมทรัพย์คนใหม่ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในช่วง พ.ศ. 2551- 2553 จากนั้นเมื่อได้มีการสำรวจประชาชนที่เข้ามาบุกรุกร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) มีกรรมการชุมชนร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการขึ้น

ประกอบกับในช่วงปี พ.ศ. 2550 “กองทุนชุมชนเมืองรุ่งมณีพัฒนา” ได้รับการจดแจ้งสถานะนิติบุคคลขึ้น โดยปรับโครงสร้างจากกองทุนหมู่บ้านเดิมที่เกิดปัญหา และมีสำนักงานกองทุนหมู่บ้านรับรองสถานะถูกต้องตามกฎหมายแล้วนั้น จึงมีการจัดการองค์กร การประชุมสมาชิก สร้างกติกาชุมชนขึ้น ถ้าใครไม่ชำระหนี้ไม่มีการฟ้องร้องแต่เอ่ยนามกลางวงประชุม และในขณะนั้นยังมีการริเริ่มขยับสถานะกลุ่มออมทรัพย์ไปสู่การก่อตั้งสหกรณ์ในรูปแบบเคหะสถานเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยของโครงการบ้านมั่นคง เนื่องจากมีข้อกังวลใจจากชุมชนและสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในการใช้โครงสร้างสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่มีอยู่แล้วมาดำเนินการ เพราะการก่อตั้งนั้นต่างวัตถุประสงค์กัน และสมาชิกไม่เฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยตรง จึงตกลงที่จะพัฒนาสหกรณ์เคหสถานมาเป็นเครื่องมือ และในเวลานั้นมีนโยบายว่าหากใครไม่ร่วมออมทรัพย์จะไม่ได้สิทธิ์เข้าร่วมโครงการพัฒนาบ้านมั่นคง แม้ว่าจะยังไม่รู้นโยบายที่ชัดเจนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งผลลัพธ์จากความพยายามในการตั้งสหกรณ์ในครั้งนี้คือ คนในชุมชนสามารถรวมกลุ่มกันแน่นขึ้น 325 คนจาก 412 ครัวเรือน  

ต่อมาเมื่อมีการสำรวจ ร่างเกณฑ์ระหว่างชุมชนกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เพิ่อพิจารณาและยืนยันสิทธิ์บ้านมั่นคงขึ้นที่โรงเรียนเทพลีลา โดยเริ่มพิจารณาสิทธิ์ในปี พ.ศ. 2551 และยืนยันสิทธิ์แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2553 ในระยะแรกมีการพิจารณาสิทธิ์ให้ทั้งหมด 50 หลัง แต่ยืนยันสิทธิ์และสร้างบ้านมั่นคงได้เพียง 45 หลัง เนื่องจากมีการคืนและยึดสิทธิ์ แต่ขณะเดียวกันก็พบปัญหาว่า ชาวบ้านบางคนยื่นสินเชื่อไม่ผ่านตามกฎเกณฑ์

ชุมชนรุ่งมณีพัฒนาก่อตั้งกองทุนแม่ของแผ่นดินขึ้นในปี พ.ศ. 2552 โดยได้เงินพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อช่วยเหลือเยาวชนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและมีการทำรายงานไปยังเขต พร้อมทั้งเกิดสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลางขึ้นในปี พ.ศ. 2553 เพื่อเป็นเวทีกลางเชื่อมโยงกว่า 56 องค์กรในการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีนายสมาน คำศิริ จากชุมชนหมู่บ้านพลับพลา เป็นประธานสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลางคนแรก

จากนั้นในปี พ.ศ. 2555 เกิดกลุ่มออมทรัพย์สัจจะสตรีชุมชนรุ่งมณีพัฒนา และกองทุนสวัสดิการวันละบาทชุมชนรุ่งมณีพัฒนา ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2555 ด้วยจำนวนสมาชิดเริ่มต้น 13 คน และเพิ่มขึ้นเป็น 43 คนในสิ้นปีนั้น ดำเนินการมาจนถึงในปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 223 คน ส่วนกองทุนหมู่บ้านยกระดับเป็น “กองทุนชุมชนเมือง/สถาบันการเงินชุมชนรุ่งมณีพัฒนา”

ในปีเดียวกันนั้น โครงการบ้านมั่นคงระยะที่ 1 เริ่มทยอยเสร็จแล้วเสร็จ และเริ่มก่อสร้างบ้านมั่นคงในระยะที่ 2 อีกจำนวน 124 หลัง ก่อนจะสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2558 แต่หลังจากนั้นการสร้างบ้านและทุกอย่างชะลอออกไป เนื่องจากต้องรอนโยบายการทำงานภายหลังเกิดการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในปี พ.ศ. 2559  

ส่วนกลุ่มออมทรัพย์สามารถพัฒนามาเป็น “สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคง ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา” ได้สำเร็จ ในปี พ.ศ. 2560 เนื่องจากเดิมติดระเบียบที่ไม่สามารถก่อตั้งสหกรณ์ซ้ำซ้อนกันได้ในพื้นที่เดียวกัน จึงมีการหารือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์จนสามารถก่อตั้งได้ และมีคุณไพศาล สาทสุทธิ เป็นประธานคนแรกของสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงชุมชนรุ่งมณีพัฒนา นอกจากนี้ยังมีการตั้งกลุ่มอาชีพวิสาหกิจชุมชนรุ่งมณีพัฒนาขึ้น เพื่อขายผลิตภัณฑ์จากผ้าขาวม้า โดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และช่วยให้สามารถดำเนินกิจการต่างๆ ได้สะดวกขึ้น

นับได้ว่าประสบการณ์ทำงานอย่างมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่อยูอาศัยโดยชุมชนจัดการตนเอง ในโครงการบ้านมั่นคงร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนนั้น ช่วยสร้างทีมผู้นำ เสริมความรู้และทักษะการจัดการด้านการเงิน และการบริหารจัดการมากขึ้น ทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของชุมชนที่ขยายสู่ภายนอกและได้เป็นที่รู้จักมากขึ้นของหน่วยงานภาครัฐและท้องถิ่น

เมื่อเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ชุมชนรุ่งมณีพัฒนาจึงตั้งคณะทำงานศูนย์ประสานงานสู้ภัยโควิด-19 ในปี พ.ศ. 2563 โดยมีสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลางเป็นตัวกลางระหว่างชุมชนกับเขต และได้งบจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน นำมาพัฒนาสวนผัก บ่อเลี้ยงปลา และทำครัวกลาง โดยใช้ทุนตั้งต้นจากงบที่รวบรวมมาจากกองทุนต่างๆในชุมชนรวมกว่า 100,000 บาท เพื่อทำอาหารแจกจ่ายให้กับคนในชุมชนที่ต้องกักตัว รวมถึงผู้ติดเชื้อและคนในชุมชนละแวกใกล้เคียง

วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เริ่มลงเสาเอกสร้างบ้านมั่นคงในระยะที่ 3 จำนวน 96 หลัง ทำให้ระหว่างนี้ชาวบ้านกระจัดกระจายไม่มีที่อยู่ ต้องไปเช่าที่อื่น แต่ยังคงส่งเงินออมทรัพย์ และเป็นช่วงที่สถานการณ์โควิดสายพันธุ์เดลต้าระบาดหนักพอดี ส่งผลให้คนในชุมชนติดเชื้อกันเป็นจำนวนมาก จึงมีการดำเนินการจัดทำ CI ที่ศูนย์เด็กเล็ก เพราะครูและคนในชุมชนมีความเสี่ยง โดยได้รับการสนับสนุนจากทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ศูนย์บริการสาธารณสุข 15 และสำนักอนามัย

ต่อมาเมื่อมีผู้เริ่มติดเชื้อโควิดมากขึ้น จึงได้ขยายเป็นการจัดทำ HI ในชุมชน พร้อมจัดตั้งทีม SWAB โดยได้รับการอบรมอย่างถูกต้อง หลังจากนั้นจำนวนคนติดเชื้อก็ยังเพิ่มมากขึ้น ไม่สามารถหาเตียงได้โดยสะดวก จึงเกิดการทำ CI ระดับเขตขึ้นที่วิทยาลัยพณิชยการอินทราชัย ขนาด 100 เตียง โดยให้สภาองค์กรชุมชนทำงานร่วมกับเขตและโรงพยาบาลลาดพร้าว และให้ชุมชนรุ่งมณีพัฒนายังคงรับผิดชอบทำครัวกลาง ช่วยอำนวยความสะดวกให้คนในชุมชนที่ไม่สามารถติดต่อกับ 1330 ได้ ในเวลาเดียวกันนี้เกิดแนวคิดในการริเริ่มจัดตั้ง “กองทุนภัยพิบัติเขตวังทองหลาง” สำหรับการช่วยเหลือกรณีเหตุฉุกเฉินต่างๆ รวมทั้งไฟไหม้ ไล่รื้อ และกรณีอื่นๆ ขึ้นด้วย

เมื่อสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ดีขึ้น นำมาสู่การปิดดำเนินการศูนย์ต่างๆ ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา แต่ทางชุมชนรุ่งมณีพัฒนายังได้เน้นการทำงานในมิติการพัฒนาคุณภาพชีวิต ร่วมกับเครือข่ายชุมชนในสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง และองค์กรภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน รวมถึงการต่อยอดงานพัฒนาสวนผักคนเมืองในระดับเขตด้วยงบประมาณของ สสส. เกิดลานสร้างเสริมสุขภาพจากงบประมาณของ สปสช. เพื่อจัดกิจกรรมด้านสุขภาพแก่คนในขุมชน และงานพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเพื่อการสร้างรายได้มาอย่างต่อเนื่อง

ทำเนียบผู้นำชุมชนรุ่งมณีพัฒนา[แก้]

ประธานชุมชน[แก้]

พ.ศ. 2534- 2536        นางเฮียะ แซ่ซึ้ง

พ.ศ. 2537- 2539        นางเต้ สาทสุทธิ

พ.ศ. 2539- 2541        นายประโยชน์ แซ่เล้า

พ.ศ. 2542- 2544        นายภาวิชย์ พุ่มโมรา

พ.ศ. 2545- 2546        นางละเมียด ยินดีประเสริฐ

พ.ศ. 2547- 2549        นายประโยชน์ เล้าอมรสกุล (แซ่เล้า)

พ.ศ. 2550- 2564        นายไพศาล สาทสุทธิ

พ.ศ. 2565- ปัจจุบัน      นางศุภพฤษา ดิลกศรี

ประธานสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงชุมชนรุ่งมณีพัฒนา[แก้]

พ.ศ. 2554- 2564        นายไพศาล สาทสุทธิ

พ.ศ. 2565- ปัจจุบัน      นายสมบูรณ์ จันทร์ชัย

  1. ผู้นำชุมชนรุ่งมณีพัฒนาและคณะทำงาน

ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา (คุย) 14:01, 22 กุมภาพันธ์ 2566 (+07)ตอบกลับ