คลองบางตะนาวศรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คลองบางตะนาวศรีช่วงตัดกับถนนพิบูลสงคราม

คลองบางตะนาวศรี เป็นคลองแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาในท้องที่ตำบลสวนใหญ่ ตำบลตลาดขวัญ และตำบลบางเขน อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี

ประวัติและการตั้งถิ่นฐานริมคลอง[แก้]

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2302 พระเจ้าเอกทัศโปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญจากเมืองตะนาวศรีตั้งบ้านเรือนที่ฝั่งตะวันออกของเมืองนนทบุรี ตั้งเป็นชุมชนเรียกว่า บางตะนาวศรี มีวัดประจำชุมชนคือ วัดนครอินทร์[1] คลองบริเวณนี้ได้ตั้งชื่อตามชุมชนว่า "คลองบางตะนาวศรี" อย่างไรก็ดีคนบ้านตะนาวศรีแต่กำเนิดซึ่งสืบเชื้อสายมาหลายชั่วอายุคน ได้กล่าวว่าตนไม่ได้เป็นคนไทยเชื้อสายมอญ รวมถึงไม่ได้เป็นคนพวกเดียวกับมอญที่ปากเกร็ดและเกาะเกร็ดด้วย[2]

ในช่วงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีช่างปั้นหม้อจากคลองสระบัว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวนหนึ่งได้ย้ายเข้ามาทำเครื่องปั้นดินเผาที่บางตะนาวศรี จากรายงานของพระกรุงศรีบุรีรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองนนทบุรี ถึงเจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล เมื่อ พ.ศ. 2463 ได้กล่าวว่า "การหัตถกรรมซึ่งเป็นของพื้นเมือง มีการทำเครื่องปั้นดินเผาอย่างหนึ่ง เครื่องปั้นดินเผานั้นชาวบ้านแถวปากคลองบางตะนาวศรีทำหม้อ"[3]

จากหลักฐานเอกสารเรื่อง "เมืองนนทบุรี" ระบุว่า "คลองบางแพรก บางตนาวศรี บางขุนเทียนเป็นปลายตันตามทุ่งนา แต่ในลำคลองมีบ้านเรือนราษฎรมาก แล 2 ฝั่งคลองเป็นสวน เป็นคลองที่น่าเที่ยวในเวลาฤดูน้ำ"[4] ในบริเวณย่านบางตะนาวศรีนิยมปลูกทุเรียนกันมากในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[2]

ในอดีตมีคลองจามจุรีและคลองบางขวางเชื่อมต่อถึงกันได้ โดยคลองจามจุรีเป็นคลองขนานกับแม่น้ำเจ้าพระยาแยกจากคลองบางขวางบริเวณวัดบางขวางตรงเรื่อยมาทางใต้มาเชื่อมกับคลองบางตะนาวศรี โดยในช่วง พ.ศ. 2480 คลองบางตะนาวศรีและคลองบางขวางเริ่มตื้นเขินขึ้นทำให้สัญจรไปมาไม่สะดวก จึงได้มีการขุดลอกคลองตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2480 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2480 ใช้แรงงานขุดลอกทั้งหมด 40 คน ได้ระยะคลองที่ขุดลอก ยาว 704 เมตร กว้าง 2.5 เมตร ลึก 1.5 เมตร[5]

บริเวณปากคลองเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อปู่อายุนับร้อยปี รูปเคารพของเจ้าพ่อปู่มีลักษณะคล้ายไม้เจว็ดในศาลพระภูมิ แต่มีขนาดใหญ่กว่ากันมาก[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. "บ้านบางตะนาวศรี".
  2. 2.0 2.1 ภควุฒิ ทวียศ. "วิถีชีวิตชุมชนตลาดท่าน้ำนนทบุรี พ.ศ. 2471-2526" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  3. "งานหัตถกรรมพื้นบ้าน อาชีพที่มีชื่อเสียง ของเมืองนนทบุรีในอดีต" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-04-24. สืบค้นเมื่อ 2023-04-24.
  4. "เรื่องเมืองนนทบุรี," 19-21 กรกฎาคม 2458, เอกสารรัชกาลที่ 6 กระทรวงนครบาล, ร. 6 น. 10.5ก/22, สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ.
  5. "เรื่องการขุดลอกคลองบางขวางใหลเชื่อมต่อกับคลองบางตะนาวศรี ในท้องที่อำเภอเมืองนนทบุรี," 2481, เอกสารกระทรวงมหาดไทย, มท.5.3.9/167, สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ.
  6. "ท็อปฮิต "ศาล" ผีเมืองหลวง". ศิลปวัฒนธรรม.